พูดไทยคำ-อังกฤษคำไม่ใช่เรื่องผิด! รวม 7 เหตุผลที่คนเราเลือกจะ ‘code-switching’

อยากให้ลองดูคลิปนี้ก่อนที่เราจะไปอ่านกันต่อครับ

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนครับ เคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมบางคนเวลาฟังคนพูดไทยคำอังกฤษคำ แล้วรู้สึกตะหงิดๆ ใจจนถึงขั้นรำคาญ “ทำไมไม่พูดให้มันเป็นภาษาเดียวไปเลยล่ะ!” แต่ใจเย็นๆ กันก่อนทุกคน พี่วินเข้าใจความรู้สึกทุกๆ คนและพี่ก็มีเหตุผลมาบอกเหมือนกันว่าทำไมคนเราถึงพูดไทยคำ English คำครับ!

But first thing first, ในทางภาษาศาสตร์มี technical term (คำศัพท์เฉพาะ) ไว้เรียกการที่เราพูดภาษาสลับภาษาไปมาแบบนี้ว่า Code Switching ซึ่งการที่เราพูดภาษากลางกับภาษาถิ่นสลับกันก็เข้าข่ายด้วยนะครับ And now, without further ado,  เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูเหตุผลในการใช้ code switching กันเลยดีกว่า

1. คิดไม่ทัน: พอดีเรียนมาหลายภาษาจ้า

เหตุผลตามหัวข้อเลยครับ หลายๆ คนประสบปัญหาคิดคำไม่ทัน ลองนึกภาพดูว่าในการสนทนาเพียงแค่ไม่กี่วินาที เราก็พูดกันไปได้หลายประโยคแล้ว แต่กว่าจะออกมาเป็นคำพูดแต่ละคำ ต้องผ่านกระบวนการฟังคู่สนทนาแล้วคิดต่อว่าจะพูดอะไร ประมวลคลังคำที่หัวสมองเคยเรียนรู้ แล้วเรียบเรียงออกมาให้เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาจะเกิดมากขึ้นกรณีเรียนหลายภาษาครับ เพราะเราจะมีคำและรูปประโยคเพิ่มขึ้นอีก ถ้าคำไหนไม่ได้ใช้นานๆ ก็อาจถูกลืมไปบ้างพอถึงเวลาพูดคุยกัน ก็จะหยิบชุดคำหรือประโยคที่ตัวเองใช้บ่อยๆ มาพูดตามความเคยชินนั่นเองครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น การสลับภาษาแบบไม่ตั้งใจอาจเกิดขึ้นกับคนที่อยู่ต่างประเทศนานๆ แล้วเพิ่งกลับไทย หรือคนที่ทำงานแล้วต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติตลอด ทำให้พอเผลอพูดไทยคำ English คำเวลาคุยกับคนไทย ก็แค่นั้นเอง #นะจ๊ะ

2. ฝึกภาษา: ก็จะพูดแบบนี้ ใครแคร์

หลายคนเกิดคำถามว่าถ้าจะฝึกภาษาจริงๆ ทำไมไม่พูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งประโยคเลยล่ะ ข้อนี้พี่วินมองว่าเขาอาจแค่ต้องการฝึกคำศัพท์ และจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เสียหายอะไรถ้าจะฝึกภาษาโดยใช้ code-switching ครับ ยิ่งไปกว่านั้น อยากให้ลองสังเกตว่า ถึงแม้ว่าจะ code switching แต่ถ้าประโยคที่พูดออกมามันถูกต้องตามไวยากรณ์ ฟังแล้วไหลลื่นไม่ดูฝืน ก็ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการสื่อสารได้เหมือนกันหรือต่อให้ดูฝืนก็เถอะ เราต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครเก่งตั้งแต่แรก 

ลองดูตัวอย่างกันครับ

 การจะเขียน content ได้สักเรื่อง จะต้องมี idea ในหัว นอกจากนี้จะต้องมี skill ที่จะสามารถ elaborate สิ่งที่อยากจะอธิบายมันออกมา ตอนเริ่มเขียนแรกๆ มันอาจจะไม่ flow ไม่ well-organized, but that’s not matter ตราบใดที่เราพยายามต่อไป เชื่อว่าทุกคนทำมันออกมาได้ดีแน่นอน Practice makes perfect.

