สวัสดีค่ะน้องๆ เรายังคงเกาะติดสถานการณ์การรับ TCAS64 รอบ 3 Admission กันเช่นเคย วันนี้ถึงคิวของ TOP10 “สาขาจิตวิทยา” แล้วค่ะ มาทบทวนอีกครั้งว่าการคัดเลือกปีนี้ ทปอ. ได้รวมการสมัครรอบ Admission 1 และ Admission 2 ไว้ด้วยกัน ในการสมัคร 1 ครั้ง น้องๆ สามารถยื่นคณะ/สาขาวิชาต่างๆ ได้ 10 อันดับ (คละเกณฑ์ได้ทั้ง Admission1+2)  

บทความนี้เป็นการรวม TOP10 คณะที่มีคะแนนต่ำสุดสูงที่สุดของปี 63 เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า เกณฑ์คัดเลือกของสาขาจิตวิทยาแต่ละแห่งในรอบ Admission 1 และ 2 ต่างกันอย่างไร ต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง จำนวนรับแต่ละรอบมากน้อยแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปดูกันเลย!    

เทียบเกณฑ์ Admission  1 , 2  TCAS64 สาขาจิตวิทยา
เทียบเกณฑ์ Admission  1 , 2  TCAS64 สาขาจิตวิทยา 

เกณฑ์การรับสมัครสาขาจิตวิทยา รูปแบบ Admission 1-2  

เกณฑ์รับสมัคร Admission 1 ของคณะจิตวิทยา “สาขาจิตวิทยา” แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดได้อิสระ มีทั้งใช้ GAT/PAT หรือ วิชาสามัญล้วน              บางแห่งใช้ GAT/PAT และวิชาสามัญรวมกันเลย ส่วนเกณฑ์ Admission 2 แบ่งการรับทั้งพื้นฐานศิลป์ (ใช้ GAT ล้วน) และพื้นฐานวิทย์ (ใช้ 2 รูปแบบ                              1.  GAT+PAT1 2. GAT+PAT2) คะแนนตัวไหนเยอะ ยื่นตัวนั้นค่ะ อย่าลืมสังเกตจำนวนรับ เพราะแต่ละรูปแบบรับมากน้อยไม่เท่ากันนะคะ    

ตารางเปรียบเทียบเกณฑ์รอบ Admission 1 และ Admission 2 สาขาจิตวิทยา
ตารางเปรียบเทียบเกณฑ์รอบ Admission 1 และ Admission 2 สาขาจิตวิทยา

ข้อควรรู้  "สาขาจิตวิทยา" 

1. ม.เชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มการสอน “สาขาจิตวิทยา” เป็นที่แรก โดยสังกัดคณะมนุษย์ศาสตร์ จากนั้นมหาวิทยาลัยอื่นๆ จึงได้เปิดสอนตามมา โดยแยกย้ายกันไปประจำอยู่ตามคณะต่างๆ เช่น คณะสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ทั้งนี้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้ก่อตั้ง “คณะจิตวิทยา” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย  

2. ป.ตรี “สาขาจิตวิทยา” บางแห่งจะเป็นจิตวิทยาทั่วไป ไม่ได้มีการแยกสาขาย่อย เช่น ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ศิลปากร บางแห่งจะไปเลือกสาขาในภายหลัง เช่น ม.ธรรมศาสตร์ มีสาขาจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรม จุฬาฯ มีสาขาจิตวิทยาสังคมฯ จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาพัฒนาการ ฯลฯ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยที่แยกเป็นแขนง/วิชาเอกชัดเจนตั้งแต่แรกสอบเข้าคือ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ มีวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เอกจิตวิทยาชุมชน เอกจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว เป็นต้น

3. ถึงแม้ ป.ตรี บางมหาวิทยาลัยจะเป็นจิตวิทยาทั่วไป ไม่มีสาขาย่อย แต่ถ้าสนใจสาขาไหนเป็นพิเศษสามารถเลือกเรียนต่อได้ในระดับ ป.โท-ป.เอก เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มีเปิดสอนสาขาจิตวิทยาคลินิก เป็นสาขาเดียวที่สามารถจบแล้วเป็น “นักจิตวิทยาคลินิก (clinical psychologist)” ผู้ทำงานร่วมกับจิตแพทย์ โดยผู้เรียนต้องผ่านหลักสูตร Internship ถึงจะสอบ License จิตวิทยาคลินิกได้

4. “สาขาจิตวิทยา” ส่วนใหญ่มี GAT เป็นเกณฑ์คัดเลือกสำคัญ หลายมหาวิทยาลัยใช้ GAT 50% บางแห่งใช้ 100% เต็มก็มี O_O! ดังนั้น ตุน GAT ไว้ให้เยอะๆ GAT เชื่อมโยงควรทำให้ได้เต็ม 150 ที่เหลือก็ไปลุยภาษาอังกฤษค่ะ เก็บคะแนนรวมให้ได้ 270 ขึ้นไป ยิ่งทำคะแนนส่วนนี้ได้มาก ยิ่งมีโอกาสติดมาก ส่วนคณะที่ใช้ GAT จับคู่กับคะแนนอื่นๆ เช่น PAT1 หรือ PAT2 น้องๆ ควรทำ PAT1 ให้ได้ 190+ PAT2 200+ น่าจะช่วยให้ติด TOP3 ได้ไม่ยากค่ะ          

5. รอบ Admission 1 บางมหาวิทยาลัยมีกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น สาขาจิตวิทยา โครงการพิเศษ ม.ศิลปากร กำหนดขั้นต่ำ GAT ภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน , สาขาจิตวิทยา จุฬาฯ กำหนด GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00    

6. สาขาจิตวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ รอบ Admission 1 & 2 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะว่าผู้สมัครต้องไม่มีความผิดปกติของการเห็นภาพ(VA)ตาบอด หรือ ตาบอดสีทั้ง 2 ข้าง โดยจะต้องนำใบรับรองแพทย์มาแสดงในวันสอบสัมภาษณ์ด้วย  

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจสาขาจิตวิทยา อยากเรียนวิชาเอกด้านไหน อย่าลืมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ เพราะงานเฉพาะทางที่เราต้องการทำในอนาคต หลายตำแหน่งพิจารณาจากรายวิชาเรียนที่จบมาเป็นสำคัญค่ะ    

พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด