จดหมายก็เป็นนิยายได้เหรอ? รู้จัก ‘Epistolary Novel’ เมื่อตัวละครเล่าเรื่องผ่านการเขียนจดหมาย

Dear ชาว Dek-D ทุกคน, สบายดีกันหรือเปล่าครับ? เชื่อว่าสมัยนี้คงมีน้อยคนนักที่จะเขียนจดหมายเพื่อติดต่อกัน และเปลี่ยนมาพิมพ์แชตในช่องทางโซเชียลต่างๆ บ้างก็ส่งอีเมล หรือโทรหากันซึ่งง่ายและสะดวกมากกว่า แต่ในอดีตนั้นวัฒนธรรมการเขียนจดหมายนับเป็นวิธีสื่อสารยอดฮิต  แล้วก็มีนักเขียนหลายคนเลือกเขียนนิยายโดยใช้จดหมายในการเล่าเรื่องเป็นหลัก ซึ่งเราเรียกกันว่า ‘Epistolary Novel’ หรือ ‘นิยายจดหมาย’ นั่นเอง

วันนี้พี่น้ำพุเลยขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนิยายประเภทนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับแนะนำ 6 นิยายจดหมายตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันให้ได้ตามไปเลือกอ่านกันด้วย จะมีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง รีบตามมาดูเลยย~ 

...................

Epistolary Novel คืออะไร?

Unsplash
Unsplash

คำว่า ‘Epistolary’ (อ่านว่า อีพิส’เตอะเรลี) มาจากรากศัพท์ภาษาโรมันคำว่า ‘Epistola’ ที่หมายถึง ‘จดหมาย’ ดังนั้น Epistolary Novel จึงเป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องด้วยการบอกเล่าของตัวละครผ่านจดหมายนั่นเอง 

และแม้จะได้ชื่อว่านวนิยายจดหมาย แต่อาจมีการนำสื่อประเภทอื่นๆ เข้ามาร่วมใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมุดไดอารี เอกสาร สมุดจดบันทึก หนังสือพิมพ์ และสื่อกลางทั้งหลายที่มนุษย์สามารถขีดเขียนลงไปได้ และแน่นอนครับ ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างเต็มตัว ก็จะปรากฏการใช้อีเมล แชต หรือ โพสต์บนโซเชียลมีเดียสอดแทรกในซีนต่างๆ ของนวนิยายร่วมสมัยอยู่หลายเรื่อง

ความเป็นมาของนวนิยายจดหมาย

Unsplash
Unsplash

ต้องบอกว่างานนวนิยายประเภทจดหมายมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาอย่างยาวนานพอๆ กับที่คำว่า ‘นวนิยาย’ ถือกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป เนื่องจากนักเขียนสมัยนั้นมักจะสอดแทรกจดหมายเข้าไปเป็นตัวช่วยดำเนินเรื่องในนวนิยาย แล้วต่อมาก็เป็นองค์ประกอบที่เด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ครับ 

แต่นิยาย Epistolary นี้เพิ่งจะมาบูมในแถบยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 เพราะมีนักเขียนหลายคนเริ่มใช้จดหมายมาดำเนินเรื่องเป็นหลักตั้งแต่ต้นจนจบ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง ‘Pamela’ ของ Samuel Richardson ที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของพาเมลาผ่านสมุดบันทึกของเธอ และจดหมายที่เธอส่งหาพ่อแม่ ถือเป็นนวนิยายแนวจดหมายเรื่องแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จและจุดกระแสให้เกิดงานเขียน Epistolary ตามมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้

จุดเด่น Epistolary Novel

Unsplash
Unsplash
  • เล่าเรื่องผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 (First-person Narrative) ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ข้างในหัวของพวกเขา ได้รับรู้มุมมอง วิธีคิด และความรู้สึกภายใน ทำให้ยิ่งอินกับเนื้อเรื่องมากกว่าเดิม
  • บางคนสงสัยว่าถ้ารู้ขนาดนั้นแล้วจะไม่หมดสนุกเหรอ? ไม่ครับ กลับกันคือยิ่งน่าตื่นเต้นด้วยซ้ำ! เพราะเราจะรู้แค่สิ่งที่ตัวละครคิด ไม่ได้รู้สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเหมือนกับการอ่านนวนิยายประเภทมุมมองพระเจ้า (Omniscient) ทำให้เวลาอ่าน เราก็จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในนิยายไปแทบจะพร้อมๆ กับตัวละคร บางเรื่องต้องลุ้นตามจนตัวเกร็ง เหมือนกับเราได้รออ่านจดหมายอัปเดตเรื่องราวจากตัวละครในแต่ละ Chapter กันจริงๆ
  • แม้จะเป็นนวนิยายจดหมายแต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อเหมือนอ่านจดหมายจริงๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วนักเขียนจะใส่บทสนทนาหรือฉากแอ็กชันต่างๆ เข้ามาให้ผู้อ่านได้จินตนาการเห็นภาพได้อยู่เสมอ ไม่ต่างจากการอ่านนวนิยายในมุมมองรูปแบบอื่นๆ เลยครับ
  • เนื้อเรื่องอาจดำเนินผ่านจดหมายของหลายตัวละคร ทำให้เรารู้จักแครักเตอร์ตัวอื่นๆ และเข้าถึงจิตใจยิ่งขึ้นมุมมองและความคิดหลากหลายด้านของพวกเขา

แนะนำนวนิยายจดหมาย

1. Frankenstein (1818) ของ Mary Shelley

Amazon
Amazon

เริ่มกันที่ นวนิยายคลาสสิกชื่อดังที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อแต่อาจจะยังไม่เคยได้อ่านกัน ‘Frankenstein’ เป็นเรื่องราวของ ‘วอลตัน’ กัปตันเรือที่ออกไปทำภารกิจที่ขั้วโลกเหนือ ทำให้เขาได้พบกับ ‘ดร.แฟรงเกนสไตน์’ นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้าง ‘ปีศาจ’ หน้าตาอัปลักษณ์ตัวหนึ่งขึ้นมา ซึ่งตื่นขึ้นมาไล่ล่าและเอาชีวิตคนรอบตัว โดยหนังสือจะเล่าเรื่องราวของดร.แฟรงเกนสไตน์และเจ้าปีศาจ ผ่านจดหมายหลายฉบับที่วอลตันเขียนไปหาเล่าภรรยา นิยายเรื่องนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับปรัชญาการใช้ชีวิตมากมายโดยเฉพาะเรื่อง ‘ความน่ากลัวของธรรมชาติ’ และ ‘ความเป็นปีศาจ’ ในตัวมนุษย์ 

// บอกเลยเป็นหนึ่งในนิยายดีๆ ที่ทุกคนควรอ่านกันให้ได้สักครั้งในชีวิต รับรองว่าไม่ผิดหวังครับ!

2. The Tenant of Wildfell Hall (1848) ของ Anne Brontë

Amazon
Amazon

นิยายจดหมายชื่อดังจาก ‘แอน บรอนเต’ ดำเนินเรื่องผ่านสองตัวละครคู่พระนางอย่าง ‘กิลเบิร์ต’ และ ‘เฮเลน’ เรื่องมีอยู่ว่านางเอกได้ย้ายเข้ามาเป็นผู้เช่าในคฤหาสน์ไวลด์เฟล ฮอลล์พร้อมกับลูกชายหนึ่งคน บรรยากาศอบอวลไปด้วยปริศนาเพราะดผู้เป็นแม่ทำตัวลับๆ ล่อๆ และเด็กชายก็ไม่มีพ่อ จนชาวเมืองเริ่มเม้าท์มอยเกี่ยวกับเรื่องราวของเธอ มีเพียงพระเอกอย่างกิลเบิร์ตเท่านั้นที่ไม่เชื่อข่าวลือและเริ่มสนใจตัวนางเอก 

