9 เทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้การอ่านหนังสือสอบเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเรียนนักศึกษา สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำแน่ๆ คือการสอบ มีใครจำได้บ้างว่าตัวเองผ่านมากี่สนามสอบแล้ว พี่บุ๋มบิ๋ม เชื่อว่าคงนับกันไม่หวาดไม่ไหวแน่ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นแค่การสอบเลื่อนชั้น สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบชิงทุนไปเรียนที่ต่างประเทศ ทุกคนล้วนต้องสอบทั้งนั้น แต่อุปสรรคมันอยู่ตรงที่ว่าหลายครั้งเราอ่านไป 100% แต่เข้าหัวแค่ 60% เอาเป็นว่าถ้าใครยังกังวลใจว่าควรทำอย่างไรให้เราอ่านหนังสือแล้วจำได้ เพื่อไปสู้กับทุกคนในสนามสอบ วันนี้พี่บุ๋มบิ๋มมีเคล็ดลับง่ายๆ ในการอ่านหนังสือที่แตกต่างจากเคล็ดลับทั่วไปที่เรารู้ๆ กันมาฝากค่ะ
     
     
 
     

เขียนเนื้อหาเตรียมสอบด้วยมือตัวเอง

     
     สิ่งที่จำเป็นต้องทำ และห้ามข้ามขั้นตอนนี้ไปคือการเตรียมเนื้อหาต่างๆ ที่เราจะสอบ การทำแบบนี้เป็นการบังคับให้เราทบทวนว่าเราเรียนอะไรมาแล้วบ้าง คนที่จะสอบชิงทุนหรือสอบวัดระดับภาษาต่างๆ ก็น่าจะเข้าใจว่าการสอบเหล่านี้มักมีหลายพาร์ท ให้เราลองนั่งทบทวนดูก่อนว่ามีอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องอ่าน และที่สำคัญคือเราต้องเขียนสิ่งเหล่านี้ลงไปด้วยมือตัวเองค่ะ เพราะมีการวิจัยมาแล้วว่า การจดบันทึกด้วยลายมือนั้นทำให้เราสามารถจดจำสิ่งที่เราเขียนได้มากกว่าการที่เราพิมพ์เนื้อหาเหล่านั้นลงคอมพิวเตอร์ แม้อาจจะช้าไปสักนิด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับดีกว่าแถมยังช่วยให้เราจดจำเนื้อหาเหล่านั้นได้ในระยะยาวอีกด้วยนะคะ
     
     

จัดลำดับการอ่านและสร้างคอนเซ็ปต์เนื้อหา

     
     หลังจากเตรียมเนื้อหาคร่าวๆ ได้แล้ว ให้เราเช็คดูว่าวิชาไหนที่เราจะต้องสอบเป็นวิชาแรก จากนั้นก็หยิบทุกอย่างที่เรามีออกมาอ่าน โดยวิธีที่จะช่วยให้การอ่านของน้องๆ ง่ายขึ้นคือการทำความเข้าใจกับรูปแบบข้อสอบก่อน การเริ่มจัดกลุ่มคำศัพท์ของเนื้อหาสามารถช่วยได้ดีมากค่ะ วิธีนี้ถือเป็นการจัดกลุ่มความจำ และจะช่วยให้น้องๆ ไม่หลงลืมว่าเราเพิ่งอ่านอะไรมา โดยเราอาจเริ่มจากการจัดกลุ่มเนื้อหา เช่น หากจะสอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เราก็สร้างหมวดย่อยให้เนื้อหาว่าไทม์ไลน์ในปีนั้นๆ เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง จากนั้นก็แยกย่อยออกไปอีกว่าในเหตุการณ์เหล่านั้นพูดถึงใครเป็นสำคัญ ค่อยๆ เจาะจงทุกอย่างแบบใจเย็น ไม่ต้องรีบร้อน และที่สำคัญคือพยายามจดสิ่งสำคัญด้วยมือตัวเองค่ะ     
     
          

ใจความสำคัญมักอยู่ที่หน้าแรกและหน้าสุดท้าย

     
     เป็นเรื่องจริงที่ว่าใจความสำคัญจริงๆ มักซ่อนอยู่ในช่วงแรกและช่วงสุดท้ายของเล่ม การจะเริ่มอ่านอะไรสักอย่างเราควรทำความเข้าใจกับหนังสือเล่มนั้นๆ ก่อน เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือสักเล่ม หลายคนมักไม่ชอบอ่านคำนำหรืออารัมภบทหน้าแรกๆ เท่าไร แต่จะชอบข้ามไปอ่านเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นๆ เลยใช่มั้ยล่ะค่ะ พี่จะบอกว่าใจความสำคัญของหนังสือหลายเล่มมักซ่อนอยู่ในหน้าแรกๆ ที่เราชอบข้ามกันนั่นแหละ การอ่านหน้าเหล่านี้ก่อนเป็นเหมือนการบอกเล่าเนื้อหาคร่าวๆ ให้เราเข้าใจก่อนจะลงมืออ่านเนื้อหายิบย่อยภายในเล่มที่ต้องอ่านซ้ำๆ จึงจะเข้าใจว่า คนเขียนกำลังพูดถึงอะไรกันแน่
       
     เหมือนกันกับบทส่งท้ายหรือบทสรุปค่ะ ตรงจุดนี้ก็จำเป็นต้องอ่านเหมือนกัน เพราะหากการอ่านหน้าคำนำหนังสือเป็นการปูเนื้อหาเราแล้ว การอ่านในหน้าส่งท้ายก็เป็นเหมือนการสรุปเนื้อหาให้เราเข้าใจได้อย่างรวบรัดอีกที สำหรับคนที่มีเวลาไม่พอในการอ่านหนังสือ วิธีนี้สามารถช่วยได้มากเลยค่ะ แถมยังนำไปปรับใช้กับการทำข้อสอบพาร์ทการอ่านได้ด้วยนะ เพราะเนื้อหาสำคัญๆ ส่วนใหญ่ของข้อสอบพาร์ทนี้มักซ่อนอยู่ในย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้ายนั่นเองค่ะ
     
     

การอ่านให้สนุก คือการอ่านแบบตั้งคำถาม

     
     หลายคนมักเบื่อเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบ พี่เองก็เบื่อค่ะ หนังสือสอบมันไม่เหมือนหนังสืออ่านเล่น เป็นเหมือนหนังสือที่มียานอนหลับแฝงอยู่ในทุกตัวอักษร พอหยิบมาอ่านถ้าไม่รู้สึกง่วงก็ต้องรู้สึกเบื่อ วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับการอ่านได้คือการตั้งคำถามกับเนื้อหาเหล่านั้นค่ะ พี่อยากให้น้องๆ ลองนึกถึงเวลาที่ตัวเองอยู่ในชั้นเรียนแล้วรู้สึกสงสัยในเนื้อหาบางอย่างระหว่างเรียน เราจะรู้สึกสนุกและอยากรู้คำตอบตอนที่ถามอาจารย์ว่าทำไม A จึงเป็นแบบนั้น ทำไม B จึงทำแบบนี้ ตอนอ่านหนังสือสอบก็เช่นกันค่ะ การอ่านเพื่อหาคำตอบจะทำให้น้องๆ รู้สึกสนุกและไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นน่าเบื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องลองตั้งคำถามกับตัวเองแล้วค่อยตะลุยหาคำตอบในหนังสือ เหมือนกับการตามล่าขุมทรัพย์เลย แบบนี้จะทำให้เราอ่านหนังสือได้นานกว่าปกติมากทีเดียวนะ
     
     
     

การอ่านออกเสียง ช่วยได้มากกว่าที่คิด

     
     การอ่านแฟลชการ์ดคำศัพท์ซ้ำๆ ไม่ได้ช่วยให้น้องๆ จำคำศัพท์เหล่านั้นได้แบบ 100% ค่ะ แน่นอนว่าการทำแฟลชการ์ดสามารถช่วยให้การอ่านของน้องๆ ดีขึ้นมาก แต่หากอยากให้ความจำของเราเพอร์เฟ็คมากขึ้นล่ะก็ เวลาอ่านแฟลชการ์ดเหล่านั้น น้องๆ ควรอ่านออกเสียง เพราะการทำแบบนี้สามารถช่วยให้เราจดจำเนื้อหาที่อ่านได้มากกว่าการอ่านในใจ อาจฟังดูแปลกๆ ไปบ้างแต่เป็นเรื่องจริงที่ว่าวิธีการนี้สามารถช่วยเราได้มากทีเดียว โดยเฉพาะการอ่านด้วยน้ำเสียงของตัวเอง เราอาจอ่านออกเสียงแล้วบันทึกเสียงของเราเก็บไว้ฟังก็ได้นะคะ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการนั่งฟังเสียงตัวเองให้ความรู้สึกประหลาดๆ ไปหน่อย อย่างไรก็ตาม พี่แนะนำให้เราลองใช้วิธีนี้ในที่ๆ เป็นส่วนตัว ไม่ควรอ่านออกเสียงในห้องสมุดเพราะจะเป็นการรบกวนคนอื่นได้
     
     

Mnemonic คือตัวช่วยที่ได้ผลเสมอ

     
     นีโมนิค (Mnemonic) เป็นวิธีที่พี่ชอบใช้ที่สุดและเห็นผลดีที่สุดค่ะ บางคนอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร นีโมนิคคือเทคนิคช่วยจำที่ทำให้เราสามารถจดจำเนื้อหาบางอย่างไว้ในสมองได้นานโดยอาศัยหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสียงสัมผัส การสร้างประโยค หรือการสร้างคีย์เวิร์ด พูดกันอาจไม่เห็นภาพ แต่หากพี่ถามว่าน้องๆ จำได้หรือเปล่าว่าอักษรกลางประกอบด้วยพยัญชนะตัวใดบ้าง น้องๆ น่าจะท่องประโยค 'ไก่จิกเด็กตาย (เฎ็กฏาย) บนปากโอ่ง' ทันทีใช่มั้ยล่ะ นี่เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคนีโมนิคค่ะ หรือหากถามว่าทะเลสาบทั้ง 5 ของอเมริกามีอะไรบ้าง เราก็ตอบได้ว่ามีทะเลสาบ Huron, Ontario, Michigan, Erie และ Superior ที่เราจำได้เป็นเพราะเรานำอักษรแรกของชื่อทะเลสาบมาประกอบใหม่จนได้เป็นคำว่า HOMES นั่นเอง เห็นมั้ยคะว่าวิธีนี้เห็นผลดีมากแถมยังทำให้เราจดจำได้นานอีกด้วย
        
        

อ่านจนตาลาย พักสายตาบ้างก็ดี

      
     อ่านมากไปก็เบลอได้เหมือนกันค่ะ ถ้าเราเริ่มคิดว่าตัวเองอ่านไม่ไหวแล้ว พี่แนะนำให้หันไปเปิดคลิปอื่นๆ ดู คลิปที่ว่านี่คือคลิปติวสอบหรือคลิปเฉลยข้อสอบนั่นเองค่ะ หรือไม่อย่างนั้นหากอยากได้อะไรที่ดูบันเทิงใจขึ้นอีกนิด ลองหาสารคดีที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการอ่านของเรามานั่งดูก็ได้นะ มีสารคดีมากมายหลายแบบบนโลกใบนี้ที่จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่เราต้องการได้โดยไม่ต้องอ่านหนังสือ ไล่มาตั้งแต่สารคดีเชิงประวัติศาสตร์ไปจนถึงสารคดีแนววิทยาศาสตร์ เลือกดูได้ตามแบบที่เราชอบเลยค่ะ การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยให้เราหายเบลอจากตัวหนังสือทั้งหลายแล้วยังทำให้เราเพลิดเพลินไปได้อีกด้วย
     
     

อ่านเสร็จ แนะนำให้แปลงร่างเป็นคนสอนบ้าง

     
     หลายคนไม่รู้ว่าวิธีนี้แหละที่ช่วยให้เราจดจำสิ่งที่เราอ่านมาได้ดีมาก เมื่อเราอ่านจนครบทุกอย่างตามที่ต้องการแล้ว น้องๆ ลองจำลองตัวเองเป็นผู้สอนดูค่ะ สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้เป็นเพราะเราจะได้ดูกันว่าเราสามารถเรียบเรียงข้อมูลได้ดีแค่ไหน เราจดจำเนื้อหาที่เราอ่านไปได้หรือเปล่า และสิ่งสำคัญที่สุดคือการจะสอนให้ใครเข้าใจสักคนนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน หากเราสามารถสอนตามเนื้อหาที่เราอ่านมาให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ แบบนี้แสดงว่าเราประสบความสำเร็จในการอ่านแล้วล่ะค่ะ
     
     
 
     

สำคัญที่สุดคือพักบ่อยๆ และให้อาหารสมอง

     
     การตะบี้ตะบันอ่านไม่เป็นผลดีค่ะ นอกจากจะเบลอแล้วจะทำให้สุขภาพแย่อีกต่างหาก น้องๆ ต้องอ่านหนังสือในแบบที่รู้สึกว่าจะไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกเหนื่อยเกินไป อาจตั้งเวลาไว้ว่าจะอ่านหนังสือ 50 นาที จากนั้นก็พักสัก 5 นาที ซึ่งในระหว่างที่พัก อาจจะลุกไปขยับแข้งขยับขาให้หายเมื่อย หรือหาของกินมาช่วยบำรุงสมองก็ได้ ปลา ไข่ ผักใบเขียว และผลไม้ประเภทเบอร์รี่ถือเป็นอาหารช่วยบำรุงสมองแถมยังหาง่ายอีกด้วยนะ
     
     
     วิธีเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน แต่พี่เชื่อว่าน้องๆ สามารถหยิบบางวิธีที่เหมาะกับตัวเองไปเสริมทัพความแกร่งยามที่ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบได้แน่นอนค่ะ แต่สิ่งสำคัญคือการปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปเรื่อยๆ โดยคิดแค่ว่า “เอาไว้อ่านพรุ่งนี้แล้วกัน” ไม่ใช่อะไรที่ควรทำ หากอยากประสบความสำเร็จจริงๆ ต้องรีบอ่านแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองมีเวลาไม่มากพอในช่วงใกล้สอบค่ะ
พี่บุ๋มบิ๋ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น