こんにちは~ สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน ไหนมีใครอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นบ้างมั้ยครับ? ด้วยความที่ช่วงนี้เงินเยนกำลังอ่อนค่า จึงทำให้ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายในการเช็กอินของชาวต่างชาติแบบถล่มทลาย แต่บางคนก็ไม่วายสร้างทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนเกิดกระแสคนญี่ปุ่นเอือมนักท่องเที่ยวขึ้นมา
หลายคนอาจรู้มาบ้างว่าญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์แบบฉบับตัวเอง และเคร่งเรื่องกฎเกณฑ์และมารยาทในสังคมสูง (และผู้คนค่อนข้างมีความคิดที่ซับซ้อนด้วย) ซึ่งบางเรื่องนักท่องเที่ยวก็อาจไม่รู้มาก่อนก็เลยเผลอทำตัวเสียมารยาทโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ลงไป
และถ้าหากใครมีแพลนจะไปเที่ยวหรือเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ พี่น้ำพุ ได้รวบรวม 10 ข้อควรปฏิบัติน่ารู้เมื่อไปเยือนญี่ปุ่นมาฝากกัน (รู้ไว้ จะได้ไม่โดนคนญี่ปุ่นมองแรงใส่) จะมีข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติอะไรที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ จำเป็นต้องรู้กันบ้าง ตามไปจดกันเลยย!~
.............
1.ไม่ส่งเสียงดังขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะ
การไปไหนมาไหนในญี่ปุ่นด้วยขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหรือรถบัสล้วนแล้วแต่สะดวกสบาย รวดเร็ว และราคาถูก เราสามารถไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่นได้โดยแทบจะไม่ต้องเช่ารถส่วนตัว แต่มีข้อปฏิบัติสำคัญที่ควรคำนึงไว้ นั่นคือเราไม่ควรพูดคุยเสียงดังทั้งกับคนรอบข้างและทางโทรศัพท์ เนื่องจากคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนรวม บางคนอาจเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันหรือต้องอยู่บนขนส่งสาธารณะเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นทุกคนที่ใช้ขนส่งสาธารณะจึงไม่ควรสร้างความเดือดร้อนและรำคาญใจแก่ผู้โดยสารคนอื่น หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องพูดคุยกันหรือรับโทรศัพท์ ก็ควรหามุมที่มีคนน้อยและพูดด้วยเสียงกระซิบเท่านั้นครับ (จริงๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ควรมีมารยาทเรื่องนี้นะครับ)
2.การใช้บันไดเลื่อน
ที่ประเทศไทยเราใช้บันไดเลื่อนกันแบบไม่ได้มีกฎตายตัว ใครจะขึ้นซ้ายขวาหรือยืนเป็นกลุ่มก้อนก็ไม่มีใครว่า แต่ที่ญี่ปุ่นเราจะทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะคนญี่ปุ่นมีจำนวนมาก (โดยเฉพาะตัวเมือง) แต่ละคนต่างก็ต้องเร่งรีบไปทำงานหรือทำธุระส่วนตัวของตัวเอง ดังนั้นการเดินขึ้นลงบันไดเลื่อนที่ญี่ปุ่นจะต้องแบ่งออกเป็นสองฝั่งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดิน ฝั่งหนึ่งมีไว้สำหรับคนไม่รีบ (ยืน) และอีกฝั่งสำหรับคนที่รีบอยู่ (เดินขึ้นบันไดเลื่อน) โดยหลายที่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นนั้น ‘คนที่ไม่รีบ’ จะยืนชิดอยู่ที่ ‘ฝั่งซ้าย’ ในขณะที่โอซาก้า ‘คนที่ไม่รีบ’ จะยืนชิดอยู่ที่ ‘ฝั่งขวา’ ครับ (จะไปเมืองไหนก็ต้องศึกษาด้วยนะ)
3.ห้ามเปิดประตูรถแท็กซี่เอง
แม้ญี่ปุ่นจะมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเยี่ยม แต่บางครั้งนักท่องเที่ยวอย่างเราก็อาจต้องหวังพึ่งการใช้บริการจากรถแท็กซี่กันบ้าง เนื่องจากบางทีเราอาจมีสัมภาระขนาดใหญ่ที่ถือไม่ไหวหรือรถโดยสารสาธารณะไม่สามารถเข้าถึงจุดต่างๆ ที่ต้องการไปได้ ซึ่งการเรียก ‘แท็กซี่’ ก็เป็นอีกทางเลือกการเดินทางที่คนนิยมกัน สามารถโบกมือเรียกหรือหาในแอปพลิเคชันก็ได้ทั้งนั้น
แต่เมื่อรถแท็กซี่จอดมารับเราแล้ว ข้อควรรู้คือ ห้ามเปิดประตูรถด้วยตัวเองเด็ดขาด! เพราะแท็กซี่ที่ญี่ปุ่นถูกออกแบบให้คนขับรถสามารถกดเปิดประตูเองได้ เรามีหน้าที่เพียงแค่ยืนรอประตูรถเปิดและปิดทั้งตอนขึ้นและตอนลงเพียงเท่านั้นครับ
Note: น้องๆ รู้หรือเปล่าว่าแท็กซี่ที่ญี่ปุ่นนั้นราคาแรงมากถ้าเทียบกับรถโดยสารสาธารณะหรือแท็กซี่ที่ไทย แต่ทก็มีกฎหมายควบคุมรถแท็กซี่อย่างเคร่งครัด มั่นใจได้เลยว่าจะไม่โดนโก่งราคาหรือเอาเปรียบอย่างแน่นอน
4.คนญี่ปุ่นไม่ทิป
แม้วัฒนธรรมการให้ทิปจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงน้ำใจในหลากหลายประเทศ แต่ไม่ใช่กับที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านอาหาร บาร์ หรือบนรถแท็กซี่ หากเราให้ทิปกับคนญี่ปุ่นไป อาจเพราะชื่นชมในการบริการเอาใจใส่ของพนักงาน แต่เค้าก็อาจจะทำหน้างงๆ และทอนเงินคืนกลับมาให้เราได้ หรือบางทีถ้าเราทิ้งทิปไว้ที่โต๊ะในร้านอาหาร พนักงานก็อาจจะถึงกลับวิ่งตามออกมาคืนเงินให้!
แล้วทำไมคนญี่ปุ่นไม่รับทิปล่ะ? เหตุผลคือพนักงานที่ร้านต่างๆ ในญี่ปุ่นจะได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงที่เหมาะสมและมากพอแล้วนั่นเอง การให้ทิปเลยอาจเป็นเหมือนการดูหมิ่นว่าพนักงานของร้านนั้นไม่ได้รับค่าจ้างที่มากพอจากนายจ้างได้ ดังนั้นหากใครอยากแสดงความซาบซึ้งใจในการบริการ ก็อาจจะแค่กล่าวคำขอบคุณ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วครับ~ // เห็นมั้ยว่าวิธีคิดแบบคนญี่ปุ่นนั้นซับซ้อนจริงๆ
5.หยิบ-ส่งเงินผ่านถาดเวลาจ่ายตังค์
เวลาจ่ายตังค์ที่เคาน์เตอร์ ทั้งในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร หรือสถานที่อื่นๆ คนญี่ปุ่นจะไม่ยื่นธนบัตรหรือเหรียญใส่ในมืออีกฝ่ายโดยตรง แต่จะมีถาดสำหรับวางเงินไว้อยู่บนโต๊ะเคาน์เตอร์ หากเราต้องการจ่ายเงินก็ให้วางธนบัตรหรือเหรียญลงไปบนนั้น และหากมีเงินทอน พนักงานก็จะวางใส่ไว้ในถาดเช่นเดียวกัน จะไม่มีการส่งต่อเงินหรือสัมผัสกันผ่านมือเด็ดขาด
เหตุผลก็เป็นเพราะคนญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัว การสัมผัสโดนตัวกันเป็นเรื่องที่เค้ามองว่าไม่จำเป็น อีกทั้งการวางเงินในถาดยังทำให้ง่ายต่อเหล่าพนักงานในการนับและตรวจสอบเงินอีกด้วยครับ
6.การใช้ตะเกียบ
การใช้ตะเกียบตอนรับประทานอาหารก็เป็นอีกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน แต่ทุกคนรู้หรือเปล่าว่าก็มีมารยาทในการใช้ตะเกียบอยู่ด้วย เพราะบางอย่างอาจสื่อความหมายถึงการเลียนแบบพิธีศพของคนญี่ปุ่นก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ห้ามปักตะเกียบ เพราะเปรียบเสมือนการปักธูปในชามข้าวเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ
- ห้ามการคีบอาหาร เพราะเปรียบเสมือนพิธีกรรมคีบกระดูกของผู้ตาย
อีกทั้งหากเราต้องการใช้ตะเกียบหยิบอาหารจากจานส่วนรวม เราต้องใช้ปลายตะเกียบด้านที่ไม่ได้เอาเข้าปากในการคีบมาใส่จานตัวเอง แถมห้ามใช้ตะเกียบชี้ไปเรื่อย เพราะจะถือว่าเป็นการแสดงท่าทีหยาบคายครับ
7.ห้ามเดินไปกินไป
ที่ญี่ปุ่นมักจะมีการตั้งแผงขายอาหารข้างทางเรียงรายตามตลาดนัดหรือในงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งอาหารที่ขายก็มีมากมาย เช่น ทาโกะยากิ ยากิโซบะ ไอศกรีมต่างๆ เหมือนที่เราเห็นตามการ์ตูน แต่หลังจากได้รับอาหารมาแล้ว เราไม่ควรเดินถือและกินอาหารบนมือไปด้วย เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ดูแล้วไม่เหมาะสม อาจทำให้เสื้อผ้าหรือสถานที่เลอะเทอะหรือเกิดการทิ้งขยะเรี่ยราด โดยส่วนใหญ่แล้วร้านค้าข้างทางจะมีที่สำหรับให้ยืนหรือนั่งกินอาหารเอาไว้
ข้อปฏิบัติดังกล่าวยังรวมไปถึงการซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มจากตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งข้างๆ ตู้จะมีถังขยะเตรียมไว้ให้โดยเฉพาะ เมื่อกดสินค้าเสร็จก็สามารถกินและทิ้งขยะในบริเวณนั้นได้เลยครับ
8.ซีเรียสเรื่องการแยกขยะ
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการแยกขยะมาก แม้ว่าถังขยะตามจุดต่างๆ ในญี่ปุ่นจะมีน้อย แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งขยะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขยะเผาได้ (กระดาษ เศษอาหาร ไม้) ขยะเผาไม่ได้ (พลาสติก แก้ว โลหะ) และขยะประเภทกระป๋องและขวดนั่นเอง
เป็นอีกข้อที่ต้องระวังมากๆ เพราะหากเราทิ้งขยะแบบไม่ได้แยก อาจจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่และถูกคนญี่ปุ่นมองว่าไร้มารยาทและการศึกษาได้ด้วยนะ! // ส่องกฎระเบียบการแขกขยะของญี่ปุ่น
9.การแช่บ่อน้ำพุร้อน
อีกหนึ่งไฮไลต์เด็ดในการไปเที่ยวญี่ปุ่นที่ทุกคนไม่ควรพลาดก็คือการแช่ ‘บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ’ หรือ ‘ออนเซ็น’ (温泉) ซึ่งสรรพคุณของออนเซ็นนั้นดีมากๆ ทั้งช่วยผ่อนคลายร่างกายจากอาการเหนื่อยล้าและยังบรรเทาอาการเครียดได้อีกด้วย
แต่การแช่บ่อน้ำพุร้อนที่ญี่ปุ่นก็มีวิธีปฏิบัติเคร่งครัดที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ เราต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อนลงไปแช่ในบ่อและไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าขณะลงไปแช่ โดยเราสามารถพกเพียงผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆ เข้าไปด้วยได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น และผ้าผืนนี้ก็ห้ามเอาจุ่มน้ำโดยเด็ดขาด ทั้งหมดนี้ก็เพราะออนเซ็นเป็นสถานที่สาธารณะที่คนญี่ปุ่นใช้ร่วมกันและให้คุณค่าเป็นอย่างมาก ดังนั้นแล้วเราจึงควรปฏิบัติตามให้ถูกต้องเวลาไปแช่ด้วย
Note:
- ปัจจุบันนี้มีออนเซ็นบางแห่งเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสวมชุดว่ายน้ำในการแช่ออนเซ็นแล้วเหมือนกัน
- เนื่องจากที่ญี่ปุ่นในอดีตคนที่มีรอยสักจะถือว่าเป็นคนอันธพาลหรือเป็นแก๊งยากูซ่า ดังนั้นออนเซ็นบางที่ (น้อยมากๆ**) จึงไม่เปิดรับแขกที่มีรอยสักเพราะกลัวว่าจะทำให้แขกคนอื่นๆ ไม่กล้าเข้ามาใช้บ่อน้ำพุร้อน แต่ปัจจุบันความคิดเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลงไป แนะนำว่าหากใครมีรอยสักอาจจะต้องค้นคว้าข้อมูลหรือสอบถามกับทางสถานที่เบื้องต้นก่อนไปเข้าใช้บริการนะครับ
10.การถอดรองเท้า
คนญี่ปุ่นก็เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ตรงที่ไม่ใส่สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในบ้าน และยังมีการถอดรองเท้าตามสถานที่ต่างๆ นอกบ้านอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรียวกัง (โรงแรมขนาดเล็ก) ร้านอาหาร ออนเซ็น หรือวัดต่างๆ เนื่องจากคนญี่ปุ่นต้องการแบ่งแยกระหว่างโลกภายนอกที่สกปรกและโลกภายในที่สงบและสะอาด อีกทั้งคนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับความสะอาดของพื้นเพราะส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นมักทำกิจกรรมต่างๆ บนพื้น เช่นการนั่งรับประทานอาหารกับโต๊ะญี่ปุ่น หรือการนอนบนฟูกนั่นเอง ดังนั้นหากเราไปตามสถานที่บางแห่ง อาจจำเป็นต้องถอดรองเท้าวางไว้ข้างนอก และบางที่อาจมีรองเท้าแตะให้สวมใส่แทนครับ
………
เป็นยังไงกันบ้างครับแต่ละข้อ น่าสนใจกันมากๆ เลยเนอะ แม้บางอันอาจจะดูยุ่งยากหรือเข้มงวดเกินไปบ้าง แต่ทุกข้อก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลเบื้องหลังของมันอยู่ ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้ก็ล้วนทำขึ้นเพื่อความสงบและความสะดวกสบายในสังคมญี่ปุ่นทั้งนั้น สมกับที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่คนมีมารยาทและสุภาพมากที่สุดในโลก ใครมีข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติอื่นๆ เกี่ยวกับในประเทศญี่ปุ่นนอกเหนือจาก 10 ข้อเหล่านี้ก็อย่าลืมเอามาแชร์กันที่ใต้คอมเมนต์นี้ด้วยน้า~ じゃあね。
………
Referencehttps://skyticket.com/guide/19910https://www.kashiwaya.org/e/magazine/onsen/tattoos.htmlhttps://travellemming.com/perspectives/japan-taboos-to-avoid/https://boutiquejapan.com/japanese-etiquette/#h-passing-money-when-paying
0 ความคิดเห็น