เจาะลึก "โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท" กำหนดใช้ทุน 3 ปี ผิดสัญญาปรับ 4 แสน!

สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าพูดถึงการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ เชื่อว่าหลายๆ คนจะนึกถึง การรับสมัครผ่าน กสพท ที่ถือว่าเป็นการรับสมัครรอบใหญ่ที่สุดของปีแน่ๆ 

แต่นอกจากการรับผ่าน กสพท แล้ว ถ้าใครสนใจอยากเป็นนักศึกษาแพทย์  และอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ก็จะต้องเคยได้ยิน โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทกันมาบ้าง เรียกได้ว่าเป็นอีกโครงการที่น่าสนใจ และมีคนตั้งหน้าตั้งตารอยื่นสมัครไม่น้อยเลยล่ะค่ะ  ดังนั้นวันนี้พี่แนนนี่เลยจะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับ  โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท : CPIRD แบบทุกซอกทุกมุมกันเลยค่ะ

โควตาแพทย์ชนบท ต้องอยู่จังหวัดไทย ม.อะไรเปิดรับบ้าง?
โควตาแพทย์ชนบท ต้องอยู่จังหวัดไทย ม.อะไรเปิดรับบ้าง?

เจาะลึก "โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท" กำหนดใช้ทุน 3 ปี ผิดสัญญาปรับ 4 แสน!

โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันว่า CPIRD (ซี-เพิร์ด) เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์ หรือเพิ่มการผลิตแพทย์, กระจายแพทย์ไปสู่ชนบทมากขึ้น  และกระจายโอกาสในการศึกษาสาขาวิชาแพทยศาสตร์ไปสู่ประชาชนส่วนภูมิภาค ซึ่งทางโครงการได้เริ่มรับนักศึกษาปีแรก ในปีการศึกษา 2538 และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 กฎสำคัญของโครงการ คือ รับสมัครนักเรียนที่มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้เข้าศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และกลับไปทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง โดยปัจจุบันทางโครงการแบ่่งการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษา  3 กลุ่ม ดังนี้

ประเภทการรับสมัคร

1. กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน (Community Track)

เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีทะเบียนบ้าน (ภูมิลำเนา) อยู่ในจังหวัดที่สมัครต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ก็จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกัน รวมถึงโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องอยู่ในจังหวัดเดียวกับภูมิลำเนา หรือกลุ่มจังหวัดที่กำหนดไว้

2. กลุ่มความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Track)

เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีทะเบียนบ้าน (ภูมิลำเนา) อยู่นอกเขตอำเภอเมืองของจังหวัดที่สมัครต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี  และบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ก็จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกัน รวมถึงโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องอยู่ในจังหวัดเดียวกับภูมิลำเนา

ยกเว้น 19 จังหวัด ที่สามารถรับนักเรียนในเขตอำเภอเมืองได้ ถ้านักเรียนนอกอำเภอเมืองไม่ครบโควตา  (จ.แม่ฮ่องสอน น่าน เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี นครพนม เลย สกลนคร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ บึงกาฬ สระแก้ว ตราด ระนอง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)

3. กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีลาเรียน (Strengthening Track)

เปิดรับข้าราชการในสังกัดสนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สำเร็จการศึกษา  หรือบุคคลทั่วไปที่จบสายวิทยาศาสตร์-สุขภาพ และมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

การเรียนการสอนในโครงการฯ

มหาวิทยาลัยในโครงการ จะรับผิดชอบทำหลักสูตร "แพทยศาสตรบัณฑิต" และจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 - 3  ส่วนในชั้นปีที่ 4 - 6  ทางมหาวิทยาลัยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณาสุข รับผิดชอบการเรียนการสอนในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นการเรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก หรือโรงพยาบาลต่างๆ ตามที่กำหนดไว้

สัญญาและการชดใช้ทุน

  • ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องทำสัญญากับทางโครงการ ทั้งหมด 4 ชุด
  • จะต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย โดยจะต้องเป็น บิดา หรือมารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา (ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ และแสดงหลักทรัพย์ใดใด)
  • ทางโครงการกำหนดให้ปฏิบัติงานชดใช้ทุน ในจังหวัด/เขต/ภูมิลำเนาตามที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกัน
  • ถ้าผิดสัญญาชดใช้ทุนไม่รับราชการ/ทำงานตามที่กำหนด จะต้องชดใช้ 400,000 บาท ภายใน 15 วัน

