เบส's InToeyView: สาวข้ามเพศที่คว้าทุน YSEALI ไปอเมริกา ทัวร์องค์กร&เปิดโลก LGBTQ+



 
             สวัสดีค่ะชาว Dek-D  ถ้าใคร เป็นเด็กกิจกรรมสไตล์อาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม แล้วยังฝันอยากไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา วันนี้เราจะมาแชร์ทางเลือกที่น่าสนใจมากกก นั่นก็คือทุนเต็มจำนวนที่ชื่อ  YSEALI    (Young Southast Asia Leaders Initiative) ก่อตั้งโดยรัฐบาลอเมริกาสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Hussein Obama II)  เพื่อค้นหาเยาวชนใน ASEAN  ไปร่วมโครงการที่ ม.ในอเมริกาด้าน     Civic Engagement, Environment Issues & Natural Resource Management และ Social Entrepreneurship & Economic Development เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์

             และในวันนี้เราจะพาไปรู้จัก 'เบส' ชิษณุพงศ์ นิธิวนา สาข้พศที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR)  จาก ม.เชียงใหม่ แล้วคว้าทุนดังกล่าวไปศึกษาด้าน Civil Engagement  (IA) หรือบางคนอาจรู้จักเธอในฐานะผู้ก่อตั้งเพจ Intoeyview   และ Young Pride Club ตัวตั้งตัวตีในการจัดงาน ChiangMai Pride ปี 2019-20 ด้วย!   ถ้าพร้อมแล้วไปรู้จักพร้อมฟังรีวิวการขอทุนและสิ่งที่ได้เจอในอเมริกากันเลยค่ะ //มีรีวิวสั้นๆ ชีวิตเรียนภาษาที่ไต้หวันด้วยนะ
 

 

 

จากความสนใจ LGBTQ+
สู่โปรเจกต์เพจและชมรม!


             "ตอนเบสเรียน IR ที่ มช.   เราได้รู้จักประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเยอะมากๆ แล้วก็รู้ว่ามันมีสิทธิ LGBTQ+ ในโลกด้วยค่ะ  พอปี  4 เลยเลือกทำวิจัยด้านนี้และได้รับรางวัลด้วย (ตอนรู้ผลคือตกใจมากกก)    จากนั้นก็มีช่วงที่ค้นพบว่าตัวเองอยากทำงานรัฐศาสตร์ เลยลองเข้าไปร่วมฟังในงานสัมมนาเรื่อยๆ จนมาถึงงาน Gender Talk ของภาคสตรีศึกษา มช. ฟังแล้วอินจนตัดสินใจต่อโทภาควิชานี้     ช่วงนั้นเริ่มทำเพจ Intoeyview"

               "เพจ intoeyview จะเป็น Personal Blog สุดๆ ตั้งเพจขึ้นมาเพราะชอบเที่ยว แล้วอยากเอาสิ่งที่เจอมาแชร์ในมุมมองกะเทย คอนเทนต์มีทั้งประเด็น LGBTQ+ รวมถึงสถานการณ์ทั่วไป อย่างพวกหมอก ควัน ฝุ่น สุขภาพจิต ฯลฯ ด้วย  ถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมาแนวๆ ว่าเราเรียกร้องไปมั้ย? ส่วนคนที่ชอบก็จะคอมเมนต์และแชร์ต่อไปค่ะ  แล้วเราชอบตรงที่เราได้เป็นต้นเรื่องที่พูดประเด็นนี้ขึ้นมา เช่น แชร์เรื่องการแต่งกายในที่ทำงาน คนก็จะมาเล่าว่าตัวเองเจออะไรบ้าง ทำให้เราได้เห็นหลายมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเหมือนตีแผ่ด้วยว่า LGBTQ+ ดูเหมือนจะเปิดกว้างแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง"

               "อย่างเช่นถ้าในมุมการศึกษา เพื่อนบางคนตั้งใจซิ่วมาเรียนสายสุขภาพ แต่อาจารย์ก็ให้แต่งผู้ชายเพื่อฝึกงานเป็นพยาบาล หรืออย่างตอนรับปริญญา บางคนแต่งหญิงมาตั้งแต่ปี 1-4 แต่พอรับปริญญาต้องสวมชุดผู้ชายเฉยเลย (แต่ตอนเบสมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศออกมาแล้ว ซึ่งเรามีส่วนช่วยผลักดันและเดินเรื่องตามกฎหมายด้วย และมหา'ลัยก็อนุมัติให้แต่งหญิงได้)"


                 "แล้วทีนี้ตอนเบสเรียนโทภาคสตรีศึกษา อาจารย์ก็ชวนสร้างกลุ่มของภาควิชาเพื่อรวมตัวจัดกิจกรรม เลยเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ เพียงแต่ช่วงแรกๆ จะเป็นแค่    Pride CMU ที่กลุ่มเป้าหมายยังไม่กว้าง จัดกิจกรรมขึ้นดอยถือธงสีรุ้ง (สีสัญลักษณ์ LGBTQ+) และ Gender Talk เสวนาประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ต่อมาเราก็ขยายให้หลากหลายขึ้น ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน เปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากทุกภาคมาแชร์ปัญหาที่ตัวเองเจอ แล้วหาทางแก้ไขหรือผลักดันร่วมกัน" 


Photo Credit:   @bestchit / instagram
 

ชีวิตเด็กทุนแบบชีพจรลงเท้า
ท่ามกลางเมืองที่องค์กรเยอะมาก

 
            "คนมักจะคิดว่าการจะได้ทุนอเมริกาต้องเก่งภาษาอังกฤษเวอร์ๆ แต่ตอนสมัครเบสสอบ TOEIC ได้ราวๆ 700 ไม่ได้เก่งถึงขั้นพูดเป๊ะพูดคล่องขนาดนั้น สมัครไปรอบแรกต้องเขียน essay แนะนำว่าทำไมเราสนใจทุนนี้? เราจะเอาความรู้กลับมาใช้ยังไง? พอไปถึงห้องสัมภาษณ์ (ตอนแรกคิดว่าต้องแต่งตัวเรียบร้อย พอไปถึงเขาใส่ชุดนักศึกษา แต่เราใส่สูทไป 5555 เกินเบอร์เวอร์มากค่ะ!!) พอมารอบนี้เราต้องเล่าว่าอยากทำอะไรที่นั่น? สนใจประเด็นไหน? อย่างเบสก็ตอบไปว่าสนใจประเด็น LGBTQ+ สิทธิมนุษยชน แล้วเราก็คือหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการแต่งกายตามสภาพตอนรับปริญญา"


Photo Credit:   @bestchit / instagram
 
             "สุดท้ายก็ได้ทุนไปศึกษาด้าน Civil Engagement เมืองที่ได้ไปชื่อว่า    Nebeska ตั้งอยู่ที่รัฐ Omaha จุดเด่นคือมีองค์กรการกุศลที่เจริญๆ เยอะมากเพราะได้เงินสนับสนุนจากองค์กรวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) สิ่งที่เราได้ทำคือไม่ค่อยได้เรียน 5555  ในสัปดาห์นึงเรียนแค่คาบเดียว 3 ชม. (เลกเชอร์) นอกนั้นคือการไปศึกษาตามองค์กรต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งมาก หรือบางทีเห็น Event เด้งขึ้นมาว่าเร็วๆ นี้จะมีงานด้านนี้ในพื้นที่ใกล้เคียง เราก็นั่งรถไปเข้าร่วมได้เลย" 


Photo Credit:   @bestchit / instagram


Photo Credit:   @bestchit / instagram

             ตัวอย่างองค์กรที่ได้ไปเยี่ยมชม
 
  • The Women's Center for Advancement in Omaha

             "องค์กรนี้เก๋และทันสมัยมากยังกับเข้าช็อปแบรนด์ดังๆ มันเป็นกระจกใส แล้วมีกลไกแบบ automatic พอเข้าไปถึงก็เจอห้องดื่มน้ำทานอาหารฟรี, ห้องปรึกษาด้านกฎหมาย, ห้องว่างสำหรับฝึกสกิล เวิร์กช็อป หรือออฟฟิศ แล้วเวลามีใครโดนทำร้ายมา ก็สามารถเข้ามาหลบในห้องนี้ได้ ซึ่งห้องก็จะปิดขังไว้ในกระจก เป็นการช่วยที่กำลังประสบปัญหา"


Photo Credit:    https://wcaomaha.org/
 
  • Girls Inc.
     
             "องค์กรนี้มีทั่วสหรัฐฯ เลย คล้ายๆ เป็นโรงเรียนพิเศษที่ช่วยฝึกทักษะด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิง เช่น มียิม/ฟิตเนส, ห้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ฯลฯ เพื่อเปิดให้ผู้หญิงกล้าแสดงออกและแสดงความเห็น เพราะถ้าอยู่ใน highschool อาจโดนปิดกั้นได้ แล้วที่ชอบมากคือเขาสอน   Sex Education ให้เด็กได้น่ารักมาก ใช้ตุ๊กตามาอธิบายให้เห็นอวัยวะภายใน 

                "หลังจากเรียนรู้มาเรื่อยๆ  ก่อนจบโครงการเบสก็เขียนโปรเจกต์แล้วนำเสนอว่าอยากพัฒนา    Young Pride Club ให้เป็น Young Center ที่ครอบคลุมวิชาการและสุขภาพด้วย สุดท้ายก็ได้ทุนสนับสนุนมาส่วนหนึ่ง  นอกจากนี้ก็ ได้ไอเดียจากที่อเมริกากลับมาปรับใช้ให้ชมรมแข็งแกร่งขึ้น  เช่น    ทำ LGBT Club เหมือนที่มีในอเมริกา ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้น้องๆ โดยการผลิตสื่อออนไลน์ ใครสนใจก็มาสร้างงานเก็บเป็น        portfolio ได้ เช่น งานเขียน พอดแคสต์ วิดีโอ ฯลฯ และนอกจากนี้ชมรมก็จะมีจัดเสวนา, ฉายหนัง LGBTQ+  รวมถึงงาน  ChiangMai Pride"


Photo Credit:   @bestchit / instagram


Photo Credit:  Chitsanupong


Photo Credit:   @bestchit / instagram


 

"Young Pride Club"
กับ ChiangMai Pride สุดอลัง!


                 "ChiangMai Pride เป็นวัฒนธรรมการจัด Pride Parade ที่เกิดขึ้นเร็วมากๆ เริ่มจากเพื่อนคนนึงบอกอยากจัด เราก็คิดว่า โอ๊ย จะขอจัดได้หรอ ลองปรึกษาพี่ๆ ก่อนละกัน  พอคุยแล้วถึงรูู้ว่าเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในวันที่ 21 ก.พ. 2009 เคยมีงาน    ChiangMai Gay Pride เกิดขึ้น     แล้วเราก็มีโอกาสปรึกษากับนักกิจกรรม (activist) รุ่นเก่าๆ ว่าจะจัดดีมั้ย สุดท้ายเขาบอกโอเค อยากจัดก็จัด 555 กลายเป็นว่าเราเลือกจัดวันเดียวกับเมื่อ 11 ปีก่อน  โชคดีตรงที่พี่ๆ เขาติดต่อกันอยู่ เลยมาช่วยกันลงขันสนับสนุนจนเกิดงานนี้ขึ้นมาอีกครั้งค่ะ"
 

Photo Credit:  @bestchit

                "จากนั้นเราก็โปรโมตงานนี้กันว่าไม่อยากให้เป็นงานสำหรับชาว LGBTQ+ เท่านั้น เพราะแรงบันดาลใจเราก็มาจากวันสตรีสากลด้วย มีดึงภาคี    ดึงต่างชาติมาร่วม join สร้างสรรค์งาน พอวันจริงผลตอบรับเกินคาดมากกกกก มีคนมาเดินตามสถานที่ท่องเที่ยวเยอะมาก   แล้วพอเขาเห็นขบวนก็เดินเข้ามาแจมเรื่อยๆ   จน ถึงหน้าเวทีก็มีคนเต็มลานเป็นพันๆ คน  พอภาพออกมาแบบนี้ยิ่งทำให้เราก็มีไฟ อยากทำงานครั้งหน้าให้เริ่ดขึ้น"

                "เริ่มจากที่เบสไปอ่านเจอว่าประวัติศาสตร์การจัด   Pride ครั้งแรกของโลกเริ่มที่ New York  เหตุเกิดจากมีตำรวจไปบุกจับคนในบาร์เกย์ (แนวๆ ล่าแม่มด สมัยนั้นใครเป็นเกย์ต้องโดนจับ) ทำให้เกิด Gay Pride ขึ้น แล้ววันที่ 28 ก.ค.2019 ก็จะครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์นั้นพอดี เราเลยใช้ทุนตัวเองบินไปดูบรรยากาศงาน World Pride ที่นิวยอร์ก    แล้วหลังจากนั้นในปี 2016 และ    2019 ก็มีไปไต้หวันด้วย ได้เรียนรู้ความหลากหลายจากมุมอื่นของโลกเพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการจัด    ChiangMai Pride ในครั้งต่อไป (และแน่นอนว่าปีนี้เราก็เจอผลกระทบจาก COVID-19 เช่นกัน)"
 

World Pride
Photo Credit: Chitsanupong


ChiangmaiPride 2019
Photo Credit:   Chitsanupong


ChiangmaiPride 2019
Photo Credit:   Chitsanupong


ChiangmaiPride 2019
Photo Credit:   Chitsanupong

 

รีวิวสั้นๆ เรียนภาษาที่ไต้หวัน
กับเหตุผลที่กางเกงคับ


             "เราเคยขอทุน OCAC Chinese Language (Overseas Community Affairs Division)  ไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันเป็นเวลา 3 เดือน (ตอนปี 2015)    ทุนนี้เป็นทุนรัฐบาลที่ออกค่าเรียนกึ่งหนึ่ง ค่าที่พัก ค่าอาหาร แบ่งเป็นช่วงเช้าเรียนภาษาล้วนๆ และใช้จีนตัวเต็ม  ถ้าใครเรียนตัวย่อมาก็อาจจะสับสนบ้าง (แต่พินอินจะเหมือนกัน) รูปแบบคือมีทั้งเรียนตามหนังสือ อ่านคำศัพท์ บทสนทนา ฝึกพูดตามสถานการณ์ในบทนั้น ส่วนการเขียนคือการบ้าน พอช่วงบ่ายเป็นวัฒนธรรม (Cultural Activities) เช่น เขียนพู่กันจีน ไทเก๊ก ฯลฯ ซึ่งเราอิน ก็เลยสนุกสนานกันไป"
 

Photo Credit: @bestchit / instagram


Photo Credit: @bestchit / instagram

             "แต่ปัญหาคือช่วงแรกของการเรียนคืออ๊องไปเลยค่า  เพราะ ตอนสัมภาษณ์วัดระดับเพื่อจัดคลาสที่เหมาะสมให้  เราก็แบบมั่นใจมาก ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง สุดท้ายโดนจัดไปคลาสกลางแทนที่จะเป็นระดับต้นๆ   ที่เหมาะกับเรามากกว่า โชคดีที่ครูใจดี ส่วนเพื่อนก็เรียนด้วยกันสนุกๆ ชวนไปเที่ยวตลอด"

             อยากถามความรู้สึกหน่อยว่าไต้หวันสำหรับเราเป็นยังไงบ้าง? "ดีงามมากมากกกก (โดยเฉพาะผู้ชาย 55555) อ่ะเข้าเรื่องๆ เบสรู้สึกไต้หวันเป็นเมืองที่สะอาดมากค่ะ การบริหารจัดการของเขาดี  เดินตอนดึกได้แบบไม่ต้องกลัวอาชญากรรมเลย  ส่วนคนไต้หวันเขาก็ค่อนข้างแคร์สังคม และพูดจาไม่กระโชกโฮกฮาก เรื่อง LGBTQ+ ก็ไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่จะไม่ค่อยเปิดตัวกันเฉยๆ"

             "แต่ถ้าถามถึงอาหาร จริงๆ ไต้หวันถือว่าขึ้นชื่อมาก เพียงแต่มันไม่ได้คลิกสำหรับเบส เพราะเบสไม่กินผักเลยในขณะที่อาหารของเขาจะมาแนวผักทอดกับหมู น้ำมันเค็มๆ เราสุดจะ suffer ทำให้เบสหันไปติดกินชานมไข่มุกทุกวัน ตอนขาไปมีกางเกงตัวนึงหลวม พอกลับคือแน่นเลยค่ะ TT จากนั้นพอจบทริปไต้หวันในปี 2015 เบสก็ไปไต้หวันอีกครั้ง เพื่อศึกษางาน  Taiwan Pride ในปี 2019 อย่างที่ได้พูดถึงก่อนหน้านี้ค่ะ ^^"


Photo Credit: @bestchit / instagram


Photo Credit: @bestchit / instagram


Photo Credit: @bestchit / Instagram


อย่ามองข้ามสิทธิ
ที่ "ทุกเพศ" พึงมี


             "ยังไงก็อยากฝากให้ทุกคน 'ลอง' ทำก่อน ถ้าไม่ลองสักทีแล้วมาคาดเดาผลว่าจะทำไม่ได้ สิ่งนั้นก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น การที่เบสได้ทุนหรือทำ pride ก็เกิดจากลองทำเหมือนกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เคยผิดหวังจากทุนอื่นมาแล้ว คนเราพลาดได้แต่อย่าท้อ และครั้งที่เราไม่พลาด ผลมันอาจออกมาเกินคาดเหมือนที่เบสจัด ChiangMai Pride ที่ผ่านมาก็ได้"

               "เบสอยากให้ทุกคนมองว่าสิทธิของทุกเพศคือเรื่องใกล้ตัวจริงๆ  ลองนึกภาพว่าในชีวิตคนเราล้วนมีปัญหา   แล้วถ้าคนรอบข้างเราทั้งที่เป็นชาย หญิง หรือ  LGBTQ+ เกิดเจอปัญหาขึ้นมา เราจะปล่อยให้เหล่านั้นอยู่กับคนที่เรารักต่อไปมั้ย ถ้าเรารักเขาจริง เราต้องช่วยเขา เพราะสุดท้ายแล้วไม่ใช่ว่าเขาจะได้อะไรมากกว่าเรา แต่เขาจะได้เป็นคนที่เท่าเทียมกับเราเท่านั้นเอง"


Photo Credit:   Chitsanupong
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น