ไขข้อสงสัย! คณะ/สาขาเดียวกัน แต่เปิดเกณฑ์หลายรูปแบบ จะสมัครได้กี่แบบ?

สวัสดีค่ะน้องๆ ตอนนี้การรับสมัคร TCAS รอบ 3 Admission กำลังเข้มข้นเลย สำหรับน้องๆ คนไหนที่ยื่นสมัครไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนใจ อยากเปลี่ยนสาขาวิชา เปลี่ยนอันดับ ก็ยังสามารถแก้ไขได้อยู่ จนกว่าระบบจะปิด

โดยการจัดอันดับ หรือการเลือกสาขาวิชาที่จะยื่นสมัคร น้องๆ จะต้องศึกษาเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละสาขาวิชา แต่ละรูปแบบให้ดี เพราะบางที่เปิดรับสมัครหลายรูปแบบก็จริง แต่อาจจะยื่นสมัครได้เพียงแค่รูปแบบเดียวเท่านั้น วันนี้พี่แนนนี่จะพาน้องๆ ไปทำความเข้าใจกันว่าสาขาวิชาแบบไหนที่จะยื่นสมัครได้หลายรูปแบบ และสาขาวิชาแบบไหนสมัครได้แค่รูปแบบเดียว

ถ้าคณะ/สาขาวิชามีเกณฑ์มากกว่า 1 รูปแบบ จะยื่นสมัครได้กี่อันดับกันแน่
ถ้าคณะ/สาขาวิชามีเกณฑ์มากกว่า 1 รูปแบบ จะยื่นสมัครได้กี่อันดับกันแน่

#dek66 ต้องรู้! ถ้ามีหลายเกณฑ์ แบบไหนเลือกได้หลายเกณฑ์ แบบไหนควรเลือกเกณฑ์เดียว

ถ้าใครเปิดระเบียบการรับสมัครรอบ Admission จะเห็นเลยว่าหลายๆ สาขาวิชากำหนดเกณฑ์การคัดเลือกไว้มากกว่า 1 รูปแบบ ซึ่งหลายคนก็จะสงสัยว่า แล้วเราจะยื่นสมัครได้กี่แบบ แบบไหนได้บ้าง  มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอะไรบ้างไหม.....

คำตอบคือ หลักๆ แล้ว ถ้าผู้สมัครมีคุณสมบัติตามที่แต่ละสาขาวิชา แต่ละเกณฑ์การคัดเลือกกำหนดไว้ ก็จะสามารถยื่นสมัครได้ทั้งหมด แต่ก็จะมีบางสาขาวิชาที่จะต้องเลือกยื่นเพียงเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งเท่านั้น  โดยถ้ามีคุณสมบัติตรงกับทุกเกณฑ์การคัดเลือก ก็ให้สังเกตที่ "จำนวนรับสมัคร"  จึงจะได้คำตอบอย่างแน่ชัดว่า สมัครได้หลายเกณฑ์ หรือแค่เกณฑ์เดียว

สาขาวิชาที่กำหนดเกณฑ์มากกว่า 1 รูปแบบ

บางมหาวิทยาลัย ในคณะเดียวกัน สาขาวิชาเดียวกัน ก็อาจจะมีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกไว้หลากหลายรูปแบบ  ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

(1) กำหนดไว้เป็น "รูปแบบวิทย์-รูปแบบศิลป์" "พื้นฐานวิทย์-พื้นฐานศิลป์" ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หมายถึง แผนการเรียนของผู้สมัคร แต่เป็นเพียงรูปแบบการใช้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น โดยรูปแบบวิทย์ มักจะกำหนดใช้คะแนนฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์ 1 ในการคัดเลือก ส่วนรูปแบบศิลป์ ก็จะกำหนดใช้คะแนนวิทยาศาสตร์ประยุกต์, คณิตศาสตร์ 2 หรือภาษาต่างประเทศต่างๆ การคัดเลือก 

ตัวอย่าง เกณฑ์รูปแบบวิทย์ - รูปแบบศิลป์
ตัวอย่าง เกณฑ์รูปแบบวิทย์ - รูปแบบศิลป์

(2) กำหนดให้ "คะแนนของรายวิชาที่ใช้คัดเลือก" แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง เช่น เกณฑ์นึงใช้คะแนน TGAT/TPAT  อีกเกณฑ์นึงกำหนดให้ใช้เป็นคะแนน A-Level หรือ วิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ตัวอย่าง เกณฑ์ที่คะแนนของรายวิชาที่ใช้คัดเลือกแตกต่างกันออกไป
ตัวอย่าง เกณฑ์ที่คะแนนของรายวิชาที่ใช้คัดเลือกแตกต่างกันออกไป

 (3) กรณีของสาขาวิชาในกลุ่ม กสพท (แพทยศาสตรบัณฑิต, ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต, สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเภสัชศาสตรบัณฑิต) ที่ใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด คือ TPAT1 + A-Level คณิต1, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, สังคมศึกษา, ภาษาอังกฤษ กับบางมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ 4 สาขาวิชานี้ในเกณฑ์อื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า นอก กสพท ควบคู่ไปด้วย

ตัวอย่าง เกณฑ์นอก กสพท
ตัวอย่าง เกณฑ์นอก กสพท

สังเกตที่ "จำนวนรับสมัคร"

หากสาขาวิชาที่น้องๆ สนใจจะยื่นสมัครมีเกณฑ์การคัดเลือกมากกว่า 1 รูปแบบ ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งข้างต้น สิ่งแรกเลยให้น้องๆ เช็ก "คุณสมบัติ" ต่างๆ ที่แต่ละเกณฑ์กำหนดไว้ว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น วุฒิการศึกษา, แผนการเรียน/จำนวนหน่วยกิตแต่ละกลุ่มสาระ, เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ, ผลคะแนนสอบในรายวิชาที่กำหนด, คะแนนขั้นต่ำ หรือเงื่อนไขทางสุขภาพ หรือด้านอื่นๆ ที่กำหนดไว้ 

ถ้าเช็กแล้วพบว่า มีคุณสมบัติครบทุกข้อตามที่แต่ละเกณฑ์กำหนด ก็เท่ากับว่าจะยื่นสมัครได้หลายเกณฑ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "ทุกเกณฑ์การคัดเลือกที่จะยื่นสมัคร ต้องมีจำนวนรับแยกกัน ไม่ใช่คณะปีกกา หรือมีจำนวนรับร่วมกัน จึงจะสมัครได้หลายเกณฑ์จริงๆ "

คณะปีกกา คืออะไร

คณะปีกกา คือ คณะ/สาขาวิชาที่มีเกณฑ์การคัดเลือกมากกว่า 1 รูปแบบ แต่กำหนดจำนวนรับร่วมกัน หรือในระบบ mytcas จะระบุว่า "รับร่วมกัน", "รับตรงร่วมกัน"  ซึ่งก็จะเป็นคณะที่ไม่สามารถเลือกยื่นได้หลายอันดับ หลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติครบทุกเกณฑ์แล้วก็ตาม เพราะการพิจารณาคัดเลือกของกลุ่มคณะปีกกา จะนำผู้สมัครทุกเกณฑ์มาเรียงลำดับคะแนนจากมากไปน้อย โดยไม่สนใจว่าจะยื่นด้วยเกณฑ์อะไร ก็จะเหมือนกับว่าแต่ละเกณฑ์ไปแย่งที่นั่งกันเอง

ตัวอย่างคณะปีกกา
ตัวอย่างคณะปีกกา

จากตัวอย่างคณะปีกกาข้างต้น ด้วยความที่คะแนนสอบแต่ละรายวิชา มีสถิติแตกต่างกันออกไป ทำให้คาดการณ์แนวโน้มคะแนนกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างยาก บางปีคะแนนคณิตศาสตร์อาจจะง่าย ใครที่ยื่นด้วยคะแนนคณิตก็อาจจะได้เปรียบกว่า หรือบางปีภาษาต่างประเทศอาจจะง่าย ใครที่ยื่นด้วยภาษาต่างประเทศก็จะได้เปรียบกว่า 

ดังนั้นใครที่จะยื่นสมัครในคณะปีกกาแบบนี้ ให้เลือกยื่นในเกณฑ์ที่ได้คะแนนสูงสุด เพียงเกณฑ์เดียวก็พอ เพราะถ้าคะแนนที่ยื่นไปนั้นไม่ผ่านการคัดเลือก คะแนนที่ต่ำกว่าก็จะต้องไม่ผ่านการคัดเลือกเช่นกัน

แต่ถ้าใครสนใจยื่นสมัครในคณะที่มีหลายเกณฑ์ และจำนวนรับสมัครก็มีทั้งแยกกันและปีกกา (แบบในรูปภาพด้านล่างนี้) ก็จะยื่นสมัครได้เป็น 2 อันดับ คือ เกณฑ์ที่ใช้คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 เป็น 1 อันดับ และเกณฑ์ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นอีก 1 อันดับ โดยจะเรียงลำดับเกณฑ์ไหนขึ้นก่อนก็ได้ เพราะเป็นคณะเดียวกันอยู่แล้ว

ตัวอย่าง คณะที่มีหลายเกณฑ์ และจำนวนรับสมัคร มีทั้งแยกกัน และปีกกา
ตัวอย่าง คณะที่มีหลายเกณฑ์ และจำนวนรับสมัคร มีทั้งแยกกัน และปีกกา

 

สรุปว่า ถ้าสาขาวิชาไหนมีเกณฑ์การคัดเลือกมากกว่า 1 รูปแบบ และมีจำนวนรับที่แยกกันชัดเจน ก็สามารถยื่นสมัครได้หลายเกณฑ์ แต่ถ้ามีจำนวนรับร่วมกัน หรือเป็นคณะปีกกา ก็จะเลือกยื่นได้แค่เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง หรือเกณฑ์ที่คะแนนสูงสุดเท่านั้น

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น