ตามติด 1 วันชีวิตทำงาน 'นักวิเคราะห์น้ำหอม' เสกกลิ่นน่าหลงใหล สร้างโมเมนต์ชื่นใจทุกวัน

สวัสดีจ้าชาว Dek-D กลับมาพบกับ A day in life สกู๊ปพิเศษที่จะพาทุกคนไปตามติดชีวิตหนึ่งวันทำงานของอาชีพในฝันกันอีกครั้ง ในปลายเดือนนี้พี่ส้มมีอาชีพสไตล์หวานๆ ของคนจบสายวิทย์มานำเสนอให้น้องๆ ที่ชอบเรียนเคมีสุดใจ หรือใครที่เบื่อวิชานี้ได้ลองเปลี่ยนมุมมองว่ายังมีสายงานที่แปลกและน่าสนุกรออยู่เหมือนกันนะ เอาล่ะค่ะ.. เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เรามาทำความรู้จักอาชีพนักวิเคราะห์น้ำหอม หรือ 'Fragrance Evaluator' กันดีกว่า!!!

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

นั่นแน่... รู้นะว่าหลายคนก็สัมผัสถึงความแปลกตั้งแต่แรกได้ยินชื่ออาชีพเหมือนกันใช่มั้ยคะ? งั้นมาปูพื้นฐานเข้าใจกันก่อนคร่าวๆ ให้เห็นภาพกันก่อนว่านี่คืองานของคนที่อยู่เบื้องหลังกลิ่นหอมของทุกผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน โดยนักวิเคราะห์น้ำหอมจะเป็นผู้คัดเลือกน้ำหอมที่เหมาะสมเพื่อผสมลงไปสินค้าชนิดต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู น้ำหอม น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน หรือแม้กระทั่งน้ำยา ทำความสะอาดพื้นค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

แล้วอาชีพนี้มีความสนุกแบบไหนรออยู่บ้างน่ะเหรอ? ขอบอกว่ามากมายตั้งแต่สแกนนิ้ว เข้างานจนเก็บกระเป๋ากลับบ้านเลยล่ะ แต่คนที่จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ 'พี่ซีตรอง' นักวิเคราะห์น้ำหอมสาวสวยที่เราจะไปเกาะติดชีวิตการทำงานของเธอ ทั้งที่โต๊ะทำงานและในห้องแล็บแบบแนบชิดสนิทสนมกันแบบซิสกับคุณน้องกันเลยค่ะ 

PROFILE :

  • เพ็ญธิกมล อุ่นอกพันธุ์ (พี่ซีตรอง)
  • ปริญญาตรี : สาขาวิทยาศาสตร์
    เครื่องสำอาง คณะเภสัชศาสตร์
    มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ปัจจุบัน : RD Executive
    (Research And Development)
    ส่วนงาน Fragrance Evaluator
    บริษัท จีทีซี จำกัด

เสน่ห์ความหอมที่น่าหลงใหล จนทำให้คนเปลี่ยนสายงาน

ดูจากวุฒิการศึกษาที่ปรากฏอยู่ก็พอรู้ว่าพี่ซีเรียนจบมาตรงสายและต้องได้เกรดเคมีไม่ง่อยเปลี้ยเสียขามาอย่างแน่นอน แต่ถ้าเจาะลึกลงไปที่คำว่า "วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง" ก็ต้องบอกเลยค่ะว่างานนี้ต่อให้เก่งแค่วิทย์อย่างเดียวก็ไม่รอด! เพราะพี่ซีตรองบอกว่าเสน่ห์ของอาชีพนักวิเคราะห์น้ำหอมคือการผสานความเป็นวิทย์และศิลป์ให้ลงตัวให้ได้ เพราะกว่าจะได้น้ำหอมแต่ละขวด สบู่แต่ละก้อน ตามบรีฟของลูกค้าเราต้องใช้เวลาจินตนาการ ร้อยแปด พอๆ กับตอบโจทย์สมการเคมียากๆ เลยจ้า 5555

