แนะนำ 8 คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถ้าไม่ใช่ "หมอ" แต่อยากช่วยคน เรียนอะไรดี

เด็กสายวิทย์ เคยเป็นมั้ย? อยากเรียนต่อคณะสายวิทย์สุขภาพ แต่สับสนตัวเองไม่รู้จะเรียนอะไรดี ถามใคร ใครก็บอกให้เรียนหมอ แต่น้องๆ รู้หรือเปล่าว่า สายวิทย์สุขภาพที่เรียนไปแล้วสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ มีอีกหลายสาขาวิชาชีพเลย และแต่ละอาชีพก็เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้วย เพราะในอนาคตประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาชีพด้านนี้จึงสำคัญมากๆ

วันนี้พี่มิ้นท์ก็จะมาสรุปให้ว่า คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีอะไรอีกบ้าง เผื่อเป็นไอเดียให้น้องๆ ที่ยังรู้จักคณะไม่มาก ไม่แน่อาจจะมีเป้าหมายคณะก็วันนี้!

แนะนำ 8 คณะ/สาขา สายวิทย์สุขภาพ น่าเรียน-เงินเดือนดี-ได้ช่วยเหลือคน
แนะนำ 8 คณะ/สาขา สายวิทย์สุขภาพ น่าเรียน-เงินเดือนดี-ได้ช่วยเหลือคน

แนะนำ 8 คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 
ถ้าไม่ใช่ "หมอ" แต่อยากช่วยคน เรียนอะไรดี

1. คณะทันตแพทยศาสตร์

เป็นคณะที่ตีคู่มากับคณะแพทยศาสตร์เลยก็ว่าได้ 2 อาชีพนี้ได้ขึ้นชื่อว่า "หมอ" เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน หมอทั่วไป จะรักษาร่างกายหรือรักษาให้หายจากโรคต่างๆ ค่ะ ส่วนทันตแพทยศาสตร์ จะเป็นคุณหมอที่ดูแลรักษาโรคในช่องปากโดยเฉพาะ จะฟันผุ ฟันแตก จัดฟัน ทำฟันปลอม ก็ต้องมาหาหมอฟันเลย

คณะนี้จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปีค่ะ เป็นคณะที่คะแนนสูงมากๆ และในแต่ละปีก็ไม่ได้รับเยอะด้วย ใครอยากเข้าต้องตั้งใจสุดๆ

2. คณะเภสัชศาสตร์

ไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องยาไปมากกว่าเภสัชกรแล้วค่ะ คณะเภสัชศาสตร์ จะใช้เวลาเรียน 6 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สาขา คือ สายที่เรียกว่าเภสัชกรรมอุตสาหการ คือ สายที่เรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ผลิตยา ไปทำงานได้ในโรงงานยา อีกสายคือ การบริบาลเภสัชกรรม จะเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลที่มีหน้าที่จัดและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยนั่นเอง

ในแวดวงงานด้านสุขภาพ เภสัชกร ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญมากๆ เพราะจะเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาเรื่องยา ซึ่งในชีวิตจริง บางคนป่วยก็จะเลือกเข้าร้านยาก่อน ดังนั้นเภสัชกรในร้านขายยาก็ถือเป็นด่านแรกที่ได้ช่วยคนให้หายจากการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้

3. คณะพยาบาลศาสตร์

เป็นคณะในฝันของน้องๆ นักเรียนหญิงหลายคน (ผู้ชายก็เรียนได้นะ) พยาบาลจะเรียนเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยและมีหน้าที่ช่วยคุณหมอในขั้นตอนการรักษาต่างๆ เพื่อให้การรักษาราบรื่นขึ้น รวมถึงการดูแลฟื้นฟูหลังการรักษาให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วยและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เรียกว่าเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนโดยตรงเลย

คณะนี้จะใช้เวลาเรียน 4 ปี ทำได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือ สามารถทำงานเป็นพยาบาลพิเศษ ดูแลผู้ป่วยตามบ้านก็ได้เหมือนกัน

4. คณะเทคนิคการแพทย์

คณะเทคนิคการแพทย์ เป็นคณะยอดฮิตติด Top รอบ Admission ตลอด แม้อาชีพนักเทคนิคการแพทย์จะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคนไข้โดยตรง แต่ก็ถือว่าสำคัญมากๆ ในขั้นตอนการรักษา

โดยนักเทคนิคการแพทย์จะมีหน้าที่วิเคราะห์เลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติของผู้ป่วย จากนั้นก็จะส่งต่อให้แพทย์ ทำหน้าที่แจ้งผลการรักษาและทำการรักษาต่อไป ดังนั้น หน้าที่ก็ได้ช่วยคนเช่นกัน  

สาขาเทคนิคการแพทย์ ใช้เวลาเรียน 4 ปี มีเปิดสอนอยู่หลายแห่ง ก็จะมีทั้งที่ใช้ชื่อว่า คณะเทคนิคการแพทย์ บางทีอาจเป็นชื่อ คณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์ค่ะ

5. สาขารังสีเทคนิค

รังสีเทคนิค เป็นสาขาที่สังกัดอยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์หรือสหเวชศาสตร์เหมือนกัน โดยมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับเทคนิคการแพทย์ คือ ได้ช่วยผู้ป่วยในลักษณะของงานเบื้องหลัง มีหน้าที่วินิจฉัยโรคจากเครื่องมือทางรังสีค่ะ นึกภาพง่ายๆ เช่น การเอ็กซเรย์ ที่สามารถมองเห็นความผิดปกติจากฟิล์มเอ็กซเรย์ได้ เป็นต้น จากนั้นก็ส่งต่อให้แพทย์ทำการรักษา

สาขารังสีเทคนิค ใช้เวลาเรียน 4 ปีเช่นกันค่ะ  

6. คณะกายภาพบำบัด

หลายคนรู้จักนักกายภาพบำบัด ในมุมของที่พึ่งพิงวัยทำงาน ปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม นักกายภาพช่วยได้ แต่จริงๆ แล้ว นักกายภาพบำบัดเป็นหนึ่งในวิชาชีพสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้หลังการรักษา โดยหน้าที่ของนักกายภาพบำบัดคือ ช่วยฟื้นฟูร่างกาย จากโรคหรืออาการเจ็บป่วยให้กลับมาเป็นปกติ  เพราะหลังจากการรักษาหลายๆ โรค ผู้ป่วยอาจจะต้องนอนติดเตียง หรือ ผ่าตัด ทำให้ไม่สามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้เป็นเวลานาน ก็ได้นักกายภายมาช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกครั้ง

คณะหรือสาขากายภาพบำบัด ใช้เวลาเรียน 4 ปี บางที่อาจเป็นสาขาที่อยู่ในคณะสหเวชศาสตร์

7. สาขากายอุปกรณ์

หลายคนไม่คุ้นชื่อนี้ สาขาวิชากายอุปกรณ์ เป็นสาขาที่อยู่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะเรียนเกี่ยวกับการสร้างอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายภายนอก เพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว ป้องกัน แก้ไข หรือทดแทนลักษณะความผิดปกติของร่างกาย เช่น ขาเทียม แขนเทียม รองเท้าทางการแพทย์ เป็นต้น เรียกว่าเป็นสาขาที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะนอกจากความรู้ด้านการแพทย์  ชีวกลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แล้ว ยังต้องใช้ศิลปะเพื่อออกแบบให้สวยงามและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายอีกด้วย

ดังนั้นนักกายอุปกรณ์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนไข้ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และปัจจุบันเป็นที่ต้องการสูงทั้งตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ สาขานี้ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปีค่ะ

8. คณะทัศนมาตรศาสตร์

มาที่สาขาสุดท้ายที่จะแนะนำวันนี้ คือ หลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ จะเน้นที่การรักษา "สายตา" เป็นพิเศษ โดยนักทัศนมาตรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดสายตาหรือตรวจสุขภาพตาและแก้ไขปัญหาสายตาเบื้องต้น เช่น การตัดแว่น การวัดสายตา คอนแทคเลนส์ เป็นต้น แม้จะไม่สามารถทำการรักษาในเชิงผ่าตัดได้ (แบบนั้นต้องเรียนเฉพาะทางเป็นจักษุแพทย์) แต่ก็ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และสามารถทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ได้

สำหรับหลักสูตรนี้ จะใช้เวลาเรียน 6 ปีค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้ น้องๆ มีสาขาในใจหรือยังคะ สุดท้ายไม่ว่าจะเลือกเรียนอะไร หากน้องๆ มีความตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าจะสามารถเรียนได้อย่างมีความสุขค่ะ 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.freepik.com/free-photo/coronavirus-blood-samples-assortment-lab_18684514.htmhttps://www.freepik.com/free-photo/young-physiotherapist-helping-patient-with-back-problems_18843355.htmhttps://www.freepik.com/free-photo/medical-doctor-give-consultation-patient-with-xray-film_26332684.htm
https://www.freepik.com/free-photo/asian-ophtalmologist-standing-examination-room-near-eyesight-testing-machines_5577339.htmhttps://www.freepik.com/free-photo/bone-fracture-foot-leg-male-patient-being-examined-by-woman-doctor-hospital_11567217.htm

 

 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น