5 ความแตกต่างชัดๆ สายการบินฟูลเซอร์วิส VS สายการบินโลว์คอสต์

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com .... ในช่วง 2-3 ปี การแข่งขันระหว่างสายการบินแบบ Full Service หรือสายการบินบริการเต็มรูปแบบ VS สายการบินแบบ Low Cost หรือสายการบินต้นทุนต่ำ  เป็นไปอย่างดุเดือดมากค่ะ จากที่แต่ก่อนสายการบิน Low Cost เน้นแต่เส้นทางใกล้ๆ บินแค่ 2-3 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้มีบินไกลเป็น 5-6 ชั่วโมงแล้ว น้องๆ ที่จะไปเที่ยวหรือเดินทางไปเรียนต่อก็คงชั่งใจว่าจะเลือกสายการบินแบบไหนดี วันนี้ พี่เป้ จะมาเล่าถึงความแตกต่างของสายการบินทั้งสองประเภทให้ฟังค่ะ



pixabay.com
 
 
สายการบิน Full Service สายการบิน Low Cost
ราคาแพงกว่า ราคาถูกกว่า
บริการเต็มรูปแบบ เช่น โหลดกระเป๋าได้
มีอาหารเสิร์ฟ
ต้องเสียเงินในการซื้อบริการเพิ่มเติม เช่น ค่าโหลดกระเป๋า ค่าอาหารบนเครื่องบิน
ที่นั่งกว้างกว่าและเลือกที่นั่งได้ ที่นั่งแคบกว่า อาจเลือกที่นั่งได้หรือไม่ได้
ส่วนมากมีจอทีวีส่วนตัว ไม่มีจอทีวีส่วนตัว
มักให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทาง มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลง
วันเดินทาง 
เช่น การบินไทย คาเธย์แปซิฟิก สิงคโปร์แอร์ไลน์ เอมิเรตส์ กาตาร์แอร์เวย์ เอทิฮัด โคเรียนแอร์ แอร์นิวซีแลนด์  เช่น แอร์เอเชีย ไลออนแอร์ นกแอร์
ไทเกอร์แอร์ วีแอร์ 

ราคา
     
        เป็นข้อแตกต่างแรกที่เราเห็นชัดมากเลยค่ะ เรามักรู้กันว่า ราคาตั๋วเครื่องบินของสายการบิน Low Cost นั้น มักราคาถูกกว่าสายการบิน Full Service สาเหตุที่สายการบิน Low Cost ขายตั๋วเครื่องบินได้ในราคาถูกนั้น เนื่องจากเขามีต้นทุนน้อยกว่าเพราะได้ตัดบริการเสริมบางอย่างออกไป เช่น ไม่อนุญาตให้โหลดกระเป๋าเดินทางลงใต้ท้องเครื่องบิน ถ้าจะโหลดต้องเสียเงินเพิ่ม หรือไม่มีอาหารแจกให้ทานฟรีบนเครื่องบิน ถ้าจะทาน ต้องซื้อเอาค่ะ

ราคาของสายการบิน Full Service เทียบกับ สายการบิน Low Cost
เส้นทางเดียวกันและเดินทางไปกลับวันเดียวกัน

        ส่วนมาตรฐานความปลอดภัยนั้น ขอบอกเลยว่าไม่ต้องห่วง ไม่ใช่ว่านั่งสายการบิน Low Cost  แล้วจะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากกว่าสายการบิน Full Service นะคะ แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินข่าวว่าสายการบิน Low Cost บางเจ้าถูกสั่งห้ามบินหรือถูกระงับเที่ยวบิน สาเหตุส่วนมากก็เพราะยังไม่ได้รับใบอนุญาตการบินที่ถูกต้องแต่ดันประกาศขายตั๋วออกมาก่อนนั่นเองค่ะ

        แต่อย่างไรก็ตาม ราคาตั๋วของสายการบิน Low Cost นั้น มักจะแปรผันตามระยะเวลาของการจองด้วย หากจองช่วงกระชั้นชิด เช่น จองวันนี้ เดินทางอีกสองวันข้างหน้า ราคาตั๋วก็จะพุ่งไปสูงค่ะ เผลอๆ อาจจะแพงกว่าสายการบิน Full Service ด้วยซ้ำ ดังนั้นหากต้องเดินทางแบบเร่งด่วน อย่าลืมเช็กราคาเปรียบเทียบกันให้ดีค่ะว่าตั๋วของสายการบินแบบไหนถูกแพงกว่ากัน

การบริการ

       ไม่ได้หมายถึง Service Mind ของพนักงานและลูกเรือ แต่หมายถึงการบริการที่เราจะได้รับกลับมา อย่างที่บอกไปในข้อแรกค่ะว่า สายการบิน Low Cost จะไม่ให้เราโหลดกระเป๋าฟรี ถ้าจะโหลดต้องเสียเงินเพิ่ม หรือไม่มีอาหารเสิร์ฟ ถ้าจะทาน ต้องซื้อเอา(จะมีลูกเรือเข็นออกมาขาย) จนหลายคนรู้สึกเซ็งที่จะต้องจ่ายเงินยุบยิบแบบนี้ ดังนั้นควรทำความเข้าใจเอาไว้ก่อนค่ะ แต่สายการบิน Full Service มีบริการเหล่านี้ให้ค่ะ จัดเต็มกันไปเลย ให้โหลดกระเป๋าฟรี 20-30 กิโลกรัมแล้วแต่สายการบิน อาหารก็มีเสิร์ฟให้ เลือกได้ด้วยว่าอยากได้อาหารประเภทไหน(ซีฟู้ด มังสวิรัติ อาหารเด็ก บลาๆๆ) หากเป็นเส้นทางไกลๆ อาจจะเสิร์ฟ 2 มื้อเลยล่ะ


       โดยเฉพาะ "ค่าโหลดกระเป๋าเดินทาง" นั้น เป็นอะไรที่ต้องจ่ายไม่ใช่น้อยเลยค่ะ บางสายการบิน Low Cost คิดค่าโหลด 20 กิโลกรัม / 700 บาท ไปกลับก็ 1,400 บาทแล้ว บางทีแพงกว่าค่าตั๋วเครื่องบินที่จองได้ซะอีกนะเนี่ย ยกตัวอย่างเช่น สมมติน้องๆ จะเดินทางไปที่เมืองหนึ่ง ค่าตั๋วไปกลับสายการบิน Low Cost อยู่ที่ 2,500 บาท แต่โหลดกระเป๋าเดินทางไปกลับอีก 1,400 บาท รวมเป็น 3,900 บาท แต่พอไปเช็กราคาของสายการบิน Full Service ราคาอยู่ที่ 4,200 บาท แพงกว่าแค่ 300 แต่ได้บิน Full Service เลย หลายๆ คนก็เลือกแบบหลังค่ะ(พี่ด้วย) 

       ดังนั้นถ้าจะเดินทางด้วยสายการบิน Low Cost  อย่าลืมเช็กค่าโหลดกระเป๋าด้วยนะคะ (ใครไม่โหลดก็โชคดีไป)

ขนาดที่นั่ง

       ที่นั่งของสายการบิน Low Cost  มักเล็กและแคบกว่าสายการบิน Full Service ดังนั้นหากใครที่...

        - บินหลายชั่วโมง 
        - ร่างกายสูงใหญ่
        - เดินทางกับญาติผู้ใหญ่
        - มีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดเมื่อยง่าย

        ลองเลือกเดินทางกับสายการบิน Full Service น่าจะดีกว่าค่ะ จะได้นั่งสบายๆ ไม่อึดอัดเนาะ พี่เคยขึ้นสายการบิน Low Cost เจ้าหนึ่ง โอ้โห ก็ว่าเราไม่ได้ตัวสูงใหญ่อะไรนะ ปวดหลังไปหมดเลยค่ะ T^T


        นอกจากนี้ สายการบิน Full Service ยังอนุญาตให้ผู้โดยสารเลือกที่นั่งได้ด้วยค่ะ อยากนั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดิน แถวหน้า กลาง หรือหลัง ก็สามารถเลือกผ่านเว็บไซต์ได้หรือขอพนักงานตอนเช็คอินได้ ส่วนสายการบิน Low Cost อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับดวงหน่อยนึง คือต้องขอพนักงานตอนเช็คอิน อาจขอได้แค่ริมทางเดิน แต่จะได้แถวหน้าหรือหลังก็ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานจะสุ่มให้ตรงไหน แต่ถ้าอยากเลือกที่นั่งชัวร์ๆ ตรงนี้เด๊ะๆ ก็ต้องมีค่าจองที่นั่งเพิ่มค่ะ อยู่ที่ประมาณหลักร้อยต้นๆ

Entertainment

       บนเครื่องบินของสายการบิน Full Service โดยมากทุกที่นั่งจะมีจอทีวีส่วนตัว ให้เราดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกมได้ บอกเลยว่าเพลินมากๆ และฆ่าเวลาแก้เบื่อได้ดีทีเดียว (เครื่องบินบางรุ่นอาจไม่มี) ดูหนังเพลินๆ อ่าว จะถึงแล้วเหรอ แต่สายการบิน Low Cost นั้น ร้อยทั้งร้อยคือไม่มีค่ะ ถ้าใครขี้เบื่อ อาจหาอะไรขึ้นไปทำ เช่น เล่นเกมบนไอแพด เอาหนังสือขึ้นไปอ่าน 


การเปลี่ยนวันเดินทางและขอคืนเงิน

       ตั๋วเครื่องบินของสายการบิน Low Cost นั้น มักมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก เช่น เปลี่ยนวันเดินทางไม่ได้ ถ้าไม่สะดวกเดินทางในวันนั้นๆ อาจต้องทิ้งตั๋วเก่าแล้วซื้อตั๋วใหม่เลย หรือหากเปลี่ยนวันเดินทางได้ ก็ต้องเสียค่าเปลี่ยนที่ค่อนข้างแพงมากเลยล่ะค่ะ แพงจนซื้อตั๋วใหม่อาจจะถูกกว่าก็ได้นะ


        ส่วนตั๋วของสายการบิน Full Service นั้น โดยมากอนุญาตให้เปลี่ยนวันเดินทางได้ฟรีค่ะ หรือขอคืนเงินก็ย่อมได้ แต่ปัจจุบันนี้ ตั๋วของสายการบิน Full Service มักทำโปรโมชั่นและลดราคาลงมาให้ถูกลงเพื่อแข่งกับสายการบิน Low Cost  ดังนั้นอาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา เช่น สมมติว่าราคาตั๋วไปกลับกรุงเทพ-โตเกียว อยู่ที่ 18,000 บาท แต่เดือนนี้มีโปรโมชั่น ขายแค่ 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากซื้อราคานี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ .... อะไรแบบนี้ก็มีค่ะ ดังนั้นอย่าลืมเช็กเงื่อนไขเรื่องนี้ก่อนจองตั๋วด้วยนะคะ
     


        นั่นก็เป็นข้อแตกต่างหลักๆ ของสายการบิน Full Service และสายการบิน Low Cost ค่ะ ใครชอบแบบไหนก็เลือกกันตามความสะดวกเลย หรือใครรู้สึกว่ามีข้อแตกต่างอะไรที่มากกว่านี้ ก็มาคอมเม้นท์กันได้เลยค่ะ^^
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด