สวัสดีครับชาว Dek-D ล่าสุดทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ให้ทางมหาวิทยาลัยไทยจัดให้นักศึกษาทุกคนต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์มาตรฐาน “CEFR” ก่อนเรียนจบ (ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่นๆ) ซึ่งครอบคลุมทั้งม.รัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี ไปจนถึงบัณฑิตศึกษากันเลยทีเดียว
เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่าการสอบ CEFR คืออะไร? มีการแบ่งระดับอย่างไรบ้าง? และถ้าเทียบกับการสอบที่เรารู้จักเช่น IELTS, TOEFL, PTE หรือ TOEIC จะสามารถเทียบเคียงคะแนนได้ประมาณไหน ไม่รอช้า ตามมาทำความรู้จักกับ CEFR กันเลยครับ
CEFR คืออะไร?
CEFR หรือ Common European Framework of Reference for Languages คือ มาตรฐานสากลของสหภาพยุโรปที่ใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ ในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด โดยแบ่งเป็น 6 ระดับ ดังนี้
A1 (Beginner / Breakthrough)
สำหรับ A1 จะเป็นระดับพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เนื้อหาระดับความรู้ก็จะเป็นเรื่อง Basic บทสนทนาทักทายง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถบอกได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน หรือถามคนอื่นในเรื่องทั่วไปได้ รูปประโยคง่ายไม่ค่อยมีความซับซ้อน สามารถฟังประโยคสนทนาได้ แต่ต้องเป็นประโยคที่พูดช้าๆ โดยหลายคนมักจะเรียกระดับ A1 ว่า Beginner, Preliminary หรือ Starter
A2 (Elementary / Waysatge)
เป็นระดับพื้นฐานที่พอจะเข้าใจเนื้อหาได้หลากหลายมากขึ้น สามารถใช้สำนวนทั่วไปในการสนทนาได้มากกว่า A1 เช่น ถามตอบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ยากมาก การซื้อของ เล่าเกี่ยวสถานที่น่าสนใจ อาจพูดถึงสภาพแวดล้อมหรือเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมได้บ้าง
B1 (Intermediate / Threshold)
B1 เป็นระดับกลางขั้นต้น จะเข้าใจและสามารถสื่อสารในประเด็นต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถรับมือกับการอยู่ในสถานการณ์ที่มีแต่คนพูดแต่ภาษาอังกฤษได้ และยังเชื่อมโยงเนื้อหา อธิบายประสบการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ได้พอสังเขป เช่น การทำงาน การเรียน งานอดิเรก พูดถึงเรื่องความหวังหรือความฝันได้ สามารถยกเหตุผลประกอบการอธิบายได้ เสนอความคิดเห็นและวางแผนได้
B2 (Upper Intermediate / Vantage)
สำหรับผู้ที่อยู่ในระดับ B2 จะสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาที่ซับซ้อน หรือหัวข้อที่เป็นนามธรรมได้ดี สามารถพูดคุยโต้ตอบได้อย่างละเอียดและมีความเป็นธรรมชาติ สามารถใช้คำศัพท์เฉพาะทางได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองในหัวข้อหรือประเด็นที่มีความซับซ้อนกับเจ้าของภาษาได้อย่างราบรื่น
C1 (Advanced / Effective Operational Proficiency)
สำหรับ C1 เทียบเท่ากับผู้ใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่มีความยาก สื่อสารประโยคที่มีความยาวได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างการเล่าเรื่องที่ดีเป็นขั้นเป็นตอนและมีความชัดเจน สามารถตีความประโยคที่มีนัยแฝงได้ จำรายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องได้หมด อีกทั้งยังเชี่ยวชาญโดยไม่ต้องใช้เวลานึกคำหรือประโยค มีความยืดหยุ่นทางภาษา สามารถแยกการใช้ได้ทั้งในระดับสังคม วิชาการ หรือการทำงาน
C2 (Proficient / Mastery)
ปิดท้ายที่ระดับ C2 เรียกว่าผู้ใช้มีความเชี่ยวชาญเทียบเท่ากับ Native speaker เลยก็ว่าได้ เพราะสามารถเข้าใจทุกอย่างที่ได้ยินหรือได้อ่านอย่างง่ายดาย สามารถแยกแยะความหมายที่ซับซ้อนและใกล้เคียงกันได้แม่นยำ มีความเข้าใจสำนวนยากๆ สามารถสรุปข้อมูลและข้อโต้แย้งจากแหล่งที่มาต่างๆ ทั้งการพูดและการเขียนได้อย่างกระชับและใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
……….
สรุปเกณฑ์ CEFR ตามประกาศของ อว.
ระดับ | เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา |
อนุปริญญา | CEFR B1 ขึ้นไป |
ปริญญาตรี | CEFR B2 ขึ้นไป |
บัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท/เอก) | CEFR C1 ขึ้นไป |
ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ในหลายๆ มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้นิสิต/นักศึกษาทำการทดสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา ซึ่งข้อสอบที่แต่ละมหา’ลัยจัดก็อาจแตกต่างกันไป อย่างมหาวิทยาลัยที่พี่เคยเรียนก็จะให้นิสิตสอบ Cambridge English Qualifications ซึ่งมีเกณฑ์การให้คะแนนแบบเดียวกับ CEFR เลยครับ
ซึ่งถ้าหากอ้างอิงจากประกาศข้อที่ 8 ได้ระบุไว้ว่า “ให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาจัดให้นิสิตนักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้น หรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่นๆ โดยเทียบเคียงผลกับ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) เพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษของนิสิตนักศึกษาแต่ละคน” ว่าแล้วก็มาดูคะแนนสอบภาษาอังกฤษที่หลายคนรู้จักกัน เช่น IELTS, TOEFL, PTE และ TOEIC สามารถเทียบทเคียงกับ CEFR ในระดับใดบ้าง
ดาวน์โหลดประกาศจาก อว.ทำความรู้จักการสอบแต่ละประเภท
0 ความคิดเห็น