‘มิ้นท์’ กับชีวิตเด็ก Music Production ใน Berklee: เอกเนื้อหอมที่ท่วมทั้งงานและคอนเนกชัน!



 
           สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึง "เพลงและดนตรี" มันก็คือเพื่อนรักที่เข้าใจเราทุกสถานการณ์ อาจจะมาเพื่อช่วยผ่อนคลาย ปลอบประโลม ก่นด่า หรือมาเพื่อพูดแทนความรู้สึกผ่านเนื้อร้องและท่วงทำนอง  ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นผลงานให้เราเสพ    ก็ต้องผ่านการขบคิดและสื่อออกมาอย่างละเมียดละไมของทีมงานหลายส่วนเลยค่ะ    และหนึ่งในนั้นคือโปรดิวเซอร์เพลงและวิศวกรด้านเสียง

          วันนี้เราจะพาไปรู้จักเด็กไทยที่ไปเรียนด้านนี้โดยตรง ในวิทยาลัยด้านดนตรีมาตรฐานระดับโลกอย่าง Berklee College of Music  ณ กรุงบอสตัน (Boston) ในอเมริกา  ที่นี่ได้ก่อตั้งเพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญในวงการมาตั้งแต่ปี 1945 แล้ว จึงมีทั้งผู้สอนและศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง  อีกทั้งเป็นโอกาสสร้างคอนเนกชันกับว่าที่ศิลปินที่จะจบออกมาในแต่ละรุ่นอีกด้วย ถ้าใครอยากรู้ว่าเขาเรียนอะไรกันบ้าง ชีวิตจะเหนื่อยและน่าสนุกแค่ไหน ลองเปิดดนตรีแจ๊สคลอเบาๆ แล้วเลื่อนลงอ่านเรื่องราวของเธอกันค่ะ!
 

แนะนำตัว
 

           “สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘มิ้นท์’ มานิกา เลิศอณุสรณ์ อายุ 20 ปี กำลังเรียนเทอมสุดท้าย   สาขา Music Production and Engineering ที่ Berklee College of Music  ค่ะ" 

            "จุดเริ่มต้นที่มิ้นท์เริ่มมาทางดนตรี   ส่วนนึงคือเราเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือแหละ 555 แต่ก็คือมิ้นท์ก็เรียนร้องเพลงกับเปียโนมาตั้งแต่ 3-4 ขวบแล้ว เลยลองไปสอบมหิดล Pre-College เรียนเปียโนคลาสสิกค่ะ พอได้เจอเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกัน ก็ชวนกันตั้งวง ทำเพลง-ดนตรี เป็นการได้ลองอะไรใหม่ๆ เปิดโลกให้กว้างไปอีก"


 
           “แต่การที่ได้มาเรียนเบิร์กลีย์ต้องขอบคุณคุณแม่เลย เราเคยบ่นว่าเหนื่อยจัง พยายามแล้วก็เรียนไม่ทันเพื่อนสักที เขาก็ถามว่าเราอยากทำอะไร เราก็ตอบตรงๆ ว่าไม่อยาก perform แล้ว อยากทำเบื้องหลังมากกว่า ก็มานั่งช่วยกันหาข้อมูล พบว่ามันจะมีสายโปรดิวซ์กับอัดเสียง ซึ่งที่เบิร์กลีย์คือโรงเรียนอันดับ 1 เรื่องการอัดเสียงค่ะ (Charlie Puth ก็จบจากที่นี่นะ)”
 
           “ตอนจะสอบเข้าเราเลยฝึกร้องเพลงเพิ่มเยอะมากๆ ต้องบินไปสอบที่สิงคโปร์ แถมเวลาสอบก็เช้าอีกต่างหาก เลยรู้สึกว่าถ้าตื่นปุ๊บร้องปั๊บเสียงไม่มาแน่ เลยตื่น 6.30 น. มาซ้อมเพื่อเตรียมสอบค่ะ   โจทย์คือให้เวลา 5 นาที โชว์อะไรก็ได้ที่เป็นด้านดนตรี มิ้นท์ยังไม่มั่นใจที่จะร้องเพลงพร้อมเล่นเปียโน ก็เลยร้องเพลง + อัดเสียงเปียโนไปเปิด ตอนนั้นคือกลัวมากว่าจะไม่ติด เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง กว่าจะคิดได้ว่าต้องตอบอะไร เขาก็เปลี่ยนเรื่องไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ติด ดีใจมากกก TT”
 

"ตัวอย่าง" ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
เอก Music Production and Engineering


[ ดูรายชื่อทั้งหมด & ผลงานที่นี่ ]
 

ชีวิตเทอมแรกที่ไม่ง่าย

ต้องฝึกด้นสดแบบแจ๊ส (ครั้งแรก)
 

           “สาขาที่มิ้นท์เรียนคือ Music Production and Engineering เป็นหลักสูตร  8 เทอม แต่ถ้าลงซัมเมอร์จะย่นเวลาเหลือแค่ 3 ปี เริ่มแรกเราจะได้วัดระดับภาษาอังกฤษและทฤษฎีดนตรีก่อนเลย แล้วเขาจะจัดคลาสที่เหมาะสมให้ อย่างเช่น วิชาทฤษฎีดนตรีก็ได้ฝึกฟัง ฝึกร้อง หัดแต่งเพลงโดยใส่คอร์ดกับเมโลดี้ลงไป ส่วนภาษาอังกฤษก็ได้ฝึกเขียนและอ่าน มีการบ้านเป็น essay ทุกวีค ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เรียนได้ง่ายขึ้น และเขียนได้เร็วขึ้นด้วย"
 
           “และนอกจากนั้นเราจะได้สอบร้องตั้งแต่สอบติดมหา’ลัยด้วย เขาจะดูสกิลการร้องแจ๊ส (jazz) การอิมโพรไวซ์ (improvise) และการอ่านโน้ต เพื่อจัดเด็กเข้าวงอองซอมเบิล (Emsemble) แต่พอดีตอนนั้นมีครูท่านนึงหาเด็กเข้าวงคอรัสที่มี 9 คน เลยมาชวนมิ้นท์เพราะเห็นเราอ่านโน้ตได้เร็ว (เราชินกับการอ่านโน้ตเปียโนตั้งแต่เด็ก) สุดท้ายก็เลยลองดูแม้ว่าตัวเองจะไม่เคยร้อง jazz เลย พอเข้าไปถึงก็เจอเพื่อนที่เฟรนด์ลี่มากกก แต่ความยากที่เราเจอคือการอิมโพรไวซ์ นั่นคือ ต้องฟังคอร์ด  แล้วก็แต่งเมโลดี้ขึ้นมาสดๆ ตรงนั้น โชคดีมีติวมาบ้างเพราะต้องใช้ตอนสอบเข้า”


(ตอนแสดงรวมวงตอนปลายภาค)


(ตอนแสดงคอนเสิร์ตเพลงไทยกับเพื่อนๆ)
 

เรียนเลขกับฟิสิกส์
ให้เข้าใจเรื่องเสียงอย่างลึกซึ้ง

 

           “เทอมแรกมิ้นท์ต้องลงเรียนประวัติศาสตร์ ทฤษฎีดนตรีคลาสสิก ประวัติศาสตร์ดนตรี วิทย์ ภาษาอังกฤษ จิตวิทยา แล้วก็ได้เรียนตัวพื้นฐานให้ตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนเอกไหน มิ้นท์ตั้งใจมา Music Production อยู่แล้ว จำนวนรับต่อปีไม่เยอะ  สิ่งที่เขาพิจารณาก็คือเกรดเทอมก่อนกับทัศนคติว่าเราเข้ากับคนอื่นได้มั้ย และกล้าลองอะไรใหม่ๆ รึเปล่า เพราะมันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ต้องมีสำหรับสายนี้ ส่วนวิชาที่เป็น requirement บังคับว่าต้องเรียนก่อน ก็คือ Music Acoustic
 
           “่ช่วงแรกอ๊องมาก....เขาปูพื้นฐานเหมือนวิศวะเสียงเลย แล้ว ม.ปลายเราก็มิ้นท์ก็เรียนดนตรีมา เลยต้องพึ่งเพื่อนเยอะกว่าจะผ่านมาได้  เพียงแต่ข้อดีคือเขาจะสอนให้เข้าใจว่าเราไม่ได้เรียนไปงั้นๆ มันเชื่อมโยงกัน เช่นเรื่องทฤษฎีคลื่นเสียง สมมติ frequency กับ Hz เท่านี้ จะต้องเป็นโน้ตตัวไหน" 
 
           “แล้วยังไม่หมดแค่นั้นน พอเข้าเทอม 3 ได้เริ่มเรียนวิชาเอกตัวแรก ก็ต้องเจอวิทย์หนักมาก แต่จะเป็นเชิงลึกขึ้นและเกี่ยวกับเครื่องมือที่เราใช้ เช่น เมื่อสัญญาณจากปากนักร้องเข้าไปในไมค์ มันจะเปลี่ยนเป็นแรงกี่โวลต์ ไปผลักคลื่นตัวนี้เพื่อเพิ่มเป็นกี่โวลต์ อะไรทำนองนี้ แล้วก็ได้เรียน Analog Console ที่ทฤษฎีเยอะ อ่านเยอะ การบ้านเยอะ ทดลองเยอะ” 
 
           “จากนั้นเทอมต่อมาก็ได้เจอเรื่องซับซ้อนขึ้น เป็น Digital Console ค่ะ เราจะได้เริ่มเรียนการ mix เสียง เริ่มเป็นทฤษฎี + ครีเอทีฟ เช่น ถ้าอัดเสียงออกมาแล้วเราจะทำอะไรต่อได้บ้าง จะ blend ให้กลมกลืนกันได้ยังไง มีการบ้านงานเดี่ยวทุกวีค ให้เข้าไปสตูดิโอ 2 ชั่วโมง มิกซ์เสียงในคอนโซล แรกๆ คือกดดันมาก กลัวไม่ทัน แค่ฟังก์ชันที่เครื่องก็เยอะแล้ว ต้องมาคิดอีก แต่ครูค่อนข้างชิลล์ พอเราได้ฝึกเยอะๆ ก็ใช้เวลาน้อยลง”




(ตัวอย่างห้องอัดเสียง)


คอนเนกชันล้นๆ
เพราะต้อง co งานกับเพื่อนต่างเอก!

 

           “การเรียนที่นี่จะเหมือนบังคับในตัวว่าเราต้องหาเพื่อน ต้องหาวงดนตรี ต้องหาคนมาเล่นให้ได้ แล้วคนที่นี่คือ ‘เป็นเพื่อนกันง่าย แต่สนิทกันยาก’ เราได้รู้จักคนใหม่ทุกวัน เทอมแรกนี่จำชื่อกันไม่ทันเลยค่ะ"
 
           “ถ้าเห็นภาพชัดๆ เลยคือตั้งแต่เทอม  5 เป็นต้นไป เราจะมีความเป็น  production ขึ้น ต้องไปคุยกับศิลปินทั้งคนแต่งเพลงและวงดนตรี ซึ่งเป็นของนักเรียนในเบิร์กลีย์นี่แหละ อัดเพลงส่งให้เขาคอมเมนต์ว่าควรจะเพิ่มอะไรให้น่าสนใจขึ้น หรือตัดอะไรออกเพื่อให้ดูสมูธขึ้น มีเปลี่ยนจาก mix เพลงในคอนโซลมาเป็นในคอมพ์ โปรแกรมก็จะคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น Protools, Logic Pro X”


 
           “เทอม 5 อัดเสียงซีเรียสขึ้น มี ‘Sound alike project’ ที่เราต้องเลือกเพลงที่ชอบมา แล้วอัดโดยใช้เหมือนที่สุดโดยใช้กล้องจริง ทั้งหมดนี้เริ่มจากศูนย์ มีแค่ไฟล์ mp3 มาให้ฟังว่าเสียงกลองโทนนี้นะ ต้องตีตรงนี้นะ ร้องเพลงเสียงแบบนี้ ต้องทำภารกิจออกตามหานักร้องที่เสียงเหมือนคนนั้น และหาคนมาเล่นดนตรีให้ด้วย     ดังนั้นต้องรู้จักพื้นฐานเครื่องดนตรี  ตอนเขาเล่นต้องรู้ด้วยว่าเขาเล่นตรงกับที่เราต้องการรึเปล่า แกะถูกมั้ย  เวลาอัดเพลงก็จำกัดเพราะสตูฯ ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ (บางทีก็ต้องไปพึ่งสตูฯ ทำการบ้านเด็กที่ต้องจองแต่ต้นเทอม)”
 
           “แล้วพอเทอม 6 ก็ต้องเอาเพลงที่เพื่อนหรือวงแต่งไว้มาโปรดิวซ์จริงๆ 2 เพลง เราได้สตูที่แอดวานซ์ขึ้นมาหน่อย เครื่องแพง ไมค์แพง แยกเสียงดีขึ้น แล้วเทอมต่อมาก็จะได้เลือกเรียนวิชาที่สนใจ สำหรับมิ้นท์ได้ลง 3 ตัว ก็คือ Hip-Hop Production, Vocal Technology for record (การปรับเสียงและใส่เอฟเฟกต์โดยใช้โปรแกรมเฉพาะ) และอีกวิชาที่ทุกคนต้องเจอเทอมสุดท้าย ก็คือ Advanced Production โจทย์คือทำ 3 เพลงให้เสร็จใน 1 เทอม ตอนนี้ตัวดนตรีมิ้นท์ทำเสร็จแล้ว เหลือแค่ส่วนของเสียงร้องที่ต้อง edit และปรับแต่งกันต่อค่ะ //ความเศร้าคือจริงๆ เดือน พ.ค. จะมีคอนเสิร์ตโปรโมตแสดงที่โรงเรียนด้วย แต่ดันถูกยกเลิกซะก่อนเพราะสถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้อีเวนต์ต่างๆ ถูกยกเลิกหมดเลย"



 

ศึกชิงสตูดิโอ

ถ้าช้าอาจได้ใช้ยามรุ่งสาง
 

           “ที่โรงเรียนจะมีสตูดิโอประมาณ 10 ห้อง เด็กแต่ละชั้นปีก็จะมีโควตาจำนวนห้องต่างกัน และความแอดวานซ์ของห้องที่จองได้ก็จะต่างกันด้วย อย่างที่เล่าว่าแต่ละเอกจะพึ่งพาอาศัยกัน    อย่างเอก  Music Production ก็จะมีเพื่อนเอกอื่นที่อยากให้ช่วยอัดเสียงให้ มีช่วงนึงที่มิ้นท์ขยันมาก บ้าระห่ำมาก  ชอบอาสาช่วยอัดให้เพื่อนๆ  เพราะข้อดีคือได้ฝึกให้ตัวเองคล่องขึ้น ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้งานเก็บเป็นพอร์ตฯ เราคิดว่าไหนๆ ก็อยู่ในโรงเรียนที่มีนักดนตรีกว่า 5,000 คน ต้องเอาให้เต็มที่
 
           “แล้วชีวิตก็จะงานท่วม     เพราะการสตูต้องแย่งชิงกัน โดยเขาจะเปิดให้จองวันต่อวัน ถ้า 9.00-18.00 น. ห้องจะถูกใช้เรียน แล้วแค่เหลือช่วง 18.00 น. ถึง 6.00 น.  ถ้าจองไม่ทันก็ได้ใช้ตอนตี 4 เพราะคนชิงจองเวลาดีๆ ไปก่อน
 
           “มันจะมีบางช่วงที่มิ้นท์จัดตารางชีวิตยากมาก บางช่วงลงวิชาก็ไม่ทัน จองห้องก็ไม่ทัน มีเวลานอนแค่ 3 ชั่วโมง เมื่อก่อนก็คิดนะว่าเรียนดนตรีไว้เล่นคลายเครียด แต่พอเรียนจริงๆ แล้ว โอ้โห 5555 ทีนี้ก็ไม่รู้จะไปคลายเครียดที่ไหนแล้ว ต้องพยายามให้เวลาตัวเองและออกไปเจอเพื่อนบ้าง ทุกวันนี้ก็นอนเยอะกว่าเทอมแรกๆ นะ สุขภาพสำคัญกว่า ยิ่งสายเราต้องตัดสินใจตลอดเวลาด้วยค่ะ”


 
           "ถ้าเกิดน้องๆ สนใจอยากเข้าที่นี่ก็ขอให้เตรียมตัวให้ดีและมั่นใจไว้ก่อน อาจศึกษาเรื่องทุนไว้เพื่อลดค่าใช้จ่าย   แล้วถ้าเกิดได้เข้ามาเรียนที่ีนี่    อยากรู้อะไรก็ไปให้สุดเลย เพราะคนที่นี่ไม่มีใครคิดว่าเรามั่นใจในตัวเองเกินไป พี่ก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนได้เรียนสิ่งที่รักนะคะ"
           



(รูปจากหนึ่งในงานแสดง)
 
          ถึงจะเหนื่อยจนจัดตารางชีวิตยากมาก แต่ก็ถือเป็นบรรยากาศการเรียนที่คนรักดนตรีใฝ่ฝันเลยค่ะ ทั้งอุปกรณ์และห้องเรียนห้องซ้อมที่มีประสิทธิภาพ เจอครูและวิทยากรเจ๋งๆ เจอเพื่อนเก่งๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจ แถมยังมีโมเมนต์สนุกๆ นั่งทำงานกับเพื่อนในสตู และรู้จักเพื่อนใหม่ตลอดเวลา หากน้องๆ สนใจก็สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มที่ลิงก์ด้านล้างนี้นะคะ (มีเรื่องทุนด้วยนะคะ อย่างมิ้นท์ก็ได้ทุนกึ่งนึง) สุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณและเอาใจช่วยมิ้นท์ให้ทำโปรเจกต์จบออกมาเสร็จสมบูรณ์  และได้ feedback ที่น่าชื่นใจนะคะ ^^
 
ลิงก์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม:
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
eeveeXxs Member 4 ส.ค. 63 11:41 น. 2

พี่คะขอคอนเทคหน่อยได้ไหมคะพอดีหนูสนใจจะเรียนอะคะเเต่ งงพวกข้อมูลในเว็บberkleeนิดหน่อย อยากจะถามรายละเอียดอะไรอย่างเงี้ยอะคะ;-;

1
กำลังโหลด
Khaisuwatchai Member 12 ม.ค. 64 16:11 น. 3

จะขอรบกวนติดต่อน้องมิ้นท์เพื่อสอบถามข้อมูลในการเตรียมตัวหรือคุณสมบัติที่จะไปเรียนต่อที เบิกรี่นะครับพอดีลูกชายตอนนี้เค้าอยากจะเรียนดนตรีที่นั่นนะครับรบกวนด้วยนะครับ

ขอบขอบคุณครับ

4
kookkaii :3 Columnist 12 ม.ค. 64 16:40 น. 3-1

สวัสดีค่ะ น้องมิ้นท์สะดวกให้ติดต่อทาง Direct Message อินสตาแกรมค่ะ จะเป็นแอคเคานต์นี้นะคะ https://www.instagram.com/mmnca/ ทางเราได้แจ้งน้องไว้เบื้องต้นเรียบร้อยค่ะ ^^


ขอเอาใจช่วยให้ลูกชายของคุณพ่อสอบติดสาขาที่ตั้งใจไว้นะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด