'เพียว' กับชีวิตเด็กทุนรัฐบาลไต้หวัน(ป.โท) & จีน(ป.เอก) ใน ม.อันดับ 1 ด้านศึกษาศาสตร์ของประเทศ!

        สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน ถ้าพูดถึงทุนรัฐบาลต่างประเทศที่หลายคนใฝ่ฝัน พี่เชื่อว่าจะต้องมีทุนรัฐบาลไต้หวันและทุนรัฐบาลจีนอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ แน่นอน เห็นได้จากในแต่ละปีมีคนสมัครเยอะมากๆ แถมอัตราการแข่งขันก็สูงมากด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากน้องๆ มีการเตรียมพร้อมและมีความพยายามมากพอ พี่เชื่อว่ามันก็อาจไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะพิชิตทุนเรียนต่อได้
 
        วันนี้ พี่วุฒิ มีบทสัมภาษณ์รุ่นพี่ที่รู้จักคนนึง ซึ่งสามารถสอบชิงทุนเรียนต่อได้ทั้งทุนรัฐบาลไต้หวัน (ระดับป.โท) และทุนรัฐบาลจีน (ระดับป.เอก) มาฝากให้น้องได้อ่านกัน พูดเลยว่าอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจในการเรียนต่ออย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน ใครที่กำลังเตรียมตัวสมัครทุนเรียนต่อต่างประเทศ ห้ามพลาดบทความนี้เลยนะครับ ว่าแล้วตามมาอ่านกันเล้ยย :D    

 

แนะนำตัว 



        สวัสดีครับ ผมชื่อ วรพรต ยอดเพชร (เพียว) หรือเพื่อนต่างชาติจะรู้จักในชื่อ Pert ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศจีน มหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง (Beijing Normal University) คณะศึกษาศาสตร์ สาขาผู้นำการศึกษาและนโยบาย Educational Leadership and Policy หลักสูตรนานาชาติ ภายใต้ทุนรัฐบาลจีนหรือทุน CSC ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์ที่ผมเรียนอยู่นั้นถือเป็นคณะศึกษาศาสตร์อันดับ 1 ของจีน และอันดับ 29 ของโลกจากการจัดอันดับของ 2019 QS World University Subject Ranking ครับ   
 
        ก่อนหน้านี้ผมเพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากไต้หวัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงจ้ง National Chung Cheng University สาขาผู้นำการศึกษาและการจัดการเพื่อการพัฒนา Educational Leadership and Management Development ภายใต้ทุนรัฐบาลไต้หวัน หรือ ทุน TaiwanICDF และเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนเคมี ครับ   
 
         วันนี้ผมอยากมาแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาตนเองเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศผ่านการเข้าใจตนเอง รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ต่างประเทศให้แก่ผู้อ่านเพื่ออาจเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กับทุกคนครับ ^^

 

“มองกระจกให้เห็นโอกาส” 



        ก่อนอื่นอยากบอกทุกคนที่มีความฝันในการเรียนต่อ หรือขอทุนจากแหล่งต่างๆ ว่า ความจริงแล้วมันไม่มีสูตรสำเร็จบนโลกนี้หรอกนะครับ (There is no one-size-fit-all solution) ผมเชื่อว่าการเข้าใจตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมองทุกอย่างคือสิ่งที่ดีเสมอ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเราทุกคน 
 
        ส่วนตัวผมได้เริ่มวางแผนเรียนต่อต่างประเทศขณะเรียนป.ตรี ปี 3 ตอนนั้นผมเริ่มหลงใหลในความหลายหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งมาจากประสบการณ์หลังจากได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นต่างๆ ตอนมหาวิทยาลัย เช่น One Young World และ YSEALI academic fellowship ซึ่งความฝันในตอนนั้นคือ ผมอยากได้ทุนเรียนต่างประเทศเพื่อแบ่งเบารายจ่ายของครอบครัวครับ แต่เราเองก็ไม่ได้รู้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับทุนมากนัก จากนั้นเริ่มค้าหาเรื่องทุนใน Google เหมือนกับที่หลายคนทำกัน จากนั้นก็อ่านคุณสมบัติของผู้สมัครตามที่ทุนต้องการ พอรู้แล้วว่าทุนที่เราอยากได้นั้นต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เราก็พัฒนาตนเองให้มีความเหมาะสมกับทุนที่ต้องการครับ  
 
        จริงๆ ต้องบอกว่าช่วงแรกของการเตรียมตัว ผมเองก็มีช่วงที่รู้สึกสับสนมากๆ ในทิศทางที่ควรเดิน เพราะว่ามันมีทุนมากมายหลายรูปแบบ บ้างก็อ่านไม่เข้าใจ ผมก็เลยพักการค้นหาทุนแล้วมาทำความเข้าใจตัวเองใหม่ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการกันแน่ พอได้ลองย้อนกลับมามองตัวเองก่อนก็ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นจริงๆ และผมก็เชื่อว่าการรู้จักตัวเองมันสำคัญมาก หากเราต้องการพัฒนาตนเอง 

 

รีวิวทุนรัฐบาลไต้หวัน



        ก่อนที่จะเลือกสมัครทุนของรัฐบาลไต้หวัน ผมยอมรับว่าตอนแรกมองที่กลุ่มประเทศตะวันตกมาก่อน แต่ด้วยคะแนนภาษาและจังหวะในเวลานั้น ทำให้ตัดสินใจยื่นสมัครทุนรัฐบาลไต้หวัน เพราะผมอยากต่อยอดในสิ่งที่เรียนมาและก็มีความสนใจในการพัฒนาการศึกษา อีกทั้งการศึกษาเอเชียของเราก็มีศักยภาพไม่น้อยบนเวทีโลก ก็เลยเลือกเรียนต่อที่ไต้หวันครับ ซึ่งทุน TaiwanICDF ที่ผมได้รับนั้น เป็นทุนที่ครอบคุมค่าใช้จ่ายหลายส่วน ทั้งค่าเล่าเรียนจนจบการศึกษา มีค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวแรกกับเที่ยวสุดท้าย เรียกได้ว่าเรียนฟรีมีเงินเดือนและไม่ต้องใช้คืนครับ โดยจำนวนผู้ได้รับทุนแต่ละปีแต่ละสาขาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแหล่งทุนครับ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลไต้หวันครับที่ได้ให้โอกาส เพราะว่าทุน TaiwanICDF นั้นดูแลผมดีมากจนถึงมากที่สุด ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปเรียนจนถึงวันสุดท้ายของทุนเลยครับ ^^
 
        ว่าแล้วก็ขอย้อนเล่าตอนที่สมัครทุนสักนิดนะครับ ตอนนั้นหลังจากสมัครไปและผ่านรอบแรก ผมก็ได้รับอีเมลเพื่อไปสอบสัมภาษณ์ที่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ผมก็ได้เล่าความตั้งใจต่างๆ ของผมให้คณะกรรมการฟังครับ ซึ่งจริงๆ แล้วผมอยากบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เราได้ทุน มันอาจไม่ใช่เกรดที่ยอดเยี่ยม ภาษาที่เพอร์เฟ็กต์ หรือโพรไฟล์ที่อลังการ แต่เป็นความเข้าใจตัวเอง มีความฝัน ความหลงใหล (passion) และรู้ว่าสิ่งที่เรามีในมือคืออะไร และเราจะใช้ประโยชน์และพัฒนาสิ่งที่เรามีได้อย่างไรมากกว่า 
 
        ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น คือ การทบทวนประสบการณ์ที่ประทับใจหรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต การมองย้อนไปที่ตนเองนั้นทำให้เราเค้าใจตัวเองว่า ความฝัน ความหลงใหลของเราเกิดขึ้นได้อย่างไรและมาจากสิ่งไหน ทว่าการทบทวนประสบการณ์อาจไม่ได้ทำให้เรามีไฟหรือความหลงใหลเพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยทำให้เราเห็นภาพตัวเองในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงความหลงใหลชัดขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยผลักดันให้เราเดินไปข้างหน้าและวางแผนเพื่ออนาคตได้ดีขึ้นและเป็นตัวของตัวเรา หรือพูดง่ายๆ คือ การสร้างเส้นทางเดินต่อจากเส้นที่เราเดินมานั่นเองครับ 

 

ชีวิตการเรียนป.โท ใน CCU ไต้หวัน 



        หากถามว่าการเรียน ป. โทการ ด้านการศึกษาที่ National Chung Cheng University ยากมั้ย? จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายครับ 5555 ผมว่าความยากง่ายมันไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่ว่า ‘เราได้พัฒนาตนเองอย่างไรและมากน้อยแค่ไหนจากการเรียนรู้’ และถ้าถามว่ามีอุปสรรคมั้ย? มีแน่นอน ตั้งแต่อุปสรรคทางภาษา วัฒนธรรม และการเรียน ตัวอย่างอุปสรรคด้านภาษา เช่น ผมเรียนการศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นภาษาจีน ไม่มีหลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษสอนหรือปรับพื้นฐาน ผมก็ต้องพัฒนาด้วยตัวเองผ่านการอ่านบทความวิชาการและคุยกับเพื่อนต่างชาติ 
 
        อย่างช่วงเทอมแรกอ่านบทความไม่เข้าใจเลย ต้องแปลเป็นคำๆ อ่านหลายรอบมาก ซึ่งมันก็เหนื่อยพอสมควรครับ พอเทอมสองก็เริ่มคล่องขึ้นทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียนในเชิงวิชาการ ส่วนเรื่องภาษาจีน โชคดีที่มีคอร์สปรับพื้นฐานให้ แต่เราก็ต้องใส่ความพยายามที่มากขึ้นอีก เพราะเป็นภาษาที่สาม ส่วนตัวผมมองว่าทุกอุปสรรคคือ โอกาสที่ดีสำหรับพัฒนาตนเอง ผมพร้อมที่จะเซย์ไฮและจับมือกับอุปสรรคไปจนถึงวันที่เราต้องแยกทางกัน ส่วนเรื่องการปรับตัวก็ปรับไม่น้อยเลยครับ ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ว่าอยู่ไหนก็ตามเราก็ต้องปรับตัวทั้งนั้น ขนาดเดินไปเซเว่นสาขาใหม่ยังต้องปรับตัวเลย ฮ่าๆ
 

        พูดถึงมหาวิทยาลัยที่ผมได้มาเรียนต่อ ต้องบอกว่า CCU นั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจ จึงมีบรรยากาศสงบเป็นธรรมชาติเหมาะกับการเรียนมากครับ ยิ่งถ้าใครที่สนใจด้านนโยบายการศึกษา บริหารการศึกษา การศึกษานานาชาติ ผมแนะนำหลักสูตรนี้เลย อีกทั้งยังมีทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยเองด้วยนะ ซึ่งครอบคลุมค่าเรียนตลอดหลักสูตรและค่าที่พัก หากใครสนใจสามารถดูได้ที่เว็บของมหาวิทยาลัยได้เลยครับ 
 
        ส่วนชีวิตการเรียนป.โท 2 ปีที่นี่ เรียกว่าได้เปลี่ยนชีวิตและมุมมองหลายอย่างเลยครับ เพราะการเรียนการสอนของที่ CCU เค้าจะเน้นการศึกษาด้วยตนเองและอภิปรายร่วมในชั้นเรียน และอาจารย์ก็เป็นกันเองและเข้าใจหัวอกนักเรียนที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ (เพราะหัวอกเดียวกัน) การดูแลนักศึกษาต่างชาติอยู่ในขั้นดีถึงดีมาก ส่วนเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ก็ต้องใส่ความพยายามเยอะพอสมควรครับ (และหมั่นขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ช่วยด้วย) กิจกรรมเสริมหลักสูตรก็มีให้เลือกทำมากมาย ต้องบอกว่าการเรียนที่ไต้หวันไม่ได้ให้ผมแค่ปริญญา ประสบการณ์ต่างประเทศ องค์ความรู้เฉพาะทาง ภาษาอังกฤษและภาษาจีนแค่เพียงเท่านั้น แต่ทำให้ผมได้รู้จักผู้คนมากมายที่เติมไฟและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมไม่รู้จบเลยครับ
 
       (นอกจากด้านการเรียน การเดินทางก็สะดวกสบาย คนไต้หวันสุภาพ บ้านเมืองสะอาด อาหารอร่อย อย่างที่บล็อกเกอร์หลายหลายคนรีวิวไว้เลยครับ ชีวิตดีมากกก!)

 

รีวิวทุนรัฐบาลจีน 



       ย้อนไปช่วงเทอมสุดท้ายของ ป.โท ผมเริ่มวางแผนจะเรียนต่อป.เอก ทั้งที่ในใจจริงๆ คือ อยากทำงานมีเงินเดือนแล้ว แต่เมื่อผมทำความเข้าใจตนเอง ความหลงใหล และความฝันใหม่ พร้อมปรึกษาครอบครัว อาจารย์ รุ่นพี่ ผมพบว่าตัวเองยังมีแพชชั่นกับการค้นหาและสร้างสรรค์องค์ความรู้ผ่านเส้นทางวิชาการ ภายใต้กรอบของการศึกษานานาชาติและการพัฒนาการศึกษา ผมจึงตัดสินใจยื่นขอทุนรัฐบาลจีน (CSC) เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งใช้เวลาเตรียมเอกสารประมาณ 3 สัปดาห์ เพราะเอกสารที่ทางทุนต้องการไม่ต่างจากตอนยื่นขอ ป.โท มากนัก และขั้นตอนก็ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าทำความเข้าใจ ผมเลยสมัครเรียนด้านการศึกษา โดยเน้นไปที่การศึกษานานาชาติและการศึกษาเชิงเปรียบเทียบครับ ซึ่งทุนรัฐบาลจีนที่ผมได้รับนั้นเป็นทุนเต็มจำนวน ครอบคลุมค่าเทอมตลอดหลักสูตร ค่าที่พัก ประกันสุขภาพ และมีค่าเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 15,000 บาทโดยประมาณ จากประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับทุน CSC ผมเชื่อว่าเป็นทุนที่ดีมากมากทุนหนึ่งของประเทศจีนเลย อีกทั้งมีการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งด้านการเรียนและใช้ชีวิตประจำวันของเราครับ 

  

เล่าชีวิตการเรียนป.เอก ที่จีน 



        ผมเพิ่งได้ทุนมาเรียนต่อป.เอก ที่ Beijing Normal University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการศึกษาซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของจีนมาก โดยสาขาที่เลือกเรียนคือ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Education) ซึ่งจะเกี่ยวกับเปรียบเทียบการศึกษาในหลายมิติและระดับ เช่น เปรียบเทียบนโยบายสะเต็มการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศ หรือ เปรียบเทียบการบริหารระหว่าง 2 วิทยาลัยชุมชน เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรที่เรียนก็จะเป็นนานาชาติ จึงทำให้มีเพื่อนร่วมห้องเป็นชาวต่างชาติ และอาจารย์ประจำสาขาก็มาจากหลายที่ครับ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง จีน เรียกว่าบรรยากาศการเรียนนั้นค่อนข้างหลากหลาย บางวิชาให้ไปออกไปเดินอภิปรายรอบมหาลัย บ้างเปิดให้นักเรียนปรึกษาปัญหาส่วนตัวและการเรียนหลังเรียนเสร็จ ซึ่งช่วยให้ผมจัดการความเครียดได้ดีมากเลย ผมได้เรียนรู้เนื้อหาการศึกษาไปพร้อมกับเรียนรู้ความหลายหลายทางภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในตัวเมืองปักกิ่งจึงทำให้ได้ซึมซับถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ว่าจะขยับตัวอย่างไรก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ใหม่ตลอด อย่างแค่การซื้อกล้วยในร้านผลไม้ของมหาวิทยาลัยก็ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ผมเองก็เพิ่งรู้เหมือนกัน เพราะว่าต้องจ่ายเงินด้วย We Chat เท่านั้นครับ  

 

ความต่างของการเรียน ป.โท vs.ป.เอก 



        หากถามว่าการเรียน ป.โท ป.เอก ต่างกันมั้ย? ผมว่ามันแตกต่างกันนะ อาทิ ระดับความลึกที่แตกต่างของความเข้าใจในกระบวนการเข้าใจความรู้ (Process of Knowing) องค์ความรู้ (Known) และปรัชญาที่อยู่ใต้ความเข้าใจของผู้รู้ (Knower)  แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นการเรียนระดับไหน ความตั้งใจ ขยันที่จะเรียนรู้ และสนุกไปกับการเจอปัญหาใหม่ เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนและไม่มีอะไรยากเกินไปกว่าความพยายามของพวกเราแน่นอนครับ และสำหรับใครที่กำลังจะต่อโท หรือ เอก แล้วเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะเรียนไม่ไหว ผมแนะนำว่าเรายังไม่ควรกังวลในจุดนี้ครับ เพราะว่าเราไปเรียนเพื่อเรียนรู้ จุดประสงค์ของการศึกษา คือ สร้างความรู้มากกว่านำความรู้มาประกวดกัน เราควรค้นหาจุดประสงค์และความหมายของการเรียนต่อในรูปแบบของเรา โดยมองว่าการเรียนคือ กระบวนการพัฒนาเพื่อให้เราได้ก้าวเข้าใกล้ฝันของเรามากขึ้น

 

ความประทับใจที่มีต่อประเทศจีนและไต้หวัน



 
        หากถามว่าจีนและไต้หวันต่างกันมั้ย? ทั้งสองมีความเหมือนและต่างกันอยู่ครับ ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน จึงทำให้ปรัชญาและความเชื่อในการดำรงชีวิตรวมทั้งการศึกษาต่างกันไม่มาก ซึ่งจะเชื่อในลัทธิขงจื้อ (Confucianism) ทว่าทุกที่บนโลกล้วนมีความแตกต่างในระดับที่ต่างกันออกไป เช่น การใช้อักษรจีนตัวเต็มของไต้หวัน การใช้จีนตัวย่อของปักกิ่ง สำเนียงที่ห่อลิ้น อาหารจืดและรสจัด วิถีชีวิต การปกครอง ความเชื่อ ทุกที่ล้วนมีอัตลักษณ์ อย่างที่บอกในตอนต้นเราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เราต้องวางตนเองให้อยู่จุดที่เหมาะสม ถามว่าผมเคยเหตุการณ์ Culture shock ไหม? มันก็เกิดขึ้นบ้างนะครับ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับปกติที่ไต้หวัน ตอนนั้นผมตกใจมาก แต่นักเรียนที่นั่นทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมก็ต้องทำตัวปกติกับแผ่นดินไหวแต่ในใจคือกลัวมาก 5555 ส่วนที่ปักกิ่งนั้น เงินผมไหลออกกระเป๋าเร็วมาก เนื่องจากที่นี่เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่มีช่องการให้เงินออกเยอะและใหญ่มาก หากขาดสติไป 10 นาที เราอาจหมดเงินไปกับแอปช็อปปิงออนไลน์เถาเป่าได้เลย (ฮา) แต่ผมมองว่าเหตุการณ์พวกนี้เป็นเกร็ดความรู้ในดำรงชีวิตมากกว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเราควรพยายามดึงสติตัวเองกลับมา แล้วมองย้อนไปว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์นั้นบ้าง ^^
 
        แต่อย่าเข้าใจผิดไปว่าการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมาเรียนหรือทำงานต่างประเทศนะครับ เพราะว่าที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราได้แบ่งปันความเชื่อ ภาษาและวัฒนธรรมที่ดีให้แก่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่เราไปอยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่สร้างสรรค์สังคมนั้นและสังคมโลกให้มีความหลายหลายและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราควรรับสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่ลืมของเก่าที่เรามี ใส่แว่นตาของวัฒนธรรมไทยแล้วมองในวัฒนธรรมใหม่ แล้วใส่แว่นตาของวัฒนธรรมใหม่มองกลับมายังวัฒนธรรมไทยอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนรอบข้าง และประเทศ  

 

ทิ้งท้ายถึงนักล่าทุนชาว Dek-D 



        ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาว Dek-D ผู้สนใจเรียนต่อต่างประเทศ และทุกคนที่เข้ามาอ่านครับ แน่นอนทุกเส้นทางล้วนมีความยากลำบากและลำบากยิ่งกว่ารอเราอยู่ การพัฒนาตนเองเพื่อไปให้ถึงจุดหมายก็เปรียบเสมือนการเดินขึ้นบันไดจากชั้น 1 ไปชั้นที่ 101 ถ้าเราเงยหน้าขึ้นไปมองที่ขั้นบนสุดตลอดระหว่างเดินขึ้น แน่นอนปวดคอ ท้อแท้ และอาจสะดุดล้มได้ แต่ถ้าเรามองแค่บันไดขั้นข้างหน้าของเราแล้วค่อยเดินขึ้นเรื่อยๆ วันละขั้นสองขั้น ณ เวลาหนึ่งเราจะพบว่าเราพาตัวเองมาถึงจุดที่สูงแบบไม่น่าเชื่อ ทุกก้าวล้วนมีความสำคัญและมีความหมายต่อก้าวถัดไป แต่ทว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องขึ้นไปชั้นบนสุดเสมอไป ควรเดินไปในชั้นที่เราภูมิใจ หรือถ้าไม่มีเส้นทางหรือชั้นนั้นที่อยากไป จงสร้างเส้นทางและชั้นนั้นขึ้นมาเอง 
 
        สุดท้ายนี้ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จบนโลกนี้ (There is no one-size-fit-all solution)” เราควรสร้างเส้นทางเดินด้วยตัวเองในรูปแบบของเรา ความเข้าใจตัวเอง มีความฝัน ความหลงใหล (passion) และรู้ว่าสิ่งที่เรามีในมือคืออะไร ขยันหมั่นเพียร และมองทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ดีเสมอ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “มองกระจกเพื่อให้เข้าใจตนเอง แล้วพัฒนาตนเพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมาย” ทุกอุปสรรคคือ โอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนา เราไม่ควรกลัวที่จะเรียนรู้และไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจของเรา คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ หาใช่รู้แล้วถึงไปเรียน และท้ายที่สุดเราควรรับสิ่งใหม่มาโดยที่ไม่ลืมของเก่าที่เรามี เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ไม่ใช่เพื่อปรับไปหา แต่เพื่อปรับเข้ากัน หาจุดร่วมสำหรับทุกคน ทุกวัฒนธรรมให้เหมาะสมที่สุด แล้วร่วมสร้างสรรค์สังคมในรูปแบบของเราเอง  

 
        เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากพี่เพียวไปไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ ความจริงแล้วข้อคิดต่างๆ ที่พี่เพียวได้บอกเอาไว้ พี่ว่าสามารถปรับใช้ได้กับทุกเรื่องเลยนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนต่อนอกอย่างเดียว และสำหรับน้องๆ คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสมัครทุนรัฐบาลจีนและไต้หวัน สามารถอีเมลสอบถามพี่เพียวได้ที่ qpure@hotmail.com ได้เลยนะครับ :)   
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

..LK 30 ต.ค. 62 21:43 น. 1

ขอบคุณพี่เพียวที่เล่าประสบการณ์ให้ฟังนะคะ จากที่อ่านมารู้สึกได้เลยว่าพี่เพียวเหมาะกับสายการศึกษาแล้วแหละ นอกจากลำดับเนื้อหาได้เข้าใจง่ายังใช้คำที่น่าติดตาม แล้วยังหย่อนอะไรให้เก็บไปคิดเป็นระยะๆ น่าดีใจแทนว่าที่ลูกศิษย์นะคะขอให้รักษาความตั้งใจแล้วไปในด้านนี้ต่อ^^

0
กำลังโหลด
CiNdErElLa&Me Member 13 ต.ค. 64 02:43 น. 2

เพิ่งมาเจอกระทู้นี้ตอนกำลังสับสนกับชีวิตตัวเอง ลังเลอยู่เลยว่าจะต่อโทดีมั้ย ตอนนี้คงต้องขอกลับไปถามตัวเองอีกครั้งว่าแพชชั่นมันคืออะไร ไปอยู่ไหนแล้ว กลัวไปไม่รอดฝั่ง

ขอบคุณกระทู้ดีๆค่ะ

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

..LK 30 ต.ค. 62 21:43 น. 1

ขอบคุณพี่เพียวที่เล่าประสบการณ์ให้ฟังนะคะ จากที่อ่านมารู้สึกได้เลยว่าพี่เพียวเหมาะกับสายการศึกษาแล้วแหละ นอกจากลำดับเนื้อหาได้เข้าใจง่ายังใช้คำที่น่าติดตาม แล้วยังหย่อนอะไรให้เก็บไปคิดเป็นระยะๆ น่าดีใจแทนว่าที่ลูกศิษย์นะคะขอให้รักษาความตั้งใจแล้วไปในด้านนี้ต่อ^^

0
กำลังโหลด
CiNdErElLa&Me Member 13 ต.ค. 64 02:43 น. 2

เพิ่งมาเจอกระทู้นี้ตอนกำลังสับสนกับชีวิตตัวเอง ลังเลอยู่เลยว่าจะต่อโทดีมั้ย ตอนนี้คงต้องขอกลับไปถามตัวเองอีกครั้งว่าแพชชั่นมันคืออะไร ไปอยู่ไหนแล้ว กลัวไปไม่รอดฝั่ง

ขอบคุณกระทู้ดีๆค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด