เมื่อภาษาและโชคชะตาพัดเธอมาถึง “ญี่ปุ่น” เพื่อเริ่มงานเป็นนักเล่าความสุขผ่านเพจ Hokkaido Diary 北海道ソーグッド

จะดีแค่ไหนถ้าเกิดเราหลงรักประเทศนึง 
แล้วได้มาทำงานโปรโมตการท่องเที่ยวประเทศนั้น ?

วันนี้เราจะพาไปเปิดสตอรี่ของผู้หญิงคนนึง เธอชอบฟังเพลงภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก ฝึกภาษาด้วยตัวเอง จบเอกญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยในไทย ได้บางงานไม่ตรงปกและต้องประสบกับชีวิตช่วงขาลง แต่โชคดีในความโชคร้าย งานนั้นพามาเจอเพื่อนที่แชร์โอกาสเปลี่ยนชีวิตมาให้!

คนที่เรากำลังพูดถึงคือ “พี่เอิน” เจ้าของเพจ Hokkaido Diary 北海道ソーグッド   ที่ได้งานประจำเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองหนึ่งของจังหวัด “ฮอกไกโด” ที่โด่งดังของประเทศญี่ปุ่น  นั่นเองค่า ~

หลังจากพี่เอินได้งานนี้ ก็ต้องบินไปประจำที่ออฟฟิศที่นั่น เข้าร่วมประชุม คิดวางแผนเรื่องช่องทางและกลยุทธ์ เที่ยวจริง-กินจริง-สัมผัสวิถีชีวิตจริงของชาวเมือง เพราะงานเธอเปรียบเสมือน Blogger สายเที่ยว และบอกต่อให้โลกรู้ว่าการอยู่ฮอกไกโด so gooodd แค่ไหน มีเรื่องราวอะไรแฝงอยู่ในวัฒนธรรมหรือสถานที่เหล่านั้นบ้าง // ภาษาน่ารักๆ และการถ่ายทอดที่ยูนีคสุดๆ ทำให้หลายคลิปของเธอได้ยอดวิวแตะหลัก 10 ล้าน

กว่าจะถึงวันนี้ และกว่าจะออกมาเป็น 1 คลิป ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ? ตามมาดูกัน !

ทุกอย่างเริ่มจากเพลงญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ ~ “พี่เอิน” เรียนจบจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น ม.หอการค้า ตอนนี้มาทำงานที่ญี่ปุ่น ดูแลเพจ Hokkaido Diary 北海道ソーグッド  ค่ะ  ^^

เราเริ่มฟังเพลงและชอบเพลงภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 12 (กำลังเรียน ป.6) ชอบศิลปินวง ‘W-inds’ แล้วก็ตามไปดูคลิปบน YouTube จนถึงจุดที่อยากแปลเนื้อเพลงได้ เราค่อยๆ ค้นพบความน่าสนใจของภาษา (อย่างเช่นเวลาเจอคำว่า ‘to’ ในภาษาอังกฤษอ่านออกเสียง ‘ทู’ คำเดิมแต่ต่างจากในภาษาญี่ปุ่นที่อ่าน ‘โตะ’) ยิ่งไปอ่าน Blog ของคนแปลเพลงก็ยิ่งรู้สึกทึ่งว่า “เค้าทำได้ยังไงเนี่ย!” จุดประกายให้เราเริ่มหาข้อมูลและเรียนภาษาญี่ปุ่นเองจากบทเรียนฟรีที่มีคนมาแจก พอเข้าใจโครงสร้างพื้นฐาน แล้วก็มาเรียนจริงจังตอน ม.4 สอบติดศิลป์-ภาษาญี่ปุ่น รร.ยุพราชวิทยาลัย 

พออายุ 16 เรามีโอกาสไปแลกเปลี่ยนช่วงสั้นๆ ทำให้รู้ว่าจริงๆ ตัวเองยังไม่ได้เก่ง (รับสารอย่างเดียวแต่ไม่เคยสื่อสารออกไป) เป็นก้าวแรกที่ทำให้อยากเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนที่พูดภาษานี้ และต่อมาเราขอทุนรัตนมงคล เข้าเรียนเอกญี่ปุ่นที่ ม.หอการค้า จังหวะดีมากที่โครงการทุนเปิดปีนั้นเป็นปีแรก ครอบคลุมค่าเรียนฟรีและมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวให้ทุกเดือน ทำให้เราจบ ป.ตรีได้โดยไม่ต้องรบกวนที่บ้านมากค่ะ 

เอกญี่ปุ่นที่นี่เริ่มสอนตั้งแต่ตัวอักษร ซึ่งเรามารู้สึกหนักตอนปี 2 เพราะเริ่มเกินจากความรู้ที่เรามี บอกเลยนะคะว่าชีวิตช่วงนั้นเหมือนพล็อตเรื่องกระต่ายกับเต่า จากปีแรกที่เรียนแบบไม่ตั้งใจมาก คิดว่ายังไงก็ผ่านโดยไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่พอเอาเข้าจริง อะไรที่คิดว่าตัวเองเก่ง คะแนนเรากลับเทียบไม่ได้กับคนที่เค้าเพิ่งเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นทีหลังแต่ขยันอ่านหนังสือมากกว่า

เราเริ่มฮึดดึงสติตัวเองกลับมา พอขึ้นปี 2 เริ่มพูดได้ ช่วงนั้นกระแสหาเพื่อนคนญี่ปุ่นกำลังฮิต มีเว็บให้คนไทยกับคนญี่ปุ่นมา chat กัน ทำให้ได้ฝึกโต้ตอบกับเจ้าของภาษา และระหว่างนั้นมีได้ทุนไปแลกเปลี่ยน 1 ปีที่ Shimonoseki City University - 下関市立大学 ในจังหวัดยามากุจิ ประเทศญี่ปุ่น (เรียนฟรี มีเงินให้อีกเดือนละ 60,000 Yen) ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาดีขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะได้ใช้ตลอดเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย จากนั้นก็กลับไทยมาเรียนต่ออีก 10 เดือนจนจบ ป.ตรีค่ะ

. . . . . . . .

เจองานที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นมาหลายรูปแบบ

ตอนเรียน

  • เคยรับงาน “ล่ามโรงงาน” ยากมากกเพราะต้องรู้ศัพท์เฉพาะและกระบวนการทำงานถึงจะเข้าใจแล้วแปลมาเป็นอีกภาษาได้
  • เคยเป็นล่ามท่องเที่ยว ประจำบูธตอนที่คนญี่ปุ่นมาจัดอีเวนต์ในไทย
  • เคยเป็นครูสอนพิเศษภาษาญี่ปุ่นตามบ้าน

หลังเรียนจบ

  • บริษัทแรกที่ทำงานคือโรงเรียนสอนตีกอล์ฟ โดยครูเป็นโปรกอล์ฟชาวญี่ปุ่น และมีขายสินค้าแบรนด์ตัวเองด้วย
  • ทำงานที่บริษัทตกแต่งภายใน เจ้าของเป็นคนญี่ปุ่นเหมือนกัน ทำได้ปีนึงแล้วลาออกตอนอายุ 24-25 ปี เพราะตั้งใจจะมารับงานฟรีแลนซ์ (ก่อนจะค้นพบว่ามันไม่สวยงามอย่างที่คิด)
  • ระหว่างนั้นก็รับงานเป็นล่ามฟรีแลนซ์เรื่อยๆ เช่น ตามอีเวนต์ต่างๆ หนึ่งในนั้นมีงานโปรโมตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นค่ะ เราเคยไปประจำบูธของจังหวัดกุมมะ // เป็นครั้งแรกที่ได้ก้าวเข้ามาทำงานในกวงการท่องเที่ยวเลยค่ะ เปิดโลกมากกก
  • สุดท้ายตอนที่เป็นฟรีแลนซ์ เรามีโอกาสทำงานเป็น​ “ผู้ช่วยไกด์” งานนี้จกตามาก วันจริงเจองานนอกเหนือจากที่ระบุไว้ แต่งานนี้กลับเปลี่ยนชีวิตเรา เพราะได้มาเจอเพื่อนร่วมงานคนนึงที่เป็นล่ามด้วยกัน เค้ามาถามว่า “เพื่อนเรากำลังหาคนไปทำงานโปรโมตท่องเที่ยวญี่ปุ่น สนใจมั้ย?”

. . . . . . . .

งานที่ใช่ในจังหวะที่เป๋
(มาทำงานที่ญี่ปุ่นได้ยังไง?)

จุดประสงค์ของงานนี้คือการโปรโมตเมืองเมืองหนึ่งในจังหวัดฮอกไกโด (Hokkaido) ซึ่งครั้งนี้เราจะไม่ใช่ staff หรือล่ามประจำบูธ แต่ต้องเก็บกระเป๋าบินไปญี่ปุ่น แล้วไปประจำออฟฟิศที่นั่นค่ะ ตอนนั้นคิดอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่นจริงๆ สักครั้ง พอสัมภาษณ์งานเสร็จ สิ้นเดือนก็แจ้งผลมาว่าผ่าน !

“เฮ้ยยยย นี่เรื่องจริงหรอ?” 

ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เราต้องคิดวางแผนและลงมือทำเองทั้งหมด จุดที่ยากของงานคือไม่มีใครบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แต่ต้องมีผลงานไปโชว์เค้าด้วย สิ่งเดียวที่ต้องทำคือเขียนบทความสั้นลงวารสารว่าเราทำอะไรบ้าง ทำให้ได้เรียนรู้คำที่ฟังแล้วจะเกิดความรู้สึกแง่บวกหรือลบ

ตอนนั้นเราได้ลองผิดลองถูกเยอะมาก

เริ่มต้นด้วยการประชุมกับบริษัทก่อนว่าจะโปรโมตช่องทางไหนดี มีคนเสนอให้ทำเป็น Blog แต่เรารู้ว่าคนไทยเล่น Facebook เยอะที่สุด ก็เลยเริ่มเปิดเพจ Hokkaido Diary ขึ้นมาค่ะ จากนั้นหาซื้อหนังสือท่องเที่ยวจังหวัดฮอกไกโดมาเริ่มศึกษา โดยกลุ่มแรกที่กดติดตามเพจคือเพื่อนตัวเองและเพื่อนคุณแม่

เราไปนั่งดูเพจที่เป็นสายเที่ยวเหมือนกัน เห็นความต่างชัดเจนทั้งรูปภาพและเนื้อหา ทำให้เห็นเลยว่าเพจตัวเองตอนนั้นดูล่องลอยไร้ทิศทาง ยังจับจุดไม่ได้ และถ่ายภาพเบี้ยวจนเพื่อนถึงขั้นไล่ให้ไปหัดถ่ายรูปก่อน~ 

เอาล่ะ ตั้งหลักใหม่  “ถ้าจะทำเพจเที่ยว ก็ต้องเที่ยวเองก่อนสิ” เราเอาเงินเก็บตัวเองไปเที่ยวกระจาย ตอนนั้นทำงานจันทร์-ศุกร์ โพสต์ลงเพจถี่ทุกชั่วโมง เพื่อนก็ให้ feedback อีกว่ามันดูเยอะเกินไป เราเลยปรับโดยการรวมเป็นอัลบั้มหลายๆ ภาพแล้วโพสต์เล่าทีเดียว ที่สำคัญคือเราพยายามพัฒนาเรื่องโพรดักชัน หาซื้อกล้องดีๆ และฝึกถ่ายรูปแต่งรูปให้ดีขึ้นนน // พูดเลยค่ะว่าสิ่งที่ช่วยผลักดันเยอะมากกคือคอมเมนต์เพื่อนที่ feedback แบบตรงๆ และตรงมาก !

และด้วยความที่เราตีโจทย์คำว่า "ท่องเที่ยว" ว่าหมายถึงสถานที่หรือย่านชอปปิงเท่านั้น ทำให้เนื้อหาในเพจยังไปไม่ไกลจากนี้ค่ะ

เคยมีช่วงที่เป๋ เพราะยึดติดกับคำว่า 
“โปรโมตการท่องเที่ยว” 

เท้าความก่อนว่าวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นคือทำงานในบริษัทเดิมยาวๆ แต่โยกย้ายตำแหน่งบ่อย (ทุกปี) ทำให้ต้องเรียนรู้สกิลใหม่และเปิดรับไอเดียที่หลากหลายจากเจ้านายแต่ละคน ในขณะเดียวกันคนคุมงานก็ต้องทำความเข้าใจลูกทีมเซ็ตใหม่ด้วย เราก็เจออะไรแบบนี้เหมือนกัน เพราะคนในแผนกเปลี่ยนหน้าเกือบทุกปี ทำให้เราต้องปรับตัวเข้าหาคนที่มาใหม่ และทำให้เค้าเข้าใจงานของเราให้ได้

แล้วมีอยู่ปีหนึ่งที่เจ้านายคนหนึ่งของเรา (ตอนนี้เค้าย้ายแผนกไปแล้ว) เค้าบอกให้เราลองทำคลาสสอนวัฒนธรรมไทยให้ชาวเมืองดู เราเลยลองจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยเปลี่ยนหัวข้อที่จะสอนทุกเดือน เช่น การทักทายแบบไทย โรงเรียนไทย ผีไทย การละเล่นไทย เป็นต้น ทำได้อยู่ปีกว่าๆ ก็ต้องหยุด เพราะเจอช่วงโควิดเข้าพอดีค่ะ

เราเริ่มเป๋อีกครั้งหลังจากเจอโควิด เพราะตอนนั้นเราโปรโมตเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไม่ได้เลย จนมีครั้งนึงในงานเลี้ยงแผนก เราหลุดปากพูดกลางวงต่อหน้าเจ้านายว่า 

“พอมีโควิดแล้วโปรโมตไม่ได้เลยค่ะ หรือว่าหนูไม่จำเป็นกับที่นี่แล้วหรือเปล่า อยู่ไปก็เหมือนทำประโยชน์ให้เมืองไม่ได้เลย”

ตอนนั้นเราหน้าเครียดมาก แต่เจ้านายทำหน้าสบายๆ แล้วตอบว่า

"เราไม่ต้องทำอะไรมากหรอก แค่ใช้ชีวิตที่นี่ให้มีความสุข แล้วทำให้ทุกคนเห็นก็พอ ว่าอยู่ที่นี่แล้วมีความสุขมากแค่ไหน” 

เราก็คิดตาม เออว่ะ! ขนาดเราอยู่แล้วยังเครียดเลย จะชวนคนอื่นมาอยู่ได้ยังไง เราก็ต้องหาความสุขของตัวเองตอนอยู่ที่นี่ให้เจอก่อนสิ

คำตอบของเจ้านายกระแทกใจมาก เราเริ่มเขยิบถอยออกมาจากคำว่า “สถานที่ท่องเที่ยว” แล้วเอา “ชีวิตชาวเมือง” มาเป็นที่ตั้งเพื่อเล่าว่าฮอกไกโด so good จริงๆ พยายามสังเกตนิสัยเล็กๆ น้อยๆ และเน้นโพสต์เรื่องเกษตร ซึ่งเป็นจุดเด่นของพื้นที่นี้ สำคัญคือต้องเป็นเรื่องที่เราสนใจด้วย ถึงจะอินแล้วเล่าออกมาได้ดี

ผลคือปีนั้นยอดขึ้นมาแสนกว่าคน !

ปกติคนก็จะติดตามเพราะสนใจเรื่องเกษตรอยู่แล้ว หรือเห็นเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญที่ทำให้เพจเติบโต คือคอมเมนต์คุณภาพที่เข้ามาถามเจาะลึกหรือแชร์ความรู้กัน (ขนาดเราเองก็เพิ่งรู้ว่าประเทศไทยมีเกษตรกรเยอะมากกก เพียงแต่อาจมีจุดต่างกับญี่ปุ่นเรื่องสายพันธุ์พืช อากาศ ภูมิประเทศ ฯลฯ)

  • พยายามไม่โพสต์อะไรต่อเนื่องกัน เช่น ไม่ลงเรื่องเกษตรติดกัน 2-3 โพสต์ แต่จะสลับไปเรื่องอาหารการกินของคนญี่ปุ่นด้วย
  • โพสต์ให้ถูกกลุ่มช่วยได้มาก ถ้าเป็นเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายสนใจเขาก็จะสนใจโพสต์อื่นๆ ของเราด้วย **อย่าลืมอ่านกฎกลุ่มให้ดี**

ตัวอย่างคลิปสุดไวรัล

  • คลิปที่มีคนสนใจเยอะมากกก อย่างเช่นด้านล่างนี้คือคลิปตอนไปทานเนื้อย่างบ้านคุณยาย
  • อีกอันคือปังๆ คือ คลิปเกี่ยวกับกะหล่ำปลี น่าจะเพราะเป็นนวัตกรรมที่คนไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ

เมื่อพูดถึงฮอกไกโด…

1. ชาวต่างชาติหรือคนไทยมักจะนึกถึง “ปู” “เมลอน” แต่จริงๆ ฮอกไกโดมีอะไรอีกเยอะมากๆ!

ฮอกไกโดเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เที่ยว 10 วันไม่ทั่วทั้งจังหวัดแน่นอน น่าจะต้องอยู่เป็นเดือนๆ (คิดว่าพื้นที่ประมาณเชียงใหม่คูณไป 4 เท่า) และด้วยความที่พื้นที่กว้างจึงทำให้ปลูกอะไรได้เยอะ ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร มีการทำฟาร์มปลูกข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวญี่ปุ่น มันฝรั่ง ฟักทอง มันเทศ มะเขือเทศ เมลอน ฯลฯ

2. บางคนไม่รู้ว่าซัปโปโรกับฮอกไกโดเป็นอะไรกัน 

คำตอบคือซัปโปโร (Sapporo) เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดฮอกไกโด แต่ละเมืองในฮอกไกโดจะมีความแตกต่าง เช่น แต่ละเมืองจะเหมาะกับการเพาะปลูกไม่เหมือนกัน

ไปช่วยขายอาหารที่ซัปโปโร
ไปช่วยขายอาหารที่ซัปโปโร
Photo Credit: Hokkaido Diary 北海道ソーグッド 

3. ฮอกไกโดอาจไม่ตอบโจทย์คนที่ชอบแสงสีเสียงเท่าไหร่ 

และถ้าใครไม่ชินกับความเหงาอาจ homesick ได้ เพราะสักประมาณ 6:00-7:00PM ก็เงียบสนิทหมดแล้ว แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นคนชอบปลีกวิเวก สถานที่สงบๆ สายธรรมชาติ อยากนั่งรถเล่นกินลมชมวิว เดินป่าปีนเขา ถ่ายรูป พูดเลยว่าเหมาะมาก !

4. ฮอกไกโดไม่ค่อยมีภาษาถิ่น และถือว่าใกล้เคียงกับภาษากลางมากที่สุดแล้ว 

อาจมีคำที่ต่างบ้างแต่ก็ทำให้เข้าใจผิดแค่เล็กน้อยเท่านั้นค่ะ (ส่วนตัวคิดว่าง่ายกว่าสำเนียงท้องถิ่นของภูมิภาคอื่น)

รีวิววัฒนธรรมการทำงานฉบับคนญี่ปุ่น
(*เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัว)

  1. ระบบราชการประเทศญี่ปุ่นจะเคร่งเรื่องเอกสาร ไม่ว่าจะทำอะไรกลับมาก็ต้องเขียนรายงาน มีแบบฟอร์มชัดเจน ทุกคนจะได้เห็นเอกสารนั้นผ่านตาเรียบร้อยแล้ว (ถ้าพูดปากเปล่าเค้าอาจนำไปเสนองานต่อไม่ได้) สิ่งที่ได้เรียนรู้คือต้องดูเอกสารเก่าๆ ว่าคนก่อนเค้าเขียนอะไร ประมาณไหน บางครั้งเราก็เรียนรู้การทำเอกสารจากรุ่นน้องที่ทำงานเรียบร้อยมากๆ
     
  2. ตั้งแต่อยู่มาเรามักจะเจอคนใจดี คุยง่าย ยืดหยุ่น ถ้าเกิดเราดูเหมือนจะไม่เข้าใจเรื่องไหน เขาก็ยินดีช่วยสอนให้ แต่อย่าลืม Ho Ren So เด็ดขาดค่ะ 

    ในการทำงานกับคนญี่ปุ่นจำเป็นต้องมี 3 ข้อคือ Ho (報) แจ้ง / Ren (連) ติดต่อ / So(相) ปรึกษา ต้องขอบคุณและขอโทษให้เป็น เวลามีอะไรผิดพลาดก็ต้องยอมรับอย่าเก็บเงียบ อย่าคิดว่าทำผิดเล็กน้อยแล้วเค้าจะไม่รู้ เค้าความจำและช่างสังเกตมากๆ จริงใจไว้ก่อนดีที่สุด (อะไรที่คิดว่าทำได้ในไทย อาจไม่ได้แปลว่าจะทำในญี่ปุ่นได้เสมอไป) 
     
  3. โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นไม่คุยโทรศัพท์หรือเรื่องส่วนตัวในเวลางาน และให้ความสำคัญกับเรื่องความตรงต่อเวลามากๆ ค่ะ สมมติเกิดเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้ามาช้ากว่ากำหนด (นานๆ ครั้งมากกจะเกิดขึ้นที) เขาจะมีออกหลักฐานให้เราไปยื่นที่ทำงานได้ หรือถ้าเรารู้ว่าจะสายจริงๆ ให้ติดต่อที่ทำงานก่อนเนิ่นๆ ให้เค้ารู้ว่าเรามีเหตุผลจำเป็นในการสายครั้งนั้น
     
  4. มีภาษาที่ต้องใช้คุยกับลูกค้าหรือคนตำแหน่งสูงๆ อย่างเช่น รูปสุภาพ ยกย่อง ถ่อมตน ฯลฯ // สำหรับเราเองจะค่อยๆ คุ้นชินอัตโนมัติ
     
  5. เราสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานจะไม่ค่อยพูดตรงๆ เราได้เรียนรู้ว่ามีศัพท์มากมายที่ช่วยรักษาบรรยากาศการสนทนาครั้งนั้นให้ดี โดยที่สื่อสารได้ประสบความสำเร็จด้วย

สุดท้ายนี้ ถ้าใครอยากมาญี่ปุ่น มาเลย~

อย่าเพิ่งกลัวว่าจะเจอประสบการณ์แบบลบๆ ประสบการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน และจะดีที่สุดถ้าเตรียมภาษาไว้เยอะๆ สำหรับเรียน ทำงาน ใช้ชีวิต ติดต่อธุระ ซื้อข้าวของ ฯลฯ ภาษาจะพาเราไปได้หมด แต่ถ้ามาแบบศูนย์อาจรู้สึกมีกำแพง (ไม่อยากให้ตั้งป้อมว่าเค้าจะต้องร้ายใส่เราแน่ๆ คนที่สายตามองมาทางเราแล้วพูดภาษาญี่ปุ่น ไม่ได้แปลว่าเค้ากำลังเม้าท์เราในแง่ลบเสมอไป)

สำหรับคนที่วางแผนจะทำงาน อยากให้ลองดูหลายองค์ประกอบก่อนตัดสินใจ ถึงเงินเดือนสูง แต่อย่าลืมคำนวณเรื่องที่พักกับภาษีด้วย **สังคมก็เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ถ้าเจอเรื่องที่ไม่คุ้นชิน เราอาจต้องหาวิธีจัดการระหว่างลาออกกับปรับความคิดตัวเองให้ได้ 

ตั้งแต่มาอยู่ต่างประเทศคนเดียวรู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ อยากให้ทุกคนฝึกให้กำลังใจตัวเองทุกวันด้วยนะคะ ^ ^

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น