จากสหกิจฯ “พัฒนาชุมชน” กลายเป็นโปรเจคจบของ “ดริ้ง-ธิดารัตน์” นศ. ปี 4 มจธ.

     ก่อนหน้านี้น้องๆ หลายคนเกิดความสับสนระหว่าง “การฝึกงาน กับ สหกิจศึกษา” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร (คลิก) การฝึกงาน หรือสหกิจฯ มีความจำเป็นมากแค่ไหน ฝึกแล้วมีประโยชน์อย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น วันนี้พี่แนนนี่มีตัวอย่างหนึ่งในผลลัพธ์จากการฝึกงาน-สหกิจศึกษามาฝากกันค่ะ
 

 
      “ดริ้ง-ธิดารัตน์ นันตาฤทธิ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงานวิจัย “การพัฒนาและออกแบบหัตถกรรมจักสานค้อ เพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ใบชาอบแห้ง สำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ (จ.เชียงใหม่)” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการไปฝึกงานกับชุมชน ในโครงการ Social Lab เรียนรู้คู่สังคมของทางมหาวิทยาลัย
 
Q: เล่าให้ฟังหน่อย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอย่างไร
ดริ้ง: เป็นการนำงานหัตถกรรมของชุมชน มาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน แต่เดิมชาวบ้านสานกระติ๊บข้าวเหนียว เป็นประจำ แล้วก็เข้าใจว่า มันมี function แค่ใส่ข้าวเหนียวอย่างเดียว เราก็มาออกแบบ ให้เป็นแบบ multi-function ก็คือ นำมาใส่ product ต่างๆ จำหน่าย หลังจากนั้นก็สามารถเอาไปทำเป็นอย่างอื่น อย่างอันนี้ เป็นกล่องใส่ทิชชู่
 
     ผู้คนในพื้นที่ชุมชนบริเวณศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม โดยหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะมีรายได้น้อยลง แต่บริเวณโดยรอบชุมชน  มี “ต้นค้อ” อยู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถนำเปลือกของก้านค้อมาทำเป็นเส้น แล้วสานให้เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่าง กระติ๊บข้าวเหนียว ถาดปากพับ ทางมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า จึงได้เข้าช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน ซึ่งการวิจัยของน้องดริ้ง เป็นหนึ่งในการพัฒนาชุมชน
 

รูปภาพจาก KMUTT
 
ดริ้ง: เราก็เลยค่อยๆ เข้ามาเปลี่ยนทัศนคติเขาว่า ถ้าสมมุติเราทำอะไรที่แปลกใหม่
ได้ เพิ่มงานให้เรา เพราะคนที่นี่ ทำเกษตรเป็นหลัก มันก็เก็บเกี่ยวแค่หน้าเดียว ก็หมด แล้วช่วงนั้นเขาก็จะว่าง ไม่ค่อยมีรายได้ แต่ถ้าเขาทำตัวนี้ ทำตามแบบที่เราออกให้ เขาก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะบรรจุภัณฑ์มันใช้อยู่ตลอด

 

รูปภาพจาก KMUTT
 
Q: ย้อนไปก่อนหน้านี้ ดริ้ง มาเข้าร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร
ดริ้ง: สมัครมาเองค่ะ เป็นโครงการของส่วนงานสนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ช่วยส่งเสริมโครงการหลวงอยู่เป็นประจำ เราเลือกมาฝึกงานเอง 2 เดือนก่อน แบบตอนแรกก็ไม่รู้ว่า รูปแบบงานจะเป็นแบบไหน คิดว่าเป็นการลง field ช่วยชาวบ้านอะไรแบบนี้ แล้วชื่อโครงการก็ออกแนวมาค่าย แต่จริงๆ มาฝึกงาน ก็ไปเก็บข้อมูล ช่วยทำวิจัย พวกเรื่องวิเคราะห์สาร สกัดสาร ซึ่งไม่ตรงกับที่เรียน แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้งานสาขาอื่น จากนั้น 4 เดือนถัดมาก็ขึ้นมาอยู่ที่ชุมชนฯ ไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวบ้านด้วย ทำให้ได้โปรเจคจบชิ้นนี้
 
Q: กว่าจะเป็น Final Year Project หรือโปรเจคจบชิ้นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
ดริ้ง: ตอนแรกมองไม่ออกว่าจะทำอะไร ฝึกงานแบบจะลงชุมชน ไม่ได้เป็นแพทเทิร์นแบบโรงงานว่าเราทำงานเป็นระบบ ก็ต้องมาคิดงานเอง แล้วไปปรึกษาพี่เลี้ยง ว่างานเราน่าสนใจที่จะทำ ทำแล้วคุ้มกับชาวบ้าน ทำแล้วส่งผลประโยชน์กับชาวบ้านไหม  ที่นี่ถ้าจะทำงานที่เน้นส่งเสริมชาวบ้าน ที่ดูแลชาวบ้าน สร้างอาชีพให้มากกว่า เน้นงานกับชุมชน
     จากนั้นเราก็ได้มาดูงานพี่น้ำตาล (นศ.ปริญญาโท การจัดการ) ที่วิเคราะห์ Value chain วิเคราะห์ต้นทุน แล้วเราก็มาดูแบบงานที่ชุมชนมี มันก็แบบงานแพทเทิร์นเดิมๆ ด้วยความที่คนสาน คนทำงานในกลุ่มเป็นผู้สูงอายุ เวลามีออเดอร์เข้ามา จริงๆ แต่ละปีจะมีออเดอร์เข้ามาเยอะ แต่เป็นรูปแบบอื่น ซึ่งชาวบ้านสานไม่ได้ เพราะยากด้วย ไม่อยากทำในสิ่งที่ไม่เคยทำด้วย เราก็เลยหาแบบง่ายๆ ง่ายที่สุด คืออย่าง “กล่องทิชชู่” เราก็ว่าออกแบบง่ายแล้วนะ ง่ายสุดแล้ว คนข้างนอกดูก็ว่าทำไมออกแบบง่ายจัง แต่พอเอามาสาน มันจะยากนะ ชาวบ้านทำไม่ได้ ไม่เคยทำ สุดท้ายเลยต้องแกะแบบ สานเป็นไม้ไผ่ ก่อนให้แม่หลวง (หัวหน้าชุมชน) แกะแบบ แล้วมาสานเป็นค้ออีกทีนึง
 

“ดริ้ง-ธิดารัตน์ นันตาฤทธิ์”
 
      นอกจากงานวิจัยของน้องดริ้ง ภายใต้โครงการ “มจธ. เรียนรู้คู่สังคม: บูรณาการการเรียนการสอน งานวิจัย เพื่อคนบนพื้นที่สูง” แล้วยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมาก ที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีร่วมมือกับชุมชนและโครงการหลวง ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและพัฒนาสังคม โดยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
 
      โครงการ “มจธ. เรียนรู้คู่สังคม” หรือ “Social Lab” เป็นกลไกหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ที่ทั้งเก่งและดี มีบทบาทเป็นผู้ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ต่อไป จึงได้ส่งเสริมการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม และเปิดโอกาสให้บุคลากร นักศึกษาทำงานให้สังคม มีการบริการวิชาการแก่สังคมไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้ เสริมสร้างความสุขให้กับคนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดูแลใส่ใจชุมชนนอกมหาวิทยาลัย รักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มรายได้ของชุมชนในการพึ่งพาตนเองในระยะยาว โดยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตลอดจนจัดพื้นที่ของชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และทำวิจัยภาคสนามร่วมกัน ระหว่างชุมชนกับบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย (Social Lab)
 
 
 
      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ดำเนินโครงการลักษณะนี้ ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดของประเทศไทย โดยบูรณาการการเรียนรู้ การวิจัย และองค์ความรู้ร่วมกัน ระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา กับชุมชุน และผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่
 
ตัวอย่างเช่น
      ส่วนงานสนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ที่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ และชุมชน นำความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาการ ด้านพลังงาน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการสนับสนุนงานด้านการเกษตร
 
      ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และสถานีเกษตรหลวงปาดะ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งในกลุ่มงานที่ทางมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ ก่อให้เกิดงานวิจัยช่วยเหลือชุมชนมากมาย เช่น
  • การปรับปรุงกระบวนการตัดแต่งฟักทองญี่ปุ่น (เพื่อลดเวลาและต้นทุน) และการบูรณาการการเรียนการสอนและงานวิจัยเพิ่มมูลค่าเศษฟักทองที่เหลือจากการตัดแต่ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน (การแปรรูปเค้กและมัฟฟินฟักทอง, การวิจัยสกัดเอนไซม์โปรติเอสจากส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตฟักทอง, การสกัดน้ำมันจากเมล็ดฟักทอง)
  • การวิจัยเพื่อออกแบบและทดสอบระบบอบแห้งเห็นหลินจือ
  • การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านม่อนเงาะ
  • งานหัตถกรรมจักสานค้อและไม้ไผ่ บ้านก๋ายน้อย (การวิจัยพัฒนำเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์จากเปลือกก้านค้อ, การวิเคราะห์ห่วงซ่คุณค่าสินค้าหัตถกรรมจักสานจากใบค้อและไม้ไผ่ บ้านก๋ายน้อย)
  • งานวิจัยเทคนิคการใช้หลอดไฟ LED ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช (ศึกษาความยาวคลื่นแสง)
  • การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่และออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม สถานีเกษตรหลวงปาดะ
  • การวิจัยออกแบบระบบควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือนปลูกไม้ดอก
     

 
Q: หลังจากที่ได้ฝึกงานสหกิจศึกษา นอกจากจะได้ Final Year Project แล้ว ดริ้งได้รับประสบการณ์จากการลงพื้นที่ชุมชน 6 เดือน
ดริ้ง: หลังจากอยู่ที่นี่ 6 เดือน ได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวบ้าน ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติหลายๆ ด้าน ปรับชีวิตประจำวันด้วย รู้สึกว่ามาใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่วุ่นวาย เช่น  การตื่นนอน อยู่กรุงเทพ เรียน 8.30 ตื่น 8.00 หรืออยากตื่นกี่โมงก็ตื่น แต่มาอยู่บ้านชาวบ้าน เขาตื่นเช้า ตี 4-5 ก็ต้องตื่น แล้วมาช่วยเค้าทำนู่นทำนี่ ทำกับข้าว ซึ่งพอกลับมากรุงเทพฯ ก็ยังเป็น ตอนนี้ตื่นเช้าขึ้น ไปเช้า ไปเรียนเร็วขึ้น หรือเรื่องการทำงาน ก่อนหน้านี้ เราเป็นคนไม่ฟังใคร “ใครไม่ทำ ไม่ต้องทำ ฉันคิดของฉันเอง” “แบบความเห็นฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะทำ เธอไม่สนใจ เธอไม่ต้องทำ เดี๋ยวฉันทำเอง” แต่เดี๋ยวนี้ก็เปิดใจยอมรับความคิดเห็นเพื่อน ตอนมาแรกๆ ก็เป็นนะ “อ่าว ทำไมทุกคนไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด ทำไมทุกคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ” เราก็ค่อยๆ ปรับไป แต่สิ่งเปลี่ยนแปลงชัดเจน แบบที่ตัวเราเห็นมากที่สุด คือ เรายอมรับความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น
 

 
     สำหรับประสบการณ์ของ ดริ้ง-ธิดารัตน์ ก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ 3 ประการ
- บูรณาการการเรียน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
- เป็นกลไกที่ประสานและเอื้ออำนวยให้อาจารย์นักวิจัย และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทย เข้าใจบริบทการดำรงชีวิต สังคม และสภาพแวดล้อม
- เอื้ออำนวยให้มหาวิทยาลัยพัฒนาโจทย์วิจัย และการบริการวิชาการที่มีความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคมและชุมชน
 
      รวมไปถึงหนึ่งในเป้าหมายหลักที่สำคัญของโครงการ Social Lab เรียนรู้คู่ชุมชน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนี้ อย่าง “การสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ (Humanization) ให้มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม” อีกด้วย
 

รูปภาพจาก KMUTT
 
Q: แนะนำโครงการนี้กับน้องๆ หน่อย
ดริ้ง: มาอยู่ตรงนี้จะได้ปรับเปลี่ยนมุมมองเยอะๆ เพราะได้อยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ จะได้นั่งคิดว่า เราทำอะไรได้มากกว่าการจับโทรศัพท์ไปวันๆ แล้วอย่างเรามาอยู่ที่นี่ เราได้เรียนรู้การเข้าสังคม เรียนรู้ที่จะเปิดใจยอมรับคนอื่น อย่างตอนแรก เข้าไปทำงานร้องไห้ เพราะไม่รู้ว่าจะเข้ากับชาวบ้านยังไง ไม่รู้วิถีชีวิต ทัศนคติเขา ก็ต้องไปชวนเขาคุย ไปเจอเขาตลอดเวลา แล้วถ้าเขาอยากทำแบบที่ต่างจากเรา เราก็ต้องพยายามหาวิธีของเราที่จะ support วิธีของเขาได้ เดินมาเจอกันครึ่งกลางไรแบบนี้ แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะลำบาก ลองมา มาเถอะ เราไม่สามารถบอกได้ว่า มันดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ดีอย่างไร แต่ที่จะบอกคือ “ถ้าอยากเรียนรู้อะไรที่กรุงเทพฯ ไม่มีให้เราเรียน ในโรงงานไม่มีให้เราเรียน ให้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จะดีกว่า”
 

 
     แค่การตัดสินใจไปฝึกงานในระยะเวลาสั้นๆ แม้ช่วงแรกจะไม่ตรงกับสายการเรียน แต่สุดท้าย “ดริ้ง-ธิดารัตน์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ได้รับประสบการณ์กลับบ้านแบบล้นกระเป๋า แถมใจดีมาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ ชาว Dek-D กันด้วยค่ะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น