เคลียร์ข้อสงสัย! แนะนำการเรียนต่อ "เยอรมนี" สำหรับทุกคนทุกระดับ

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ถ้าพูดถึงประเทศยอดฮิตน่าเรียนต่อในยุโรปแล้วละก็ ชื่อของประเทศเยอรมนีต้องติดอันดับมาเป็นชื่อแรกๆ แน่นอน วันนี้ พี่พิซซ่าและพี่นิทาน ก็มีข้อมูลดีๆ สำหรับเรียนต่อเยอรมนีมาฝากค่ะ

สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut Thailand)


ระบบการศึกษาในเยอรมนี


     ประเทศเยอรมนีมีสวัสดิการด้านการศึกษาที่ดีมาก สถาบันการศึกษาของรัฐทั้งประเทศจึงมีมาตรฐานเท่าๆ กันหมด ทำให้ไม่มีการจัดอันดับกันภายในประเทศ นอกจากนี้ เด็กเยอรมันส่วนมากนิยมเรียนโรงเรียนใกล้บ้านตัวเองเป็นหลัก ส่วนโรงเรียนเอกชนก็พอมีอยู่บ้างนะคะ แต่มีจำนวนน้อยมากๆ และไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ โรงเรียนประจำก็มีจำนวนน้อยมากเช่นกันค่ะ

     การเรียนระดับอนุบาลใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่จะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับค่ะ การเรียนอนุบาลที่นี่จะเน้นเล่นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการเรียนเขียนอ่านจริงจังจะเริ่มช่วงประถมซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ ชั้นประถมศึกษา (Grundschule) จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี จากนั้นก็จะเข้าโรงเรียนมัธยม ซึ่งโรงเรียนมัธยมในเยอรมนีจะแบ่งเป็น 3 ประเภทโดยส่วนมากจะดูจากเกรดและความถนัดของนักเรียนว่าควรไปเรียนต่อที่ไหน ได้แก่

1. Gymnasium โรงเรียนสายสามัญที่เน้นด้านวิชาการ จะได้เรียนตั้งแต่เกรด 5 จนถึง 12 หรือ 13 (แล้วแต่รัฐ) เมื่อเรียนจบก็จะมีการสอบจบที่เรียกว่า Abitur ซึ่งผลสอบนี้จะนำไปใช้ยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ค่ะ ฉะนั้นถ้าใครที่ตั้งใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ต้องเลือกเรียนต่อโรงเรียนสายนี้แต่แรก

2. Realschule โรงเรียนกึ่งเทคนิค/พาณิชยการ จะเรียนตั้งแต่เกรด 5 ถึง 10 นักเรียนจะได้เรียนเฉพาะทางชัดเจนมากขึ้น เช่นเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มอีก 2 ภาษา ผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนประเภทนี้จะได้รับวุฒิ Mittlere Reife ซึ่งสามารถนำไปสมัครเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกอาชีพได้ หรือถ้านักเรียนจบจาก Realschule ด้วยเกรดดีมากและอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็สามารถกลับไปเรียนต่อ Gymnasium ได้เช่นกัน

3. Hauptschule โรงเรียนสายอาชีพ เน้นให้เรียนจบตามการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีแล้วก็สามารถทำงานประกอบอาชีพได้เลย จะเรียนตั้งแต่เกรด 5 ถึง 9 หลังเรียนจบก็สามารถทำงานระดับเริ่มต้นได้เลย หรือจะเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกอาชีพต่อก็ได้ หรือถ้าผลการเรียนดีและอยากเรียนต่อก็สามารถกลับไปเรียนต่อที่ Gymnasium ได้เช่นกัน

     การเรียนในโรงเรียนที่เยอรมนีส่วนมากจะเรียนกันแค่ครึ่งวัน ช่วงบ่ายบางวันอาจมีทำกิจกรรม การเรียนการสอนจะเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วม และมีเด็กนักเรียนประมาณ 25 คนต่อห้อง


สถาบันอุดมศึกษาในเยอรมนี


     มหาวิทยาลัยส่วนมากในเยอรมนีจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งไม่เก็บค่าเล่าเรียน และทุกสถาบันจะมีมาตรฐานด้านการศึกษาที่ใกล้เคียงกันแม้จะมีกฎเกณฑ์ด้านการศึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐก็ตาม ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นมีเพียง 5% หากจะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับของรัฐแล้วหรือยัง สำหรับประเภทของมหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น

1. Universität และ Technische Universität คือมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคนิค การเรียนการสอนจะเน้นทฤษฎีและวิชาการเป็นหลัก เหมาะกับผู้ที่ต้องการเรียนต่อระดับสูงหรือต้องการเป็นอาจารย์ นักวิชาการ หรือนักวิจัย

2. Fachhochschule (University of Applied Sciences) คือมหาวิทยาลัยที่เน้นการปฏิบัติ จะมีการแบ่งเป็นการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติชัดเจน นักศึกษาได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เหมาะกับผู้ที่ต้องการทำงานหลังจากเรียนจบ

3. Kunst- und Musikhochschulen คือวิทยาลัยศิลปะและการดนตรี จะมีให้เลือกเรียนตามความถนัดเช่นสาขาการแสดง สาขาภาพยนตร์ สาขาจิตรกรรม หรือสาขาการออกแบบ

     หลักสูตรปริญญาตรีโดยปกติจะเรียนกัน 3 - 3.5 ปี (จริงๆ จะนับเป็นเทอมกันว่า 6 - 7 เทอม) แต่ถ้าเป็นสาขาเฉพาะทางบางสาขาอย่างแพทย์ ก็จะใช้เวลาเรียน 6 ปี ส่วนนิติศาสตร์เรียน 5 ปีค่ะ หลักสูตรปริญญาตรีส่วนมากจะสอนเป็นภาษาเยอรมัน

     ส่วนหลักสูตรปริญญาโทส่วนมากจะเรียนกัน 2 - 4 เทอมค่ะ และมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษให้เลือกเยอะพอสมควร แต่ก็มีบางหลักสูตรที่แม้สอนเป็นภาษาอังกฤษก็จำเป็นต้องมีผลสอบภาษาเยอรมันยื่นในตอนสมัครด้วย สำหรับหลักสูตรปริญญาโทบางหลักสูตรที่สอนเพียง 2 เทอมหรือว่า 1 ปีเนี่ย ส่วนมากมักเป็นหลักสูตรพิเศษ เช่น ปริญญาโทแบบไม่ต่อเนื่อง (Non-consecutive Master) ที่อาจต้องเสียค่าเล่าเรียนด้วยค่ะ


การเข้าเรียนมัธยมที่เยอรมนีของนักเรียนไทย


     การไปเรียนต่อระดับมัธยมที่เยอรมนีสำหรับชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากถ้าไม่ได้ไปด้วยโครงการแลกเปลี่ยน เนื่องจากโรงเรียนทั่วไปในเยอรมนีสอนเป็นภาษาเยอรมัน และเป็นโรงเรียนของรัฐที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียนเพื่อเป็นสวัสดิการให้คนในประเทศ ดังนั้นหากต้องการเรียนต่อมัธยมที่เยอรมนีจริงๆ คือจะต้องเป็นการย้ายตามผู้ปกครองที่ย้ายมาอยู่หรือมาทำงานที่นี่เลย หรือถ้าจะย้ายไปอยู่กับญาติที่เยอรมนี จะต้องให้ญาติที่อยู่ที่นั่นไปคุยกับครูใหญ่ของโรงเรียนในพื้นที่ก่อนว่าโรงเรียนมีที่ให้เรียนมั้ย จากนั้นตัวนักเรียนจะต้องไปสอบวัดระดับทั้งภาษาเยอรมันและความรู้วิชาต่างๆ เพื่อเทียบว่าจะได้เข้าเรียนในชั้นใด นอกจากนี้ญาติทางนั้นจะต้องเดินเรื่องเพื่อเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายให้กับนักเรียนก่อนด้วย สรุปก็คือจะต้องให้ญาติที่อยู่เยอรมนีดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน นักเรียนถึงจะไปเรียนได้

     ส่วนนักเรียนที่ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองอยู่ที่เยอรมนีแต่อยากไปเรียนที่นั่นเฉยๆ จะต้องสมัครเข้าโรงเรียนประจำเท่านั้น เนื่องจากมีกฎหมายว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจะไม่สามารถมาอยู่ได้โดยไม่มีใครดูแล จึงต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประจำเท่านั้นค่ะ


การเข้าเรียนปริญญาตรีที่เยอรมนีของนักเรียนไทย


     นักเรียนไทยที่จบม.6, ปวช., ปวส. จะยังไม่สามารถสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีของเยอรมนีได้ทันทีค่ะ จำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนปรับพื้นฐาน (Studienkolleg) ให้จบก่อน ซึ่งใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปีค่ะ เมื่อจบ Studienkolleg และสอบ Feststellungsprüfung ผ่านแล้วจึงจะถือว่ามีวุฒิเทียบเท่า Abitur

     การจะเข้าเรียน Studienkolleg ได้นั้น ต้องสอบวัดระดับเพื่อประเมินความรู้เข้าไปก่อนค่ะ ข้อสอบนี้จะเป็นภาษาเยอรมันเพราะการเรียนเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่จะเข้าเรียน Studienkolleg ได้ต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันมาก่อนอย่างน้อยในระดับ B2 ซึ่งการเรียนใน Studienkolleg นั้นจะแยกสายตามสาขาวิชาที่จะเรียนในปริญญาตรีอีกทีค่ะ เช่น ถ้าอยากเรียนต่อสายแพทย์จะต้องเรียน M-Course แต่ถ้าอยากเรียนต่อสายวิศวะจะต้องเรียน T-Course สามารถดูรายชื่อ Studienkolleg และหลักสูตรที่เปิดสอนของแต่ละสถาบันได้ที่ www.studienkollegs.de/home.html

     อีกวิธีในการสมัครเรียนปริญญาตรีในเยอรมนีคือต้องเรียนจบปริญญาตรีปี 2 จากประเทศไทยไปก่อน แต่พอไปเรียนปริญญาตรีในเยอรมนีก็ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ปี 1 นะคะ ไม่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ค่ะ


การเข้าเรียนปริญญาโทที่เยอรมนีของนักเรียนไทย


     ผู้ที่จบปริญญาตรีจากไทยสามารถสมัครเรียนปริญญาโทในเยอรมนีได้ทันที หากคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ ไม่จำเป็นต้องเรียนปรับคุณวุฒิอีกค่ะ เพราะถือว่าปริญญาตรีของไทยกับของเยอรมนีมีวุฒิเท่าเทียมกันค่ะ

ศูนย์บริการข้อมูล DAAD กรุงเทพฯ


ช่วงตอบคำถามคาใจ


เยอรมนีเรียนฟรีจริงๆ ใช่มั้ย

     หากเรียนในสถานศึกษาที่เป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาเยอรมันหรือภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะไม่เก็บค่าเล่าเรียนค่ะ แต่ว่านักศึกษาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมละประมาณ 100-300 ยูโร (3,800 -11,500 บาท) หากเป็นหลักสูตรพิเศษก็อาจมีค่าธรรมเนียมการสอนอื่นๆ ที่รวมแล้วอาจจะสูงถึง 200,000 บาทก็ได้ ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนก็จะต้องมีการจ่ายค่าเทอมอยู่แล้ว ซึ่งอัตราค่าเทอมก็มีหลากหลายตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน นอกจากค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษา สิ่งที่แต่ละคนจะต้องเตรียมคือค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉลี่ยค่ากินค่าอยู่จะตกอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาทต่อปี

หากไปเรียนปริญญาที่เยอรมนี สามารถทำงานพิเศษได้มั้ย

     ตามหลักแล้วนักศึกษาจากไทยสามารถทำงานพิเศษได้ 120 วัน (เต็มวัน) หรือ 240 วัน (ครึ่งวัน) ต่อปี แต่ว่าในชีวิตจริง น้องๆ หรือเพื่อนๆ มักจะทำงานกันแค่อาทิตย์ละ 1-2 วันเท่านั้น เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการเรียน และการเตรียมตัวหรือทบทวนบทเรียน รายได้จากการทำงานพิเศษไม่ได้มากพอที่จะสามารถเป็นแหล่งรายได้หลักในการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้

ควรเตรียมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำไปเท่าไหร่ดี

     ตามเงื่อนไขในการขอวีซ่าไปเรียนต่อที่เยอรมนี ต้องมีเงินขั้นต่ำ 8,640 ยูโร (ประมาณ 345,600 บาท) หรือ 720 ยูโรต่อเดือน แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพในแต่ละเมือง และวิธีการบริหารเงินของแต่ละคน รายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานทางการเงินเพื่อขอวีซ่าสามารถดูได้ที่ www.bangkok.diplo.de/Vertretung/bangkok/th/02/01-Visa/Langzeit-Studium.html


 

มีทุนการศึกษาให้มั้ย

     DAAD มีทุนสำหรับผู้สมัครจากประเทศไทยทั้งระดับปริญญาโทในบางสาขา และปริญญาเอกทุกสาขา (ยกเว้นแพทย์ศาตร์ สัตวแพทย์ศาสตร์ และทันตแพทย์ศาสตร์) ทุกปี (หนึ่งในนั้นคือ www.dek-d.com/studyabroad/45766/) สามารถค้นหาทุนของ DAAD ได้ที่ www.daad.or.th/th/ค้นหาทุน/

ถ้าไปเรียนหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ จำเป็นต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันมั้ย

     หลักสูตรปริญญาโทที่สอนเป็นภาษาอังกฤษอาจจะมีบ้างบางหลักสูตรที่ระบุว่าต้องยื่นผลสอบภาษาเยอรมันด้วย แต่หลายๆ หลักสูตรที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ 100 เปอร์เซนต์ก็ไม่ได้กำหนดว่าผู้สมัครจะต้องยื่นผลสอบภาษาเยอรมัน การรู้ภาษาเยอรมันไปก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องดีค่ะ เพราะจะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะถ้าไปเรียนในเมืองที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ และขั้นต่ำที่ควรสอบได้คือระดับ B1 ค่ะ

     แต่ถ้าไม่ได้เรียนภาษาเยอรมันมาก่อนจริงๆ และทางมหาวิทยาลัยไม่บังคับว่าต้องมีผลสอบ ก็สามารถลงเรียนวิชาภาษาเยอรมันที่จัดสอนโดยมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมได้ เพราะความรู้ภาษาเยอรมันจะช่วยให้มีโอกาสได้งานพิเศษมากขึ้น และก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานประจำทำหลังเรียนจบมากขึ้นด้วย

หลังเรียนจบแล้ว จะทำงานที่เยอรมนีต่อเลยได้มั้ย

     หลังเรียนจบสามารถขอวีซ่าเพื่อหางานให้อยู่ต่อได้อีก 18 เดือนค่ะ พอได้งานประจำที่ตรงสายแล้วและเงื่อนไขเป็นไปตามที่ทางรัฐกำหนดก็สามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานจริงๆ อีกที 

ถ้าจะเข้าป.ตรี ไปเรียนภาษาที่นั่นแล้วรอเข้า Studienkolleg เลยได้มั้ย

     จริงๆ ได้ค่ะ แต่ไม่แนะนำ เพราะการไปเรียนภาษาที่นั่น 1 ปีมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทางที่ดีเรียนภาษาเยอรมันจากประเทศไทยให้ได้มากที่สุดก่อนแล้วอาจมีเรียนเพิ่มเติมที่ประเทศเยอรมนีเล็กน้อยด้วยก่อนสอบเข้า Studienkolleg ที่โน่นจะประหยัดกว่าค่ะ


การสอบวัดระดับภาษาเยอรมันสอบที่ไหน มีอะไรบ้าง

     หลักๆ จะมีการสอบ 2 ชนิดค่ะ TestDaF จะคล้ายๆ กับการสอบ TOEFL ของภาษาอังกฤษค่ะ คือจะใช้ข้อสอบกลางเหมือนกัน ทดสอบ 4 ทักษะฟังพูดอ่านเขียน สอบได้ที่สถาบันเกอเธ่ ส่วนมากมหาวิทยาลัยจะกำหนดว่าผู้สมัครต้องสอบ TestDaF ได้คะแนนอย่างน้อย 4x4 แปลว่าต้องได้อย่างน้อยระดับ 4 ทั้ง 4 ทักษะ สามารถดูข้อมูลการสอบ TestDaF ได้ที่ www.goethe.de/ins/th/th/spr/prf/testdaf.html

     ข้อสอบอีกชนิดคือ DSH จะเป็นข้อสอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง คล้ายๆ กับ CU-TEP คือสมัครเข้าเรียนไปแล้ว แล้วทางมหาวิทยาลัยจะจัดสอบให้ มหาวิทยาลัยส่วนมากจะเปิดอบรมเตรียมสอบ DSH ก่อนวันสอบให้ด้วย แต่ทั้งนี้ผู้สมัครก็ต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันมาก่อนบ้างแล้ว คะแนนสอบจะมี 3 ระดับ โดยระดับ 3 คือคะแนนที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยส่วนมากจะรับที่ระดับ 2 ซึ่งเทียบเท่ากับ TestDaF ระดับ 4



     สุดท้ายนี้พี่พิซซ่าและพี่นิทานก็ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากคุณปิยะกัลย์ สินประเสริฐ และคุณประกายแก้ว ทองทวีผล Study Counselor & Administrator ประจำศูนย์บริการข้อมูล DAAD กรุงเทพฯ ด้วยนะคะ

     ถ้าน้องๆ อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.daad.or.th/th/ หรือจะเข้าไปสอบถามพี่ๆ ที่ศูนย์บริการข้อมูล DAAD ด้วยตัวเองเลยก็ได้ทุกวันจันทร์, พุธ และศุกร์ เวลา 10.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 16.00 น. ค่ะ พี่ๆ ใจดีกันมากๆ เลยแหละ
ทีมเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด