Welcome to our home! สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนครับบ มีใครกำลังอินกับพาร์ตที่ 2 ของซีรีส์ชื่อดังจากอังกฤษอย่าง Bridgerton Season 3 อยู่บ้างครับ? จะพูดว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็น ‘เพชรน้ำหนึ่ง’ ของเน็ตฟลิกซ์เลยก็ย่อมได้ เพราะนอกจากเนื้อหาซีรีส์ที่มีความเข้มข้นครบรสไม่ว่าจะทั้งด้านโรมานซ์หรือดรามาแล้ว ตัวซีรีส์ยังนำเสนอวิถีชีวิตของคนชนชั้นสูงของอังกฤษในยุคสมัยนั้นออกมาได้สมจริงตามประวัติศาสตร์อีกด้วย
ถ้าหากใครได้ติดตามซีรีส์มาก็คงจะสังเกตเห็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ชาวอังกฤษในสมัยนั้นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย การไปร่วมงานสังคม หรือการวางตัวในที่สาธารณะต่างๆ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วน่าอึดอัดใช่มั้ยครับ แต่กลับกันชาวอังกฤษในสมัยนั้นกลับมองว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณงามความดีของตัวบุคคล วันนี้พี่น้ำพุเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหลักการปฏิบัติในการเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านของชาวอังกฤษในสมัยยุครีเจนซี ขอบอกว่าไม่ง่ายเลยกว่าจะเข้าไปเยี่ยมเพื่อนบ้านคนหนึ่งได้! จะมีธรรมเนียมไหนที่เราเคยเห็นจากในซีรีส์บ้าง ตามไปดูกันเลยย~
รู้จักยุครีเจนซี ช่วงเวลาในซีรีส์ Bridgerton
ไทม์ไลน์ของซีรีส์ Bridgerton อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1813-1827 ซึ่งอยู่ในระหว่างยุคที่เรียกว่ายุครีเจนซี (the Regency era) โดยคำว่า Regency นั้นได้มาจากคำว่า Regent หมายถึง การสำเร็จราชการแทน เพราะในช่วงนั้นคือช่วงที่พระเจ้าจอร์จที่ 4 เป็นผู้ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนผู้เป็นพ่ออย่างพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่กำลังทรงพระประชวรอยู่นั่นเองครับ
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของยุคนี้คงหนีไม่พ้นด้านแฟชั่น ตามที่เห็นกันในซีรีส์ว่าเสื้อผ้าแต่ละชุดนั้นได้รับการออกแบบอย่างปราณีตและอลังการ ผู้คนในยุครีเจนซีหันมาให้ความสนใจกับการใส่และถือเครื่องประดับเพื่อเพิ่มกิมมิกให้กับตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น การพกร่ม พัด หรือการสวมถุงมือ
และนอกจากความรุ่งเรืองด้านแฟชั่นแล้ว ยุคนี้ยังโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมและวรรณกรรมอีกด้วยนะ!
การเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านของคนชั้นสูงในสมัยยุครีเจนซี
รู้หรือเปล่าว่าการไปเยี่ยมเพื่อนบ้านในสมัยนั้นไม่ใช่แค่ไปเคาะประตูหน้าบ้านก็เข้าไปได้เลยนะครับ ที่อังกฤษเค้ามีธรรมเนียมการปฏิบัติเรื่องการเยี่ยมบ้าน (Etiquette of the Call) อยู่ด้วย ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าวก็อาจจะถูกมองจากเพื่อนบ้านในทางที่ไม่ดีได้นะ
การเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านของคนอังกฤษในสมัยยุครีเจนซีนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. การไปเยี่ยมแบบเป็นทางการ (Formal Call)
การไปเยี่ยมแบบเป็นทางการถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ชาวรีเจนซีชั้นสูงพึงปฏิบัติและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในสังคมคาดหวังและปฏิบัติต่อกันมา ยกตัวอย่างเช่น การไปเยี่ยมไข้ การไปเยี่ยมคู่สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกัน การไปเยี่ยมเด็กทารกที่เพิ่งเกิด หรือแม้กระทั่งการไปเยี่ยมเพื่อนบ้านเพื่อแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนถือเป็นการแสดงน้ำใจและมิตรภาพต่อเพื่อนบ้าน โดยเวลาที่เหมาะสมแบบเป็นทางการคือช่วงเวลา 15.00 น. - 16.00 น.
2. การไปเยี่ยมเพื่อพบปะสังสรรค์ (Morning Call)
เป็นการไปเยี่ยมที่จะไม่ได้เป็นทางการมากนัก อาจเป็นการเข้าไปพบปะพูดคุยกันเล็กๆ น้อยในระหว่างวันเพื่อผูกมิตร เรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องสบายๆ ทั่วไป ไม่จริงจัง แม้จะเรียกว่า ‘Morning Call’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเยี่ยมนั้นจะเกิดขึ้นในตอนเช้า แต่มักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวัน เนื่องจากคำว่า Morning ในสมัยนั้นสามารถหมายถึงช่วงเวลาก่อนการรับประทานอาหารเย็นได้ด้วย ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการไปเยี่ยมเพื่อพบปะสังสรรค์คือ 13.00 น. - 16.00 น. นั่นเองครับ
นอกจากนี้ยังไม่ควรไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่ไม่ได้สนิทในวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันที่มีไว้ใช้สำหรับการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิทเท่านั้นครับ
‘การ์ด’ คือหัวใจสำคัญในการเยี่ยมเพื่อนบ้าน
นอกจากชาวรีเจนซีจะเดินไปเคาะประตูบ้านสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้แล้ว พวกเขายังไปเยี่ยมบ้านแบบตัวเปล่าไม่ได้ด้วยนะ! สิ่งที่ผู้เยี่ยมต้องพกติดตัวไปด้วยตลอดทุกครั้งคือ การ์ดเยี่ยมบ้าน หรือ Calling Card นั่นเอง
อังกฤษรับธรรมเนียมการใช้การ์ดเยี่ยมบ้านมาจากฝรั่งเศส โดยแต่เดิมใช้กันแต่ในแวดวงของคนชั้นสูงเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แพร่หลายไปตามชนชั้นต่างๆ จนในที่สุดกลายเป็นว่าผู้ที่ใช้การ์ดเยี่ยมบ้านจะถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ทันสมัยในสังคม
การ์ดเยี่ยมบ้านนั้นมีลักษณะคล้ายกับนามบัตรที่เราใช้สำหรับติดต่อธุรกิจในปัจจุบัน เป็นการ์ดสี่เหลี่ยมที่มีหลากหลายขนาดและดีไซน์ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันบนการ์ดทุกใบคือชื่อของเจ้าของการ์ด และอาจมีที่อยู่ของเจ้าของการ์ดใส่ลงไปในนั้นด้วย โดยสามารถเขียนชื่อด้วยทั้งลายมือของเจ้าของชื่อหรือจะพิมพ์ลงไปก็ได้ครับ
ชาวอังกฤษในยุคนั้นแต่ละคนจะมีกล่องสำหรับเก็บการ์ดเยี่ยมบ้านไว้เป็นของตัวเอง ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำกล่องก็มีตั้งแต่เงิน เปเปอร์มาเช่ไปจนถึงงาช้าง ซึ่งวัสดุของกล่องเก็บการ์ดเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือบ่งบอกฐานะของผู้ถือได้ด้วยครับ
ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถพกการ์ดเยี่ยมบ้านติดตัวไว้ได้ แต่จะต่างที่ผู้ชายสามารถมอบการ์ดเยี่ยมบ้านของตัวเองกับทุกคนได้ ส่วนผู้หญิงจะไม่สามารถมอบการ์ดเยี่ยมบ้านของตนกับผู้ชายคนอื่นได้ (ถ้าผู้หญิงคนไหนต้องการให้การ์ดกับผู้ชายคนอื่นจะต้องมีการ์ดของสามีตัวเองแนบไปพร้อมกันด้วย)
Note: ในการดูตัวของหนุ่มสาว หญิงสาวที่ไปดูตัวจะไม่มีการ์ดเป็นของตัวเอง พวกเธอจะเขียนชื่อตัวเองด้วยลายมือไว้ข้างใต้ชื่อของผู้เป็นพ่อหรือแม่บนการ์ดเยี่ยมบ้านแทน
การใช้การ์ดสำหรับเยี่ยมบ้าน
ถ้าหากเราจะเข้าไปเยี่ยมบ้านใคร คนรับใช้ของบ้านนั้นจะออกมาต้อนรับและขอการ์ดเยี่ยมบ้านจากเรา จากนั้นจะได้รับเชิญให้ไปนั่งรอที่ห้องรับแขก (แล้วแต่บ้าน บางบ้านก็ให้รออยู่ในรถม้าหรือบริเวณหน้าบ้าน) ในขณะที่คนรับใช้จะเข้าไปตรวจสอบว่านายท่านหรือนายหญิงของตนอยู่ที่บ้านในขณะนั้นหรือไม่
ในระหว่างนั้นผู้เยี่ยมสามารถมองลงไปในภาชนะบรรจุการ์ดเยี่ยมบ้าน ส่วนใหญ่มักจะเป็นถาดที่ทำจากเงินหรือเซรามิก มักวางไว้บริเวณโถงทางเดินหรือห้องนั่งเล่นให้สังเกตได้ง่ายๆ ในนั้นจะมีการ์ดของผู้เยี่ยมบ้านคนอื่นที่มาเยี่ยมก่อนหน้านั้น โดยจะมีการเรียงการ์ดตามลำดับความสำคัญของคนที่มาเยี่ยมด้วย นั่นหมายความว่าการ์ดของคนที่มียศสูงหรือมีหน้าตาในสังคมก็จะถูกหยิบมาวางไว้ข้างบนกอง ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศเกียรติศักดิ์และสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่มาเยี่ยมว่าเจ้าของบ้านหลังนี้คบค้าสมาคมกับบุคคลมีชื่อเสียงในสังคมนั่นเอง
หลังจากที่คนรับใช้ไปตามตัวเจ้าของบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านยินยอมให้เข้าบ้านได้ พวกเขาก็จะออกมาพบผู้เยี่ยม แต่ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านหรือไม่สะดวกที่จะมาพบ คนรับใช้ของบ้านก็จะออกมาแจ้งและเก็บการ์ดของผู้เยี่ยมบ้านเอาไว้ นอกจากนี้ผู้เยี่ยมสามารถพับมุมการ์ดเอาไว้เพื่อบ่งบอกว่าตนนั้นได้มาเยี่ยมเจ้าของบ้านด้วยตัวเองแล้วด้วยครับ
Note: ชาวรีเจนซีแต่ละคนมักจะกำหนดวันสำหรับการอยู่บ้านเอาไว้เพื่อต้อนรับเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมบ้าน ส่วนใหญ่มักจะกำหนดเอาไว้ในช่วงบ่ายวันหนึ่งของทุกสัปดาห์
การพับมุมการ์ดแต่ละแบบมีความหมายที่แตกต่างกัน
ในการเยี่ยมบ้านแต่ละครั้ง ผู้เยี่ยมสามารถพับมุมใดมุมหนึ่งของการ์ดเยี่ยมบ้านลงเพื่อบ่งบอกถึงจุดประสงค์ของการมาเยี่ยมของตนได้ด้วย ทั้งนี้อาจมีการสลักคำต่างๆ จุดประสงค์ไว้ด้วยเพื่อป้องกันการสับสน
1. พับมุมบนซ้าย ‘Visite’ - มาเยี่ยมแล้ว
ใช้สำหรับการบอกเจ้าของบ้านว่าผู้เยี่ยมได้มาเยี่ยมถึงที่บ้านแล้ว แต่ในขณะนั้นเจ้าของบ้านอาจจะไม่ได้อยู่บ้านหรือไม่สะดวกที่จะออกมาต้อนรับ
2. พับมุมบนขวา ‘Felicitation’ - ขอแสดงความยินดี
ใช้สำหรับการอวยพรหรือแสดงความยินดีแก่เจ้าของบ้าน อาจเป็นการแสดงความยินดีในการแต่งงานที่เกิดขึ้น การให้กำเนิดเด็กทารก หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องน่ายินดีก็ได้เช่นกันครับ
3. พับมุมซ้ายล่าง ‘Conge’ - ลาก่อน
ใช้สำหรับการบอกลา กรณีที่เจ้าของการ์ดต้องเดินทางออกจากเมืองไปทำธุระเป็นเวลานานหรือแม้กระทั่งย้ายถิ่นที่อยู่
4. พับมุมขวาล่าง ‘Condolence’ - ขอแสดงความเสียใจ
ใช้สำหรับการแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือแม้กระทั่งการสูญเสียทางการเงิน ล้วนแล้วแต่สามารถใช้การพับมุมแบบนี้ได้ทั้งหมดเลยครับ
ส่งการ์ดเยี่ยมมาก็ต้องไปเยี่ยมกลับ
การแวะมาส่งการ์ดไม่ได้บ่งบอกแค่ว่าผู้เยี่ยมได้แวะมาที่บ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการบอกอีกว่าผู้เยี่ยมต้องการให้เจ้าของบ้านไปเยี่ยมตนกลับที่บ้านบ้าง
ตามหลักปฏิบัติแล้ว เจ้าของบ้านที่ได้รับการ์ดจากแขกที่มาเยี่ยม ก็ควรจะไปเยี่ยมกลับอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยปกติมักจะเป็นวันถัดไปหลังจากได้รับการ์ดเยี่ยมบ้าน และไม่ควรรอนานเกินหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าหากผู้ที่มาเยี่ยมเป็นคนที่เจ้าของบ้านไม่ได้รู้จักด้วยหรือไม่ต้องการจะสนิทด้วย เจ้าของบ้านสามารถส่งเพียงแค่การ์ดเยี่ยมบ้านของตนกลับไปแทนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ถ้าเจ้าของบ้านไม่ไปเยี่ยมหรือส่งการ์ดกลับไปให้ อาจจะถือเป็นการเสียมารยาทร้ายแรงต่อผู้ที่มาเยี่ยมได้นะครับ!
กิจกรรมที่ทำเมื่อเข้าไปเยี่ยมบ้าน
หลังจากที่ผ่านปราการก่อนเข้าเยี่ยมบ้านสุดหินมาได้แล้ว สิ่งที่ชาวรีเจนซีทุกคนต้องพึงระวังไว้อีกอย่างคือการปฏิบัติตัวในบ้าน และเพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าการเยี่ยมบ้านในแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันไปตามในแบบผู้หญิงและผู้ชายอีกด้วยครับ
หากการเยี่ยมในครั้งนั้นมีแต่ผู้ชาย พวกเขาจะเข้าไปสนทนากันในห้องทำงานหรือไม่ก็ห้องสมุด ซึ่งหัวข้อที่พูดคุยก็มักจะเป็นเรื่องธุรกิจ การทำงาน สุนัข การขี่ม้า หรือการล่าสัตว์ ในมือของพวกเขาจะต้องหยิบจับหนังสือหรือหนังสือพิมพ์สักเล่มเอาไว้อ่านระหว่างการสนทนาด้วย
ในขณะที่ถ้าการเยี่ยมบ้านในครั้งนั้นมีแต่ผู้หญิง พวกเธอจะรวมตัวกันที่ห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก ในมือจะจดจ่อกับการทำงานฝีมือเย็บปักถักร้อย หัวข้อสนทนาของกลุ่มผู้หญิงนั้นมีหลากหลายตั้งแต่เรื่องสภาพอากาศ สุขภาพของคนในครอบครัว แฟชั่น หรือแม้กระทั่งการนั่งจับกลุ่มนินทาเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ก็มีนะ!
ข้อปฏิบัติน่ารู้เมื่อเข้าไปเยี่ยมในบ้าน
1. ห้ามสาวโสดไปเยี่ยมบ้านผู้ชายตัวคนเดียวเด็ดขาด
ชาวอังกฤษในสมัยนั้นให้ความสนใจและระมัดระวังมากๆ เมื่อหนุ่มสาวที่ไม่ได้แต่งงานกันใช้เวลาอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ดังนั้นจึงมีเพียงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้นที่จะเข้าไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชายได้และทุกครั้งที่ไปต้องนำการ์ดเยี่ยมบ้านของสามีตัวเองติดตัวไปด้วยเสมอ หากสาวโสดคนไหนอยากจะเข้าไปเยี่ยมชายหนุ่มก็ต้องให้มีพ่อหรือแม่ของตนไปเป็นเพื่อนด้วย
2. กลับเร็วไปก็ไม่ดี อยู่นานไปก็ดูแย่
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 15-20 นาที หากอยู่น้อยหรือนานกว่านั้นอาจถูกมองว่าเป็นการเสียมารยาทได้ เนื่องจากชาวรีเจนซีถือว่าเวลา 20 นาทีนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทักทายและพูดคุยในหัวข้อประจำวันทั่วไปครับ
3. ถ้าแขกคนอื่นมา ต้องขอตัวกลับทันที
ในขณะที่กำลังเยี่ยมเพื่อนบ้าน หากในขณะนั้นมีแขกคนอื่นเข้ามาเยี่ยม ผู้ที่กำลังเยี่ยมอยู่ในบ้านต้องเป็นฝ่ายขอตัวกลับก่อนทันที และต้องระวังการใช้คำพูดและวิธีการที่ทำให้ดูไม่เสียมารยาท ที่สำคัญคือต้องทำเหมือนว่าแขกที่เข้ามาใหม่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตนต้องขอตัวกลับก่อนด้วยนะครับ เรียกว่าจะทำอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก!
4. ห้ามน้องหมาและเด็กเล็กเข้าไปในบ้านด้วย
เพราะสุนัขและเด็กไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ดังนั้นแล้วชาวรีเจนซีจึงถือธรรมเนียมที่ว่าไม่ควรเข้าไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่ไม่สนิทพร้อมกับสัตว์เลี้ยงหรือลูกหลานของตน เนื่องจากทั้งเด็กๆ และน้องหมาอาจสร้างความรำคาญให้กับคนในบ้านหรือสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้านได้ เว้นเสียแต่ว่าเด็กเล็กคนนั้นถูกอบรบสั่งสอนมาเป็นอย่างดีจึงจะสามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนบ้านพร้อมกับพ่อแม่ได้ ส่วนเด็กคนอื่นๆ อาจถูกให้รออยู่ในรถม้าจนกว่าพ่อแม่จะทำการเยี่ยมเพื่อนบ้านเสร็จครับ
5. แต่งตัวได้แต่พองาม อย่าให้เยอะเกินไป
การแต่งกายในการไปเยี่ยมเพื่อนบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ ชุดที่สวมใส่จะต้องเรียบร้อยสุภาพและต้องแตกต่างจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ในช่วงเวลาปกติ ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมไหล่และหมวกบอนเน็ตไว้ตลอดเวลาที่เยี่ยมบ้าน และที่สำคัญคือผู้เยี่ยมควรแต่งตัวแบบเรียบๆ พอดี ไม่ฉูดฉาดหรืออลังการเกินไป หากแต่งตัวเด่นเกินเจ้าของบ้านอาจจะดูไม่ดีเอาได้น้า
ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลยกว่าที่ชาวรีเจนซีจะเข้าไปเยี่ยมเพื่อนบ้านในแต่ละครั้งได้ บางคนถึงกับตัดความสัมพันธ์และมิตรภาพจากการไม่ไปเยี่ยมหรือไม่ส่งการ์ดเยี่ยมกลับเลยก็มีนะครับ!
ตอนนี้คงจะเห็นภาพกันมากขึ้นแล้วว่าการใช้ชีวิตเป็นชาวรีเจนซีในยุค Bridgerton นั้นไม่ได้เว่อร์วังหรือหรูหราไปเสียทั้งหมด และกลุ่มคนที่ดูจะลำบากที่สุดภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้น ‘ผู้หญิง’ เนื่องจากกฎหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในสมัยนั้นล้วนสร้างมาโดยและเพื่อผู้ชายเป็นหลักนั่นเองครับ
นอกจากธรรมเนียมเรื่องการเยี่ยมบ้านสุดแสนจะยากของชาวรีเจนซีแล้ว เชื่อว่ายังมีข้อปฏิบัติและธรรมเนียมอีกหลายอันเลยที่ถูกหยิบยกมาแสดงในสื่อปัจจุบัน ถ้าหากใครที่สังเกตเห็นข้อปฏิบัติแปลกๆ จากซีรีส์ Bridgerton หรือเรื่องอื่นๆ ก็อย่าลืมเอามาแชร์กันน้า ~
0 ความคิดเห็น