10 เรื่องน่ารู้! โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ที่เด็ก ม.ปลาย อยากเป็นหมอต้องรู้!

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ เด็กดี TCAS Weekly รายการใหม่แกะกล่องของเว็บเด็กดี ประเดิมรายการด้วยประเด็นน่าสนใจอย่าง "เจาะลึก! เส้นทางสอบเข้าแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท" โดยได้รับเกียรติจาก พญ.ภัสรา มะลิทอง รองผู้อำนวยการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และ พญ.สายสุดา ขวัญเพชร นศพ.เกียรตินิยมอันดับ 2 จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

วันนี้พี่มิ้นท์จะมาสรุป 10 ประเด็นน่ารู้  สำหรับน้องๆ ที่ไม่ได้ชมรายการแบบสดๆ ซึ่งทั้ง 10 ประเด็นนี้น่าสนใจมากๆ ตั้งแต่รายละเอียดโครงการ การเรียน การใช้ทุน ฯลฯ ใครที่อยากเรียนหมอและสนใจโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทอยู่แล้ว ห้ามพลาดเลยค่ะ

สรุป 10 ประเด็นเจาะลึก! สอบเข้าแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
สรุป 10 ประเด็นเจาะลึก! สอบเข้าแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

10 ประเด็นเกี่ยวกับโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

1. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ 2538 เนื่องจากในปีนั้นมีปัญหาเรื่องหมอลาออกจำนวนมาก และมีความขาดแคลนหมอในชนบท ซึ่งมีปัญหาของการการกระจายหมอไปยังพื้นที่ต่างๆ คือ ส่วนมากจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ จึงมีโครงการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหานี้

2. ปัจจุบันมีคู่ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัยอยู่ 14 มหาวิทยาลัย 37 ศูนย์แพทย์ทั่วประเทศ คือ จับมือร่วมกันเพื่อผลิตแพทย์ ซึ่งโครงการนี้ก็สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ดังนั้น ในการรับสมัครก็จะต้องรับนักเรียนชั้น ม.6 ที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลน 

3. โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน และกลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ภูมิลำเนาของนักเรียน โดยกลุ่มลดความเหลื่อมล้ำจะเป็นกลุ่มนักเรียนที่มาจากอำเภออื่นๆ ที่ไม่ใช่อำเภอเมือง ส่วนกลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน สามารถสมัครได้ทั้งนักเรียนที่อยู่ในและนอกอำเภอเมือง แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะใช้คะแนนแบบเดียวกัน  

พญ.ภัสรา มะลิทอง รองผู้อำนวยการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
พญ.ภัสรา มะลิทอง รองผู้อำนวยการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท 

4. การเรียนการสอนของคณะแพทย์ที่เข้ามาทางโครงการผลิตแพทย์เพิ่มและ กสพท จะแตกต่างกันในขั้นตอนของการเรียนเล็กน้อย คือ โครงการผลิตแพทย์ ชั้นพรีคลินิก จะเรียนที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ หลังจากนั้นจะต้องกลับมาเรียนที่โรงพยาบาลศูนย์ของแต่ละจังหวัดในระดับชั้นคลินิก  ในขณะที่หากสอบผ่าน กสพท ก็จะได้เรียนชั้นคลินิกของโรงพยาบาลนั้นๆ  เลย

5. หนึ่งในข้อดีของการสอบเข้าผ่านโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม คือ เมื่อเรียนในชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลศูนย์ จะได้เจอคนไข้หลากหลาย เป็นคนไข้ที่ไม่ได้ยากมาก ทำให้เรียนจบออกไปสามารถรักษาได้เลย และมีหัตถการให้ทำเยอะมาก  

6. สำหรับการใช้ทุน หากสอบเข้าผ่านโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จะได้ไปใช้ทุนในเขตจังหวัดหรือเขตสุขภาพที่ได้สอบเข้ามา ซึ่งจะรู้ตั้งแต่แรกเลยว่าจะได้ไปใช้ทุนที่ไหน และจะได้ทำสัญญาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน เช่น ในเขตสุขภาพของราชบุรี เมื่อน้องๆ เรียนจบแล้ว ก็จะสามารถใช้ทุนใน จ.ราชบุรี หรือ 8 จังหวัดรอบๆ ราชบุรี ที่อยู่ในเขตจังหวัดสุขภาพเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความขาดแคลนในแต่ละจังหวัด

ส่วนการใช้ทุนหลังเรียนจบแพทย์ที่สอบผ่านเข้าระบบ กสพท จะขึ้นอยู่กับว่าจับสลากว่าจะได้ไปใช้ทุนที่ไหน

7. การเรียนแพทย์ ม.รัฐ จะต้องชดใช้ทุนหลังเรียนจบแพทย์ เป็นเวลา 3 ปี หากไม่ทำงานใช้ทุน ต้องจ่ายค่าปรับ 400,000 บาท หากใช้ทุนไม่ครบให้เทียบตามอัตราส่วนเช่น ใช้ทุน 1.5 ปี ก็ต้องจ่าย 200,000 บาท 

พญ.สายสุดา ขวัญเพชร นศพ.เกียรตินิยมอันดับ 2 จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
พญ.สายสุดา ขวัญเพชร นศพ.เกียรตินิยมอันดับ 2 จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

8. การเรียนแพทย์ ปีแรกจะเรียนวิชาทั่วไป วิชาพื้นฐานต่างๆ ปีที่ 2-3 เริ่มเรียนวิชาเฉพาะของแพทย์ วิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน แบ่งการเรียนตามระบบ เช่น ระบบประสาท กระดูก ทางเดินหายใจ ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ขั้นคลินิก พอปี 4-6 จะเข้าไปลงมือปฏิบัติจริงที่โรงพยาบาล

9. การใช้ทุนปีแรก จะเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ Intern นิสิตนักศึกษาแพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทจะไปประจำที่โรงพยาบาลจังหวัดในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีแพทย์เฉพาะทางช่วยสอนงาน ในช่วงปีแรก จะได้ฝึกทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อสร้างประสบการณ์ เมื่อฝึกครบปีแรกจะมีใบอนุมัติผ่านการฝึกแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งเป็นใบสำคัญสำหรับการเรียนต่อเฉพาะทาง เพราะหากไม่มีใบนี้ก็จะไม่สามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้ สำหรับการใช้ทุนในปี 2 และ 3 ก็จะได้ออกไปทำงานในโรงพยาบาลอำเภอขึ้นอยู่กับว่าที่ใดขาดแคลน

10. การเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง จะต้องใช้ทุนให้ครบ 3 ปีก่อน จึงจะเรียนต่อได้ ยกเว้นในบางสาขาวิชาที่ขาดแคลนมากๆ ใช้ทุนครบ 1 ปี ก็สามารถเรียนต่อได้เลย แต่จะมีจำนวนไม่มาก 

ครบถ้วน 10 ประเด็นน่ารู้ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ โดยจะเปิดรับผ่านโควตารอบ 2 โดยจุดประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อผลิตแพทย์และกระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ ดังนั้นโครงการนี้ น้องๆ จาก กทม. ก็จะไม่สามารถสมัครได้นะคะ

สำหรับน้องๆ ที่มีคำถามเพิ่มเติมก็สามารถพิมพ์คำถามได้ที่คอมเม้นท์ด้านล่างนี้เลยค่ะ สำหรับรายการ  เด็กดี TCAS Weekly สัปดาห์หน้า จะเป็นเรื่องอะไรนั้น อย่าลืมติดตามกันนะคะ :D

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น