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

แม้เจ้าตัวจะออกปากเลยว่านี่ไม่ใช่งานง่าย แต่เธอเองนี่แหละที่เลือกมาเป็นนักวิเคราะห์น้ำหอมเองด้วยความเต็มใจ รับหน้าที่คัดเลือกน้ำหอมมาลงในผลิตภัณฑ์ด้านความงาม จนหลงเสน่ห์ในโจทย์ของการกำหนดกลิ่นสุดท้าทายเข้าอย่างจัง เช่น "เลือกกลิ่นเจลอาบน้ำ สีแดงให้รู้สึกพรีเมียมหรูหรา" "เลือกกกลิ่นโฟมล้างหน้าให้รู้สึกถึงสีชมพู" หรือ "ขอกลิ่นโลชั่นที่ทำให้นึกถึงสาวเรียบร้อยหน่อยสิ" ฯลฯ  

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

เมื่อได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนมั่นใจว่าอยากออกไปลองทำงานด้านน้ำหอมอย่างเต็มตัว พี่ซีตรองก็ตัดสินใจได้เลยตัดสินใจเริ่มงานใหม่ในทีม Research And Development ของส่วนงาน Fragrance Evaluator ของบริษัท จีทีซี จำกัด ซึ่งอาจพูดตรงๆ ได้เลยว่า แม้อาชีพนักวิเคราะห์น้ำหอมจะไม่ใช่อาชีพแปลกใหม่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะฉะนั้น นี่ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เขยิบปลายจมูกมารู้จักอาชีพนี้กันค่ะ^^

1 วัน ของอาชีพนักวิเคราะห์น้ำหอม

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

9.00 - 10.00 น.

ชีวิตทำงานของคนที่วิเคราะห์น้ำหอม ก็ต้องเริ่มต้นด้วยความหอมตั้งแต่เช้าสิจ๊ะ! เพราะ หน้าที่แรกที่พี่ซีตรองต้องทำเลยก็คือการดม 'Raw materials' หรือกลิ่นพื้นฐานของน้ำหอมที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักขั้นแรกที่คนทำน้ำหอม (Perfumer) จะนำพวกมันมาผสมกันเพื่อให้ได้น้ำหอมกลิ่นต่างๆ แล้วส่งมาให้ทีม Fragrance Evaluator ซึ่งก็คือทีมของพี่ซีตรองได้เลือกนำไปใช้ในภายหลัง

       
ฟังดูเหมือนจะฟินแต่ก็ต้องดมให้ชินและจำให้แม่นยำ ที่สำต้องคัญแยกให้ได้ด้วยนะคะว่านี่คือกลิ่นอะไร เพราะในโลกของน้ำหอมมีการแบ่งประเภทของกลิ่นพื้นฐานที่ว่าไว้หลากหลายมาก อาทิ ดอกไม้ ผลไม้ เปลือกไม้ ดิน และยังมีการแตกแขนงลงลึกไปอีก อย่างกลิ่นส้ม ก็มี ส้มนานาพันธุ์ เช่น ส้มยูสุ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มโชกุน ฯลฯ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

สำหรับวิธีการดมน้ำหอมที่ถูกต้องนั้น จะต้องหยดใส่ 'สตริป' (strip) หรือกระดาษแผ่นเล็กๆ ยาวๆ ตามบูธเครื่องสำอางที่พนักงานขายมักฉีดน้ำหอมให้เราทดลองดมก่อนซื้อนี่แหละค่ะ โดยพี่ๆ ในทีม Research And Development เขาต้องดมครั้งละหลายสิบกลิ่น พร้อมกับ เบรนสตอร์มกันไปทีละกลิ่นด้วยว่าเกิดความรู้สึกแบบไหน จะได้เป็นฐานข้อมูลคร่าวๆ ในการเลือกน้ำหอมให้ลูกค้าค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

ได้เห็นขั้นตอนนี้แล้ว มีใครสงสัยเหมือนพี่ส้มบ้างมั้ยว่า ดม Raw materials กันเป็นชั่วโมง แล้วต้องดมทุกวันแบบนี้ มีมึนหัวหรือเป็นอันตรายบ้างรึเปล่า? ซึ่งพอได้ถามออกไป พี่ซีตรองก็มีคำให้ตอบโล่งใจพร้อมได้เกร็ดความรู้กลับมาว่า "การดมกลิ่นที่แตกต่างกันเป็นเวลานาน เป็นธรรมดาที่เราจะมึนหัว หรือสับสนกับกลิ่นต่างๆ ที่คล้ายกันได้ จึงต้องพักจมูกด้วยการ ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์หรือดมเมล็ดกาแฟเพื่อตัดกลิ่นหอมที่ค้างอยู่ในความรู้สึกค่ะ ส่วนเรื่องอันตรายจากสารเคมีนี่ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะถือว่าอยู่ในปริมาณน้อยมาก แทบไม่ต่างจากการได้กลิ่นน้ำหอม โลชั่น เจลอาบน้ำ หรือน้ำยาปรับผ้านุ่มที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเลยค่ะ"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

10.00 - 11.00 น.

ตามติดถึงหน้าจอคอมในโหมดที่เธอสวมบทบาทเป็นสาวออฟฟิศนั่งไล่เช็กอีเมลเพื่ออัปเดตงาน ทั้งความคืบหน้าของงานเก่า และบรีฟงานใหม่จากลูกค้าแต่ละแบรนด์ที่ทางทีมเซลส์ส่งมาให้ว่า ต้องการน้ำหอมไปลงในผลิตภัณฑ์ชนิดไหน? มีรายละเอียดยังไงบ้าง? ซึ่งเมื่อสักครู่ก็พี่เพิ่งมีโจทย์สดใหม่มาเสิร์ฟให้แต่เช้าว่าต้องการน้ำหอมใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ให้ความรู้สึกหอมละมุนและสะอาดหมดจดค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

พอบรีฟเข้าด่วนจี๋ ภารกิจที่นักวิเคราะห์น้ำหอมจะต้องเร่งสานต่อก็คือการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่สำรวจตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ที่เป็นโจทย์หลักของเราในวันนี้ ว่ามีเทรนด์ของกลิ่นไปในทิศทางไหน เช่น ความหอมติดทนนานแค่ไหน? กลิ่นที่ให้ความรู้สึกสะอาดแบบไหนกำลังฮิต? ซึ่งบางครั้งก็ต้องลงทุนไปชอปปิ้งเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ มานั่งดมให้รู้เลยว่าเขาใส่ Raw materials อะไรลงไปบ้าง 

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

11.00 - 12.00 น.

เมื่อได้ไกด์ไลน์แล้วว่า ผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าบรีฟมาจะต้องใช้กลิ่นแบบไหน พี่ซีตรองจะทำการเข้าไปเลือกน้ำหอมในสต็อกว่ามีกลิ่นไหนตรงตามจินตนาการไว้จากตามข้อมูลที่ได้มารึเปล่า หรือถ้าเกิดปัญหาว่ายังไม่มีกลิ่นนี้ หรืออยากปรับแก้กลิ่นตรงจุดไหน ก็จะต้องทำการติดต่อไปยังทีม Perfumer เพื่อให้เขาผสมน้ำหอมให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าค่ะ พอได้น้ำหอมที่ต้องการแล้วก็จะมีการจัดทำ 'Profile' หรือ ข้อมูลน้ำหอมพร้อมตัวอย่างกลิ่นใส่ขวดไปให้ลูกค้า โดยมีทีมเซลส์เป็นตัวช่วยรีเช็กความถูกต้องอีกครั้งค่ะ ซึ่งถ้าลูกค้า 'Say yes!' ก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไปได้เลย

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

ว่าแต่การผสมน้ำหอมนี่ก็มีเกร็ดความรู้แทรกอยู่ด้วยนะคะว่าน้ำหอมที่ตั้งชื่อคล้ายกันนั้นไม่ใช่น้ำหอมกลิ่นเดียวกันค่ะ เช่น "Fruity Floral" กับ "Floral Fruity" ที่ดูแล้วก็แปลได้ว่า น้ำหอมกลิ่นดอกไม้ที่มีความเป็นผลไม้ และกลิ่นผลไม้ที่มีความเป็นดอกไม้ แต่ตามหลักการแล้ว คำไหนที่ถูกนำมาขึ้นต้นในชื่อก่อนจะหมายถึงกลิ่นหลักของน้ำหอมชนิดนั้น ต่างหาก โอ้วว!!! สาระ จดๆๆๆๆ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

13.00 - 15.00 น.

พักเหนื่อยกันไปแล้วก็มาสานต่อโปรเจกต์น้ำยาปรับผ้านุ่มอีกเจ้าในขั้นตอน "ลงแอปฯ" ที่บรรดานักวิเคราะห์น้ำหอมรู้กันว่าหมายถึง การผสมน้ำหอมที่ลูกค้าถูกใจและอนุญาตให้ทดลองผสมกับ 'เบส' (Base) หรือเนื้อผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีต่างๆ เรียบร้อยแล้วในเวอร์ชั่นไม่มีกลิ่นจากบริษัทลูกค้า เพื่อทดลองว่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมียังไงบ้าง โดยสิ่งที่ต้องสังเกตหลักๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อของผลิตภัณฑ์หลังผสมน้ำหอมว่าข้นขึ้น จางลง หรือสีผิดเพี้ยนไปจากเดิมมั้ย? กลิ่นเป็นยังไง? ซึ่งถ้าเกิดความผิดเพี้ยนก็จะต้องมีการแก้ไขด้วยความรู้ทางด้านเคมี เพื่อให้ลูกค้าได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงหรือใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุดตามงบประมาณการตกลงว่าจ้างไว้นั่นเอง เห็นมั้ยล่ะว่าตอนนี้ต้องใช้ความรู้วิทย์จ๋าๆ มาช่วยเลยน้าา

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

15.00 - 17.00 น.

ถ้า "ลงแอปฯ" แล้วไม่มีข้อผิดพลาดอะไร พี่ซีตรองก็จะได้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริงมาทดลองความเวิร์กของกลิ่นที่มีศัพท์เก๋ๆ เรียกว่า "Magic moment" หรือช่วงเวลาสำคัญที่น้ำหอมจะต้องทำงานได้ดีที่สุดในขั้นต่อไปค่ะ ซึ่งถ้าเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว จะต้องวัดกันที่ความหอมติดทนนานกับผ้าได้ดีค่ะ แต่ว่าถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น เจลอาบน้ำ ก็จะใช้อีกมาตรฐานนึงเพราะคนเราไม่ได้อาบน้ำเพื่อให้กลิ่นติดทนนานสักเท่าไหร่ แต่ต้องการให้หอมฟุ้งขณะอาบมากกว่า เป็นต้นค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

เห็นลงแล็บอยู่หยกๆ พี่ซีตรองก็สลับบทบาทสลัดเสื้อกาวน์มาเป็นแม่บ้านมือซักผ้า คว้ากะละมังมาลองเทสต์น้ำยาปรับผ้านุ่มด้วยการผสมน้ำตามอัตราส่วนพอเหมาะ หย่อนผ้าขนหนูผืนขาวสะอาดลงไปแช่ไว้ประมาณ 15 นาที จึงหยิบขึ้นมาบิดหมาดแล้วเอาไปตาก เพื่อรอดมอีกครั้งว่ากลิ่นหอมเข้มข้นติดนานคงทนพอรึยัง? ว่าแต่ที่เห็นชุดชั้นในเฟิร์สบราตากหราอยู่นี่ก็ไม่ใช่ว่าพี่ส้มพาทีมงานไปบุกบ้านใครแล้วทำรูปหลุดหรอกนะคะ เพราะว่านี่คือหนึ่งในชนิดผ้าตัวอย่างที่ดูดซับกลิ่นได้ดี ทีมของพี่ซีตรองเลยนำมาทดลองใช้กับน้ำยาปรับผ้านุ่มด้วยตากหาก ><

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

สำหรับระดับความหอมที่นักวิเคราะห์น้ำหอมจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอนั้น
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ค่ะ

1. Top Notes :

กลิ่นแรกที่เราสัมผัสได้เพราะเป็นสารเคมีโมเลกุลเล็กจึงระเหยขึ้นมาได้ก่อน ถือเป็นตัว สร้างความประทับใจในความหอมเลยล่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

2. Middle Notes :

กลิ่นของหัวน้ำหอมตัวหลักที่มาจากสารเคมีโลกุลใหญ่ขึ้น โดยจะกำหนดคาแร็กเตอร์หลักของน้ำหอมชนิดนั้นๆ ว่าเป็นกลิ่นแบบไหน

3. Base Notes :

กลิ่นส่วนสุดท้ายของน้ำหอมที่เป็นโมเลกุลใหญ่มาก บางทีก็ไม่ได้กลิ่นเลย แต่เป็นสิ่งที่จะติดอยู่กับผิวหรือเนื้อผ้านานที่สุด

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

17.00 - 18.00 น.

เรียกได้ว่าวันนี้ ภารกิจการวิเคราะห์น้ำหอมของพี่ซีตรองเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะ สามารถเลือกน้ำหอมมาใช้กับผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่มีปัญหาให้ต้องแก้ไขอะไรมาก เธอจึงปิดจ็อบกับลูกค้า แล้วได้ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนเลิกงานในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์น้ำหอมยุคใหม่ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยว่าในปัจจุบันนี้ตลาดน้ำหอมโลกนั้นกว้างขวางมาก และแต่ละประเทศก็สามารถพัฒนาคุณภาพน้ำหอมในสไตล์ของตัวเองจนขึ้นชื่อในขั้นที่ว่าไม่มีใครด้อยกว่าใครแล้วล่ะค่ะ

      ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงเป็นงานหอมฝาดหอมนานก็ต้องยกให้ตะวันออกกลาง หอมหวานตำนานหรูอยู่ที่ฝรั่งเศส หรือแถบบ้านเราอย่างไทยหรือฮ่องกงก็มีน้ำหอมกลิ่นหวานสดชื่นแนวผลไม้หรือดอกไม้ที่โด่งดังไม่แพ้ชาติอื่นเลยล่ะจ้า!! ว่าแต่ถ้าวันไหนงานไม่ราบรื่นเท่าไหร่น่ะเหรอ.. ก็แก้งานวนไปจนหกโมงเย็นนี่แหละค่ะ 5555

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

กลิ่นหอมชื่นใจ กับโจทย์บรีฟที่ทำให้ปวดหัว...

อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า อาชีพนักวิเคราะน้ำหอมเป็นงานที่มีโจทย์ของลูกค้าเป็นตัวตั้งในการรันงานเลยก็ว่าได้! จนพี่ส้มอดชวนเม้าท์ไม่ไหว เลยต้องถามออกไปว่า "เคยมีประสบการณ์โดยบรีฟงานแปลกๆ บ้างมั้ย? แล้วแก้ปัญหายังไง?"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

อยากได้กลิ่นกุหลาบที่ไม่กุหลาบ

"ตอนได้ยินคำถามพี่ก็สตั๊นท์ไปเหมือนกันนะคะ แต่เราก็ต้องกลับมาทำการบ้านก่อนว่าเรามีกลิ่นกุหลาบแบบไหน แล้วลองส่งตัวอย่างเป็นกลิ่นกุหลาบปกติไปก่อนให้เขาคอมเม้นต์ กลับมาว่าเขาไม่ชอบความเป็นตรงไหนของกุหลาบแบบนี้? ถ้าเขาตอบมาว่ามันเขียวไป เราก็อาจจะผสมกลิ่นผลไม้เพิ่มเข้าไปให้ดูฟรุตตี้ สนุกสนานขึ้นค่ะ"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

อยากได้กลิ่นน้ำหอมเหมือนอยู่บนยอดเขา

"อันนี้ยิ่งต้องใช้จินตนาการมากเลยค่ะว่าเราจะเจออะไรบนยอดเขาได้บ้าง ซึ่งอาจจะ เป็นกลิ่นดิน กลิ่นเขียวๆ ของหญ้า หรือความชุ่มฉ่ำของน้ำแบบมารีน ก็ต้องส่งตัวอย่างไปให้เขาลองเลือกดู กว่าจะจูนกันติดก็ต้องใช้เวลาพอสมควร 55555"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

อยากได้น้ำหอมมาผสมครีมอาบน้ำที่ให้ความรู้สึกเย็น แต่ไม่เอาเปปเปอร์มินต์
ไม่เอาเมนทอล

"โจทย์นี้เรียกว่าเกือบทำเอาพี่ความคิดตันไปเหมือนกันค่ะ เพราะถ้าไม่ใส่กลิ่นธรรมชาติแนวนี้จะไปหาอะไรที่ให้ความรู้สึกเย็นได้ เลยต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า อ๋อ... กลิ่นแนวสปอร์ต แมนๆ ก็ให้ความรู้สึกเย็นได้เหมือนกัน :3"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

ขอน้ำหอมอะไรก็ได้ไปใส่ในโคโลญจน์สีม่วง

"บรีฟกว้างๆ แบบนี้เหมือนจะง่ายนะคะ แต่กว่าจะหาคำตอบที่ตรงใจลูกค้าเจอนี่พี่ก็ต้องไปเฟ้นหาโคโลญจน์ขวดสีม่วงหลายแบรนด์มาดมดูว่าเขาทำกลิ่นออกมาในทิศทางไหน แล้วจัดการแมตชิ่งตัวอย่างน้ำหอมที่คาดว่าจะตรงใจลูกค้าไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องแอบสืบด้วยว่าลูกค้าไม่เคยทำโคโลญจน์สไตล์กลิ่นแบบไหน เพราะยังไงเขาก็จะไม่เอากลิ่นนี้ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและทุ่นแรงค่ะ"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

นิสัยที่คนอยากเป็น 'นักวิเคราะห์น้ำหอม' ควรมี

ถ้าใครตั้งใจอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มรู้สึกสนใจอาชีพนี้ขึ้นมา พี่ซีตรองก็มีคำแนะนำฝากมาว่าให้น้องๆ เร่งพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติให้ครบทั้ง 4 ข้อนี้ไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ

1. เปิดใจเรียนรู้ : เราต้องดมอะไรอยู่ตลอดเวลา บางครั้งกลิ่นที่หอมของเราอาจไม่ใช่กลิ่นหอมของคนอื่น บางทีต้องวิเคราะห์น้ำหอมกลิ่นที่เราไม่เคยคิดว่าหอมเลยให้ได้ ก็ต้องทดลองไปแล้วให้คนอื่นช่วยคอมเมนต์และเราต้องรับฟังด้วยใจ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

2. อัปเดตข้อมูลใหม่อยู่เสมอ : ในการทำงานกับลูกค้า เราต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวของ ตลาดอยู่เสมอ เพื่อจะแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้อยู่ตลอด

3. มีจินตนาการกว้างไกล : งานนี้เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสของคน เราต้องคิดสร้างสรรค์และถ่ายทอดออกไปได้ในหลากหลายแง่มุมเพื่อให้พวกเขารู้สึกประทับใจ ดังนั้นจึงต้องมีไอเดียน่าสนใจและแตกต่างออกไปจากเดิมเสมอ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

4. ละเอียดและแม่นยำ : มีกลิ่น Raw materials เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เราต้องดมและจดจำให้ได้ เพราะการแยกกลิ่นน้ำหอมได้ละเอียดมากเท่าไหร่ ถือเป็นข้อได้เปรียบในการผสมและน้ำหอม

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักวิเคราะห์น้ำหอม

พาไปท่องโลกน้ำหอมกันจนชุ่มปอดแบบนี้ มีใครเริ่มจะใจอ่อนหลงรักวิชาเคมีมากขึ้น มั้ยน้าา? ฮ่าๆๆ เงียบ!! เอาเป็นว่าถ้าใครชอบอาชีพท้าทายที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ใน การรังสรรค์กลิ่นเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้คนอีกมากมาย ก็อย่าลืมเก็บ 'นักวิเคราะห์น้ำหอม' ไว้ในลิสต์ของอาชีพเป้าหมายของตัวเองบ้างก็แล้วกันค่ะ สุดท้ายนี้ Dek-D ก็ต้องขอขอบคุณ คุณกมลชนก ชัยอาญา Product Manager ที่อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้ทีมงานเข้าไปถ่ายทำใน บริษัท จีทีซี จำกัด และขอขอบคุณพี่ซีตรองที่ให้เกียรติในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยนะคะ แล้วพบกันเดือนหน้านะจ้า

พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด