เรียนฟรี ชีวิตดีมาก! เปิด 10 เหตุผลเจ๋งๆ ของการเรียนต่อ ‘เยอรมนี’ มีดียังไงบ้าง?

Hallo! สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน หลายคนที่สนใจอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรป น่าจะมีประเทศที่ระบบการศึกษาดีติดอันดับโลกอย่าง ‘เยอรมนี’ เก็บไว้อยู่ในใจกันบ้างแน่ๆ  

วันก่อนพี่น้ำพุได้มีโอกาสไปรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการหาแนวทางในการศึกษาต่อในประเทศเยอรมนีกับบุคลากรจากองค์กรแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมันประจำประเทศไทยหรือที่รู้จักกันในชื่อ DAAD Thailand และได้เรียนรู้และอัปเดตข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาหลายประเด็น วันนี้พี่เลยขอสรุป 10 ข้อดีพร้อมพาเปิดเหตุผลว่าทำไมนักเรียนต่างชาติจึงนิยมเรียนต่อที่เยอรมนี จะมีเรื่องอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง ตามไปดูกันเลยดีกว่า~

1.ค่าเรียนถูก บางมหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียค่าเทอม!

Credit:
Credit: unsplash

ต้องบอกว่าเยอรมนีเค้าให้ความสำคัญกับโอกาสทางการศึกษามากๆ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยรัฐส่วนใหญ่ของที่นี่มีนโยบายไม่เรียกเก็บค่าเทอม (Tuition Fee) ทั้งจากนักเรียนในประเทศและนักเรียนต่างชาติ แต่ปัจจุบันในบางรัฐเช่น Baden-Württemberg รวมถึงมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Technical University of Munich ได้เปลี่ยนมาเก็บค่าเทอมแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม ทุกมหาวิทยาลัยจะเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่เรียกว่า Semesterbeitrag ประมาณ 150-400 ยูโร (≈ 5900-15,700 บาท) ต่อภาคการศึกษา ซึ่งก็ถือเป็นราคาที่เอื้อมถึงได้มากกว่าถ้าเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ ในยุโรป แถมยังได้การศึกษาที่ได้มาตรฐานและเปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพอีกด้วยครับ

Note: 

- อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ยูโร = 39.35 บาท (14 มิ.ย. 2024)

- หากเรียนต่อมหาวิทยาลัยเอกชนจะมีค่าเทอม

2. เป็นนักเรียนเยอรมัน ได้รับสิทธิ์ปังๆ เพียบ!

Credit:
Credit: Daniel Delang / TUM

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่าทุกมหาวิทยาลัยจะเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษากับนักเรียนทุกคน โดยเงินที่เราจ่ายไปก็ไม่ได้ไปไหนไกลเลย เพราะสุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นสิทธิประโยชน์ของนักเรียนเองนี่แหละครับ เพราะเมื่อเราได้ชำระค่าบำรุงการศึกษา นั่นก็คือการรองรับสถานะการเป็นนักเรียนนั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้นเราจะได้รับบัตรสำหรับนักศึกษาที่สามารถใช้ขึ้นขนส่งสาธารณะในเยอรมนีได้ฟรีตลอดการเรียนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถไฟฟ้า หรือการโดยสารรูปแบบใดก็ตาม 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Facilities ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้อย่างครบครัน และบัตรนี้ยังใช้เพื่อรับส่วนลดค่าอาหารในราคาที่ถูกกว่า หรือจะเข้าชมสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีในราคาที่ย่อมเยาได้อีกด้วย เหมาะสำหรับคนที่ชอบเรียนไปเที่ยวไปสุดๆ

3. มหาวิทยาลัยที่ดีสุดในเยอรมนี = มหาวิทยาลัยที่เราสนใจ

Credit:
Credit: unsplash

ต้องบอกว่าที่เยอรมนีนั้นแทบจะไม่ได้ให้ความสนใจกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเลยครับ เพราะเค้าถือว่าสถาบันการศึกษาทุกแห่งในประเทศนั้นมีคุณภาพเท่าเทียมและมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่จะไม่เลือกที่เรียนจากชื่อของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่จะเลือกตามหลักสูตรที่ตนเองสนใจ รวมถึงสภาพแวดล้อม หรือเมืองที่พวกเขาต้องการจะไปใช้ชีวิตอยู่อาศัยในขณะเรียนมากกว่า

Tips: มหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโดยรัฐบาล สังเกตได้จากคำว่า GAC (German Accreditation Council) หรือ accredited by the Science Council (Wissenschaftsrat)

4. ไม่ได้ภาษาเยอรมันก็เรียนได้!

Credit:
Credit: unsplash

ใครที่ไม่มีพื้นฐานภาษาเยอรมันมาก่อน หรือสื่อสารได้แค่ระดับพื้นฐานก็ไม่ต้องกังวลไปครับ  เพราะว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีหลักสูตรนานาชาติที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักด้วย โดยทั่วไปแล้วหลักสูตรเหล่านี้มักจะขอผลวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษขั้นต่ำที่ IELTS 6 หรือ TOEFL 80 เท่านั้น! แถมหลายหลายหลักสูตรก็ครอบคลุมอยู่ในทุน DAAD (EPOS) ซึ่งมีโควตาเรียนฟรีสำหรับคนไทยอีกด้วย~  

 5. วุฒิ ป.ตรี จากไทย ใช้เรียนต่อ ป.โท ได้เลย!

Credit: unsplash
Credit: unsplash

สำหรับใครที่เล็งว่าจะไปต่อปริญญา.โทที่เยอรมนี ก็ขอบอกเลยว่าทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะถ้าสาขาที่เราสนใจเรียนต่อนั้นตรงกับสาขาที่เราจบปริญญา.ตรีมาก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก! เพราะวุฒิของไทยเรานั้นเทียบเท่ากับของเยอรมนีอยู่แล้ว อย่างในตอนสมัครเรียนทางมหาวิทยาลัยก็จะเช็กว่าหลักสูตรป.ตรีที่เราเรียนจบมานั้นมีรายวิชาและที่ไปในทิศทางเดียวกับป.โทของคณะหรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์ก็สามารถสมัครเรียนได้ตามปกติเลย ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาไปลงเรียนปรับพื้นฐานเพิ่มเติมด้วยครับ  

6. ค่าครองชีพไม่ได้สูงอย่างที่คิด!

Credit:
Credit: unsplash

หลายคนอาจคิดว่าการเรียนต่อต่างประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายสูงแน่ๆ ไหนจะค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฯลฯ แต่ขอบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าครองชีพของเยอรมนีกับประเทศอื่นในยุโรปแล้ว  ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 900 - 1800 ยูโร (≈ 35,400 - 70,800 บาท) ซึ่งจะแตกต่างไปตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน รวมถึงเมืองที่เลือกไปเรียนต่อด้วย หากใครอยากจะประหยัดเงินเพิ่มก็สามารถทำอาหารกินเองได้หรือลองหาที่พักราคาถูกอย่างเช่น WG หรือ Flatshare ที่นักเรียนต่างชาตินิยมอาศัยอยู่ด้วยกัน นอกจากจะช่วยเซฟงบค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้ทำความรู้จักเพื่อนจากทั่วโลกอีกด้วยนะ!

7. ตอบโจทย์เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย

Credit:
Credit: unsplash

นอกจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากของเยอรมนีไม่เก็บค่าเทอมแล้ว กฎหมายยังอนุญาตให้นักเรียนต่างชาติทุกคนที่ลงทะเบียนเรียนสำเร็จสามารถทำงานพิเศษ (part-time job) แบบเต็มวันได้สูงสุด 140 วันต่อปี หรือถ้าอยากจะทำงานแค่ครึ่งวันก็จะทำได้ถึง 280 วันต่อปี! 

นอกจากนี้คือการทำงานที่เยอรมนี ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงาน หรือหากต้องการทำงานพิเศษในรั้วของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเรียน เช่น เป็นผู้ช่วยนักวิจัยหรือคนทำเอกสารต่างๆ ของแคมปัส ก็สามารถทำได้แบบไม่จำกัดเวลาเลยครับ

Note:

การฝึกงานในประเทศเยอรมนีจะถือว่าเป็นการทำงานพิเศษไปด้วย และถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างจากที่ฝึกงาน ชั่วโมงในการทำงานต่อปีก็ต้องถูกหักออกไปจากการฝึกงานของนักเรียนด้วย

8. เรียนจบแล้วอยู่ทำงานต่อได้อีก!

Credit:
Credit: unsplash

คนไหนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนีและอยากทำงานต่อก็สามารถทำได้ ผ่านการขอวีซ่าเพื่ออยู่หางานทำ (Job Seeker Visa) ที่จะอนุญาตให้เราหางานในเยอรมนีต่อไปได้อีก 18 เดือน ยิ่งไปกว่านั้นคือภายในระยะเวลาดังกล่าว เราสามารถทำงานพิเศษไปด้วย และหากเราได้งานที่ตรงกับสายที่เราเรียนมาในมหาวิทยาลัยและทำสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบวีซ่าไปเป็นวีซ่าทำงาน เพื่ออยู่ทำงานที่นั่นต่อได้อีกยาวๆ เลย~

9. หาข้อมูลสมัครเรียนง่ายด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งเอเจนซี

Credit:
Credit: unsplash

หลายคนอาจกลัวการสมัครเรียนหรือการหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพราะคิดว่าข้อมูลต่างๆ ในเว็บของต่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากใช่ไหมครับ แต่กลับกันเว็บไซต์มหาวิทยาลัยต่างๆ ของเยอรมนีส่วนใหญ่นั้นออกแบบมาได้เป็นอย่างดีและมีระเบียบ ข้อมูลส่วนต่างๆ ถูกจัดไว้เป็นระบบ ใครที่พอจะเข้าใจภาษาอังกฤษนิดหน่อยก็สามารถหาอ่านข้อมูลการสมัครเรียนเอาเองได้ไม่ยากครับ

ส่วนใครที่จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าต้องเริ่มยังไง พี่ก็ขอแนะนำเว็บ www.myguide.de ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำคัญ ช่วยให้ทุกคนได้เริ่มค้นหาจุดหมายทางการศึกษาที่กันได้ง่ายๆ เพียงแค่กรอกคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับสาขาที่เราอยากเรียน เว็บไซต์เค้าก็จะแสดงผลหลักสูตรที่เปิดสอน เป็นการนำทางให้เราไปอ่านรายละเอียดในเว็บมหาวิทยาลัยนั้นๆ (ถ้าใครไม่ถนัดภาษาเยอรมัน สามารถเปลี่ยนการแสดงผลเป็นภาษาอังกฤษได้โดยคลิกเมนูมุมขวาบน แล้วเปลี่ยนจาก DE เป็น EN)

10. มีทุนการศึกษาแจกให้เพียบ~

Credit:
Credit: unsplash

ปิดท้ายที่เหตุผลปังๆ อย่างเรื่อง ‘ทุนการศึกษา’ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเรียนต่อ นั่นก็คือ DAAD Scholarships ซึ่งเป็นทุนที่ทางรัฐบาลเยอรมนีเค้าแจกไม่อั้นในทุกปีและมีโควตาให้คนไทยด้วย! โดยในไทยก็จะหน่วยงาน DAAD Thailand หรือองค์กรแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน (DAAD) คอยดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทุนนี้นั่นเองครับ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทุนระดับปริญญาโทขึ้นไป ส่วนในระดับปริญญาตรี เค้าก็จะมีทุนเพื่อการศึกษาดูงาน (Study Visit) และทุนสำหรับการไปเรียนคอร์สภาษาเยอรมันระยะสั้นให้แทน หรืออาจเช็กรายละเอียดทุนจากมหาวิทยาลัยโดยตรงก็ได้เช่นกันครับ 

ตัวอย่างทุน

Development-Related Postgraduate Courses (EPOS) ระดับ ป.โท/เอก

  • ระยะเวลารับทุน: 12 - 24 เดือนสำหรับหลักสูตร ป.โท และ 42 เดือนสำหรับหลักสูตร ป.เอก
  • สามารถสมัครได้สูงสุด 3 หลักสูตร โดยต้องจัดอันดับโปรแกรมที่ต้องการเรียนต่อให้เรียบร้อย
  • ต้องยื่นเอกสารการสมัครไปที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ภายในวันปิดรับสมัครของแต่ละที่
  • มูลค่าทุน: ยกเว้นค่าเล่าเรียน, ค่าใช้จ่ายรายเดือน, ค่าประกันสุขภาพ, ประกันอุบัติเหตุ และประกันอื่นๆ, ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ รวมถึงอาจได้รับค่าที่พักและค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ติดตามมาด้วย
  • ศึกษารายละเอียดของปี 2025/2026 คลิกที่นี่เลย

Helmut-Schmidt-Programme เรียนต่อ ป.โท สาขา Public Policy and Good Governance

  • ทุนการศึกษาที่รัฐบาลเยอรมนีมอบให้กับชาวต่างชาติ เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล (Public Policy and Good Governance) ณ มหาวิทยาลัยในสหพันธรัฐเยอรมนี
  • สามารถเลือกสมัครทุนได้สูงสุด 2 หลักสูตร จากทั้งหมด 7 หลักสูตร/มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม (ส่วนใหญ่สอนเป็นภาษาอังกฤษ)
  • มูลค่าทุน: ยกเว้นค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพรายเดือน ประกันสุขภาพ ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เงินสนับสนุนในการเรียนและทำวิจัย ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว (ถ้ามี) คอร์สเรียนภาษาเยอรมนีสูงสุด 4 เดือนค่า Sur Place rate สำหรับผู้ที่เรียนหลักสูตร Social Protection
  • ศึกษารายละเอียดของปี 2025 คลิกที่นี่เลย

Note:

หากใครสนใจทุน DAAD สำหรับนักเรียนไทยสามารถดูได้ที่

www.daad.or.th/scholarships

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นๆ ในเยอรมนีอีกมากมายที่พร้อมมอบทุนให้กับนักเรียนจากประเทศไทย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.funding-guide.de

...............

เป็นยังไงกันบ้างครับ แต่ละข้อดีที่เลือกมานั้นปังไม่ไหว ทำเอาอยากเก็บกระเป๋าบินไปเรียนที่เยอรมนีกันเลยเนอะ~ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจมากๆ สำหรับคนที่อยากลงทุนในด้านการศึกษาและเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองได้เปิดโลกกว้างในการเรียนต่อต่างประเทศ 

สุดท้ายนี้ทาง Dek-D ต้องขอขอบคุณพี่ๆ จาก DAAD Thailand ที่ได้มาให้ข้อมูลแบบเจาะลึกและแบ่งปันเคล็ดลับเกี่ยวกับการศึกษาต่อในประเทศเยอรมนีด้วยครับ

หากใครสนใจเกี่ยวกับทุน การศึกษาต่อในประเทศเยอรมนี หรืออยากปรึกษาข้อมูลกับทาง DAAD Thailand ก็สามารถติดต่อผ่านช่องทางด้านล่างเหล่านี้ได้เลยครับ

………..

สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D" 

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น