Poetry101: รู้จัก ‘Literary Devices’ กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เจอได้ในกลอนภาษาอังกฤษ (เพลงก็เช่นกัน!)

“There is nothing either good or bad but thinking makes it so. 
- ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ดีหรือเลว มีแต่ความคิดของเราเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความดีและความเลว” 

วันนี้ขอเปิดด้วยบทประพันธ์ในตำนานจากเรื่อง Hamlet ของกวีคนสำคัญของโลกอย่าง William Shakespeare เพราะว่าพี่พีชชี่และ English Issues จะพาน้องๆ ทุกคนไปเทคคลาสเรื่อง ‘กลอน (Poem)’ กันค่ะ หลายคนอาจจะคิดว่าในวิชาภาษาอังกฤษจะมีแต่เรื่องคำศัพท์, ไวยากรณ์, Tense หรือการฟังพูดอ่านเขียนเพียงแค่นั้น แต่ความจริงคือยังมีเรื่องของวรรณกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเรื่องกลอนก็เป็นหนึ่งในนั้น และยังช่วยให้เราเข้าใจถึงวัฒนธรรม แนวความคิด และเข้าใจโลกมากขึ้นอีกด้วย! 

และสำหรับใครที่เป็นมือใหม่หัดอ่านกลอน วันนี้เราจะพาน้องๆ ไปรู้จักกับกลวิธีทางวรรณศิลป์ (Literary devices) เพื่อฝึกให้เราอ่านกลอนได้สนุกและเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งกว่าเดิมกันค่ะ แถมกลวิธีทางวรรณศิลป์ยังใกล้ตัวน้องๆ กว่าที่คิดเพราะมันยังอยู่ในงานแขนงอื่นๆ เช่น เพลงหรือภาพยนตร์ที่น้องๆ อาจคุ้นหูคุ้นตากันอยู่แล้วก็ได้น้าาา ว่าแล้วก็ไปส่องกันเลยค่ะ! 

……………………………

Poetry 101

  • Poetry (n.) อ่านว่า โพ'อิทรี แปลว่า กวีนิพนธ์, การประพันธ์บทกวี
  • Poet (n.) อ่านว่า โพ'อิท แปลว่า นักกวี
  • Poem (n.) อ่านว่า โพ'เอิม แปลว่า บทกวี, โคลง, กลอน, กาพย์, กวีนิพนธ์, บทประพันธ์ร้อยแก้ว

เชื่อว่าน้องๆ หลายคนเคยเรียนกลอนภาษาไทยกันมาอย่างหนักหน่วง และถ้าหากสังเกตดูจะพบว่ากลอนส่วนใหญ่นั้นล้วนบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย เช่นเดียวกันกับกลอนในภาษาอังกฤษหรือที่เรียกกันว่า Poem ก็สอดแทรกสตอรี่เอาไว้เพียบ ยกตัวอย่างกลอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง “Epic of Gilgamesh”  ที่นอกจากเล่าเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของฮีโร่แล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวยุคเมโสโปเตเมียไปในตัวอีกด้วย

การแต่งกลอนก็ค่อยๆ มีการพัฒนาไปตามยุคสมัยจนเป็นสิ่งที่คนเริ่มอ่านเพื่อความสุนทรีย์และมีหลากหลายรูปแบบมากๆ ยกตัวอย่างนักกวีชื่อดังระดับโลก เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare), เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) หรือ ที.เอส อีเลียต (T.S. Eliot) เป็นต้น 

และถ้าใครอยากอ่านกลอนและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “กลวิธีทางวรรณศิลป์ (Literary devices)” หรือเครื่องมือที่สำคัญในการประพันธ์กวีนิพนธ์กันเลยค่ะ แต่ต้องขอบอกก่อนว่ากลวิธีทางวรรณศิลป์นั้นมีเยอะมากๆ และแต่ละกลอนอาจมีกลวิธีที่เหมือนหรือแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสไตล์ของนักกวีคนนั้นค่ะ วันนี้พี่จึงขอยก 8 กลวิธีพื้นฐานมาให้ทุกคนรู้จักก่อนค่าาาา~

……………………………

Simile (คำอุปมา)

เริ่มกันที่กลวิธีแรกกันเลยค่ะ Simile (อ่านว่า ซิม'มะลี) หรือคำอุปมาเป็นการเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่ง โดยจะสังเกตได้ง่ายๆ หากมีการใช้คำว่า like หรือ as 

ถ้าเปรียบเทียบกับภาษาไทย เราจะสังเกตคำอุปมาได้ง่ายๆ จากคำว่า เปรียบ, ดุจ, ดั่ง เช่น เพราะเธอนั้นเป็นเหมือนดั่งโลกทั้งใบ เป็นต้น

จากภาพยนตร์ “Forrest Gump” (1994)
จากภาพยนตร์ “Forrest Gump” (1994)

ตัวอย่างประโยค: “Life is like a box of chocolate.” ชีวิตก็เหมือนกับกล่องช็อกโกแลต ประโยคดังจากภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Forrest Gump (1994) ที่สื่อประมาณว่า เรารู้ว่านี่คือกล่องช็อกโกแลตก็จริง แต่ก็อาจไม่ได้รู้ว่าช็อกโกแลตข้างในนั้นมีหน้าตาเป็นยังไงหรือรสชาติแบบไหน และถ้าลองแล้วอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ เปรียบได้กับชีวิตคนเราที่คาดเดาไม่ได้และยังต้องเจอเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ ข้างหน้าอีกมากมาย ซึ่งอาจจะดีบ้างร้ายบ้าง มีถูกใจและไม่ถูกใจ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติของชีวิตคนเรานั่นเองค่ะ (คมบาดใจสุดๆ )

……………………………

Metaphor (คำอุปลักษณ์) 

มาต่อกันที่ Metaphor (อ่านว่า เมท'ทะฟอร์) หรือคำอุปลักษณ์ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับกลวิธีก่อนหน้าอยู่ค่ะ นั่นก็คือเป็นการเปรียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่ง แต่จะใช้การเปรียบให้เป็นสิ่งๆ นั้นไปเลย ไม่มีการใช้ like หรือ as ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือจะใช้ verb to be ซึ่งได้แก่ is, am, are, was, were 

สำหรับภาษาไทยก็มีการใช้คำอุปลักษณ์ที่เราคุ้นหูกันเยอะเลยค่ะ เช่น ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ, เธอคือดอกฟ้า ส่วนฉันคือหมาวัด เป็นต้น

ตัวอย่างจากเพลง Firework - Katy Perry

 'Cause baby, you're a firework. ที่รัก เพราะคุณคือดอกไม้ไฟ 

โดยการที่เคที เพอร์รี่เปรียบว่าคนเราเป็นปั่งดอกไม้ไฟเพื่อสื่อว่า ทุกคนมีคุณค่า มีพลังที่ซ่อนอยู่ และสามารถเปล่งประกายส่องแสงสว่างไสวเหมือนดอกไม้ไฟนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างจากเพลง cardigan - Taylor Swift


And when I felt like I was an old cardigan

Under someone's bed

You put me on and said I was your favorite 

และในยามที่ฉันรู้สึกราวกับเป็นแค่เสื้อคาร์ดิแกนตัวเก่า

ที่ถูกโยนทิ้งไว้ใต้เตียงของใครสักคน

คุณกลับหยิบฉันขึ้นมาสวมใส่และบอกว่าฉันคือตัวโปรดของคุณ

เทเลอร์สื่อถึงรู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่าจนเปรียบตัวเองเป็นเพียงเสื้อคาร์ดิแกนเก่าๆ  จนวันหนึ่งที่ผู้ชายคนนึงได้มาพบเจอกับเธอและดูแลทะนุถนอมเธออย่างดีจนเธอรู้สึกเหมือนว่าตัวเองได้เป็นเสื้อตัวโปรดของผู้ชายคนนั้นนั่นเองค่ะ 

……………………………

Hyperbole (คำอติพจน์)

Hyperbole (อ่านว่า ไฮเพอ-โบะลี) หรือคำอติพจน์ เป็นการกล่าวเกินจริง โอเวอร์ๆ จะใช้เพื่อเน้นข้อความของผู้พูดให้หนักแน่นขึ้น เช่น I could eat a horse. (หิวจะแย่แล้ว/หิวไส้จะขาดแล้ว) เพื่อสื่อว่าผู้พูดหิวมากๆ นั่นเองค่ะ

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

ตัวอย่างจากกลอน "A Red, Red, Rose" by Robert Burns


Till a’ the seas gang dry, my dear, 

And the rocks melt wi’ the sun; 

I will love thee still, my dear, 

While the sands o’ life shall run. 

 

ตราบจนน้ำในทะเลแห้งเหือด ที่รัก

ตราบจนหินผามลายไปกับแสงตะวัน

ฉันก็จะยังคงรักเธอ สุดที่รัก

ขณะที่พื้นทรายแห่งทรายก็ขับเคลื่อนของมันไป 

กลอนที่ยกมานั้นมีการใช้ Hyperbole กล่าวเกินจริงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักมากมายที่ผู้พูดมีต่อคนรักของเขาค่ะ (โหเธอ! หวานเจี๊ยบ) 

……………………………

Onomatopoeia (คำสัทพจน์)

Onomatopoeia (อ่านว่า ออนนะแมท'ทะพี'อะ) หรือคำสัทพจน์ เป็นคำที่ใช้เลียนเสียงต่างๆ จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ เช่น เสียงวัวร้อง (Moo), เสียงโทรศัพท์ดัง (ring), เสียงแตรรถ (beep) เป็นต้น 

ตัวอย่างจากกลอน The Bells by Edgar Allan Poe
 

“Oh, the bells, bells, bells!

What a tale their terror tells

Of Despair!

How they clang, and clash, and roar!

เป็นกลอนที่เอดการ์ แอลลัน โพอธิบายถึงเสียงของกระฆังที่เป็นเสียงโลหะกระทบกันดังเป็นเสียง “clang” และ “clash” แถมยังดังกังวานประหนึ่งเสียงคำรามของสิงโตเลยค่ะ

ตัวอย่างจากเพลง  Roar - Katy Perry 
 

'Cause I am a champion, and you're gonna hear me roar. เพราะฉันคือผู้ชนะ และคุณกำลังจะได้ยินเสียงฉันคำราม

 Roar ปกติแล้วเป็นเสียงคำรามของสิงโตหรือเสือ แต่ในเพลงนี้เคที เพอร์รี่บอกว่าเธอจะคำรามออกมาแล้ว สื่อว่าเธอนั้นมีความแข็งแกร่งเปรียบดั่งราชสีห์ทีเดียวค่ะ! 

……………………………

Personification (บุคลาธิษฐาน/บุคคลวัต)

Personification หรือบุคลาธิษฐาน/บุคคลวัต เป็นการบรรยายให้สิ่งไม่มีชีวิตมีความรู้สึกนึกคิดหรืออากัปกิริยาเหมือนมนุษย์ เพื่อเป็นการเร้าอารมณ์นั่นเอง เช่น “The sun smiled down on us.” พระอาทิตย์ส่งยิ้มลงมาหาพวกเรา “The light danced on the surface of the water.” แสงร่ายรำอยู่บนผิวน้ำ เป็นต้น 

ตัวอย่างจากบทละคร Romeo and Juliet by William Shakespeare

 

O, swear not by the moon, the inconstant moon,
 That monthly changes in her circled orb,
Lest that thy love prove likewise variable. 

มาที่บทละครชื่อดังของเชกสเปียร์ที่ดังสุดๆ อย่าง ‘Romeo and Juliet’ ก็มีการใช้สรรพนาม “her” ซึ่งเป็นเป็นสรรพนามที่ใช้กับคนเรียกแทนดวงจันทร์นั่นเองค่ะ

ตัวอย่างจากเพลง Let It Go – Demi Lovato


The wind is howling like this swirling storm inside. 

ลมที่โหมกระหน่ำดังพายุหมุนอยู่ภายในใจฉัน 

……………………………

Irony (คำเสียดสี)

Irony (อ่านว่า ไอ'ระนี) เป็นการใช้คำเพื่อประชด เสียดสี แกล้งพูดไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อจริงๆ (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) และยังหมายรวมถึงสถานการณ์ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงก็นับเป็น Irony เช่นกัน โดย Irony นั้นจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

Verbal Irony คือการพูดไม่ตรงตามสิ่งที่ตัวเองหมายถึง 

ตัวอย่างประโยค: 
 

Regina george: You’re really pretty. เธอน่ารักจริงๆ เลย

Cady Heron: Thank you. ขอบคุณนะ

Regina george: So You Agree, You Think You're Really Pretty? เธอเห็นด้วยงั้นสิ นี่เธอคิดว่าเธอน่ารักจริงๆ เหรอ 

จากภาพยนตร์ “ Mean Girls” (2004)
จากภาพยนตร์ “ Mean Girls” (2004)

Dramatic Irony คือการที่ผู้อ่านรับรู้ข้อมูลมากกว่าตัวละครในเรื่อง มักจะใช้กับโศกนาฏกรรม เช่น การที่ผู้ชมรู้อยู่แล้วว่ามุนินและมุตาเป็นฝาแฝดกันแต่ตัวละครในเรื่องไม่รู้นั่นเอง 

Situational Irony คือการที่ผลลัพธ์ของเรื่องราวนั้นๆ แตกต่างจากสิ่งที่ผู้อ่านคาดไว้อย่างสิ้นเชิง เพื่อทำให้เรื่องราวนั้นมีจุดพลิกผันและตราตรึงใจผู้อ่าน 

ตัวอย่างประโยค: 

Snape is a mean professor and tends to be a bad guy, but turns out that he is always secretly helping Harry Potter. 
สเนปเป็นศาสตราจารย์ที่ใจร้ายและดูเหมือนว่าจะเป็นตัวร้ายของเรื่อง แต่กลายเป็นว่าเขาคอยช่วยเหลือแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างลับๆ มาตลอด

อีกตัวอย่างจากเพลง Midnight Rain - Taylor Swift 
 

I  broke  his  heart  ‘cause  he  was  nice. 
ฉันหักอกเขา ก็เขานั้นแสนดีเกินไป

 ท่อนนี้เป็น Situation irony เพราะเราอาจเดาจากสถานการณ์ได้ว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนที่ดีกับเทเลอร์ก็ควรจะรักกันดีสิ แต่สุดท้ายเธอกับจบความสัมพันธ์กับเขา (เพราะความดีไม่ใช่รางวัลของความรักสินะ~~)

……………………………

Symbol (คำสัญลักษณ์) 

Symbol (อ่านว่า ซิม'เบิล) หรือคำสัญลักษณ์ เป็นคำที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เปรียบเทียบแทนอีกสิ่งหนึ่ง โดยมักจะเป็นความหมายแฝงที่คนทั่วไปรับรู้ หรืออาจจะเป็นคำสัญลักษณ์เฉพาะบริบทนั้นๆ ก็ได้ เช่น 

สุนัขจิ้งจอก = คนเจ้าเล่ห์ 

สายรุ้ง = ความหวัง 

นกพิราบ = ความสงบสุข

Home = คนรัก, คนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัย, พื้นที่ปลอดภัย

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

ตัวอย่างจากกลอน  The Sick Rose by WILLIAM BLAKE
 

O Rose thou art sick. 

The invisible worm

That flies in the night 

In the howling storm:
 

โอ้ กุหลาบ เจ้าป่วยแล้ว

หนอนที่มองไม่เห็น

ที่บินไปในราตรี

กลางพายุหวีดหวิวอึงมี่

  • Rose = ผู้หญิง
  • Worm  = ผู้ชาย

กลอนนี้จึงสื่อว่าดอกกุหลาบที่โดนหนอนชอนไชก็เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ถูกผู้ชายชิงสุกก่อนห่ามจนมีมลทิน (นี่คือสุภาษิตสอนหญิงที่แต่งโดยผู้ชายนะคะ แหะๆ) 

……………………………

Imagery (ภาพในความนึกคิด/มโนภาพ)

ปิดท้ายด้วย Imagery (อ่านว่า อิม'มิจเจอรี) หรือภาพในความนึกคิด/มโนภาพ เป็นการพรรณนาสิ่งต่างๆ ในมิติของประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่  รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพื่อให้งานนั้นๆ ดูมีชีวิตชีวาและลึกซึ้งมากขึ้น เช่น Sweet ripe peach (ลูกพีชสุกรสหวาน), The smell of burnt toast and greasy bacon (กลิ่นของขนมปังไหม้และเบคอนเยิ้มๆ) เป็นต้น

ตัวอย่างจากเพลง  Style – Taylor Swift
 

 You got that long hair, slicked back, white t-shirt

And I got that good girl faith and a tight little skirt

 คุณมีผมยาวเสยไปด้านหลัง และสวมเสื้อยืดสีขาว 
ส่วนฉันสวมกระโปรงสั้นรัดรูปและมีรูปลักษณ์ของผู้หญิงที่ดี

 จะเห็นได้ว่าเป็นการบรรยายถึงรูปลักษณ์ที่เหมือนได้มองเห็นด้วยตาตัวเองเลย และเป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้บ่อยในเพลงด้วยค่ะ! 

……………………………

ตัวอย่างการใช้ Literary Devices ในกลอนดัง

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

“I Wandered Lonely as a Cloud” by WILLIAM WORDSWORTH 
 

I wandered lonely as a cloud <<< มีการใช้ simile เพื่อเปรียบความเหงากับก้อนเมฆ

That floats on high o'er vales and hills,

When all at once I saw a crowd,

A host, of golden daffodils; <<< มีการใช้ personification โดยเรียกดอกไม้ว่า host 

Beside the lake, beneath the trees,

Fluttering and dancing in the breeze. <<< มีการใช้ personification โดยการให้ดอกไม้กระเพื่อมและเต้นรำเหมือนกับมนุษย์นั่นเองค่ะ

ใครสนใจอ่านกลอนบทเต็ม สามารถตามไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ Poetry Foundation ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมกลอนและบทกวีไว้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยค่ะ แถมยังมีสาระความรู้ดีๆ เพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น บทความ แมกกาซีน และพอดแคสต์เกี่ยวกับบทกวี เป็นต้น 

……………………………

เป็นยังไงกันบ้างคะกับความรู้เรื่องกลอนที่พี่นำมาเล่าวันนี้ ก็มีทั้งกลวิธีที่เรียกได้ว่าเหมือนกับของภาษาไทยเราและก็มีทั้งกลวิธีที่แปลกใหม่ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้เราเข้าถึงอรรถรสกลอนต่างๆ ได้แบบถึงพริกถึงขิงมากขึ้นไปอีก แล้วน้องๆ ชอบกลอนภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยมากกว่ากันเอ่ย? หรือมีกลอนในดวงใจบทไหนก็มาแชร์กันในคอมเมนต์ได้น้าาาา~ วันนี้พี่พีชชี่ต้องขอตัวไปอ่านกลอนโปรดก่อนนะคะ บ๊ายบายค่ะ

Sources:https://examples.yourdictionary.com/examples-of-hyperbole-poem.html https://www.musicindustryhowto.com/songs-with-figurative-language-metaphor/ https://www.studiobinder.com/blog/what-is-personification-definition-examples/ https://examples.yourdictionary.com/basic-types-of-literary-devices.html https://blog.reedsy.com/literary-deviceshttps://www.masterclass.com/articles/22-essential-literary-deviceshttps://www.masterclass.com/articles/types-of-irony   Photo Credit:https://www.imdb.com/title/tt0109830/mediaviewer/rm1936287488?ref_=ttmi_mi_all_sf_10 https://unsplash.com/photos/cRLEVt6SZxI https://unsplash.com/photos/kcKiBcDTJt4 https://unsplash.com/photos/pvjAXegKr_w  
พี่พีชชี่
พี่พีชชี่ - Columnist เด็กลิทหนอน(หนัง)สือ หัวใจ เด็กสมบัติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด