เพิ่งรู้นะเนี่ย! ส่องวรรณกรรม 9 เรื่องดังที่ Taylor Swift ใช้อ้างอิงในเพลงฮิต

Oh, hi ชาว Dek-D ทุกคนนน! ใครเป็นชาวสวิฟตี้* และสนใจวรรณกรรมด้วย ต้องห้ามพลาดบทความนี้เลย หลังจากรอบที่แล้ว พี่ธันได้พาทุกคนไปรู้จัก Swiftology ซึ่งเป็นวิชาเรียนเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ ผ่านตัวเทย์เลอร์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกเปิดสอน วันนี้พี่ก็ขอพาทุกคนไปรู้จักกับวรรณกรรมและบทละครต่างๆ ของกวี 9 ท่านที่เทย์เลอร์ใช้อ้างอิงในบทเพลงของเธอ

แต่ก่อนที่เจอไปเริ่มต้องขออวยว่าเทย์เลอร์เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ภาษาเก่งมากๆ มีลูกเล่นเต็มไปหมด ความหมายแฝงก็เพียบ มีการหยิบเอาผลงานชิ้นโบว์แดงของนักเขียนในอดีตหลายท่านมาปรับใช้กับเนื้อเพลงของเธอได้อย่างลงตัว วันนี้จะมีงานชิ้นไหนที่เรารู้จักบ้าง เกี่ยวกับเพลงของเทย์ยังไง ไปดูกันเลย~~

*สวิฟตี้ (Swifties) คือชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับจากทั่วโลกของ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ (Taylor Swift) นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน

Credit: GIPHY
Credit: GIPHY

1. The Great Gatsby – F. Scott Fitzgerald

เริ่มต้นกันที่วรรณกรรม ‘The Great Gatsby’ จากปลายปากกาของ F. Scott Fitzgerald ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง เชื่อว่าน้องๆ อาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างกับเวอร์ชันปี 2012 ที่นำแสดงโดยพระเอกฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Leonardo DiCaprio 

หรือบางคนก็อาจจะคุ้นจากมีมนี้ครับ

Credit: Know Your Meme
Credit: Know Your Meme

สำหรับวรรณกรรม ‘The Great Gatsby’ จะพาไปติดตามชีวิตของ ‘Jay Gatsby’ เศรษฐีหนุ่มลึกลับที่หลงใหลหญิงโฉมงาม ‘Daisy Buchanan’ ผู้อยู่เกินเอื้อมมือของเขา // เนื้อเรื่องจะดำเนินผ่านมุมมองของชายอีกคนที่ชื่อว่า Nick Carraway ซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในละแวกนั้น ผ่านเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความฝันที่ไม่เป็นจริงและการจมอยู่กับอดีต

นอกจากเนื้อเรื่องที่สนุกแล้ว นิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนสภาพสังคมอเมริกันในยุค 1920s ผ่านประเด็นต่างๆ เช่น ความร่ำรวย ความรัก การหลอกลวง และอิทธิพลด้านลบของฝันอเมริกัน (American Dream) นอกเหนือจากนั้นนิยายยังพูดถึงสังคมที่หมกมุ่นกับความมั่งคั่งและความไม่จริงใจ อีกด้วย

“This is Why We Can’t Have Nice Things”

จากอัลบั้ม Reputation (2017)

It was so nice throwing big parties 

Jump into the pool from the balcony

Everyone swimming in champagne sea

And there are no rules when you show up here

Bass beat rattling the chandelier

Feeling so Gatsby for that whole year

เนื้อเพลงท่อนนี้บรรยายลักษณะของตัวละคร Jay Gatsby ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าตัวเขาเป็นคนรักสนุกเกินสมควรและเขามักจัดงานเลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง 

“happiness”

จากอัลบั้ม evermore (2020)

I hope she’ll be a beautiful fool 

Who takes my spot next to you

ท่อนนี้พูดถึง Daisy ที่สะท้อนถึงความคิดของเธอว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้หญิงสามารถเป็นได้ก็แค่ “คนสวยที่โง่เขลา”

Honey, when I’m above the trees 

I see this for what it is 

ในนิยาย Gatsby พูดถึง “secret place above the trees” ที่จริงๆ เปรียบเทียบถึงความสุขที่เขาจะได้รับเมื่อเขาได้ไต่เต้าบันไดทางสังคมและแต่งงานกับ Daisy แล้ว

...........

2. A Tale of Two Cities – Charles Dickens

“Getaway Car” 

จากอัลบั้ม Reputation (2017)

It was the best of times, the worst of crimes

เปิดมากับท่อนแรกของเพลงเทย์เลอร์ก็สอดแทรกผลงานชื่อดังของกวีเอกอย่าง ‘Charles Dickens’ เข้ามาทันที ซึ่งดัดแปลงมาจากบทกวีเต็มที่ว่า

“It was the best of times, it was the worst of times, it was the age of wisdom, it was the age of foolishness, it was the epoch of belief, it was the epoch of incredulity, it was the season of light, it was the season of darkness, it was the spring of hope, it was the winter of despair.”

ความโดดเด่นของบทกวีท่อนนี้ก็คือการเน้นย้ำถึงความย้อนแย้งและความไม่สงบสุขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเนื้อเรื่องจะพูดถึงเหตุการณ์ก่อน "การปฏิวัติฝรั่งเศส" (The French Revolution) ที่ชนชั้นกษัตริย์ถูกล้มล้าง แต่ภายหลังก็ตามมาด้วย "ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (The Reign of Terror) ไม่ได้สงบสุขเหมือนที่ใครฝันไว้

แล้วเทย์เลอร์ก็นำมาบทกวีนี้มาเปรียบเปรยกับชีวิตรักช่วงหนึ่งของเธอ เพื่อให้เห็นว่ามันช่างสับสนวุ่นวายไม่ต่างจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเลยครับ!

...........

3. The Scarlet Letter – Nathaniel Hawthorne

นวนิยายจากปลายปากกาของ ‘Nathaniel Hawthorne’ ที่ตีพิมพ์ในปี 1850 แต่ทว่าเนื้อเรื่องนั้นเกิดขึ้น 200 ปีก่อนหน้าหรือในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยเล่าถึง ‘Hester Prynne’ หญิงสาวที่ถูกผู้คนในเมืองประณามว่าเธอเป็นชู้ ทำให้เธอต้องสวมเสื้อที่ปักตัวอักษร 'A' สีแดงสดไว้ที่ด้านหน้า

“New Romantics”

จากอัลบั้ม 1989 (2014)

We show off our different scarlet letters 

Trust me, mine is better

เนื้อเพลงท่อนนี้เทย์ต้องการจะสื่อว่า “ทุกคนมีอดีตของตนเอง และทำไมเราถึงต้องหาเหตุผลมาอธิบายความไม่สมบูรณ์แบบของเราล่ะ?”

...........

4. “The Rime of the Ancient Mariner” – Samuel Taylor Coleridge

อัลบั้มล่าสุดอย่าง The Tortured Poets Department ได้นำหนึ่งในบทกวีอันโด่งดังของ ‘Coleridge’ อย่าง ‘The Rime of the Ancient Mariner’ มาอ้างอิง ซึ่งตัวบทประพันธ์นี้ก็เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า ‘An albatross around one’s neck’ หมายถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกหนักใจและไม่สามารถดำเนินชีวิตไปต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หน้าที่ หนี้สิน หรือความผิดพลาดในอดีต

“The Albatross”

จากอัลบั้ม The Tortured Poets Department (2024)

She’s the albatross 

She is here to destroy you

และ

I’m the albatross

I swept in at the rescue

The devil that you know 

Looks now more like an angel

‘Albatross’ เป็นนกชนิดหนึ่ง ซึ่งในทางวรรณกรรมใช้เปรียบเทียบถึงความยากลำบาก

ในบทกวีของ Coleridge กะลาสีเรือคนหนึ่งพลาดเป้าไปยิงนก Albatross เข้า เขารู้สึกผิดอย่างมหันต์ ทำให้ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อลบล้างความผิด และลงโทษตัวเองโดยการห้อยนกตัวนั้นไว้ที่คอของเขา เทย์เลอร์เปรียบเทียบนกชนิดนี้กับตัวเธอ โดยมองว่าตัวเองเป็นทั้งเหยื่อและต้นเหตุของความโชคร้าย

...........

5. Peter Pan – J.M. Barrie

‘Peter Pan’ นับเป็นวรรณกรรมที่ปรากฏในเพลงของเทย์เลอร์อยู่บ่อยครั้ง เดี๋ยวพี่ธันจะพาไปเริ่มต้นที่เพลงในอัลบั้ม folklore กันครับ

“Cardigan”

จากอัลบั้ม folklore (2020)

Tried to change the ending

Peter losing Wendy

ในบทเพลงที่เศร้าสร้อยอย่าง Cardigan เทย์เลอร์กล่าวถึงความรักและความทรงจำที่เลือนหายไป โดยเปรียบเปรยถึงตอนที่ปีเตอร์ (Peter) อ้อนวอนให้เวนดี้ (Wendy) อยู่ในดินแดน Neverland กับเขาต่อไป แต่สุดท้ายเวนดี้ก็ตัดสินใจทิ้งปีเตอร์ไว้ และแยกย้ายไปเติบโตมีชีวิตเป็นของตัวเอง

“Peter”

จากอัลบั้ม The Tortured Poets Department (2024)

ในเรื่อง Peter Pan เวนดี้เฝ้าคอยปีเตอร์อยู่เสมอ เพราะเขาสัญญาว่าจะกลับมาหาเธอปีละครั้ง แต่แล้วคำสัญญานั้นก็ค่อยๆ ถูกลบเลือนตามกาลเวลา ปีเตอร์กลับมาเยี่ยมเธอน้อยลงเรื่อยๆ จนเวนดี้เติบโตและแต่งงานกับชายอื่นในที่สุด

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของนักร้องสาว เพราะครั้งหนึ่งอดีตคนรักของเทย์เลอร์ ก็เคยสัญญาว่าจะกลับมาหาเธอเมื่อพร้อมอยู่ในความสัมพันธ์ที่จริงจัง ดั่งเนื้อเพลง Peter ท่อนหนึ่งที่ว่า 

We said it was just goodbye for now.

แต่สุดท้ายเขาก็ไม่กลับมา ไม่ต่างจากเวนดี้ที่รอคอยปีเตอร์อย่างเศร้าสร้อยเลยครับ TT

The boy who wouldn’t grow up

...........

6. Jane Eyre – Charlotte Brontë

อีกเพลงจากอัลบั้ม folklore ที่อ้างอิงถึงผลงานสุดคลาสสิกของหนึ่งในสามพี่น้องนักเขียน Charlotte Brontë อย่าง Jane Eyre ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

วรรณกรรมเรื่องนี้พูดถึงชีวิตของ Jane Eyre เด็กหญิงที่ต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบาก หลังจากพ่อแม่ของเธอลาลับจากโลกใบนี้ไป เมื่อเรียนจบเธอเริ่มงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่คฤหาสน์ของ Mr. Rochester ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน ทว่าวันนึ่ง Jane กลับค้นพบความลับสุดดำมืดของนายจ้าง ที่ทำเอาเธอต้องหนีจากเขาไปให้ไกล และไปอาศัยอยู่กับบาทหลวงหนุ่มคนหนึ่งครับ ในที่สุดบาทหลวงก็ขอเธอแต่งงาน แต่ Jane ตัดสินใจกลับไปหา Mr. Rochester อีกครั้งเพราะเธอยังลืมเขาไม่ได้

“invisible string”

จากอัลบั้ม folklore (2020)

One single thread of gold 

Tied me to you

ไม่เพียงแค่เนื้อเพลง ชื่อเพลงนั้นก็ทำให้ใครหลายคนนึกถึงบทสารภาพรักของ Mr. Rochester ในนิยายเช่นกัน ซึ่งเขาบอกกับ Jane ว่า “I had a strange feeling with regard to you: as if I had a string somewhere under my left ribs, tightly knotted to a similar string in you.” ซึ่งเทย์เลอร์ได้ใช้สื่อถึงโชคชะตาที่นำพาคนสองคนให้มาพบกัน ราวกับมีเส้นด้ายคอยยึดเหนี่ยวเอาไว้

...........

7. “The Road Not Taken” – Robert Frost

เชื่อว่าถ้าใครเป็นเด็กเอกภาษาอังกฤษจะต้องรู้จักแน่นอน กับบทกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและถูกเข้าใจผิดมากที่สุดของ Robert Frost โดยคนส่วนมากจะเข้าใจความหมายของบทกวีนี้ว่า “เลือกทางเขาเรา ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช้ทางที่คนอื่นเลือก แต่เราจะมีความสุขกับมัน” แต่ในความจริงเนี่ยตรงกันข้ามเลย โดยความหมายที่แท้จริงคือ “คนเรามักหลอกตัวเองว่าทางที่เราเลือกคือทางที่ถูกต้องแล้ว เพื่อให้ตนเองสบายใจเพียงเท่านั้น” 

และมีถึง 3 เพลงด้วยกันที่เทย์เลอร์อ้างอิงถึงบทกวีชิ้นนี้

“The Outside”

จากอัลบั้ม Taylor Swift (2006)

I tried to take the road less traveled by

But nothing seems to work the first few times

Am I right?

“illicit affairs” 

จากอัลบั้ม folklore (2020)

Take the road less traveled by 

Tell yourself you can always stop

“‘tis the damn season”

จากอัลบั้ม evermore (2020)

I’m staying at my parents’ house

And the road not taken looks real good now

And it always leads to you and my hometown

...........

8. Slaughterhouse-Five – Kurt Vonnegut

หรือในชื่อภาษาไทย ‘โรงฆ่าสัตว์หมายเลข 5’ เป็นนวนิยายไซไฟ Sci-Fi (Science fiction) สัญชาติอเมริกันสุดโดย ‘Kurt Vonnegut’ ผู้เขียนได้พานักอ่านไปติดตามตัวละครของ ‘Billy Pilgrim’ ตั้งแต่วัยหนุ่ม จนถึงสมัยที่เขาเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงหลังจากที่สงครามจบลง ตลอดทั้งเรื่อง Billy เดินทางไป-กลับข้ามเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยที่ต้องต่อสู้กับสภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่ไปด้วย และเหตุการณ์ที่เขาถูกเอเลี่ยนจับตัวไปเขาก็ได้เรียนรู้สัจธรรมบางอย่างของชีวิต 

นอกจากนั้นเรื่องราวของ Billy ยังมีเค้าโครงมาจากชีวิตจริงของ Vonnegut เองที่เขาถูกทหารเยอรมันจับกุมในสมัยสงครามโลก รวมถึงเหตุการณ์ที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ถูกระเบิดราบเป็นหน้ากลอง ด้วยเหตุนี้ Slaughterhouse-Five จึงถูกจัดให้เป็นวรรณกรรมต่อต้านสงครามตลอดกาลอีกเรื่องหนึ่งด้วยครับ

“So It Goes…”

จากอัลบั้ม Reputation (2017)

ชื่อเพลงจากอัลบั้ม Reputation มีที่มากจากวลีที่โด่งดังของวรรณกรรมเรื่องนี้ เมื่อ Billy Pilgrim ได้ฟังแนวคิดเกี่ยวกับความตายของชาวเอเลียน (Tralfamadorian) ที่จับตัวเขาไป พวกเขาเชื่อว่าเมื่อคนคนหนึ่งได้จากโลกนี้ไป คนๆ นั้นก็ยังคงมีลมหายใจอยู่ในช่วงเวลาอื่นของชีวิต เพราะเวลาทั้งหมดเกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้นวลีดังกล่าวก็จะสื่อถึงการยอมรับความจริงและจดจ่อกับการใช้ชีวิตที่อยู่ตรงหน้า

Note: เพลง So It Goes เปรียบเสมือนระยะการยอมรับความจริง (Acception) โดยที่มาอาจจะเท้าความจากเพลงในอัลบั้มเดียวกันอย่าง Look What You Made Me Do ที่ว่า “The old Taylor is dead.” นั่นเอง

...........

9. All’s Well That Ends Well – William Shakespeare

ปิดท้ายด้วยบทละครประเภทสุขนาฏกรรม (Comedy) อย่าง ‘All’s Well that Ends Well’ ของ William Shakespeare กันบ้างครับ เนื้อเรื่องเล่าถึงหญิงสาวชื่อ ‘Helena’ ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อรักษากษัตริย์จนหายจากอาการป่วย กษัตริย์จึงตอบแทนด้วยการให้เฮเลนาสามารถเลือกคู่ครองที่ต้องการแต่งงานด้วย ทว่าเธอตัดสินใจเลือก ‘Bertram’ ขุนนางหนุ่มที่ไม่ได้มีใจให้กับเธอครับ 

ถึงแม้ว่าตอนท้ายของบทละครจะคลี่คลายไปในทางที่ดี เหมือนกับชื่อเรื่อง All’s Well that Ends Well ที่หมายถึง “ต้นร้ายปลายดี” แต่ก็อดที่จะพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวละครอย่าง Bertram ไม่ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการละเลยคู่ครอง หรือการนอกใจ โดยที่ Bertram เพียงสำนึกผิดในตอนสุดท้ายเพียงเท่านั้น 

ประเด็นดังกล่าวทำให้เรื่องราวทั้งคลุมเครือและสับสนเหมือนกับในเพลง All Too Well (จากอัลบั้ม Red 2012) ที่ความทรงจำดีๆ ได้กลับกลายเป็นเรื่องราวที่เศร้าหมอง บางอย่างที่ควรจะดีแต่กลับไม่ดี มากไปกว่านั้น การโหยหาความรักที่ขมขื่นจากคนที่เขาไม่มีใจ ก็เป็นธีมหลักของทั้งในบทละครและบทเพลงนี้เช่นกัน 

I remember it all too well.

...........

ถ้าฟังเพลงแบบเพลินๆ ก็อาจไม่รู้เลยว่าแต่ละเพลงของเทย์เลอร์นั้นได้หยิบยกผลงานวรรณกรรมมาใช้อ้างอิงเยอะมาก ซึ่งแต่ละเรื่องก็น่าสนใจ แฝงความหมายที่ลึกซึ้งสุดๆ ณ จุดนี้หวังว่าใครหลายคนคงอยากไปตามหางานเขียนเหล่านี้มาอ่านเองแบบเต็มๆ เพื่อเสพความงดงามของภาษาและเรื่องราว รวมถึงช่วยให้ฟังเพลงของเทเลอร์ สวิฟต์ ให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น

จริงๆ แล้วนอกจากการอ้างอิงถึงวรรณกรรมต่างๆ แล้ว เพลงของเทย์เองก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีในการฝึกภาษาด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการเลือกสรรคำใช้คำศัพท์สวยๆ และวลีเจ๋งๆ มากมาย ใครที่สนใจฝึกภาษากับ Taylor Swift อย่าลืมปักหมุด ติดตาม Study Abroad by Dek-D ไว้ด้วยนะครับ รับรองว่าเพียบ อ่านเพลินแน่นอน~

Credit: GIPHY
Credit: GIPHY

………….

 

Sourcehttps://www.sparknotes.com/blog/every-literary-reference-taylor-swift-has-ever-made-in-her-songs/https://medium.com/@DARivers_/the-great-gatsby-in-a-nutshell-a-quick-and-easy-summary-for-busy-readers-4d53acb44f97https://www.sparknotes.com/lit/scarlet/facts/https://www.bustle.com/articles/144868-taylor-swifts-new-romantics-lyrics-meaning-show-how-well-she-understands-her-fanshttps://grammarist.com/idiom/an-albatross-around-ones-neck/https://www.sparknotes.com/lit/slaughter/summary/ 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น