ฟังดูทะแม่งๆ ไม่เหมือนประโยคที่คนธรรมดาพูดเท่าไหร่ แต่ถ้าเราจะฝึกภาษาแล้วค่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ

ลองมองให้กว้างขึ้นไปอีก จริงๆ แล้วคนเป็นพ่อหรือแม่ก็สามารถ code switch กับลูกของตัวเองเพื่อให้ได้ฝึกภาษาแบบ bilingual เช่น ตั้งข้อตกลงไว้ว่าให้พูดภาษาไทยได้เฉพาะตอนอยู่ข้างนอกแต่พอก้าวเท้าเข้าบ้านแล้วต้องพูดภาษาอังกฤษเข้าบ้านเท่านั้น หรือกำหนดว่าต้องมีอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ที่พูดภาษาอังกฤษทั้งวัน เป็นต้นครับ (ลองดูน้องเรนนี่ speak English all day ได้จากคลิปนี้ครับ)

3. เจาะจงผู้รับสาร: เพราะบางเรื่องเราไม่อยากให้เขารับรู้

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงการเม้าท์คนอื่นแบบระยะประชิดเช่น คุยกับต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ พอลับหลังเราก็ swtich ภาษามากระซิบเรื่องชาวต่างชาติคนนั้นกับเพื่อนคนไทยข้างๆ โดยคิดว่าผู้ถูกกล่าวถึงฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง

Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash
Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash

หรือสมมติเราไปแลกเปลี่ยนที่ San Diego, California แล้วได้ไปอยู่บ้านของครอบครัวหนึ่ง แน่นอนว่าถ้าเราฟังภาษาอังกฤษออก เขาก็ไม่น่าจะคุยลับหลังเราด้วยภาษาอังกฤษได้ ดังนั้นพวกเขาเลยคุยกันเองด้วยภาษาสเปนจ้า แล้วค่อยหันมาพูดกับเราเป็นภาษาอังกฤษ // เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเจอสถานการณ์ยืนงงในดงสนทนาที่เค้าคุยกันเองแล้วค่อยหันมาหาเราและบอกในสิ่งที่เขา discuss กันไปเมื่อกี้

ฉะนั้นแล้ว ถ้าอยากเจาะจงผู้รับสาร (นินทาใครซักคน) code-switching จะมีประโยชน์กับน้องๆ มาก แต่ระวังโป๊ะนะครับ! ต้องศึกษาให้มั่นใจก่อนว่าเขาฟังภาษาไหนออกบ้าง ไม่งั้นอาจหน้าแตกหรือโดนสวนเอาได้ (จริงๆ การนินทาไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะครับ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ switch ไปเลย)

4. แปลยาก: บางคำทับศัพท์ไปเลยง่ายกว่า (แถมได้อารมณ์กว่า)

ถ้าทุกวันนี้ใช้คำว่า ‘ภาวะโลกรวน’ แทนคำว่า climate change พี่เชื่อว่าหลายคนก็คงจะงงกันเป็นแถว และอาจต้องแปลเป็นไทยเพิ่มเติมให้เข้าใจ (เสียเวลามากขึ้นไปอีก) ก็เลยเลือกจะทับศัพท์เพื่อให้ดูเข้าใจง่ายและกระชับกว่าเช่น

Ignorant (adj.) แปลว่า โง่แบบขาดความรู้

ตัวอย่างประโยค: “ปัญหาก็มีให้เห็นอยู่ทนโท่ แต่บางคนก็ยังเป็นพวกอิกนอแรนต์ (ignorant) ไม่สนใจไม่คิดจะรับรู้ถึงปัญหาใดๆ” 

Romanticize (v.) แปลว่า การทำให้ดูดีเกินความเป็นจริง 

ตัวอย่างประโยค: “การคิดบวกกับการ romanticize ต่างกันแค่เส้นบางๆ บางคนเข้าใจว่าตัวเองกำลังคิดบวก แต่จริงๆ อาจกำลัง romanticize โดยไม่เข้าใจต้นตอปัญหาที่แท้จริงเลย

Localize (v.) แปลว่า ทำให้จำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่

ตัวอย่างประโยค: ประเทศจีนนี่ localize มันทุกอย่างบนโลก องค์ความรู้หลายๆ อย่างเลยดูจี๊นจีน พอคุยกับคนอื่นแล้วไม่ค่อยจะรู้เรื่องหรอก (not all)

Elite (n.) แปลว่า ผู้ลากมากดี

ตัวอย่างประโยค: ก็เป็นซะแบบเนี้ย! พอประเทศมีปัญหา พวกอีลีท (elite) ก็ยังใช้ชีวิตสุขสบาย ไม่รู้สึกรู้สาอะไรหรอก

เมื่อกี้พี่วินยกตัวอย่างคำไปแล้ว ทีนี้พี่มีเกมมาให้ลองเล่นกันสนุกๆ

จงแปลคำที่ขีดเส้นใต้ต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษ (เฉลยอยู่ท้ายบทความ)

  1. “เอาล่ะค่ะนักเรียน คาบภาษาอังกฤษวันนี้เราจะมาทบทวนเรื่องกาลกันนะคะ หลังจากนั้นเราจะเริ่มเรียนเรื่องกรรมวาจกกันต่อค่ะ”
  2. ข้อมูลมหัตจะประกอบไปด้วยลักษณะอย่างน้อย 3 ประการ คือ มีปริมาตร (volume) มาก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง (velocity) และมีความหลากหลายในโครงสร้างข้อมูล (variety)
  3. กระด้างภัณฑ์ และ ละมุนภัณฑ์ เป็นคำที่หลายคนเข้าใจผิดว่าราชบัณฑิตยสถานเป็นคนบัญญัติไว้ แต่จริงๆ แล้วเกิดจากคนในรัฐสภาไทยซึ่งไม่นิยมศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นคนเสนอชื่อ ส่วนราชบัณฑิตยสถานบัญญัติ 2 คำนั้นไว้ว่าส่วนเครื่องและส่วนชุดคำสั่งตามลำดับ
  4. คนเรามักจะมีสามัญทัศน์ต่อสิ่งหนึ่งๆ อยู่เสมอ เช่น คนจีนจะเป็นคนที่โช้งเช้ง พูดจาเสียงดัง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคำเลยที่ควรจะพูดทับศัพท์เขาไปเลย เพราะเป็นศัพท์วัฒนธรรม (cultural word) ไม่มีในภาษาไทย เช่น 

Sous-vide (ภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า ซูวี) หมายถึง การนำวัตถุดิบใส่ถุงสุญญากาศ แล้วนำไปผ่านความร้อนในอ่างน้ำหรืออุปกรณ์ไอน้ำที่อุณหภูมิคงที่จนกว่าจะสุก

 

Confit (ภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า กงฟี) หมายถึง การตุ๋นอาหารด้วยน้ำมันจากสัตว์

 

Caramelized หมายถึง การทำให้อาหารให้มีสีเหลือเข้มเหมือนคาราเมล

ตัวอย่างเท่านี้ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมบางคำควรจะทับศัพท์มากกว่าแปลออกมา 

5. จดเลกเชอร์สนุก: จดได้เร็วกว่า กลับมาอ่านใหม่ก็สะดุดตา

คำศัพท์ในภาษาไทยย้าวยาวงั้นหรือ? Code-switching ช่วยคุณได้แน่นอนครับ! นอกจากจะใช้เวลาจดน้อยลงแล้ว ยังทำให้เลกเชอร์ของเราน่าอ่านขึ้นด้วย ลองนึกภาพดูว่าเวลาเราอ่านแบบ skimming เวลาเจอแต่ภาษาไทยเราจะรู้สึกลายตาไปหมด แต่ถ้าเจอภาษาอังกฤษขึ้นมาซักตัว มันเหมือนเราเจอ checkpoint ในหน้านั้นเลยทีเดียว มันจะสะดุดตาและชวนอ่านขึ้นเยอะ

จากประสบการณ์จดเลกเชอร์ของตัวเองเคยแทนคำว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ด้วยอักษรจีนสองตัวคือ 科技 (ke1 ji4) เวลาพิมพ์คอมใช้ 4 ตัวอักษรเท่านั้น สั้นกว่าเยอะมาก หรือจะจดเป็นภาษาอังกฤษว่า sci-tech / SciTech ก็ได้

ใครเป็นสายจดเลกเชอร์ลองเอาวิธีนี้ไปใช้ดูก็ได้นะครับ (ส่วนพี่วินขออ่านเลกเชอร์เพื่อนแทนละกัน จดเองละอ่านลายมือตัวเองไม่ออกครับ TT) 

6. กระตุกจิตกระชากใจ: ตอนแรกฟังแบบง่วงๆ พอเปลี่ยนภาษาหูผึ่งทันที

คล้ายๆ กับเวลาอ่านหนังสือหรือกลับมาดูเลกเชอร์ตัวเองเลย เวลาเราฟังอาจารย์อธิบาย เชื่อว่าต้องมีหลุดๆ กันบ้าง แต่พออาจารย์ code-switching ปุ๊บ หูผึ่งทันที รู้เลยว่าตรงนี้มีเนื้อหาสำคัญ ต้องจดแล้วนะ (หรืออาจจะตื่นตัวทันทีเพราะรู้ว่าจดไม่ทันแล้วจ้าาาา) มองในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นอาจารย์ เราก็อาจจะใช้ code-switching เพื่อดึงดูดความสนใจนักเรียนได้เหมือนกัน เหมือนเป็นการไฮไลต์ส่วนสำคัญให้กับสิ่งที่เราจะพูด ลองสังเกตดูว่าเวลาเรียนกับครูต่างชาติ หลายๆ ครั้งเขาพยายามจะพูดภาษาไทยเพื่อให้เราเข้าใจในสิ่งที่เขาสอนมากขึ้น

เราลองมาดูเพลงกันบ้าง มันต้องมีสักเพลงแหละที่เราชอบฟังถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยเขียนภาษานั้นๆ ยกตัวอย่างเพลงที่พี่วินชอบก็คือเพลง Mayonaka no Door (Stay with Me) - Miki Matsubara บอกเลยว่าพี่วินฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่พอถึงท่อนฮุกนี่ร้องได้เลย “สเตย์ วิธ มียยยย์....” แล้วที่เหลือก็ดำน้ำไปยาวๆ จ้า

7. ต้องการเข้าสังคม: แสดงตัวตนหรือทำให้เป็นที่ยอมรับ

บางครั้งการ code-switch ไปพูดภาษาต่างประเทศ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และเขาก็จะ treat เราดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศด้วยครับว่าวัฒนธรรมเขาเป็นอย่างไร บางประเทศเขาอาจจะ treat คนต่างชาติดีกว่าคนในชาติตัวเอง ในขณะที่บางประเทศจะมองนักท่องเที่ยวเป็นคนนอก ถึงแม้ว่าเขาจะ treat เราดี แต่ก็ยังมองเราเป็นคนนอกครับ

Photo by Gyan Shahane on Unsplash
Photo by Gyan Shahane on Unsplash

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราไปเที่ยวต่างประเทศแล้วมีไกด์ไปกับเราด้วย natives เขาย่อมรู้ว่าเรามีสถานะนักท่องเที่ยวก็เลย treat เราแตกต่างจากคนในประเทศด้วยกันเองครับ และที่สำคัญคือต้องระวังการ oversimplify ทั้งหมดจากสิ่งที่เรารู้เพียงแค่ผิวเผิน เพราะการไปต่างแดนเพียงแค่ไม่กี่วันนั้นไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าคนในประเทศนั้นเป็นอย่างไร

ในแง่ของการทำวิจัย โดยเฉพาะงานสายมนุษยศาสตร์จะมีการลงภาคสนามเพื่อไปเก็บข้อมูลกับชาวพื้นเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ชาวบ้านจะให้ความร่วมมือกับเราในครั้งแรก แต่ถ้าเราสามารถพูดภาษาของเขาได้ ก็อาจจะได้รับความร่วมมือมากขึ้นและได้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือด้วย 

…….

การที่เราพูดไทยคำ English คำนั้นไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดัดจริต คนไทยหลายๆ คนโดยเฉพาะคนรุ่นเก่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการพูดภาษาอังกฤษ เวลาเรียนในห้อง นักเรียนหลายคนอายที่จะพูดภาษาอังกฤษ พอพูดชัดกลับโดนเพื่อนล้อหรือหัวเราะ ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ เลยต้องพูดสำเนียงแบบไทยๆ สุดท้ายเลยทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของเราไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นพี่วินอยากจะ encourage ทุกๆ คนที่กำลังฝึกภาษาที่สอง ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดพลาด ไม่ perfect คนเราผิดพลาดกันได้ตลอดเวลาครับ สู้ๆ จ้าทุกคนนนนน

เฉลยคำตอบ

  1. Tense, Passive Voice (Active Voice มีศัพท์บัญญัติว่า กรรตุวาจก)
  2. Big Data
  3. Hardware, Software, Hardware, Software
  4. Stereotype
Sources:https://www.memrise.com/blog/why-do-people-code-switchhttps://en.wikipedia.org/wiki/Code-switchinghttps://www.thoughtco.com/code-switching-language-1689858https://www.npr.org/sections/codeswitch/2013/04/13/177126294/five-reasons-why-people-code-switchhttps://owlcation.com/humanities/Code-Switching-Definition-Types-and-Examples-of-Code-Switchinghttps://www.slang-aholic.com/articles/debate/__trashed-15/https://becommon.co/culture/twitter-words-ize/https://www.facebook.com/TuichakritJournal/posts/1200842033417221/https://www.gotoknow.org/posts/237008https://food.trueid.net/detail/rlaLgaREKKDxhttps://www.dek-d.com/studyabroad/49539/Photo Photo Credit:Photo by Priscilla Du Preez on UnsplashPhoto by Gyan Shahane on Unsplash

 

พี่วิน
พี่วิน - Columnist Sentio amorem, ergo sum.

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

mumu 17 ก.ย. 64 14:08 น. 2

เห็นด้วยค่า อยากให้รณรงค์ว่าการพูดไทยคำอังกฤษคำไม่ใช่เรื่องดัดจริตสักนิด ใครใคร่พูดก็พูดเถอะค่ะถ้ามันไม่ได้เป็น hate speech หรือทำให้ใครเดือดร้อน *-*

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
mumu 17 ก.ย. 64 14:08 น. 2

เห็นด้วยค่า อยากให้รณรงค์ว่าการพูดไทยคำอังกฤษคำไม่ใช่เรื่องดัดจริตสักนิด ใครใคร่พูดก็พูดเถอะค่ะถ้ามันไม่ได้เป็น hate speech หรือทำให้ใครเดือดร้อน *-*

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด