ส่องเทรนด์โลก ‘ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน’ ดีต่อใจเราแล้วดีต่องานหรือเปล่านะ?

การระบาดของโควิด-19 สร้างได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การศึกษา การแพทย์ การคมนาคม โซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งแนวคิดของคนก็เช่นกัน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานี้กระแส Work-Life Balance ก็เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็น First Priority ในการเลือกงานที่ชอบและองค์กรที่ใช่ ดังนั้นหลายบริษัทจึงมีการทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์พนักงานมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” (4-Day Work Week) ซึ่งบางบริษัทถึงกับประกาศใช้นโยบายการทำงานนี้แบบถาวร รวมถึงชูเป็นสวัสดิการใช้ดึงดูดคนรุ่นใหม่มาร่วมงานด้วยเลยทีเดียวครับ

จากการเก็บข้อมูลและผลวิจัยจากหลายๆ แห่งเผยว่าพนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น ว่าแต่ดีต่อใจแบบนี้แล้วจะต่อบริษัทหรือไม่ แล้วงานที่ได้จะเวิร์กจริงหรือเปล่านะ? 

วันนี้ พี่ธัน จะพาทุกคนไปเปิดเหตุผล 4 ข้อ พร้อมไขคำตอบว่าทำไมการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ถึงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่ามีคนชอบก็ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย บทความนี้ก็จะพาไปส่องความคิดเห็นของอีกฝั่ง เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของ 4-Day Work Week แต่ละคนเค้าว่ากันยังไงบ้าง ไปอ่านกันต่อเลยครับ 

Photo by Chris Montgomery on Unsplash
Photo by Chris Montgomery on Unsplash

1. No more office: ออฟฟิศไม่จำเป็นเสมอไป

หลายบริษัทให้อิสระการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere / Remote Working) การทำงานแบบผสมระหว่างที่ออฟฟิศและจากที่ไหนก็ได้ (Hybrid Working) หรือมีเวลาทำงานที่ไม่ตายตัวมีความ Flexible  เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่ากว่าโลกจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ผู้คนก็รู้สึกคุ้นชินกับการทำงานรูปแบบชั่วคราวนี้ไปแล้ว (อย่างที่ Dek-D ก็ทำงานเปลี่ยนมาทำงานแบบ Hybrid เช่นกันครับ) 

พอโควิดคลี่คลายหลายบริษัทได้ประกาศให้พนักงานกลับมา Onsite ดังเดิม ซึ่งข้อมูลจาก Unispace เผยว่ามีคนทำงานจำนวนมากถึง 42% ที่ไม่พอใจกับการกลับมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์ออฟฟิศ อีกทั้งบริษัทเหล่านี้มีจำนวนผู้สมัครงานลดลงถึง 29% เลยทีเดียว 

นอกจากความเคยชินกับไลฟ์สไตล์ยุค New Normal แล้ว หลายคนก็ให้เหตุผลว่าในเมื่อเราทำงานแบบ Work from home ก็ได้ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน การเข้ามาประจำที่ออฟฟิศก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะไหนจะปัญหาเรื่องการเดินทางในแต่ละวัน และยุคที่ข้าวของแพงแบบนี้ก็ย่อมเสียค่าใช้จ่ายที่สูง แถมการเดินทางไป-กลับก็ใช้เอเนอร์จี้ที่เยอะจนสูบพลังเกือบหมด เหตุนี้จึงอาจส่งผลให้คุณภาพในการทำงานลดลงและสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

Photo by Mikey Harris on Unsplash
Photo by Mikey Harris on Unsplash

2. TGIF! : วันศุกร์หรรษา บอกลางาน! 

FRIDAY FRIYAY~ ลุยงานเดือดๆ มาทั้งวีค เชื่อว่าวัยทำงานต่างก็รอคอยให้ถึงวันศุกร์เร็วๆ ใช่มั้ยล่ะครับ (แค่นึกถึงอิสระหลังจากเลิกงานก็ฟินไม่ไหว ไหนจะชาบู ไหนจะซีรีส์ตอนใหม่) ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา Activtrak (2021) เผยว่าในสหรัฐอเมริกามีพนักงานทำงานในวันศุกร์ลดลง โดยมีการเลิกเร็วขึ้นเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายและใช้เวลากับตัวเองได้มากขึ้น  

และยิ่งช่วงบ่ายวันศุกร์ที่เอเนอร์จี้เริ่มตก หลายคนจิตใจก็ไม่ได้อยู่กับงานแล้ว ซึ่งก็ตรงกับผลการศึกษาของ Texas A&M University ที่ได้เผยว่า “ช่วงบ่ายของวันศุกร์คือช่วงเวลาที่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำที่สุด” โดยในช่วงบ่ายเป็นเวลาที่พนักงานพิมพ์ผิดมากที่สุดอีกด้วย เพื่อแก้ปัญหานี้หลายบริษัทจึงตัดสินใจออกนโยบายงดการประชุมหรืออนุญาตให้มีการทำงานแบบยืดหยุ่นในวันศุกร์แทนครับ // อิจฉาจัง~

Photo by Christian Erfurt on Unsplash
Photo by Christian Erfurt on Unsplash

3. More successful: ทำวีกละ 4 วันแล้วเวิร์กกว่า! 

4 Day Week Global เคยจัดการทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ให้กับบริษัทต่างๆ ผลลัพธ์คือหลายแห่งตัดสินใจมาใช้การทำงานรูปแบบนี้ถาวรเลยครับ ซึ่งหลังจากหนึ่งปีที่เปลี่ยน พนักงานในหลายองค์กรมีความสุขในการทำงานมากขึ้น โดยมีบริษัทมากถึง 50% รายงานความไม่พึงพอใจในที่ทำงานลดลง และอีก 32% เผยว่ามีปริมาณคนสมัครงานเพิ่มมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือบริษัทแอปเรียกรถชื่อดังอย่าง ‘Bolt’ สัญชาติเอสโตเนีย หลังจากเริ่มทดลองใช้วิธีนี้ 3 เดือนแรก ผลคือพนักงาน 94% อยากให้มีการทำงาน 4 วันต่อไป และอีก 86% ยังบอกอีกว่าพวกเขาจัดการเวลาได้ดีกว่าการทำงานเท่าเดิมซะอีก ตั้งแต่นั้นมา Bolt ก็นำร่องใช้นโยบายนี้เป็นบริษัทแรกๆ ของโลกเลยครับ

‘ไรอัน เบรสโลว’ (Ryan Breslow) ซึ่งเป็น CEO ของ Bolt ออกมาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การทำงาน 4 วัน ไม่ได้หมายความว่าพนักงานห้ามแตะคอมพ์ทำงานวันที่เหลือเลย แต่เป็นวันที่ให้พนักงานเลือกไปทำกิจกรรมเพิ่มความสุข อย่างการพักผ่อน การพัฒนาตัวเอง หรือการใช้เวลากับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการติดต่อจากเพื่อนร่วมงาน 

Photo: courtesy Bolt
Photo: courtesy Bolt

4. Positive Workplace Relationships: สัมพันธ์ดี องค์กรสตรองขึ้น! 

‘Exos’ บริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา ก็เป็นอีกแห่งที่ทดลองให้พนักงานทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่ง 91% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานผลว่าประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น อัตราเหนื่อยล้าลดจาก 70% เหลือแค่ 36% แถมพนักงานยังมีความสุขขึ้น และภาพลักษณ์บริษัทก็ดีขึ้นในแง่ความใส่ใจพนักงาน ผลดีระยะยาวคือพนักงานจะเปลี่ยนงานน้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง 

Photo by Israel Andrade on Unsplash
Photo by Israel Andrade on Unsplash

4-Day Work Week ดีต่อใจ แล้วดีต่องานหรือเปล่า? 

จริงอยู่ครับที่การทำงานสัปดาห์ละวันจะมีข้อดีทั้งเรื่องความสะดวก ความประหยัด และสุขภาพของพนักงาน จนปัจจุบันมีหลายบริษัทใช้รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นี้มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดให้คนสมัครเยอะขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทุกบริษัทเสมอไป โดยเฉพาะธุรกิจพวกรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร โรงแรม หรืองานอะไรก็ตามที่ต้องเปิดให้บริการทุกวัน แต่บริษัทไม่สามารถจ้างพนักงานเพิ่มได้

ยกตัวอย่างกรณีของบริษัทเดินเรือของเยอรมนี อย่าง ‘Kootstra’ ที่นั่นเค้าก็ทดลองให้พนักงานหยุดวันจันทร์หรือวันศุกร์เหมือนกันครับ ปรากฏว่าเมื่อพนักงานต้องทำงานมากเท่าเดิม ด้วยระยะเวลาน้อยลง สิ่งที่เพิ่มกลับไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความเครียดและปริมาณงานสะสม นำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลงตามมาครับ

Photo: Kootstra website
Photo: Kootstra website

มีแนวทางไหนน่าสนใจอีกบ้าง?

จริงๆ แล้วยังมีหลายวิธีที่องค์กรปัจจุบันเลือกใช้ อย่างเช่น การให้ทำงาน 5 วันเท่าเดิม แต่ทุกเดือนจะมี 1 สัปดาห์ที่ให้หยุดยาว หรือบางที่ก็ลดชั่วโมงการทำงานลงแทน 

อย่างไรก็ตาม Mental Health UK เผยว่าหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์ที่สุดสำหรับการแก้ไขภาวะ Burnout Syndrome ของพนักงาน ก็คือการมอบความยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้พนักงานสามารถเลือกเวลาที่งานที่สะดวกเองได้

ไม่ว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะได้ผลดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบริษัท ประเภทอุตสาหกรรม ขนาด และวัฒนธรรมองค์กรด้วย ซึ่งบางบริษัทอาจใช้รูปแบบการทำงานเช่นนี้มาเป็นจุดขาย เพิ่มจำนวนคนสมัครงานได้เช่นกัน

“สุดท้ายแล้วยังไงเราก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า การลงทุนในการทำงานรูปแบบนี้คุ้มค่ากับบริษัทหรือไม่” ‘Martin Schlechter’ จากสมาคมธุรกิจของรัฐซาร์ลันท์ (Saarland) ประเทศเยอรมนีได้กล่าวไว้

และชาว Dek-D มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ชอบแบบไหนมากกว่ากัน?

Photo by Kornél Máhl on Unsplash
Photo by Kornél Máhl on Unsplash

……….

Sourceshttps://www.forbes.com/sites/carolinecastrillon/2024/05/05/why-the-4-day-workweek-is-gaining-momenthttps://www.tagesschau.de/wirtschaft/arbeitsmarkt/vier-tage-woche-studie-deutschland-100.htmlhttps://www.theguardian.com/business/2024/apr/28/four-day-week-workhttps://www.tagesschau.de/wirtschaft/vier-tage-woche-102.htmlhttps://www.fastcompany.com/90710084/tech-company-bolt-is-permanently-embracing-a-4-day-workweekhttps://tech.co/news/companies-4-day-work-weekhttps://mentalhealth-uk.org/blog/how-flexible-working-could-tackle-burnout-in-the-workplace
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

เชื่อสิ 2 ก.ค. 67 19:17 น. 1

ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่เพิ่มชม.การทำงานอีกวันละ 2 ชม.สำหรับการทำงาน 4 วัน ก็ต้องลดเงินเดือนหรือลดการปรับเพิ่มเงินเดือนหรือลดโบนัส หรือไม่ก็ต้องให้งานเพิ่มในบางส่วน บริษัทที่ยอมลดวันทำงานโดยที่ไม่ได้อะไรกลับไปเลยคงมีน้อย ดีไม่ดีอ้างเรื่องนี้แล้วบีบด้วย kpi อีก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด