คลายความสงสัย! 8 ข้อควรรู้ก่อนสมัครทุน ‘Fulbright’ ทุนเรียนต่อฟรี ป.โท-เอกที่อเมริกา

     ถ้าพูดถึงเรื่องทุนการศึกษาเรียนต่อที่อเมริกา 1 ในทุนที่นักศึกษาชาวต่างชาติทั่วโลกยอมรับว่าเป็นทุนที่ดีที่สุดก็คงจะมีรายชื่อของ “ทุนฟุลไบรท์ (Fulbright)” รวมอยู่ในลิสต์แน่นอน และในทุกๆ ปีก็จะมีการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเรียนต่อเพื่อขอรับทุนอยู่เสมอ ซึ่งรายละเอียดการสมัครนั้นน้องๆ สามารถเข้าไปอ่านได้ (คลิกที่นี่)
     และหลังจากที่เปิดรับสมัครไป ก็มีหลายคนสงสัยในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ของทุนนี้ วันนี้ พี่วุฒิ เลยรวบรวม 8 ข้อควรรู้ก่อนสมัครทุนฟุลไบรท์มาให้น้องๆ ชาว Dek-D.com ได้อ่านกันครับ

 

 
1. ประวัติทุนฟุลไบรท์
 
      สำหรับที่มาที่ไปของทุนฟุลไบรท์นั้น แรกเริ่มเดิมทีก่อตั้งโดยรัฐบาลของอเมริกาในปี 1950 หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในปัจจุบันทั้งรัฐบาลไทยและอเมริกานั้นมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษานี้ ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน” นั่นเองครับ โดยจุดประสงค์หลักๆ ของโครงการนั้นจัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความสันพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนฟุลไบรท์ก็จะได้รับโอกาสเข้าไปศึกษาเล่าเรียน วิจัยศึกษา และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในสาขาที่ตนเองสนใจในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทางโครงการเองก็หวังว่านักศึกษาทุนฟุลไบรท์จะสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ต่อยอด และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศของนักศึกษาอีกด้วย

 
2. ทุนฟุลไบรท์สนับสนุนหลักสูตรใดบ้าง?
 
     โครงการนี้จะเปิดรับสมัครทุกสาขาครับ ยกเว้นแพทยศาสตร์และพยาบาล ซึ่งรวมไปถึงสาขาสายสาธารณสุขที่ต้องเข้าคลินิกจะไม่ได้รวมอยู่ในทุนนี้ครับ และโดยส่วนใหญ่แล้วทุนฟุลไบรท์จะเน้นสนับสนุนหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมเป็นหลัก เช่น ภาษาและวัฒนธรรม, สังคมและเศรษฐกิจ, วิทยาศาสตร์, สถาปัตยกรรม, การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
     จริงๆ แล้วทุนฟุลไบรท์นั้นมีหลายประเภทมากครับ แต่เชื่อว่าทุนที่ผู้สมัครส่วนใหญ่รู้จักมากที่สุด ก็คงจะเป็น “OC" (Open Competition Scholarship Program) ซึ่งเป็นทุนมอบให้กับนิสิต นักศึกษา รวมทั้งบุคคลทั่วไปสมัครขอรับทุนเพื่อเรียนต่อปริญญาโทในอเมริกา
     นอกจากนี้แล้ว ทางโครงการก็ยังมีทุนสนับสนุนสำหรับเรียนต่อ ปริญญาเอก หรือที่รู้จักกันว่า "JRS" (Junior Research Scholarship Program) และทุนสำหรับสำหรับนักวิจัยที่ต้องการไปทำการศึกษาค้นคว้าทำวิจัย เช่น TVS (Thai Visiting Scholar Program), USAS (US-ASEAN Visiting Scholar Program) และยังมีทุนสำหรับครู อาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ต้องการไปเพิ่มพูนทักษะที่อเมริกาอีกด้วย ที่รู้จักกันในชื่อ "LTA" (Foreign Language Teaching Assistant Program) ซึ่งทุนนี้จะมอบให้สำหรับคุณครู อาจารย์ที่มีประสบการณ์การสอนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีครับ

 


 
3. จำเป็นต้องสอบติดมหาวิทยาลัยในอเมริกาก่อนได้รับทุนหรือไม่?
 
     หลายคนอาจกังวลว่าต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตัวเองอยากเรียนให้ได้ก่อน ถึงจะมีสิทธิ์ขอรับทุนหรือเปล่า ขอตอบว่าไม่จำเป็นครับ เราสามารถยื่นสมัครเรียนได้หลังจากได้รับทุน แต่ถ้าใครยังกังวลอีกว่าถ้าสมมติได้ทุนแล้วแต่ก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดรับเราเข้าเรียน แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? ขอบอกว่าไม่ต้องกังวลไปครับ แค่ทางมหาวิทยาลัยเห็นชื่อว่าเราเป็นเด็กนักเรียนทุนฟุลไบร์ทแค่นั้น หลายสถาบันก็แทบจะอ้าแขนรับเลยล่ะครับ มิหนำซ้ำยังจะมอบทุนการศึกษาเพิ่มให้กับเราอีกด้วย เพราะกว่าจะผ่านเกณฑ์ของฟุลไบรท์มาได้ ก็อาจจะมากกว่าเกณฑ์ที่บางมหาวิทยาลัยตั้งไว้ด้วยซ้ำ

 
4. ทุนนี้จ่ายให้หมดเลยหรือไม่?
 
     มูลค่าทุนการศึกษาที่จะได้รับนั้น ในปีแรกจะได้รับทุนมูลค่าไม่เกิน 35,000 ดอลลาร์ และในปีต่อๆ ไป สามารถขอรับทุนได้ไม่เกิน 17,500 ดอลลาร์ ซึ่งในทุนนี้จะครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด (รวมค่าหนังสือและอุปกรณ์สำหรับการเรียนด้วย), ค่าประกันสุขภาพ, ค่าตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัด บินไป-กลับ
     พอเห็นมูลค่าทุนที่ได้รับนั้น หลายคนอาจกังวลว่า มันจะเพียงพอหรือเปล่า เพราะว่าบางมหา’ลัยนั้น ค่า tuition fee ก็อาจจะเกินจำนวนที่ทุนมอบให้ ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก เลยด้วยซ้ำ จากปัญหานี้ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ถ้าเราสมัครมหาวิทยาลัยรัฐบาล มูลค่าทุนที่ได้รับส่วนใหญ่จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนครับ แต่ถ้าเราเลือกมหาวิทยาลัยเอกชนก็อาจจะต้องควักเงินส่วนตัว เพราะค่าเทอมจะแพงมากกว่าแน่ๆ ครับ

 
5. ควรให้ใครเขียนจดหมายรับรองให้เรา?
 
     ในการสมัครนั้นจะต้องมีการเขียนจดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) ซึ่งหลายคนก็อาจจะเลือกให้คุณครูหรืออาจารย์เขียนให้เรา บางคนอาจจะคิดว่า จำเป็นหรือเปล่าว่าคนที่จะเขียนจดหมายรับรองให้เรา? จะต้องเป็นบุคลากรที่มีตำแหน่งสูงๆ หรือจะเป็นอาจารย์ที่เราเรียนด้วยแล้วได้รับผลการเรียนดีอยู่เสมอหรือไม่? ขอบอกว่ามันไม่จำเป็นเสมอไปหรอกครับ พี่ขอแนะนำว่า เราควรเลือกอาจารย์ที่เรารู้สึกสนิทสนม พูดคุยปรึกษากับเราได้ อาจจะเป็นอาจารย์ที่เห็นพัฒนาการของเราตลอดการเรียนหรือการทำกิจกรรม เราควรเลือกคนที่เขารู้จักตัวเราจริงๆ เพราะว่าอย่าลืมนะครับ เราเองก็อาจจะไม่สามารถอ่านจดหมายนั้นได้ และจดหมายที่เขียนนั้นก็เป็นมุมมองของคนอื่นที่สะท้อนถึงตัวตนของเรา ซึ่งอาจจะเขียนถึงความประทับใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราที่เขามองเห็น ไม่ใช่แค่เป็นการเขียนชื่นชมว่าเราเรียนได้เกรดดีเพียงเท่านั้น และกรรมการอาจจะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเกรดเราได้มามากเท่าไหร่ เพราะว่าแค่ผ่านเกณฑ์ก็พอแล้ว (ก็มันโชว์ในทรานสคริปต์แล้วไง ไม่ต้องเขียนมาก็ได้) สิ่งที่เขาอยากรู้ก็คือว่า “เรามีศักยภาพมากพอที่สมควรจะได้รับทุนหรือเปล่า”   
     ส่วนใครที่ทำงานแล้วหรืออาจจะเรียนจบมาหลายปี ก็สามารถให้เจ้านายของเราเขียนก็ได้ครับ แต่ขอแนะนำว่าควรให้อาจารย์ที่สอนเราในระดับมหาวิทยาลัยเขียนด้วยจะดีมากครับ (ต้องมีคนเขียนรับรอง 2 คน) และถ้าเป็นไปได้ ใครที่รู้จักอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เคยเป็นศิษย์เก่าทุนฟุลไบรท์ ก็ควรรีบไปปรึกษาหรือทำความรู้จักกับอาจารย์ไว้ก่อนเลยครับ เพราะถ้าเราให้อาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่าทุนเขียนให้ เราก็อาจจะได้เครดิตที่ดีด้วย เพราะว่ากรรมการนั้นมีศิษย์เก่าของทุนฟุลไบรท์เป็นคนตัดสินด้วยครับ  
 


 
6. การเขียน Personal Statement ปราบเซียนสุดๆ 
 
     ถ้าถามว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดสำหรับการสมัครขอทุนฟุลไบรท์ หลายคนน่าจะตอบว่า “การเขียนประวัติแนะนำตัว” หรือที่เรียกว่า ‘PS” (Personal Statement) บางที่อาจเรียกว่า ‘BS’ (Biographical Statement) เพราะว่าการเขียน PS ถือว่าเป็นส่วนเรียกคะแนนและสามารถตัดสินได้เลยว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ ผู้สมัครหลายคนจึงต้องงัดหลากหลายกลเม็ดวิธีการเขียนเพื่อพิชิตใจเหล่าคณะกรรมการให้อยู่หมัด (บางคนถึงกับจ้างเขียนด้วยซ้ำ แต่วิธีนี้ไม่ดีเลยและไม่ขอแนะนำด้วย เพราะว่าถึงแม้เราอาจจะผ่านเข้ารอบไป แต่พอเจอกรรมการ พวกเขาก็จะดูออกว่าเราเขียนเองหรือเปล่า)
     พี่วุฒิเองมีโอกาสได้สอบถามอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ท่านเองก็เป็น alumni หรือศิษย์เก่าของทุนฟุลไบรท์ มีโอกาสได้คุยทั้งทีก็เลยขอเคล็ดลับการเขียน PS อย่างไร ให้พิชิตใจกรรมการมาฝากน้องๆ ชาว Dek-D.com มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ!!
 
     - ห้ามเขียนสิ่งที่ไม่เป็นจริงลงไปเด็ดขาด!! อันนี้เตือนไว้เลย หลายคนอาจจะคิดว่าเราต้องเขียนให้ตัวเองดูดีมีระดับไว้ก่อน เขียนโอ้อวดสรรพคุณตัวเองนู่นนั่นนี่ เผื่อกรรมการอ่านแล้วจะสนใจ แต่น้องๆ อย่าลืมนะครับว่ากรรมการเขาอ่านมาแล้วกี่ฉบับ อันไหนจริงไม่จริง เขาดูออก ยิ่งถ้าเขียนอะไรเวอร์ๆ ลงไป เขาก็อาจจะปัดผ่าน ไม่ได้ไปต่อแน่นอนครับ
     - อ่านตัวอย่างการเขียนคนอื่นเพื่อเป็นแนวทางได้ แต่ห้ามเลียนแบบหรือคัดลอกการเขียนบทความเด็ดขาด! เพราะว่าการทำแบบนี้ ไม่ใช่แค่เพียงเราไม่ผ่านเข้ารอบ แต่สิ่งที่ตามมาและอาจจะติดในประวัติของเราไปตลอดก็คือ เราเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ คือ คุณอาจเสียเครดิตไปเลยก็ได้
     - หาวิธีการเขียนที่น่าสนใจ บางคนอาจจะเขียนเป็น essay หรืออาจจะคิดธีมของบทความให้ดูมีเรื่องราว อ่านแล้วรู้สึกน่าค้นหา ผู้อ่านรู้สึกประทับใจ อยากรู้จักเรามากขึ้น บางคนอาจจะเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมา ผูกเรื่องราวให้ดูเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ นั่นเองครับ
     - พยายามอย่าเขียนเวิ่นเว้อ ไม่พายเรือในอ่าง เราต้องวางโครงสร้างของบทความให้ดี และอย่าเขียนสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องลงไป เพราะว่าเราเขียนเพื่อสมัครเรียน ดังนั้นก็ควรเขียนให้เกี่ยวกับเรื่องเรียน เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกรรมการเขาไม่ได้อยากรู้กับเราหรอก
     - อย่าลืมว่าการเขียนประวัตินั้น จำกัดแค่ 400 คำ ดังนั้นต้องวางโครงเรื่องดีๆ เลือกแต่สิ่งที่สำคัญๆ เขียนลงไป และอย่าลืมนับคำพร้อมตรวจสอบไวยากรณ์ด้วย

 
7.  การเขียน Study Objectives ก็สำคัญไม่แพ้กัน!
 
     แค่เขียนประวัติแนะนำตัวในข้อที่ผ่านมาก็รู้สึกสูบพลังงานในการเขียนไปหลายวันแล้ว แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าสำคัญพอๆ กันที่เราจะต้องเขียนลงไป นั่นก็คือ ‘Study Objectives’  หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ‘PPP’ (Purposed Program Plan) เราจะต้องเขียนอธิบายว่าทำไมเราอยากได้รับทุนนี้? ทำไมเราถึงอยากเรียนต่อในสาขานี้? แล้วทำไมถึงต้องเลือกเรียนที่อเมริกาด้วย? แล้วเราจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอย่างไรได้บ้าง หรือทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศของคุณได้อย่างไรบ้าง? ทุกอย่างต้องดูมีที่มาและที่ไป มีเหตุผลมารองรับ บางคนก็อาจจะเขียนเล่าถึงประวัติหรือประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เช่นการเรียน การทำกิจกรรม การทำวิจัย การทำงาน หรือการฝึกงาน เป็นต้น ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับสาขาที่เราสมัครด้วย ทุกอย่างจะต้องดูเป็นข้อเท็จจริง มีหลักฐานมาสนับสนุนกับสิ่งที่เราเขียนทั้งหมด ดังนั้นก่อนเขียน PPP เราต้องตั้งสติดีๆ แล้วลิสต์ไว้เลยว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง เราได้รับอะไรจากงานนั้นบ้าง ผลเป็นอย่างไร แล้วมีคุณค่าอย่างไร และเราจะต่อยอดกับการเรียนในสาขานี้ได้อย่างไร รับรองเลยครับว่าถ้าเราเขียนจากความจริง มีหลักฐานจริง และสามารถทำได้จริง กรรมการก็จะมองเห็นถึงความตั้งใจของเราจริงๆ ครับ
 


 
8. การสัมภาษณ์ที่เข้มข้น
 
     มาถึงด่านสุดท้ายนี้ที่จะเป็นด่านชี้ชะตาว่าเราจะได้รับทุนหรือเปล่า นั่นก็คือ ‘การสอบสัมภาษณ์’ หลายคนอาจจะมาทริคในการตอบคำถามที่ต่างกันไป ซึ่งอาจจะได้ผลหรือไม่ ก็อาจจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนด้วย วันนี้พี่เลยยกตัวอย่างทริคดีๆ ที่อาจะจะใช้ได้ผลในการสัมภาษณ์มาฝากน้องๆ กันครับ
 
     - แค่เก็งคำถามและคำตอบไว้อาจไม่เพียงพอ เราต้องฝึกสร้างสถานการณ์จำลองในการสัมภาษณ์ด้วย เพื่อจะได้คุ้นชินกับสถานการณ์ พอถึงเวลาจะได้ไม่รู้สึกประหม่ามากเกินไปครับ
     - วิธีการตอบคำถามนั้นมีมากมาย แต่ตอบอย่างไรให้กรรมการสนใจในตัวเรา เราต้องทำให้เขารู้สึกอยากคุยกับเราต่อ ไม่ใช่แค่ตอบเพียงข้อเท็จจริงแล้วทุกอย่างจบ ดังนั้นเราต้องสร้างไอเดียดีๆ ไว้รองรับอยู่เสมอ เพราะถ้ากรรมการเงียบแล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากถามต่อเมื่อไหร่ มันก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไหร่ครับ
     - เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็พยายามอย่าทำให้รู้สึกมากจนเกินไป เพราะมันอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพของออกมาไม่ดีอีกด้วย
     - ควรศึกษาประวัติที่มาที่มาของฟุลไบรท์ไว้ด้วย ไม่ใช่แค่เตรียมแต่เรื่องของตัวเราไปเล่าให้เขาฟัง แต่เราก็ต้องรู้จักเขาด้วยเช่นกัน มันก็เหมือนเวลาเราไปสมัครงาน แต่เราไม่รู้ประวัติบริษัท ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับองค์กรได้ แล้วที่ไหนจะอยากรับเราเข้าไปล่ะ สิ่งนี้มันบ่งบอกถึงความใส่ใจและความตั้งใจของเรามากๆ เลยล่ะ
     - พยายามมาถึงก่อนเวลา แต่งตัวให้เรียบร้อย ทำใจให้สงบ ตั้งสมาธิดีๆ (ดื่มน้ำและสวดมนต์เยอะๆ ครับ 5555)  
 



 
     อย่างที่บอกไปครับว่าตอนนี้ทุนฟุลไบรท์เปิดรับทุกปี และในตอนนี้ก็ยังเปิดรับสมัครอยู่ถึงวันที่ 22 เมษายน 2019 (รายละเอียดของทุน คลิกที่นี่)ใครที่คุณสมบัติครบและเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ก็รีบสมัครด่วนๆ เลยครับ ส่วนใครที่กำลังเตรียมตัวอยู่ พี่ก็หวังบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ :D
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น