ในครึ่งแรกของหนังสือ เราจะได้อ่าน ‘จดหมาย’ ที่กิลเบิร์ตส่งให้น้องเขย เพื่อเล่าเรื่องราวของเขากับเฮเลน ส่วนครึ่งหลังเราจะได้สลับไปอ่าน ‘สมุดไดอารี’ ของเฮเลน ซึ่งจะเปิดเผยเบื้องหลังความเป็นมาของเธอก่อนที่จะย้ายมาที่ไวลด์เฟล ฮอลล โดยหนังสือพูดถึงทั้งเรื่องศาสนา ศีลธรรม ความรัก การแต่งงาน และสิ่งที่ผู้หญิงชาววิกตอเรียนต้องเผชิญ ใครที่ชอบนิยายโรมานซ์ผสมดราม่าในรูปแบบของจดหมายต้องห้ามพลาดเลย~

3. Dracula (1897) ของ Bram Stoker

Amazon
Amazon

ต่อกันที่ ‘แดรกคูลา’ นวนิยายสยองขวัญสุดคลาสสิกที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังสือและภาพยนตร์เกี่ยวกับแวมไพร์หลายๆ เรื่องในปัจจุบัน เรื่องนี้เริ่มเมื่อตัวละครหลักอย่าง ‘ฮากเกอร์’ เดินทางไปที่ปราสาทของ ‘เคาต์แดรกคูลา’ เพื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่เขากลับพบว่าที่นั่นมีอะไรไม่ชอบมาพากล ต่อมาฮากเกอร์ก็ค้นพบว่าที่นี่เป็นปราสาทของแวมไพร์ แต่พอจะหนีก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะเขาถูกจับขังเป็นนักโทษเพื่อรอเวลาเป็นอาหารของผีดูดเลือด! 

Dracula เป็นหนึ่งในนิยาย Epistolary ที่น่าสนใจเพราะรวมสื่อการเขียนทุกอย่างมาใช้ในการดำเนินเรื่องอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย บทความจากหนังสือพิมพ์ และสมุดจดบันทึกจากหลากหลายตัวละครทั้งคู่หมั้นของฮากเกอร์ หรือ ‘แวนเฮลซิง’ นักล่าแวมไพร์ แต่เรื่องราวของทุกตัวละครกลับเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี ใครที่อยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นยังไงต่อ ฮากเกอร์จะหนีจากปราสาทแวมไพร์ได้หรือเปล่า ต้องตามไปอ่านและเอาใจช่วยเขากันแล้ว~

4. The Perks Of Being a Wallflower (1999) ของ Stephen Chbosky

Amazon
Amazon

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในนวนิยาย Coming of Age (นิยายที่ตัวเอกก้าวผ่านวัย) ที่พูดถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นไว้ได้ดีเล่มหนึ่ง ทั้งการสำรวจตัวเอง การพบเจอคนใหม่ๆ ความอึดอัดของวัยรุ่น รวมถึงการเป็น ‘Wallflower’ หรือ ‘ดอกไม้กำแพง’ ศัพท์ที่เอาไว้ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ถนัดในการเข้าสังคมหรือกลุ่มคนที่มักถูกทิ้งให้ยืนอยู่ติดกำแพงในงานเต้นรำเพราะไม่มีใครสนใจนั่นเอง ซึ่ง ‘ชาร์ลี’ ตัวเอกของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น 

เรื่องราวจะดำเนินผ่าน ‘สมุดจดบันทึก’ ของชาร์ลีที่บันทึกชีวิตของเขาในการก้าวเข้าสู่โลกของเด็กมัธยมปลาย การอ่านบันทึกของชาร์ลีก็เหมือนเป็นการอ่านใจของเขา เพราะคนเราล้วนทั้งเขียนเรื่องราวเพื่อตัวเอง ดังนั้นแต่ละสิ่งที่ถ่ายทอดลงบนกระดาษล้วนแล้วมาจากความคิดและความรู้สึกที่ซื่อตรงของเด็กวัย 15 ดังนั้นภาษาในเรื่องจึงไม่ได้อ่านยากมาก เรียกว่าเป็นหนังสือที่ครบรสและให้ข้อคิดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ดีมากๆ เลยครับ

5. The Princess Diaries (2000) ของ Meg Cabot

Amazon
Amazon

ใครชอบความเป็นเจ้าหญิง สายแฟร์ ลูกคุณ ต้องห้ามพลาดกับนิยายเรื่องนี้! เพราะชีวิตของตัวเอกของเรื่องอย่าง ‘มีอา’ ต้องปั่นป่วนเมื่อเธอค้นพบว่าจริงๆ แล้วพ่อของตัวเองเป็นเชื้อพระวงศ์ประเทศ Genovia  และทำให้เธอมีศักดิ์เทียบเท่าการเป็นเจ้าหญิง! 

นิยายเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตพลิกผันของเด็กสาวมัธยมที่จู่ๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหญิง มีอาต้องปรับตัวและเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดก็จะเล่าผ่านไดอารีของเธอตามชื่อเรื่อง ‘The Princess Diaries’ นั่นเอง 

นิยายในซีรีส์นี้ขายดีมากๆ แถมยังเคยนำมาทำเป็นภาพยนตร์จนปังสุดๆ ใครเป็นมือใหม่อยากเริ่มคนที่ฝึกภาษาอังกฤษจากการอ่านนิยาย พี่ก็ขอแนะนำให้ไปตำกันเลย~ 

6. On Earth We’re briefly Gorgeous (2019) ของ Ocean Vuong

Amazon
Amazon

ปิดท้ายด้วยนวนิยาย Epistolary ร่วมสมัยสุดไอคอนิกจากนักเขียนและกวีชาวเวียดนาม-อเมริกัน อย่าง ‘โอเชียน วอง’ ตัวละครหลักของเรื่องชื่อ Little Dog เป็นเด็กหนุ่มชาวเวียดนามที่อพยพหนีสงครามมาที่อเมริกาพร้อมกับครอบครัว ดังนั้นเรื่องนี้จึงตีแผ่ American Dream ได้อย่างครบรส เล่าถึงสิ่งที่ผู้อพยพชาวเอเชียมักเผชิญเมื่อย้ายมาอยู่ในสังคมของอเมริกา รวมถึงเล่นประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ เชื้อชาติ เพศ และครอบครัวแบบหนักหน่วงด้วย   

Little Dog จะเล่าถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญผ่านจดหมายที่เขาเขียนให้ ‘แม่’ ของเขา ทั้งเรื่องการค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง การถูกเหยียดเชื้อชาติ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนภายในครอบครัวของพวกเขาเอง แต่ความตลกร้ายนั่นคือแม่ของ Little Dog จะไม่มีวันรับรู้สิ่งที่เขาเขียนไปในจดหมาย เพราะเธออ่านหนังสือไม่ออก! นิยายเรื่องนี้เลยเปรียบเสมือนบันทึกคำพูดและความรู้สึกต่างๆ ที่ตัวละครหลักรู้สึกแต่กลับไม่สามารถถ่ายทอดออกไปให้แม่ของเขาฟังได้ และคนที่จะเป็นผู้รับรู้เรื่องราวและแบกรับความรู้สึกของเขาไว้ก็คือนักอ่านอย่างเราๆ นี่เอง (ว้าวมากๆ ยิ่งอ่าน ยิ่งอิน!) ถือว่าเป็นการนำเทคนิคการเล่าเรื่องโดยใช้จดหมายมาประยุกต์กับการวางพล็อตเรื่องได้อย่างลงตัว ใครชอบอะไรแนวนี้รีบไปหามาอ่านด่วนๆ เลยครับ

……….

  เป็นยังไงกันบ้างครับกับนิยายแต่ละเรื่องที่เลือกมา มีใครอยากอ่านเรื่องไหนกันบ้าง ต่อไปนี้ทุกคนคงจะเข้าใจนวนิยายประเภทจดหมายกันมากขึ้นแล้วเนอะ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของนิยายที่น่าสนใจและอ่านสนุกมากๆ ถ้าหากใครรู้จักหรือเคยอ่านนิยายประเภท Epistolary เรื่องอื่นๆ ก็สามารถนำมาแชร์กันได้ที่คอมเมนต์ข้างใต้นี้ได้เลย~
 

Sourceshttps://www.studysmarter.co.uk/explanations/english-literature/literary-devices/epistolary-fiction/ https://www.britannica.com/art/epistolary-novel https://en.wikipedia.org/wiki/Epistolary_novel https://www.grammarly.com/blog/what-is-an-epistolary-novel-definition-and-examples/ 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด