‘ขิม’ เล่าชีวิตเด็กทุน ก.ต. เรียนต่อสาขา IR ระบบ A-Level ในอังกฤษ! (กว่าจะติดต้องเจอกี่ด่าน?)


             สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน ถ้าพูดถึงเมืองผู้ดีอย่าง “อังกฤษ” น่าจะเป็นเป้าหมายที่หลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง เพราะเป็นบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม สถานที่ท่องเที่ยวมรดกโลกหลายแห่ง แถมยังดังเรื่องฟุตบอลด้วย แต่ความเริ่ดของเมืองผู้ดีนี้ยังไม่หมด เพราะระบบการศึกษาของเขาก็มาแรงไม่แพ้ใคร จนมีนักเรียนไทยตัดสินใจบินข้ามทวีปมาเรียนต่อกันเพียบ! 
 
             วันนี้พี่เลยขอชวนนักเรียนทุนก.ต. สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มาแชร์ประสบการณ์การสอบทุนและการเรียนเปลี่ยนวุฒิในหลักสูตร A-level เส้นทางสู่ความสำเร็จของเธอคนนี้จะเป็นยังไง การใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษจะแฮปปีมีความสุขขนาดไหน ไปดูกันน
 

Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)

แนะนำตัว


             “สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘ขิม’ ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ อายุ 20 ปี จบสายศิลป์ – เยอรมันจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับทุนกระทรวงการต่างประเทศ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ระดับป.ตรี – โท) มาเรียนที่อังกฤษ ตอนนี้ขิมก็จบหลักสูตร A-level แล้วค่ะ กำลังอยู่ในช่วงรอประกาศผลมหาวิทยาลัยที่เลือกไว้” ทุนนี้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน 100% ทั้งการเรียนปรับพื้นฐานภาษา การเรียนปรับวุฒิ 2 ปี (A-level) ปริญญาตรี 3 ปี และปริญญาโท 1 ปี แถมยังมีเบี้ยเลี้ยงประจำเดือนให้อีกด้วย! (ระยะเวลาใช้ทุน 2 เท่าของระยะการศึกษา)
 
             ทำไมถึงเลือกเรียนต่อในประเทศอังกฤษ? “ที่จริงขิมมีความตั้งใจที่จะสอบทุนตั้งแต่ช่วงม. ต้นแล้วค่ะ มันเริ่มจากทริปเที่ยวอังกฤษของขิมเองที่ทำให้เห็นว่าบ้านเมืองเขาสวยมาก น่าอยู่ บรรยากาศดี ยิ่งมีโอกาสได้ไปเดินสำรวจมหา’ลัยก็รู้สึกประทับใจจนอยากมาเรียนมากกก จากนั้นขิมก็ตั้งเป้าหมายและหาข้อมูลมาเรื่อยๆ เลยค่ะ”
 
             “ส่วนตัวขิมก็ชอบเรียนสังคมอยู่แล้ว และที่เลือกเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เพราะขิมรู้สึกว่าสาขานี้มันได้เรียนหลายๆ อย่างผสมผสานกันทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ดูเป็นสาขาที่ลงตัวและเหมาะกับความสนใจของขิมค่ะ”
 

ข้อเขียนมหาโหด 
+ โจทย์สัมภาษณ์สุดกดดัน

 

             “เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในแต่ละปีทุนก.ต. จะเปิดสอบไหม ถ้าเปิดจะมีให้สอบสาขาอะไรบ้าง  แล้วถึงขิมจะโชคดีที่ในปีที่ขิมสอบ (2561) สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเขาเปิดสอบ ขิมก็ไม่รู้เลยว่าขิมจะต้องเจอคู่แข่งเยอะมากแค่ไหน”
 
             วิชาที่ขิมต้องสอบจะมี 3 วิชาคืออังกฤษ ไทย และสังคมค่ะ โดยข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ชุดมีเวลาให้ทำชุดละ 3 ชม. ชุดแรกเป็นวิชาอังกฤษ (ข้อสอบปรนัย 100 คะแนน) ความยากก็มีตั้งแต่ระดับทั่วไปถึงขั้นแอดวานซ์ แต่ถ้าเตรียมตัว+ซ้อมทำโจทย์มาดีก็ทำได้สบายหายห่วง” 
 
             “ส่วนชุดสองเป็นวิชาไทย-สังคม ข้อสอบภาษาไทยส่วนใหญ่เขาก็จะทดสอบเรื่องการใช้คำ สะกดคำ เขียนเรียงความ ย่อความ แล้วก็สรุปความ ถือว่าท้าทายแต่ก็ยังได้อยู่! วิชาที่ยากสุดขิมว่าต้องสังคมเลยค่ะ เพราะกรรมการสามารถออกข้อสอบได้กว้างมากกก ไม่รู้จะออกหัวข้อไหนเลยต้องอ่านต้องติวไปก่อน แถมตอนตอบยังต้องบริหารเวลาให้ดีไม่งั้นมีเขียนไม่ทันแน่นอน อย่างขิมคือซ้อมเขียนข้อสอบเก่า+แพลนไปเลยว่าหนึ่งข้อจะใช้เวลาแค่ 33 นาที (เขียนตอบ 30 นาทีและตรวจอีก 3 นาที) ถ้าข้อไหนไม่ทันให้ข้ามไปทำข้อถัดไปก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาถ้ายังมีเวลาเหลือ ที่สำคัญคือควรเผื่อเวลาไว้ตรวจคำตอบและตรวจความเรียบร้อยอีกทีก่อนที่จะส่งค่ะ”
 
             หลังจากผ่านรอบข้อเขียนได้เตรียมตัวสัมภาษณ์ไว้ยังไงบ้าง? “การสัมภาษณ์จะแบ่งออกเป็นสัมภาษณ์เดี่ยวและกลุ่มค่ะ อย่างสัมภาษณ์กลุ่มจะเป็นแนว Group discussion คือกรรมการจะกำหนดประเด็นมา (อาจจะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษาอย่างพวก vocational program=หลักสูตรการศึกษาวิชาชีพ) แล้วให้คนที่ผ่านการสอบรอบข้อเขียนทั้ง 5 คนมา discuss กัน ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้กรรมการสนใจและให้คะแนนก็คือ ‘เราต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ฟังค่ะ’ ต้องพยายามหาจุดตรงกลางไม่พูดเยอะไปหรือน้อยไป ยกประเด็นขึ้นมาบ้าง รับฟังและถกประเด็นของผู้อื่นบ้าง แสดงให้เขาเห็นว่าเรามี potential มากพอ”
 
             ส่วนการสัมภาษณ์เดี่ยว แต่ละคนจะเจอคำถามที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นคำถามเกี่ยวกับสาขาทุนที่สอบและมหาวิทยาลัยที่สนใจจะไปเรียนต่อ แต่นอกจากคำถามทั่วไปแล้วก็ยังมีพวกคำถามแนวจิตวิทยา เหมือนเขาต้องการจะทดสอบว่าหลักการคิดของเราเป็นยังไง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไหม รับมือกับความกดดันไหวหรือเปล่า อย่างที่ขิมเจอก็เช่น คติประจำใจของขิมคืออะไร? เวลาเรียนหนักจะมีวิธีจัดการความเครียดยังไง? ถ้ามีคนมาซื้อตัวจะไปไหม? อะไรประมาณนี้ค่ะ”
 
             “ถ้าถามขิมว่าควรเตรียมตัวมาก่อนไหม ขิมว่าดูแค่แนวคำถามคร่าวๆ ไปก็พอค่ะ เพราะถึงเวลาสิ่งที่ต้องมีไม่ใช่แค่ความรู้แต่คือ ‘สติและสมาธิ’ เท่านั้นค่ะ ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ยังไงก็ตอบคำถามไม่ได้ เพราะบรรยากาศตรงนั้นมันจะกดดันมาก ยิ่งเราแสดงให้เขาเห็นว่าเราเครียด เขาก็จะยิ่งจี้ยิ่งทำให้เรากระเจิดกระเจิงไปกันใหญ่”
 
             “ตอนนั้นขิมได้เข้าไปสัมภาษณ์เป็นคนสุดท้าย ก็เลยหาวิธีคลายเครียดด้วยการนั่งฟังเพลงคลาสสิคเสียเลย ตอนเข้าไปนี่ทำใจสู้มากกก ลึกๆ ก็กลัวแต่ต้องทำให้ตัวเองมีความมั่นใจ พอเขารู้สึกว่าเราไม่ได้กลัวเขา เขาก็เริ่มจะชวนคุยแบบกดดันน้อยลง และสุดท้ายขิมก็ผ่านมาได้ค่ะ บอกน้องๆ ไว้ตรงนี้เลยว่าอย่ามัวไปกังวลว่าเราจะตอบคำถามได้เป๊ะตรงตามที่เตรียมมาไหม แค่ตอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นมากที่สุดก็พอ”
 
Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)

สู้สุดใจกับการเลือกมหาวิทยาลัย 
และการเรียนเปลี่ยนวุฒิสุดหิน!


             “ก่อนที่จะเริ่มการเรียนเปลี่ยนวุฒิหรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘การเรียนหลักสูตร A-level’ ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เขาจะให้เราสอบ IELTS เพื่อวัดระดับภาษาและดูว่าเราต้องไปเรียนปรับพื้นฐานด้านภาษานานเท่าไหร่ค่ะ”
 
             “พอขิมผ่านการเรียนปรับพื้นฐานภาษา 3 สัปดาห์ที่ ‘Wimbledon School of English’ มาแล้ว ก็ไปเริ่มเรียนหลักสูตร A-level ที่ ‘Cambridge Tutors College’ หลักสูตรนี้เปรียบเสมือนการเรียนม. ปลาย 2 ปีสุดท้ายของเด็กอังกฤษ ระหว่างนี้เราก็ต้องทำสอบเก็บคะแนน + รักษา performance เพื่อให้ predicted grade ของเราออกมาดี (เกรดตัวนี้จะเป็นเกรดที่โรงเรียนประเมินให้เพื่อใช้ยื่นมหาวิทยาลัยหลังจากเรียนผ่านไปประมาณหนึ่งปีครึ่งค่ะ) โดยเราสามารถนำเกรดไปยื่นมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด 5 ที่แล้วค่อยมาตัดช้อยส์เหลือ 2 ที่อีกทีค่ะ อันนี้ขิมได้รับ offer จากทุกที่ที่ยื่นไปเลยค่ะ >< (มี LSE, Durham University, King’s College London, University of Nottingham และUniversity of York)”
 
             “มหา’ลัยแรกที่เลือกจะเรียกว่า Firm choice ขิมเลือก London School of Economics and Political Science (LSE) เพราะที่นี่เป็นสถาบันเฉพาะทางสายสังคมศาสตร์อันดับต้นๆ ของอังกฤษ ตั้งอยู่ใจกลางลอนดอน และยังเป็นสถาบันที่มีอีเวนต์ให้นักวิชาการหรือนักเสวนามาพูด มาอัปเดตความเคลื่อนไหวในสังคมอยู่บ่อยๆ ที่นี่จึงน่าสนใจและตอบโจทย์กับสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ขิมจะเรียนเอามากๆ”
 
             “ส่วนลำดับสองจะเรียกว่า Insurance ขิมเลือก Durham University ไปค่ะ เพราะนอกจากสถาบันแห่งนี้จะตั้งอยู่ในเมืองที่สวยและบรรยากาศดีแล้ว ยังมีระบบ Collegiate system ที่จะให้ผู้เรียนเลือก college ที่ตัวเองสนใจจากข้อมูลหอพัก ที่ตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและทำความรู้จักเพื่อนต่างสาขาค่ะ ขิมเลือก Josephine Butler College ไปเพราะ college นี้มีทั้งห้องสมุด ยิม  คาเฟ่ เดินทางง่าย และยังมีกิจกรรมให้ทานอาหารร่วมกันแบบ Formal dinner ด้วย ให้ฟีลเหมือนอยู่ในเรื่อง Harry Potter ดีค่ะ5555” (จริงๆ ทุก college จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คล้ายกัน แต่จะแตกต่างตรงระยะทางที่ใช้ไปตึกเรียน+ความใกล้ไกลตัวเมือง)
 
 
Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)

ประวัติศาสตร์ตัวร้าย
แต่สุดท้ายก็รักนะ 


             อยากให้เล่าเกี่ยวกับวิชาที่เรียนในหลักสูตร A-level ว่ายากไหม ปรับตัวยังไงบ้าง? “ตลอด 2 ปีนี้เราจะได้เรียนประมาณ 3 – 4 วิชาค่ะ โดยวิชาที่เราเรียนก็ควรจะเกี่ยวกับสาขาทุนที่ได้รับ ขิมเลยเลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐศาสตร์ แล้วก็เยอรมันในปีแรกค่ะ แต่พอมาปีที่ 2 ขิมก็ตัดสินใจดรอปเยอรมันไป เพราะอยากให้ความสำคัญกับอีก 3 วิชาที่เหลือ ถึงวิชาที่เรียนมันจะดูน้อยแต่เรียนลึกมากกกTT”
 
             “ส่วนเรื่องการปรับตัว ตอนแรกขิมก็แอบกังวลเรื่องภาษา เพราะเราไม่เคยเรียนระบบอินเตอร์หรืออีพีมาก่อน แต่ความเป็นจริงคือปรับตัวได้เร็วมากค่ะ ด้วยความที่เราต้องเขียน essay ต้องพูด ต้องใช้อยู่แทบทุกวัน มันเลยค่อยๆ ชินค่อยๆ ซึมซับไปเอง อีกอย่างพอดูเนื้อหาการเรียนแล้ว บอกเลยว่ายากจนลืมความกังวลกับการใช้ภาษาไปเลยค่ะ!”
 
             วิชาไหนเซอร์ไพรส์เรามากที่สุด? ประวัติศาสตร์! ประวัติศาสตร์เท่านั้นค่ะ ตอนแรกขิมก็แอบคิดว่ามันจะน่าเบื่อไหม detail ก็เยอะมากจะจำได้หมดไหม แต่พอเรียนไปแล้วอินมากกก ครูก็สอนสนุก ส่วนเนื้อหาก็จะมีความท้าทายแตกต่างจากการเรียนที่ไทย เพราะมันจะไปเน้นประวัติศาสตร์ฝั่งยุโรป อย่างเช่น การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (The Glorious Revolution) การปฏิวัติฝรั่งเศส และการรวมชาติของเยอรมันค่ะ”
 
             ถึงจะชอบยังไงก็บอกไว้เลยว่าวิชานี้ไม่ง่ายเลย “วิชานี้เวลาสอบทีมีให้เขียนเยอะมากกก เป็น nightmare เลยก็ว่าได้ เนื้อหาแน่นสุด 45 นาทีต้องตอบคำถามครอบคลุมทุกประเด็นให้ครบกว่าจะจบคือ 2 – 3 หน้า แล้วการสอบเก็บคะแนนคือมีทุกสัปดาห์ไปเลยยย learning skills มันไม่พอขิมต้องขอ survival skills มาช่วยด้วยค่ะ แต่พอนึกย้อนกลับไปการสอบก็เป็นเหมือนตัวกระตุ้นที่ดีที่ทำให้เรามีวินัยและทบทวนสิ่งที่เรียนไว้อยู่ตลอด”
 

กลับไทยแบบ last minute 
เรียนออนไลน์หนีพิษ COVID-19


             “ช่วงปลายเดือนมีนาคม พอไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ทั้งทางรัฐบาลอังกฤษและทางก.พ. ก็พยายามให้นักเรียนต่างชาติรีบกลับประเทศตัวเอง ตอนนั้นคือลังเลมากเพราะกลัวว่าถ้าไม่ได้สอบ A-level แล้วจะไม่มีคะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัย แต่ทางโรงเรียนก็กดดันให้รีบกลับไทยด่วนหลังจากมีประกาศว่าจะไม่มีการสอบ A-level แล้วในปีนี้ สุดท้ายขิมก็ตัดสินใจจองตั๋ว 2 วันสุดท้ายก่อนสายการบินจะปิดเส้นทาง ของก็ต้องรีบเก็บ เอกสาร Fit to fly ก็ต้องรีบหา วิ่งวุ่นลุ้นไปหมดเลยค่ะ ดีที่ทางสถานทูตเขาช่วยดำเนินการให้ได้ใบรับรองแบบไวมากกก”
 
             “ส่วนเรื่องการเรียนก็เปลี่ยนมาเป็นออนไลน์หมดเลยค่ะ เวลาเรียนครูบางคนเขาก็ชอบให้ปิดไมโครโฟน ปิดกล้อง ขิมว่ามันทำให้เราไม่ค่อยมี interaction กับครู แถมโฟกัสกับการเรียนยากขึ้นไปอีก และที่หนักสุดสำหรับการเรียนออนไลน์ก็คงเป็นเรื่อง Time zone ค่ะ ด้วยความที่เวลาอังกฤษจะช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง ทำให้คาบบ่าย 3 กลายเป็นคาบ 3 ทุ่มไปโดยปริยาย ดึกขนาดนี้ใครจะมีสมาธิเรียนใช่ไหมคะ TT”
 
 
Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)

โหมดกรรมการนักเรียนสุด talented
ร้อง - เต้น - เล่นไวโอลิน


             “ระหว่างเรียนที่นี่ขิมก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมหลากหลายทั้งในและนอกโรงเรียนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชมรมอย่าง Economics society กิจกรรมด้านดนตรีอย่าง Lunch time charity concert (นอกจากขิมจะเล่นไวโอลินในงานนี้ ขิมยังได้ไปเล่นที่งานวันกองทัพไทย ณ สถานทูตไทยในลอนดอนด้วยค่ะ ><) หรือจะกิจกรรมกีฬาขิมก็ผ่านมาหมดค่ะ นอกจากนี้ยังมี Model UN และ Student conference ที่เป็นกิจกรรมระหว่างโรงเรียนด้วย”
 
             “และอีกหนึ่งกิจกรรมสุดประทับใจก็คงเป็น Student committee ที่ขิมได้มีโอกาสเป็นกรรมการนักเรียนนน หน้าที่ของตำแหน่งนี้ก็จะต้องรับผิดชอบเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ทั้งงานคอนเสิร์ต อีเวนต์วันฮาโลวีน Open days งานประชุมครู งานประชุมผู้ปกครอง รวมไปถึงการรับ feedback เรื่องต่างๆ จากเพื่อนนักเรียนด้วย นับเป็นประสบการณ์ดีๆ ในโรงเรียนแห่งนี้เลยค่ะ”
 
 
Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)

Non-Discrimination
ต้อนรับอย่างดีไม่มีแบ่งแยก

 

             “คนที่นี่ต้อนรับขิมดีมากค่ะ ตอนอยู่ที่โรงเรียนเพื่อนต่างชาติทุกคนก็เฟรนด์ลี่เข้ากันได้ดีมาก พอมีเวลาว่างเขาก็จะชวนเราไปกินข้าว เที่ยว เล่นกีฬา หรือบางทีก็ให้ไปปาร์ตี้ที่บ้านเขาเลย ขิมว่ามันดีมากที่เห็นเขา welcome ทำให้รู้สึกไม่แปลกแยก แล้วยังได้เรียนรู้ทั้งภาษา วัฒนธรรม เห็นบ้านและการใช้ชีวิตปกติของเขาด้วย”
 
             “หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าฝรั่งมักเหยียดชาวเอเชีย แต่ตั้งแต่อยู่มาขิมไม่เคยเจอเลยสักครั้ง ขนาดคนไม่รู้จัก เขายังยิ้มยังทักทายตลอด บางทีที่ขิมขึ้นรถบัสไปเรียนก็จะมีคุณลุงคุณป้ามานั่งชวยคุยอยู่ข้างๆ เรื่องเรียนบ้าง เคยมีที่ชวนขิมไปกินกาแฟบ้าง บางทีเจอแบบนี้ก็รู้สึก make my day สุดๆ เลยค่ะ”
 
             “แล้วมีเรื่องแปลกๆ อยู่ช็อตนึง ฮาตัวเองมาก ปกติขิมจะมีออกมาวิ่งแถวบ้าน แล้วมีครั้งนึงดันไปเห็นท่อนเหล็กหล่นลงมาจากรถที่กำลังขับผ่าน ตอนนั้นคิดไงไม่รู้ เข้าไปหยิบท่อนเหล็กขึ้นมาแล้ววิ่งหน้าตั้งตามรถคนนั้นเพื่อจะเอาไปคืน เด็กนักเรียนที่อยู่แถวนั้นตะโกนเชียร์ ปรบมือให้เราใหญ่เลย ไอ่เราก็ฮึดวิ่งต่อไปอีกสุดมากกก 5555 เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เรารู้สึกประทับใจ ได้ทำให้คนอื่นด้วย ได้รับสิ่งดีๆ กลับมาด้วยค่ะ” 


ชวนแชร์ทิ้งท้าย
5 เทคนิคการเรียนง่ายๆ by พี่ขิม


             จากที่คุยมาจะเห็นว่าขิมทั้งเรียนหนัก ทำกิจกรรมเยอะ แม้จะเจอสภาพแวดล้อมกับระบบการเรียนแบบใหม่ พี่ปุณเลยชวนมาแชร์เทคนิคเผื่อจะเหมาะกับน้องๆ Dek-D ที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้ “ต้องบอกก่อนว่าวิธีการเรียนที่ได้ผลของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน อย่างขิม ขิมเป็นคนที่ไม่สามารถอ่านรอบเดียวแล้วไปสอบได้ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ใช้เวลาในการท่องจำ ขิมก็เลยอยากนำวิธีที่ช่วยให้ขิมสามารถฝ่าฟันการเรียนและการสอบไปได้อย่างสบายใจมาลองแชร์ให้น้องๆ ค่ะ”

             1. จัดเรียงชีทลงแฟ้มเอกสาร แยกเป็นวิชาและลำดับตามวันเวลาที่เรียน วิธีนี้จะช่วยให้เราไม่สับสนว่าชีทไหนเรียนก่อนหลัง อีกทั้งยังง่ายกว่าเวลานำกลับมาทบทวนด้วยค่ะ
 
             2. การจดโน้ตอย่างต่ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือจดตั้งแต่อยู่ในห้อง ครูพูดอะไรก็ให้จดไว้ก่อน จากนั้นก็เอามาเปิดดูคู่กับหนังสือแล้วเรียบเรียงจับประเด็นให้เป็นภาษาตัวเองอีกที
 
             3. “อ่านก่อนเรียน” เพื่อให้เนื้อหาการเรียนผ่านตาก่อนสักหนึ่งรอบ (การอ่านรอบนี้ไม่จำเป็นต้องอ่านให้เข้าใจ เอาแค่เกิดไอเดียว่าครูจะสอนเรื่องอะไรก็พอค่ะ)
 
             4. ถ่ายเอกสารหน้าสารบัญ วิธีนี้จะทำให้เรารู้ทิศทางของการเรียนในแต่ละ class รู้ว่าจะเรียนเรื่องอะไร ครูจะสอนประเด็นไหนบ้าง
 
             5. สุดท้ายก็คือ ‘Flashcards’ วิธีทั่วไปที่หลายคนใช้เลยค่ะ มันช่วยให้เราทบทวนเนื้อหาง่ายไม่เสียเวลาด้วย
 
Photo credit: ณภัทรารัตน์ นราสันติพงศ์ (ขิม)
 
             การมาเรียนที่นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก พอนึกกลับไปตอนสอบก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาต้องกดดันเราขนาดนั้น เพราะเวลาไปเรียนจริงมันกดดันยิ่งกว่านั้นมาก สอบแต่ละครั้งยากกว่านั้นหลายเท่า แต่ถึงอย่างนั้นขิมก็จะคอยเตือนตัวเองเสมอว่า ‘สิ่งที่เราทำอยู่เป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่เราต้องเชื่อมั่นว่าตัวเรานั้นทำได้ เพราะสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าจะต้องยากขึ้นอีกแน่นอน’ ในเมื่อเราเลือกที่จะทำมันแล้ว ขิมว่าเราก็ไม่ควรยอมแพ้ค่ะ”

พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น