24 พ.ย. วันแรกที่เปิดให้พิมพ์บัตรเข้าสอบ TGAT/TPAT66 พร้อมกับการประกาศสนามสอบ ปรากฎว่าเช้านี้เทรนด์ Twitter ของ #dek66 มีน้องๆ ได้แสดงผลการสุ่มสนามสอบ ซึ่งบางส่วนสุ่มได้ในอันดับที่ไม่ต้องการ ทั้งการได้อันดับท้ายๆ หรือ ได้สนามสอบที่ไม่ได้เลือก และบางกรณีก็ได้สนามสอบข้ามจังหวัด

เบื้องต้นจากการสอบถามไปยัง ทปอ. ได้รับการชี้แจงว่า ระบบได้ทำการสุ่มให้ตามที่ผู้สมัครได้จัดอันดับไว้ แต่ถ้าใครเลือกไว้ไม่ครบอันดับ ก็มีโอกาสถูกสุ่มไปสนามที่ว่างแทนนั่นเอง แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนสนามสอบได้แล้ว

5 วิธีรับมือ เมื่อได้สนามสอบไกลบ้าน
5 วิธีรับมือ เมื่อได้สนามสอบไกลบ้าน

เนื่องจากปีนี้มีผู้สมัครสอบ TGAT/TPAT สูงกว่าปีก่อนมาก คาดว่าทำให้มีการสุ่มสนามสอบที่ทำให้คนไม่ได้สนามสอบที่ตัวเองเลือกมากขึ้น เช่น

ทำไมคนที่เลือกสอบคอมพิวเตอร์ แต่ได้สนามสอบกระดาษ? เป็นเพราะที่นั่งสนามสอบคอมพิวเตอร์มีจำกัดเพียง 2,850 ที่นั่ง แต่มีคนสมัคร 18,000 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าหลายเท่า เมื่อสุ่มออกมา คนส่วนใหญ่จึงถูกไปจัดลงในสนามสอบกระดาษแทน

ทำไมสมัครวันแรกๆ จ่ายเงินวันแรกๆ แต่ได้สนามสอบอันดับท้ายๆ? สำหรับการจัดสนามสอบเป็นระบบสุ่ม ลำดับการสมัครไม่มีผลต่อการสุ่ม ดังนั้นคนที่สมัครวันแรกๆ ไม่ได้การันตีว่าจะได้สนามสอบอันดับต้นๆ

ทำไมสอบวันเดียวกัน แต่ได้สนามสอบคนละจังหวัด? กรณีนี้อาจเกิดจากน้องสมัคร 2 ครั้ง เป็นคนละรูปแบบคือ สอบวันเดียวกัน แต่วิชานึงเป็นกระดาษ วิชานึงเป็นคอมพิวเตอร์ เมื่อสุ่มสนามสอบก็อาจจะอยู่คนละจังหวัดได้

ยกเว้นกรณีที่น้องๆ สุ่มได้สนามสอบคนละภาค แต่ไม่ได้เลือกสนามสอบนั้น สามารถติดต่อ ทปอ. เพื่อช่วยเหลือเปลี่ยนสนามสอบได้

วิธีรับมือเมื่อโดนสุ่มไปสนามสอบที่ไม่ได้เลือกไว้อันดับแรก

1. วางแผนการเดินทาง

ผลกระทบใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นคือ เมื่อได้สนามสอบสำรองที่ไม่คุ้นเคย ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองหรือพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ต้องวางแผนการเดินทางกันใหม่  

น้องๆ สามารถใช้ google map ในการวางแผนการเดินทาง โดยเลือกจุดหมายปลายทางคือชื่อโรงเรียน จากนั้นเลือกที่ตั้งต้นเป็นบ้านของน้องๆ  

 

หากเป็นจังหวัดที่เดินทางด้วยรถสาธารณะได้ สามารถกดที่รูปหน้าตาคล้ายรถไฟ google map ก็จะโชว์เส้นทางที่เดินทางด้วยรถสาธารณะให้ค่ะ

แต่การตรวจสอบเส้นทางแบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ นั่นแปลว่าในสอบจริงอาจจะรถติดกว่านี้ หรือ รถเบาบางกว่านี้ก็ได้ เพื่อความชัวร์ แนะนำให้น้องๆ ลองค้นหาเส้นทางในวันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลาเดียวกับที่จะเดินทางไปสอบค่ะ อย่าลืมบวกเวลารถติดเส้นทางใกล้เคียงโรงเรียนเพราะคนเดินทางออกมาสอบด้วยนะคะ 

2. สำรองที่พัก หากไม่สามารถเดินทางข้ามวันได้

น้องๆ ที่สุ่มได้สนามสอบไกลๆ เป็นสนามสอบ หากไม่สามารถเดินทางรวดเดียวในวันสอบได้ อาจจะต้องสำรองที่พัก ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมค่ะ

ใครที่จะสำรองที่พักในช่วงนี้ แนะนำให้รีบจองเลย เพราะในสัปดาห์สอบเป็นวันหยุดยาว หากเป็นจังหวัดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักจะเต็มเร็วและมีราคาสูง

3. ทำเช็กลิสต์ป้องกันการตกหล่น

ทำเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องนำไปในสนามสอบ เช่น บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ บัตรประชาชน เครื่องเขียนต่างๆ รวมถึงเอกสารที่จำเป็นเฉพาะบุคคล หรือ ยาต่างๆ เพราะเมื่อต้องเดินทางไปไกลกว่าเดิม หากลืมอะไรไว้ที่บ้านแล้วต้องกลับมาเอาใหม่คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ 

เมื่อทำเช็กลิสต์เรียบร้อยแล้ว คืนก่อนสอบให้เตรียมใส่กระเป๋าไว้ให้พร้อมนะคะ ขาดเหลืออะไรจะได้เตรียมตัวทันค่ะ

4. หาข้อมูลเกี่ยวกับสนามสอบนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด

เป็นวิธีการเตรียมตัวอีกทางหนึ่ง หากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสนามสอบนั้นเลย ลองหาข้อมูลจากรุ่นพี่ สอบถามในโซเชียลว่าโรงเรียนเป็นยังไง เป็นห้องสอบแอร์หรือพัดลม มีโรงอาหารมั้ย หากได้ชั้นสูงๆ มีลิฟต์มั้ย เป็นต้น 

หรือเข้าเว็บไปไซต์โรงเรียนเพื่อดูแผนผังของโรงเรียนก็ได้ค่ะ ไปถึงโรงเรียนวันสอบจริงจะได้รู้ตำแหน่งต่างๆ ลดความตื่นเต้นไปได้เยอะ 

ตัวอย่างแผนที่โรงเรียนบนเว็บไซต์โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี
ตัวอย่างแผนที่โรงเรียนบนเว็บไซต์โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี

5. วางแผนสำรองหากไม่สามารถไปสอบในบางวิชาได้

ปัญหาของน้องๆ ที่ได้ 2 สนามสอบในวันเดียวกัน เกิดจากการสมัครสอบ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกสมัครแบบกระดาษ และครั้งที่ 2 สมัครแบบคอมพิวเตอร์  บางรายได้สนามสอบคนละจังหวัด หรือไกลจากสนามสอบแรกมากๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไปสนามสอบที่ 2 ไม่ทัน

กรณีนี้ถือว่าเป็นการสมัครด้วยตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนสนามสอบได้ค่ะ ดังนั้นใครมั่นใจว่ายังไงก็เดินทางไม่ทัน คงต้องวางแผนสำรองว่า วิชาไหนที่สำคัญกับการสอบเข้าของเรามากกว่า และอีกวิชานึงถ้าเราไม่ไปสอบ จะมีคณะไหนไม่ใช้วิชานั้นบ้าง  การวางแผนล่วงหน้า จะทำให้ไม่เสียโอกาสในการใช้คะแนนค่ะ

แล้ววิชาที่ไม่ไปสอบจะเป็นอะไรมั้ย? ไม่เป็นอะไรค่ะ ถ้าไม่ไปสอบ ก็ถือว่าขาดสอบในวิชานั้น แต่ไม่มีผลกับการสอบเข้า แต่ก็คืนเงินไม่ได้เช่นกันค่ะ

การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญในทุกๆ ขั้นตอน ไม่ใช่แค่เฉพาะการเดินทางไปสอบ เพราะการวางแผนจะทำให้น้องๆ มีแนวทางในการทำสิ่งนั้นๆ และมองเห็นภาพรวมได้ว่าตรงไหนที่ควรปรับหรืออุดรอยรั่ว เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่่สุด พี่ๆ เด็กดีเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน และสุดท้ายอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

นงนุชRA23 30 พ.ย. 65 05:50 น. 1

มีประโยชน์มากมากค่ะ ช่วยในการคิดวางแผน และตัดสินใจได้เป็นอย่างดี ขอบคุณพี่ๆทีมงานนะคะ รอบคอบ รัดกุม ชัดเจนค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด