เมื่อ #ทุนรัฐบาลไทย พาไปเปิดโลกการวิจัยสุดอลังที่ UPenn ม.ระดับ Ivy League (+รีวิวขอทุน ก.พ.)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D สำหรับใครที่อยากลองสมัครชิงทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ไปเรียนต่อ ม.ดังระดับโลก อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าเกรดและผลงาน  ก็คือการทำความเข้าใจระเบียบการเพื่อวางแผนสมัครให้ทันก่อนหมดเขต ที่สำคัญคือต้องศึกษาเงื่อนไขว่าเส้นทางนี้จะคุ้มค่าและตอบโจทย์เป้าหมายของเราจริงๆ หรือไม่

สำหรับทุน ก.พ. จะแบ่งออกเป็นหลายประเภทและมีข้อผูกมัดต่างกันค่ะ วันนี้เราได้ชวน “พี่ฝ้าย-นิศาลักษณ์ ตรงศิริวัฒน์” พี่นักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รุ่นปี 2556) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของทุน ก.พ. มาเล่าให้เห็นภาพรวมการขอทุนไปเรียน ป.โทควบเอกที่ ม.เพนซินซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) หรือ UPenn ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Ivy League อันโด่งดังของสหรัฐอเมริกา

Penn & Philadelphia
Penn & Philadelphia
https://www.upenn.edu/life-at-penn/philadelphia 

 **ใครอยากพูดคุยกับรุ่นพี่นักเรียนทุนแบบตัวต่อตัว เตรียมจดคำถามมาแล้วมาเจอกัน Dek-D’s Study Abroad Fair วันที่ 7-8 ตุลาคม 2566 พิกัดไบเทคบางนา ฮอลล์ E98 กันนะคะ ในงานนี้มีรุ่นพี่หลายทุนหลายประเทศรออยู่เพียบ แถมจัดพร้อมงาน TCAS ฝั่งไทยด้วย รายละเอียดท้ายบทความค่า~

. . . . . . . . .

วิชาที่ใช่ เคมีมันตรง!

สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ “พี่ฝ้าย” นะคะ เคยรับทุน พสวท.เรียนต่อ ป.ตรี คณะวิทยาศาสตร์ (สาขาเคมี) ของ ม.มหิดล และได้ทุน ก.พ. กระทรวงวิทย์ฯ ไปเรียนต่อสาขา Inorganic Chemistry ที่ UPenn ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาคเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB)

ถ้าตามจริงเหตุผลที่มาเรียนเคมี เพราะเป็นวิชาที่ชอบและคิดว่าทำได้ดี 555 แต่ก็มีอีกเหตุผลสำคัญคือ “เคมี” เป็นศาสตร์ใกล้ตัวที่น่าสนใจมาก อยู่กึ่งกลางระหว่างฟิสิกส์กับชีวะ และแทรกซึมอยู่ในชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ตื่นยันนอนหลับ เรียกว่าทุกการกินอยู่ ยารักษาโรคทุกชนิด นวัตกรรมความสวยความงาม อาหารเสริม พลังงาน เทคโนโลยีอะไรก็ตามล้วนมีเคมีแฝงอยู่ในทุกองค์ประกอบ

แล้วจุดแข็งนึงของคณะวิทย์มหิดลก็คือมีโปรแกรม ป.ตรี พิสิฐวิธาน (Distinction Program) ที่จะให้เรียนและทำวิจัยเข้มกว่าปกติ หลังจบสามารถ waive ป.โท ไปต่อ ป.เอกได้ทันที และช่วงปี 3 จะมีสิทธิ์ได้ไปซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ (มีให้ทุนจำนวนนึงมาบริหารเอง) พี่ก็สมัครอยู่ในโปรแกรมนี้ และเลือกไปซัมเมอร์ที่ UPenn เพราะเราวางแผนหาลู่ทางมาตั้งแต่ปี 3 แล้ว ทำให้ตอนสมัคร ป.เอก เรามีประวัติเชื่อมโยงกับที่นี่

. . . . . . . . .

รีวิวขอทุนและสมัครเรียน
ทำอะไรก่อนหลัง? ยังไงบ้าง?

ภาพรวมสิ่งที่ต้องทำมี 2 ส่วนคือ “สมัครทุนให้ติดก่อน” ถ้าได้รับเลือกแล้วจะต้องไป “สมัครมหาวิทยาลัย” ด้วยตัวเอง (ติดทุน ≠ ติดมหาลัย)

  1. เริ่มจากเช็กข้อมูลว่าปีนี้ ทุน ก.พ. เปิดรับสมัครสาขาอะไรบ้าง อย่างเทรนด์ช่วงนี้มักจะไปทางวิศวะรถไฟ พลังงานทดแทน ปิโตรเคมี ฯลฯ

    ตอนนั้นเราสนใจ “เคมีอนินทรีย์” (Inorganic) ก็ไปเช็กว่ามีหน่วยงาน/มหา’ลัยไหนที่ต้องการคนจบด้านนี้ไปทำงานบ้าง เราจะสมัครได้สูงสุด 3 หน่วย **ตัดสินใจดีๆ เพราะหลังจบเราจะได้เข้าบรรจุเป็นพนักงานเพื่อใช้ทุนตามระยะเวลาที่กำหนด
     
  2. สอบข้อสอบกลางชิงทุน ก.พ. คู่แข่งจะขึ้นอยู่กับว่ารอบนั้น มีผู้สมัครหน่วยทุนนั้นกี่คน สมมติรับ 1 คน แล้วมีคนสอบผ่านเกณฑ์ได้สัก 10 คน เขาก็จะเรียงและคัดเลือกคนที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกเข้ารอบสัมภาษณ์
     
  3. คนที่ผ่านเข้ารอบจะได้สัมภาษณ์พร้อมกัน โดยมีคณะกรรมการหลายคน เช่น จากส่วนกลาง (ก.พ.) นักจิตวิทยา และตัวแทนจากหน่วยงานหรือมหาวิทยาลยัที่เราจะได้บรรจุเข้าทำงานหลังเรียนจบ เป็นต้น
     
  4. ผู้ได้รับเลือกให้ได้รับทุนจะต้องเซ็นสัญญา ซึ่งสัญญาจะยาวมากๆ ต้องอ่านอย่างละเอียดนะคะ จากนั้นเวลาที่เหลือ เราจะต้องไปสมัครมหาวิทยาลัยให้ติดภายในเวลาที่กำหนด (เขาจะไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็น Top U.แต่ต้องเป็นสาขาที่แมตช์กับสิ่งที่เขามองหา)

    ช่วงนี้ทุนก็ไม่ถึงกับปล่อยเคว้งซะทีเดียว ตอนนั้นพี่ได้เงิน 50,000 บาทเหมือนเป็นค่าอัดฉีดให้สมัครมหาลัยติด เราอาจใช้เงินจำนวนนี้ไปสมัครสอบ สอบวัดระดับ ลงคลาสติว สมัครเรียน ฯลฯ บางคนสมัครเป็นสิบที่ก็มี ถ้าจะคุมไม่ให้เกินงบต้องระวังเรื่องค่าสมัครด้วย
     
  5. ตอนสมัคร UPenn หลักๆ มีส่งใบสมัคร, SoP, คะแนน TOEFL iBT เกือบ 100 เกรดประมาณ 3.78 และคะแนน GRE (GRE คือข้อสอบพื้นฐานที่ใช้สมัครศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าสายบริหารจะเป็น GMAT) หลังผ่านรอบข้อเขียน พี่ก็มีสัมภาษณ์ออนไลน์กับอาจารย์อีกค่ะ
     
  6. รอประกาศผลยาวๆ พอติดมหาลัยก็เตรียมเอกสารพร้อมบินไปอเมริกาเลย~

ระเบียบการทุน ก.พ. ปีล่าสุด (ปิดรับสมัครแล้ว) 

https://www.dek-d.com/studyabroad/61508/ 

ข้อมูลการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย
https://www.chem.upenn.edu/graduate/graduate-admissions 

 

. . . . . . . . .

เริ่มชีวิตพาร์ตใหม่ในรั้ว UPenn
หนึ่งใน Ivy League ของอเมริกา!

พี่ชอบการเรียนที่อเมริกาเพราะมีขั้นตอนชัดเจน เช่น

  • สมัครเรียนผ่านระบบกลาง
  • ปีแรกเรียน Coursework ให้ครบหน่วยกิต พร้อมกับสืบจากรุ่นพี่และคุยกับอาจารย์ว่าอยากให้ใครมาเป็น Advisor ให้เราตอนปี 2
  • สอบผ่านขึ้นปี 2
  • สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์
  • พอหัวข้อผ่านแล้วก็ลงมือทำ

เพิ่มเติมจากนี้คือ UPenn จะให้นักศึกษาต่างชาติทุกคนเข้าคอร์สซัมเมอร์ก่อน 1 เดือนครึ่ง ยังไม่ได้เข้าเรื่องวิชาการ แต่จะได้เรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมไปเป็นผู้ช่วยสอน (Teacher Assistant) หรือ TA เพราะหนึ่งในเงื่อนไขการจบคือต้องเป็น TA อย่างน้อย 1 ปี อาจจะเหนื่อยและท้าทายเรื่องการบริหารเวลาแต่เราจะได้ทั้งประสบการณ์และค่าตอบแทน มีเงินใช้เพิ่มจากที่ได้รับจากทุน ก.พ. พอสมควรเลย

จากนั้นล่ะ?

"ชีวิต ป.เอกของพี่จะเหมือนเราเดินเข้าถ้ำ อาจารย์ที่ปรึกษา​ (Advisor) ยื่นไฟฉายติดๆ ดับๆ ให้แล้วยืนตรงปากถ้ำมองเราห่างๆ อย่างห่วงๆ คอยตะโกนบอกว่า “ถูกทางแล้วววว เดินต่อไปอีก” “ไม่ใช่ตรงนั้น ลองเดินย้อนกลับมาใหม่” หรือถ้าเราตกหลุม เขาก็จะบอกให้ “ลุกขึ้น!” ในขณะที่เราต้องพยายามคลำหาทางในความมืดไปเรื่อยๆ"

 

การเรียนที่พี่เจอจะเป็นฟีลช่วยเหลือตัวเองสุดๆ ช่วง 2 ปีแรกพี่เครียดจัดว่าจะเอาอะไรไปสอบจบนะะะ TT ธีสิสที่พี่ทำจะเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยา เช้ามาเริ่มงานด้วยความหวัง เข้าแล็บทำงานจนถึงเย็น (ประมาณ 9:30AM-6:00PM) ทุกวันจะกลับบ้านพร้อมลุ้นว่าสิ่งที่เราทำและตั้งทิ้งไว้ในห้องแล็บข้ามคืน จะต้องมีผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้นแบบที่คาดไว้ แต่เช้าอีกวันมาดู “อ้าว เฟลว่ะ!” เจอเหตุการณ์แบบนี้วนลูปเรื่อยๆ เปลี่ยนหัวข้อมาเป็นสิบ นานเข้าก็ถึงจุดที่ปลง แต่ไม่ได้ยอมแพ้ เราพยายามคิดอะไรที่มัน break the rules ลองฉีกและคิดนอกกรอบ ในที่สุดก็เจอหัวข้อที่เวิร์กตอนปี 3

**ในทุกครั้งไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว เราต้องเขียนรายงานตลอดว่าลองทำอะไรมาบ้างแล้ว ได้ผลลัพธ์แบบไหน พอเรียนจบสมุดเล่มนั้นจบเป็นลิขสิทธิ์ของอาจารย์ที่ปรึกษา

ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าต้องเป็น TA อย่างน้อย 1 ปี ปกติงานจะมีให้ทำตลอดทั้งปีเลย ส่วนใหญ่พี่เลือกดูวิชาแล็บ อาจารย์จะเป็นผู้สอน และเราคือผู้ช่วยที่ดูแลให้เด็กทำแล็บได้อย่างปลอดภัย มีบรีฟแล็บ ตรวจรายงาน ให้คะแนน ฯลฯ ถ้าช่วงไหนเป็น TA จะต้องโฟกัสแค่งานนี้ตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่ถ้าช่วงไหนไม่ได้เป็น TA เราก็จะเข้าสู่วังวนการทำแล็บตามปกติ

ระหว่างเดินเข้าถ้ำ ถือไฟฉายติดๆ ดับๆ
เราจะได้เจอความพร้อมของทรัพยากรในนั้น

อเมริกาเป็นประเทศที่ส่งเสริมการวิจัยมากค่ะ และ Upenn ก็คือมหาลัยที่สตรองสายเคมี บุคลากรมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ในกรุ๊ปวิจัยนึงจะมีนักศึกษาไม่เยอะ และเครื่องมือมี “เกินพอ” สำหรับนักศึกษาทุกคนมีห้องทำงานส่วนตัว โต๊ะประจำในห้องแล็บ มีห้องประชุมให้ใช้ได้ ถ้าอยากใช้เครื่องมืออะไรมีพร้อมหมด ถึงขนาดมีเครื่องแก้วใช้แล้วทิ้ง โดยห้องแล็บเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนจะมีกุญแจที่ไขเข้าได้ทุกห้อง คนมานอนที่แล็บเป็นเรื่องปกติเลย

ถ้าไม่ได้อยากเป็นอาจารย์ การเรียนถึง ป.โท ก็อาจเพียงพอสำหรับที่ไทย แต่ถ้าอยากทำงานสายวิชาการจริงจัง การเรียนต่างประเทศจะช่วยให้เราเปิดโลก เห็นมุมมองที่แตกต่าง สร้างคอนเน็กชันกับคนแวดวงเดียวกัน ส่วนใหญ่ทุนจะสนับสนุนให้เราไปเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการ (Conference) อยู่ตลอดด้วย 

ส่วนตัวพี่เลยรู้สึกคุ้ม เพราะถ้าไม่ได้ทุน อาจจะไม่ได้เข้าเรียนที่นี่ก็ได้ พี่ไปเรียน ป.เอก 5 ปี ก็ต้องใช้ทุน x2 ของระยะเวลาทั้งหมด = 10 ปี พอจบมาก็มาบรรจุเป็นอาจารย์ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตอนนี้กำลังใช้ทุนให้ครบกำหนด

อย่างไรก็ตาม พี่อยากแนะนำให้น้องๆ ติดตามข่าวทุนอื่นๆ เช่น ทุนรัฐบาลประเทศนั้นๆ, ทุนตรงจากมหาวิทยาลัย ทุน ERASMUS+, ทุน Chevening ฯลฯ อาจมีทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนของเราโดยที่ไม่มีข้อผูกมัดหลังเรียนจบค่ะ

Famous red love park in philadelphia
Famous red love park in philadelphia
Image by vwalakte on Freepik

You’re invited!

อ่านจบอยากปรึกษา “พี่ฝ้าย” เรื่องการเรียนต่อหรือขอทุนรัฐบาลไทย เคลียร์คิวมาเจอกันที่งานแฟร์ Dek-D’s Study Abroad Fair ในวันเสาร์ที่ 7 และอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566 ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์ EH98 ภายในงานจะมีบูธปรึกษารุ่นพี่ทุนรัฐบาลไทย, เกาหลี, ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, อินเดีย, Franco-Thai, ERASMUS+, DAAD (เยอรมนี) และพี่คนไทยที่จบคณะแพทย์จาก ม.ฟู่ตั้น ให้ walk-in มาปรึกษาได้ฟรี ใครไม่เคลียร์จดไว้แล้วมาหาคำตอบในงานกัน!

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์

ชวนอ่านต่อ

'นิกกี้' เด็กทุนคิงยุคโควิด & รีวิวหลักสูตร ป.ตรีสุดเจ๋งของ ม.ดังใน Ivy League! (วิทย์คอมพ์+ธุรกิจ)

https://www.dek-d.com/studyabroad/56861/

 

ชีวิตเด็ก Wharton มันส์ดีมั้ย? 'พี่ปอ' เล่าเรื่องเรียน-สังคมสุดหรรษา กับโหมดหางานแสนสาหัส

https://www.dek-d.com/studyabroad/55840/

 

'พีท' แรงบันดาลใจจาก Marvel สู่การคว้าทุน พสวท. ไปเรียนต่อด้านธรณีฯ ที่ California

https://www.dek-d.com/studyabroad/56398/ 

 

รีวิวชีวิตสุดคุ้มของ ‘จี๊ป’ เด็กทุน พสวท.ที่ได้ไปเรียนต่ออเมริกา @Carleton College (ปรับพื้นฐานเข้มมาก!)

https://www.dek-d.com/studyabroad/56256/ 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น