รายชื่อมหาวิทยาลัย-ศูนย์แพทยฯ ที่เข้าร่วมโครงการ

  • มหาวิทยาลัยมหิดล
    • รพ.มหาราชนครราชสีมา
    • รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช
    • รพ.สวรรค์ประชารักษ์
    • รพ.ราชบุรี
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี
    • รพ.ชลบุรี
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • รพ.สระบุรี
    • รพ.พุทธโสธร ฉะเชิงเทรา
    • รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ชุมพร
    • รพ.สุราษฎร์ธานี
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • รพ.ลำปาง
    • รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    • รพ.ขอนแก่น
    • รพ.อุดรธานี
    • รพ.มหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • รพ.หาดใหญ่ สงขลา
    • รพ.ปัตตานี
    • รพ.ยะลา
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
    • รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก
    • รพ.อุดรดิตถ์
    • รพ.แพร่
    • รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ตาก
    • รพ.พิจิตร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
    • รพ.สุรินทร์
    • รพ.บุรีรัมย์
    • รพ.ชัยภูมิ
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    • รพ.ร้อยเอ็ด
    • รพ.กาฬสินธุ์
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
    • รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
    • รพ.ศรีสะเกษ
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
    • รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
    • รพ.ตรัง
    • รพ.ภูเก็ต
  • มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
    • รพ.สงขลา
    • รพ.นราธิวาสราชนครินทร์
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
    • รพ.นครพิงค์ เชียงใหม่
    • รพ.พะเยา

การรับสมัครในระบบ TCAS65

แต่ละมหาวิทยาลัย จะกำหนดช่วงเวลาของการรับสมัคร และเกณฑ์การรับสมัครที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่จะเปิดรับสมัครใน TCAS รอบที่ 2 หรือรอบโควตานั่นเอง แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครในรอบอื่นๆ อย่าง Portfolio  ด้วย

ตัวอย่างโครงการ และเกณฑ์การคัดเลือกใน TCAS65

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • เปิดรับใน TCAS65 รอบ Quota
    • รับ 2 กลุ่ม  : กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน,  กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ
    • ภูมิลำเนาเปิดรับ คือ จ.ชลบุรี, จันทบุรี, ระยอง, ตราด, นครนายก, อยุธยา, สมุทรสงคราม, สระแก้ว
    • เกณฑ์การคัดเลือก : วิชาสามัญ (7 วิชา) + วิชาเฉพาะ กสพท
    • รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • เปิดรับใน TCAS65 รอบ Quota
    • รับกลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน
    • ภูมิลำเนาเปิดรับ คือ จ.สระบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, อ่างทอง, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, ระยอง
    • เกณฑ์การคัดเลือก : วิชาสามัญ (7 วิชา) + วิชาเฉพาะ กสพท
    • รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
    • เปิดรับใน TCAS65 รอบ Portfolio
    • รับ 2 กลุ่ม  : กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน,  กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ
    • ภูมิลำเนาเปิดรับ คือ จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์
    • เกณฑ์การคัดเลือก : คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ + BMAT + Portfolio
    • รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
    • เปิดรับใน TCAS65 รอบ Quota
    • รับทั้ง 3 กลุ่ม  : กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน,  กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ, กลุ่มสำเร็จป.ตรี ลาเรียน
    • ภูมิลำเนาเปิดรับ คือ จ.พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, อุตรดิตถ์, ตาก, สุโขทัย
    • เกณฑ์การคัดเลือก : GAT + PAT 1 + PAT 2 + วิชาเฉพาะ กสพท
    • รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก
ขอบคุณข้อมูลจากโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ปี 2564 คลิก

สิ่งสำคัญของการยื่นสมัครนี้ คือ "คุณสมบัติ" ของผู้สมัครค่ะ ซึ่งถ้าใครมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่กำหนด แต่โรงเรียนไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่กำหนด ก็จะไม่สามารถสมัครได้ โดยน้องๆ จะต้องตรวจสอบรายชื่อจังหวัดต่างๆ ตามระเบียบการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น