‘คิดถึงบ้าน มาเรียนไกลขนาดนี้ ทำไงดี?’ 8 Tips & Tricks จัดการปัญหา Homesick

สำหรับชาวทีมเด็กนอกที่ไม่ว่าจะไปเรียนต่อ ทำงาน หรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ในช่วงแรกหลายคนอาจจะเจอกับ Culture Shock ยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมและผู้คนใหม่ๆ จนทำให้รู้สึกคิดถึงบ้าน หรือที่รู้จักกันว่า ‘Homesickness’ แม้ว่าฟังดูไม่น่าใช่ปัญหาใหญ่และต่างก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องเจออยู่แล้ว สักแปปเดี๋ยวก็คงหาย แต่ในความเป็นจริงการปล่อยไว้นานและแก้ไขไม่ถูกจุดก็อาจทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวและอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าก็เป็นได้

อย่างพี่เองก็เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS มาก่อน เข้าใจดีเลยว่าความรู้สึกนี้มันเป็นยังไง บอกเลยว่าไม่ง่ายแต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ เพราะทำตาม  Tips & Tricks ที่จะพูดถึงในบทความนี้นี่แหละ รวบรวมมาให้ 8 ข้อ เป็น Life saver สุด! รับรองว่ามีประโยชน์นำไปปรับใช้ได้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเองได้เลย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันนน~~

...........

1. Say Yes to Homesickness

เรื่องนี้สำคัญมากเพราะสเต็ปแรกก่อนที่เราจะก้าวข้ามอาการ Homesickness ได้คือเราต้องโอบรับมันก่อน หมั่นบอกตัวเองว่าความคิดถึงบ้านไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ หรือเราเข้าใจอะไรผิดไป เพราะเอาจริงๆ มันเป็นเรื่องปกติมากที่หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์ Culture Shock เมื่ออยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม

อย่างที่เคยบอกในบทความจากเรื่อง Inside Out ว่า “การที่เพิกเชยกับความรู้สึกแย่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแต่อย่างใด แต่จริงๆ มันกลับทำให้ความรู้สึกรุนแรงและฝังลึกลงไปอีก ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้า” เมื่อเราคิดถึงบ้าน อยากร้องไห้ ปล่อยโฮมาเลยก็ไม่เสียหายนะ แต่ๆๆ อย่าเศร้านานล่ะ! สัก 1-2 วันก็พอ แล้วก็ค่อยไปต่อ

Photo by Andrew Le on Unsplash
Photo by Andrew Le on Unsplash

2. ว่างใช่มั้ย หาอะไรทำด่วน!

หลังจากที่ปล่อยใจกับอาการโฮมซิกไปแล้ว ก็มาถึงเวลาเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง จริงๆ มีกิจกรรมที่ช่วยบรรเทาความเศร้าหลายอย่างมากที่จะช่วยให้เราไม่ฟุ้งซ่านและไม่คิดมาก เพียงเราต้องหาจุดโฟกัสให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองก่อน โดยอาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การทำงานบ้าน-จัดระเบียบห้องให้น่าอยู่ หรืออาจลองระบายความรู้สึกเขียนลงไดอารีหรือเขียน blog บันทึกเรื่องราวลงไป (พอกลับมาอ่านอีกครั้งก็อาจจะรู้สึกภูมิใจกับตัวเองที่ผ่านมาได้ก็ได้นะ) หรือถ้าเหงาจริงๆ ก็อาจลองหาเพื่อน make friend กับคนไทยที่อยู่ในสถาบันหรือเมืองเดียวกันกับเรา โดยเริ่มค้นหาจากกลุ่ม Facebook คอมมูนิตีคนไทยในต่างแดนหรือเมืองนั้นๆ เป็นต้น // อาจจะช่วยให้เราหายเหงาและมีจุดโฟกัสนอกเหนือจากการเรียนได้ไม่มากก็น้อย

อย่างตอนพี่ไปแลกเปลี่ยน ช่วงแรกที่โรงเรียนยังไม่เปิดคืออยู่บ้านคนเดียวเหงาๆ เพราะโฮสต์ก็ไปทำงานกัน พี่ก็เลยดูดฝุ่น ซักผ้า ถูพื้นวนไป เรียกว่าทำจนลืมเวลาไปเลย แทบไม่ได้นึกถึงไทยสักนิด หรืออย่างการเข้าไปร่วมจอยในชมรมก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีมากเหมือนกัน เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้หาเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจตรงกับเรา และคนรอบตัวนี่แหละมีส่วนช่วยให้เราปรับตัวเข้าหาสังคมใหม่ในต่างประเทศได้ดีขึ้น

หรือใครอยากจะเปลี่ยนความรู้สึก Down ให้เป็นเงินก็ย่อมได้ นักเรียนต่างชาติหลายคนก็เลือกการทำงาน Part-time ในการ Make money และได้พบปะผู้คนพร้อมสะสมประสบการณ์ไปในตัว  

Note: อย่าลืมเช็กข้อกำหนดวีซ่านักเรียนของประเทศนั้นด้วยนะว่าอนุญาตให้ต่างชาติแบบเราทำงานนอกเวลาเรียนได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้าง 

Photo by Valiant Made on Unsplash
Photo by Valiant Made on Unsplash

3. ติดต่อทางบ้านบ้าง แต่อย่ามากเกินไปล่ะ

เดี๋ยวยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก มีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เราได้พูดคุย วิดีโอคอลกับครอบครัวได้แบบเรียลไทม์และง่ายมากขึ้น เช่น Line, Facebook Messenger, Facetime เป็นต้น หรือแค่ไถ IG Story ก็สามารถอัปเดตข่าวสารจากทางบ้านและเพื่อนๆ ให้พอหายคิดถึงได้ เหมือนย่อโลกให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าติดต่อบ่อยเกินล่ะ ต้องหาจุดบาลานซ์ เพราะบางทีมันจะยิ่งทำให้เรารู้สึกโฮมซิกกว่าเดิมและการปรับตัวเข้าหาคนใหม่ๆ ยากขึ้น // อย่างพี่ก็มีคอลกับที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้นแหละ คุยมากกว่านี้เดี๋ยวนอยด์อยากกลับบ้าน  

Photo by Surface on Unsplash
Photo by Surface on Unsplash

4. ลดเวลาออนไลน์ โฟกัสกับสิ่งตรงหน้า

เคยไหมที่ไถฟีดโซเชียลแล้วเห็นเพื่อนหรือครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วรู้สึกดาวน์ บางทีก็นอยด์ที่ตรงนั้นไม่มีเรา (อยากวาร์ปไปใจจะขาดแต่ก็ทำไม่ได้) เหมือนกับข้อก่อนหน้าเลย เราอาจจะเข้าอินสตาแกรมไปดูโพสต์ ดูสตอรี่คนอื่นเล็กน้อยให้พอรู้ว่าเค้าเป็นยังไงกันบ้าง สบายดีหรือเปล่า แต่ถ้ามัวแต่ตามติดชีวิตคนรู้จักที่ไทยมากไป บางทีเราเอาความสุขตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัวจนทำให้เศร้าได้ ฉะนั้นลดเวลาออนไลน์ เพิ่มเวลาออฟไลน์ โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าซะ บางทีอาจจะมีเรื่องดีๆ อยู่นอกหน้าจอรอเราอยู่ก็ได้

ตอนที่พี่ไปแลกเปลี่ยน เวลาว่างๆ ก็เลือกอ่านหนังสือ อ่านวนไปจนลืมโทรศัพท์ไปเลย นอกจากผ่อนคลายแล้วยังช่วยเสริมสร้างวินัยการอ่านไปในตัว สุดท้ายแล้วนอกจากจะไม่โฮมซิกแล้วยังได้พัฒนาสกิลภาษาแบบจัดเต็ม 2 in 1 ไปอีก 

Photo by Marga Santoso on Unsplash
Photo by Marga Santoso on Unsplash

5. พกของฮีลใจ

โดยเฉพาะคนที่มีแฟนและใครที่มีแฟนทิพย์เป็นดาราไอดอล พี่คิดว่าคงต้องมีพกของชิ้นเล็กๆ น่ารักๆ ไปต่างประเทศด้วยอยู่แล้ว อย่างตุ๊กตา รูปโพลารอยด์ หรือพวงกุญแจ ไอเท็มพวกนี้มีประโยชน์ไม่เบาเพราะมันเป็นเหมือนกับสิ่งแทนใจ เป็นคอมฟอร์ตโซนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเค้ายังอยู่ใกล้ๆ เราเสมอ ไม่ไปไหน ข้อนี้อาจจะดูนิยายนิดนึง ฟีลนางเอกกำสร้อยคอและนึกถึงพระเอก (*ยิ้มกรุ้มกริ่ม*) แต่เชื่อว่าต้องทำให้หลายคนรู้สึกดีขึ้นแน่นอน ก่อนออกเดินทางอย่าลืมพกไปด้วย!

Photo by Farica Yang on Unsplash
Photo by Farica Yang on Unsplash

6. ชุดพร้อม กล้องพร้อม เงินพร้อม เตรียมออกสำรวจโลก

มาตั้งไกลแล้วจะมัวเก็บตัวเศร้าอยู่ในห้องทำไม? ออกไปสำรวจโลกกว้างซะ อาจจะมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้เราไปค้นหา นอกจากได้ซึมซับวัฒนธรรมต่างแดนแล้ว ยังเป็นการกอบโกยประสบการณ์ชีวิตที่อาจหาที่ไหนไม่ได้ อย่างสาย Outdoor อาจจะไปเดินป่า ตั้งแคมป์ ดูดดื่มกับบรรยากาศดีๆ  หรือเล่นกีฬา Extreme sports ก็ปัง ส่วนใครเป็นสายกินก็เปิดมือถือปักหมุดพิกัดร้านอาหารเก๋ๆ ไว้ แล้วหาวันว่างไปเช็กอิน  

ถ้าใครเป็นสายคอนเทนต์ก็อาจถ่าย Vlog สร้างช่องเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะลุยเดี่ยวหรือตั้งตี้กับเพื่อนก็ได้หมดถ้าสดชื่น ตามสไตล์ที่เราชอบเลย~ (เผลอๆ อาจมีคนติดตามเยอะและสามารถต่อยอดสร้างรายได้ได้ด้วย)

Photo by Kalen Emsley on Unsplash
Photo by Kalen Emsley on Unsplash

7. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

คนอื่นไม่ Homesick ไม่ได้แปลว่าเราแปลกนะ ดังนั้นไม่ต้องโทษตัวเองและอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น บางคนอาจจะปรับตัวไวซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าเอาประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้กับเรา เพราะแต่ละคนมีชีวิตและภูมิต้านทานที่ไม่เหมือนกัน 

อย่างที่เกริ่นไปข้อด้านบนว่าโซเชียลก็มีบทบาทกับเรื่องนี้มาก หลายครั้งที่เราเห็นเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จักลงสตอรี่ดูแฮปปี้ ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง ใช้ชีวิตดีติดแกลมไม่ไหว แต่นั่นมันก็แค่ด้านหนึ่งของเขาเท่านั้น ย้ำเสมอว่าใครๆ ก็โพสต์แต่ด้านดีๆ ทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นอย่าเอาชีวิตของเขามาตัดสินเรา 

Photo by Nathan Dumlao on Unsplash
Photo by Nathan Dumlao on Unsplash

8. นอนนะที่รัก

“เพื่อนก็ไม่ค่อยมี เรียนก็ไม่เข้าใจ ฉันมาทำอะไรที่นี่ อยากกลับบ้านนนน” การมาอยู่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากจะต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตแล้ว เรายังต้องรับมือกับรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนไทยอีก (เรื่องนี้ทำคนเครียดหัวหมุนกันไปเยอะมากกก) ไหนจะเรื่องอุปสรรคทางภาษา แม้ว่าจะเตรียมตัวและเตรียมใจมาดีแค่ไหน แต่เราก็ไม่ใช่ Native บางทีก็ไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง พอเครียดสะสมมากๆ ก็กลายเป็นอีกต้นเหตุของอาการ Homesickness นั่นเองครับ 

เครียดขนาดนี้ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมกับความทุกข์จนลืมดูแลร่างกายตัวเองนะครับ ถ้าหาทางออกไม่ได้จริงๆ “การนอนจะเยียวยาทุกสิ่ง” บอกเลยว่าแนวทางสุดคลาสสิก ขอยกให้เป็น No.1 เพราะมันเหมือนให้สมองเราได้เคลียร์แคช (Cache) และ Refresh เพื่อเตรียมเปิดรับความรู้ใหม่ในวันถัดไป พักผ่อนให้เพียงพอซะ แม้ว่าไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหายไป แต่อย่างน้อยผิวพรรณเราสดชื่นและสุขภาพดีนะ // แต่ถ้าเครียดจนนอนไม่หลับ กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ จนรู้สึกไม่ไหว แนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์นะครับ

Photo by Kinga Howard on Unsplash
Photo by Kinga Howard on Unsplash

…………

จบไปแล้วกับทริกทั้ง 8 ข้อที่รวมมาให้สำหรับรับมือกับอาการ Homesickness อย่างที่บอกไปว่าบางข้ออาจไม่ได้เวิร์กกับทุกคน ดังนั้นพี่เลยแนะนำให้ทดลองวิธีต่างๆ หรือดูว่าเราถูกจริตหรือมีไลฟ์สไตล์เข้ากับอันไหน หาแนวทางที่แฮปปี้และดีต่อใจเรา สุดท้ายแล้วก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวเด็กนอก ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ // พี่ๆ ทีม Study Abroad by Dek-D เป็นกำลังใจให้ครับ ️

 

Sourceshttps://www.ef.com/wwen/blog/efacademyblog/8-ways-overcome-homesickness/https://www.savethestudent.org/international-students/tips-to-deal-with-home-sickness.html 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น