เจาะลึก 'อักษรอินเตอร์ จุฬาฯ (BALAC)' จบมัธยมหลักสูตรธรรมดาก็เข้าอินเตอร์ได้!

          สวัสดีค่า น้องๆ ชาว Dek-D มีน้องๆ คนไหนกำลังมองหาคณะที่ใช่กันอยู่บ้างมั้ยคะ? วันนี้พี่ไอซ์กลับมาพร้อมกับบทความที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคำแนะนำดีๆ (ส่งจากประสบการณ์ตรงของพี่เอง > <) สำหรับหลายๆ คนที่เรียนมัธยมภาคปกติมาแต่อยากเข้าคณะอักษรศาสตร์ ภาคอินเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไหนมีใครสนใจบ้าง ยกมือหน่อยยย

          ก่อนที่เราจะมาเริ่มกัน พี่ขออธิบายว่าคณะอักษรศาสตร์อินเตอร์เป็นอย่างไรให้ฟังก่อนแล้วกัน คณะอักษรศาสตร์อินเตอร์ หรือว่าที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า "บาลัค (BALAC)" คือคณะที่มุ่งเน้นการสอนวัฒนธรรมศึกษา (cultural study) ควบคู่ไปกับทักษะทางด้านภาษา เพื่อให้นักศึกษาทุกๆ คนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบันที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลซึ่งมีภูมิหลังวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน


ภาคอินเตอร์ VS ภาคปกติ แตกต่างกันอย่างไร?


   1.  จำนวนวิชาเอกและวิชาโท
         
          นอกจากบาลัคจะเรียนทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษแล้ว บาลัคยังแตกต่างจากภาคปกติตรงที่วิชาเอกของภาคปกตินั้นจะมีจำนวนมากกว่า ในขณะที่บาลัคมีเพียงแค่เอกเดียว คือเอกภาษาและวัฒนธรรม โดยสิ่งที่น้องๆ สามารถเลือกได้คือ วิชาโท ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเพียงภาษาที่ 3 ให้เลือก เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน แต่ในปัจจุบันนี้มีการเปิดวิชาโทภาษาเยอรมันเพิ่มเข้ามาด้วย รวมทั้งวิชาโทที่ไม่ใช่ภาษาอย่าง Media study (ศึกษาเกี่ยวกับสื่อในทุกๆ ด้าน เช่น ภาพยนตร์ วรรณกรรม ดนตรี และศิลปะการแสดง) และ Global study (ศึกษาเกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์ เช่น วิถีปฏิบัติ และรูปแบบทางวัฒนธรรมในสังคมยุคหลังอาณานิคม ประเด็นข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งการการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน) แต่ว่าวิชาโทเหล่านี้ไม่ได้เปิดทั้งหมดในทุกปี วิชาที่เปิดนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่สนใจ ซึ่งนับจากการกรอกในใบสมัคร
 

 

   2.  การเลือกวิชาเอก

          อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันก็คือ ภาคอินเตอร์สามารถเลือกวิชาโทและเรียนได้ตั้งแต่ในปีแรก โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ว่าภาคปกติจะมีการเลือกเอกและโทในปีที่ 2 โดยที่จะมีเงื่อนไขต่างๆ ในการเลือกวิชาเอก (แต่ในส่วนของวิชาโทนั้นไม่มีเงื่อนไขใดๆ ใครสนใจวิชาไหนก็ลงได้เลยจ้า) เช่น ผลการเรียน หรือ รายชื่อวิชาที่เคยลง (ในที่นี้หมายความว่า ถ้าคนไหนที่สนใจวิชาเอกอิตาลี ก็จะต้องเคยลงวิชาอิตาลี 1 และอิตาลี 2 มาก่อน ถึงจะเลือกวิชาเอกอิตาลีได้นั่นเอง)
   
   3.  วิชาที่สอน

          วิชาที่สอนในภาคปกติและภาคอินเตอร์ก็แตกต่างกันเช่นกัน มีแค่เพียงบางวิชาที่เหมือนกัน เช่น อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมตะวันออก และวรรณคดีไทย แต่ขอบอกก่อนว่าถ้าน้องๆ สนใจวิชาเรียนของภาคปกติ น้องๆ จะไม่สามารถลงเรียนได้ค่ะ ต้องลงเรียนของภาคอินเตอร์ด้วยกันเท่านั้น นั่นก็รวมไปถึงวิชา Gened ด้วย (ย่อมาจาก General Education หรือวิชาศึกษาทั่วไป) และภาคไทยเองก็ไม่สามารถลงวิชาของภาคอินเตอร์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นศึกษารายวิชาดีๆ กันก่อนนะคะ


 


การเตรียมตัว


          รู้มั้ยคะ สิ่งแรกที่น้องๆ ทุกคนควรทำก็คืออะไร? สิ่งนั้นก็คืออออ... การศึกษาว่าทางคณะต้องการให้เรายื่นคะแนนอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่ นั่นเองงง เนื่องจากว่าทางคณะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับนิสิตนักศึกษาเข้าใหม่หรือจำนวนคะแนนได้ในแต่ละปี รวมทั้งการที่น้องๆ ศึกษาข้อมูลเหล่านี้จะทำให้รู้ด้วยว่าควรจะเริ่มเตรียมตัวอย่างไร ดังนั้นการศึกษาสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง!!

          ยกตัวอย่างเช่น ในปีล่าสุดนี้ทางคณะเปิดรับนิสิตใหม่ทั้งหมด 2 รอบ ในรอบแรกนั้นจะไม่มีการสอบข้อเขียน จะมีเพียงการสอบสัมภาษณ์ ดังนั้นคะแนนที่น้องๆ จะต้องได้นั้น จึงสูงกว่าในรอบ 2 ซึ่งจะมีทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ สิ่งที่ต้องใช้ยื่นก็คือ AT / CU-AAT / ACT ควบคู่ไปกับ TOEFL / CUTEP / IELTS (รายละเอียดเกณฑ์คะแนนสามารถดูได้ที่นี่) นอกจากนี้จำนวนสัดส่วนที่รับในรอบแรกนั้นจะมากกว่ารอบที่ 2 อีกด้วย ดังนั้นก็ขยันหมั่นเพียรทบทวนเนื้อหาต่างๆ รวมทั้งฝึกทำข้อสอบเยอะๆ นะคะ จะได้ผ่านเกณฑ์ตามที่คณะกำหนดเอาไว้ (สู้!)


How to สอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ให้ผ่าน


          หลังจากที่น้องๆ ผ่านเกณฑ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ด่านต่อไปที่น้องๆ จะเจอก็คือการสอบข้อเขียนหรือการสอบสัมภาษณ์ พี่จะมาเล่าประสบการณ์ที่พี่เจอมาพร้อมกับแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่พี่เคยใช้เน้อ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจ แต่พี่ขอบอกก่อนว่าระบบการสอบเข้าในปีของพี่นั้นไม่เหมือนกับน้องๆ แต่ว่าแนวข้อสอบที่พี่ไปสอบถามน้องปีหลังๆ มาให้ ก็ได้คำตอบว่าใกล้เคียงกันอยู่

การสอบข้อเขียน

          งั้นเรามาเริ่มกันที่การสอบข้อเขียนก่อนเลยดีกว่า ในการสอบข้อเขียนนั้นจะมีทั้งพาร์ทการอ่าน และพาร์ทการเขียน ซึ่งข้อสอบในพาร์ทการอ่านจะไม่ค่อยต่างจากที่หลายๆ คนเจอในการสอบวัดระดับที่น้องๆ ต้องยื่นมากนัก เพราะเรื่องที่ออกสอบจะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้องทำได้ก็คือการฝึกอ่านและทำข้อสอบให้มากๆ แต่ว่าการสอบอันนี้อาจจะยากกว่าการสอบวัดระดับเล็กน้อยตรงที่จะต้องตอบคำถามด้วยการเขียนคำตอบด้วยตนเอง ไม่มีตัวเลือกให้เลือกเหมือนข้อสอบวัดระดับ ดังนั้นก็อย่าลืมฝึกการตอบคำถามแบบนี้มาด้วยน้าาา

          ส่วนพาร์ทการเขียนนั้น น้องๆ สามารถเลือกได้ว่าอยากเขียนเรื่องอะไร ทางคณะจะมีหัวข้อมาให้ผู้สมัครได้เลือกเขียน ซึ่งหัวข้อเหล่านั้นก็จะเป็นข่าวสารหรือเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในช่วงนั้นๆ (ในปีพี่ก็เป็นเรื่องลูกเทพ ซึ่งพี่และเพื่อนๆ ของพี่หลายคนก็เขียนเรื่องนี้กันเยอะเลย) เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้องๆ ทุกคนควรทำก็คือการศึกษาว่าช่วงที่จะต้องสอบข้อเขียนมีข่าวใดที่กำลังฮอตฮิตอยู่บ้าง เพื่อที่ว่าจะมีข้อมูลในการเขียนเรียงความ

          นอกจากนั้น น้องๆ ควรที่จะฝึกฝนการเขียนเรียงความบ่อยๆ อีกด้วย เพื่อให้คุ้นชินกับการเขียนเรียงความที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการมีบทนำ (introduction) เนื้อหา (body) และสรุป (conclusion) เสมอ แล้วก่อนที่จะเริ่มเขียน (ไม่ว่าจะเป็นเรียงความใดๆ ก็ตาม) พี่ขอแนะนำว่าให้ทุกๆ คนเริ่มต้นจากการร่างสิ่งที่จะเขียน (outline) เอาไว้ก่อนด้วย เพื่อที่ว่าเวลาเขียน เราจะได้โฟกัสแค่ในสิ่งที่เราคิดไว้ว่าจะเขียน มิฉะนั้นอาจจะทำให้การเขียนยืดเยื้อจนไม่สามารถเขียนเสร็จได้ในเวลาที่กำหนดก็เป็นได้ 

          รู้มั้ยคะว่าทำไมพี่ถึงแนะนำน้องๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นก็เพราะว่าในปีแรกของการเรียนนั้นเด็กบาลัคทุกคนจะต้องพบกับวิชาที่มีชื่อว่า Writing fundamental (การเขียนเรียงความขั้นพื้นฐาน) และ Academic report writing (การเขียนรายงานเชิงวิชาการ) ซึ่งเป็นวิชาที่ยากมากๆ สำหรับหลายๆ คน รวมถึงพี่ด้วย TT ดังนั้นการฝึกเขียนบ่อยๆ จะเป็นการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอนะคะ

การสอบสัมภาษณ์

          สำหรับการสอบสัมภาษณ์ของคณะนี้ค่อนข้างจะหลากหลายอยู่เหมือนกัน เพราะว่าอาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ในแต่ละห้อง หรือแม้กระทั่งในห้องเดียวกันแต่ว่าคนละคนก็มีคำถามที่แตกต่างกันไป บางคน (เช่นพี่) ก็เจอคำถามที่อ้างอิงมาจากพอร์ตฟอลิโอที่ยื่นให้กับอาจารย์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีก็ได้เพราะทางคณะไม่ได้ขอ แต่พี่ก็แอบอยากโชว์ผลงานกิจกรรมที่เคยร่วมอันน้อยนิดของพี่นิดนึง 55555) หรือบางคนก็โดนให้จับฉลากและพูดเกี่ยวกับหัวข้อที่จับขึ้นมาได้เป็นเวลา 1 นาที

          เนื่องจากว่าพี่ได้ส่งพอร์ตฟอลิโอให้กับอาจารย์ พี่จึงถูกถามเกี่ยวกับสิ่งที่พี่ส่งให้เขา เช่น ในประเทศที่พี่ไปแลกเปลี่ยนอย่างนิวซีแลนด์มีปัญหาระหว่างชนพื้นเมืองกับคนผิวขาวมั้ย หรือว่าชนพื้นเมืองกับคนผิวขาวมีความแตกต่างกันอย่างไร ถึงแม้ว่าคำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากๆ แต่มันก็ยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องๆ จะต้องพบเจอหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว โดยที่เขาจะดูความคิดของน้องๆ นั่นเอง ดังนั้นเตรียมตัวกันมาดีๆ ล่ะ นอกจากนี้คำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ ก็ยังถูกใช้นำไปถามในรูปแบบการจับฉลากอีกด้วย (เพื่อนของพี่หลายคนเจอมาแล้ว!)

          ส่วนคำถามอื่นๆ ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงก็มีนะคะ ส่วนมากก็เป็นแนวคำถามที่ถูกใช้ถามในทุกๆ ปี เช่น หนังสือที่ชอบอ่านพร้อมทั้งเหตุผล ภาพยนตร์ที่ชอบพร้อมทั้งเหตุผล วิชาที่อยากเรียน หรืออยากถามอะไรเกี่ยวกับวิชาไหนบ้างมั้ย คำถามต่างๆ นี้ก็จะนำไปสู่คำตอบว่าน้องๆ สนใจที่จะเรียนที่นี่จริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าบางคำถามนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาหาความรู้มาก่อน ดังนั้น พี่จึงอยากแนะนำให้ทุกๆ คนไปศึกษาวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนหรือข้อมูลเกี่ยวกับคณะเบื้องต้นไว้ด้วย (สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของคณะได้เลย คลิกที่นี่)


สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ BALAC


          อย่างแรกเลยน่าจะมีหลายคนคิดว่าเด็กบาลัคส่วนมากน่าจะมาจากโรงเรียนอินเตอร์กันแน่ๆ เลย เด็กโรงเรียนปกติคงจะแทบไม่มี แล้วยิ่งเป็นอักษร จุฬาแล้วด้วย คงยิ่งหมดโอกาสสำหรับเด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์มา อยากจะบอกว่าไม่จริงเลยค่ะ! เพราะเพื่อนของพี่หลายๆ คนก็มาจากโรงเรียนไทย ภาคปกติกัน รวมทั้งพี่ด้วย (ตั้งแต่เกิดมาพี่ยังไม่เคยเรียนอินเตอร์เลยค่ะ ตอนประถมพี่ก็เรียนที่ต่างจังหวัดค่ะ) หรือบางคนจบมัธยมจากต่างจังหวัดก็มี ทุกๆ อย่างล้วนแล้วขึ้นอยู่กับความพยายามของเราค่ะน้องๆ ถ้าเรามีความพยายามมากพอ เราก็สามารถที่จะเรียนได้ทุกอย่างที่เราอยากจะเรียน จบจากที่ไหนก็สามารถเรียนบาลัคได้ค่า


 

          อย่างที่สองเลยก็คือ เรียนจบไปแล้ว ต้องไปเป็นล่ามแน่ๆ เลย อันนี้ก็ไม่เป็นความจริงเลยค่ะ ถึงแม้ว่าเด็กบาลัคอย่างเราจะเรียนภาษาก็จริง แต่เราไม่ได้เรียนภาษาอย่างเดียวค่ะ เรายังเรียนด้านวัฒนธรรมศึกษาซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับคนที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือสังคมในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออีกด้วยค่ะ ดังนั้น หลังจากเรียนจบแล้ว เด็กบาลัคสามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าแค่ล่ามค่ะ รุ่นพี่ที่จบไปก็มีทั้งทำงานในองค์กรสหประชาชาติอย่างยูเอ็น ผู้จัดงานอีเวนต์ (event organizer) บรรณาธิการ (editor) หรือแม้กระทั่งทำงานในกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรปในประเทศไทย

          แล้วเราก็เดินทางมาถึงตอนจบของบทความกันแล้ว เป็นยังไงกันบ้างคะ ถึงแม้ว่าบทความนี้จะแอบยาวนิดนึงแต่พี่ไอซ์ขอรับรองว่าน้องๆ คนไหนที่อ่านแล้วนำไปใช้ รับรองว่าปังแน่นอน สู้ๆ นะคะ พี่เป็นกำลังใจให้ แล้วเจอกันที่คณะค่ะ เดี๋ยวพี่กลับไปเยี่ยม อิอิ
 
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น