ก่อนเรียนหมอต้องรู้! เรียนจบใช้ทุน 3 ปี (มีเงินเดือน) ไม่ใช้ทุนปรับ 400,000 บาท

น้องๆ เคยสงสัยกันมั้ยคะว่าทำไมค่าเทอมแพทย์ ม.รัฐ และ ม.เอกชน ถึงแตกต่างกันมาก นั่นก็เป็นเพราะว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ผู้เรียนจะต้องเป็นคนจ่ายทุกอย่างเอง ส่วนมหาวิทยาลัยรัฐ ก็จะมีงบประมาณหรือเงินอุดหนุนจากรัฐมาช่วย ทำให้ผู้เรียนจ่ายแค่บางส่วน เพราะแพทย์ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข และการลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรทางการแพทย์ก็ใช้เงินค่อนข้างสูง  

ดังนั้นน้องๆ อาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า หลังจากเรียนจบ แพทย์ ม.รัฐ ก็จะต้องทำงานเพื่อชดใช้ทุนด้วย ถึงจะชื่อว่าใช้ทุน แต่ก็ได้เงินเดือนนะ! โดยจะไปอยู่ตามโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศค่ะ ใครที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ตามมาอ่านเลยค่ะ

เปิดสัญญาก่อนเรียนแพทย์ ม.รัฐ เรียนจบใช้ทุน 3 ปี ไม่ใช้ทุนปรับ 4 แสน
เปิดสัญญาก่อนเรียนแพทย์ ม.รัฐ เรียนจบใช้ทุน 3 ปี ไม่ใช้ทุนปรับ 4 แสน

เส้นทางกว่าจะเป็นหมอ

แพทยศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียน 6 ปี โดยไม่มีแยกสาขาในระดับปริญญาตรี ทุกคนจะได้เรียนเหมือนกันหมด เมื่อจบออกมา จะเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป สามารถรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ ซึ่งในระยะเวลานี้นี่แหละที่น้องๆ จะได้ไปเป็นหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นการใช้ทุน และหลังจากใช้ทุน หากใครต้องการเรียนต่อเฉพาะทางก็สามารถเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นหมอเฉพาะทางได้ หรือ ถ้าต้องการเรียนต่อเฉพาะทางระหว่างใช้ทุน ก็สามารถลาเรียนและกลับมาใช้ทุนต่อก็ได้เช่นกัน

ทำไมเรียนแพทย์ ม.รัฐ ต้องใช้ทุน?

อย่างที่ได้บอกไปว่า การลงทุนผลิตบุคลากรด้านการแพทย์นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งรัฐก็ได้ช่วยสนับสนุน ทำให้นักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยรัฐได้เรียนแพทย์ในราคาที่ไม่แพงเกินไป แต่มีเงื่อนไขว่า เรียนจบแล้วก็ต้องทำงานให้รัฐ โดยการไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อชดใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีนั่นเอง 

 ซึ่งในปีแรกของแพทย์ใช้ทุน เป็นช่วงเวลาของการเรียนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะในการทำงานจริง  เรียกว่า  ได้ประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ และยังเป็นโอกาสที่ได้ค้นหาตัวเองด้วยว่าชอบด้านใดเป็นพิเศษ  หลายคนรู้ตัวเองว่าอยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหนก็ตอนใช้ทุนเลย

ไม่ใช้ทุน หรือ ลาออก โดนปรับสูงสุด 400,000 บาท

เป็นเรื่องที่คนอยากจะเรียนแพทย์ต้องรู้ล่วงหน้า หลายคนเข้าใจว่าเรียนจบมาแล้ว สามารถหางานทำเองได้เลย ก็วางแผนจะไปทำโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกต่างๆ แต่เดี๋ยวก่อน! ทางเลือกนี้สามารถทำได้ค่ะ แต่ก็มีเงื่อนไขเรื่องค่าปรับ ที่จะต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่ 1 เลย

โดยใจความสำคัญของสัญญาจะมีดังนี้ คือ

1. จะต้องไปปฏิบัติงานใช้ทุน (รับราชการ) ไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ได้กำหนดในคำสั่ง

2. ถ้าได้รับมอบหมายให้ไปอบรมหรือศึกษาเพิ่มเติมตามความต้องการของกระทรวง ทบวง หรือกรมใดๆ เมื่ออบรมเสร็จแล้ว จะต้องกลับมาทำงานให้ครบ 3 ปีเหมือนเดิม  

3. ถ้าไม่ใช้ทุน จะต้องชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัย 400,000 บาทถ้วน ภายในเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณภายใน 30 วัน)

4. ถ้าใช้ทุน แต่ไม่ครบกำหนดเวลา 3 ปี ก็จะมีค่าปรับ โดยปรับตามสัดส่วนของระยะเวลาที่ได้ทำงานไปแล้ว

ทำงานใช้ทุน = ทำฟรี 3 ปีเลยหรือเปล่า?

ไม่ใช่ค่ะ ถึงจะเรียกว่าเป็นการใช้ทุน แต่จริงๆ ก็เป็นการทำงานทั่วไป เพราะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ตามปกติ เพียงแต่ว่าสถานที่ที่ไปทำงาน เราไม่ได้เป็นคนเลือกเอง 100% แต่แรก แต่เกิดจากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งความประสงค์ว่าโรงพยาบาลไหนที่ต้องการแพทย์ไปทำงานบ้าง 

จากนั้น นักศึกษาแพทย์ที่ได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว จะต้องไปลงชื่อว่าสนใจจะไปทำงานในจังหวัดใด หากจังหวัดนั้นมีผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนรับ ก็จะไปทำงานที่จังหวัดนั้นเลย แต่ถ้ามีผู้สมัครมากกว่าจำนวนรับ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจับสลากว่าใครจะได้ไป ส่วนคนที่ไม่ได้ ก็จะต้องไปรอบถัดไป (ปัจจุบันมี 3 รอบ) ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดที่หลายคนหนักใจ เพราะความยากง่าย ความสะดวกสบาย หรือภาระหน้าที่ แต่ละโรงพยาบาลก็จะแตกต่างกันไปด้วย

ในทุกๆ ปีก่อนจับสลากเลือกพื้นที่ใช้ทุน จะมีรายชื่อโรงพยาบาล/พื้นที่ใช้ทุน ประกาศออกมา
ในทุกๆ ปีก่อนจับสลากเลือกพื้นที่ใช้ทุน จะมีรายชื่อโรงพยาบาล/พื้นที่ใช้ทุน ประกาศออกมา

ซึ่งการทำงาน ก็จะได้รับเงินเดือนเสมือนแพทย์คนนึง อ้างอิงจากคุณหมอแอ๋ม (ใครสนใจอยากเรียนแพทย์ ติดตามช่องคุณหมอได้เลย คลิก) รายรับของแพทย์จบใหม่ โรงพยาบาลรัฐ จะมีที่มาของรายได้หลายส่วน คือ

  1. เงินเดือน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่สังกัด ปัจจุบันจะอยู่ประมาณ 18,000 บาท
  2. เงิน พ.ต.ส. คือ เงินเพิ่มตำแหน่งพิเศษของผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข แพทย์ จะได้ 5,000 บาท
  3. เงินไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว คือ เงินเพิ่มกรณีที่ไม่ไปทำงานคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม จะได้ 10,000 บาท
  4. เงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Perfomance)  ซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบที่กำหนดจำนวนเงินมาแล้วว่าในแต่ละเดือนจะได้เท่าไหร่ และแบบที่ขึ้นอยู่กับจำนวนหัตถการที่ทำ โดยเฉลี่ย ค่า P4P จะอยู่ประมาณ 5,000-7,000 บาท
  5. เงินค่าเวร รายได้จะขึ้นอยู่กับค่าเวรที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด โดยเฉลี่ยประมาณ 600-1,000 กว่าบาท ต่อ 8 ชั่วโมง ตรงนี้จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเวรที่ทำด้วย

ดังนั้น รายได้ของแพทย์จบใหม่ แม้จะเป็นแพทย์ใช้ทุน ก็จะได้รับเงินเดือน 5 ส่วนนี้รวมกันเป็นเงินเดือนของแพทย์ นั่นเอง 

ที่มาข้อมูล :https://www.youtube.com/watch?v=a-B07MJX1Zw

 

แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องจำนวนแพทย์ที่ลาออก  เนื่องจากภาระงานที่หนักเกินไป และยอมจ่ายค่าปรับแทนการใช้ทุน และมีหลายเสียงอยากให้เพิ่มจำนวนค่าปรับ เพื่อไม่ให้แพทย์ใช้ทุนไหลออกจากระบบมากเกินไป น้องๆ มีความคิดเห็นยังไงกันบ้างคะ มาแชร์กันได้นะ

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น