เทคนิคทำ Portfolio ให้โดนใจ! เลือกผลงานยังไง ใส่อะไรในพอร์ตบ้าง

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน มีใครกำลังสนใจจะยื่นรอบ Portfolio อยู่บ้างมั้ยเอ่ย? น้องๆ หลายคนอาจจะมีคำถามสงสัยว่า "ต้องทำยังไง ถึงจะโดนใจกรรมการ" "ต้องมีผลงานเยอะแค่ไหน ถึงจะยื่นในรอบนี้ได้" วันนี้พี่คิตตี้จะพาน้องๆ ไปดูว่าการทำ portfolio ให้โดนใจ ควรจะใส่อะไรลงไปบ้าง และต้องใช้ผลงานรูปแบบไหนถึงจะน่าสนใจ

เทคนิคทำ Portfolio ต้องมีผลงานแค่ไหน แบบไหนถึงจะโดนใจกรรมการ
เทคนิคทำ Portfolio ต้องมีผลงานแค่ไหน แบบไหนถึงจะโดนใจกรรมการ

8 องค์ประกอบหลักของ Portfolio

สำหรับองค์ประกอบของการทำ Portfolio มีข้อสำคัญคือ ไม่ทำขาดหรือเกินไปจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 8-10 หน้าและกำหนดประเภทของชิ้นงานไว้ ทำให้น้องๆ ควรที่จะเลือกสิ่งที่อยากนำเสนอมากที่สุด รวมไปถึงมีความเป็นตัวเอง และผลงานตรงกับสาขาวิชาที่สมัคร

ที่สำคัญมากๆ อีกอย่างนึงคือ คณะกรรมการจะรู้จักเราภายใน 10 หน้า ผ่านทาง Portfolio ที่เราได้ยื่นไป ก่อนที่จะคัดเลือกเพื่อเข้ามาสัมภาษณ์ ทำให้น้องๆ อาจจะต้องออกแบบ Portfolio ของตัวเองให้มีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดกรรมการตั้งแต่รูปเล่มเลยทีเดียว พี่คิตตี้เกริ่นมาซะเยอะขนาดนี้ เราไปดูกันดีกว่าว่า องค์ประกอบหลักของ Portfolio มีอะไรบ้าง

1. หน้าปก  (บางคณะไม่นับรวมส่วนนี้ใน 10 หน้า)

หน้าปก เปรียบเหมือน หน้าต่างของการทำความรู้จัก เรียกได้ว่าเป็น first impression ที่จะดึงดูดให้กรรมการอยากจะหยิบเล่มของเราขึ้นมาดู น้องๆ ควรที่จะทำให้มีความสร้างสรรค์ หรือ เรียบง่ายแต่ดูน่าสนใจ รวมไปถึงมีเนื้อหาที่ครบถ้วนเพื่อให้กรรมการทำความรู้จักเรา ก่อนที่จะเปิดดูข้างใน

สิ่งที่ควรมี

  • ชื่อ-นามสกุล (ชื่อเล่น จะใส่หรือไม่ก็ได้)
  • ชื่อโรงเรียนที่กำลังศึกษา
  • รูปถ่าย (ควรเป็นรูปชุดนักเรียนที่เห็นหน้าชัดเจน)
  • คณะ และ มหาวิทยาลัยที่ยื่น (ใส่หรือไม่ก็ได้)

Tips : ในส่วนนี้น้องๆ สามารถจัดวางรูปแบบและออกแบบได้อย่างฟรีสไตล์เลยนะคะ จะเพิ่มเติมรางวัลโดดเด่นเป็นคำโปรยเล็กๆ ดึงดูดก็ยังได้ อย่างตอนที่พี่คิตตี้ยื่นเข้าสาขาวิชาภาษาไทย พี่คิตตี้ก็แนะนำตัวเองด้วยกลอนแปด 1 บท ใส่ลงไปด้วย เพื่อให้กรรมการสนใจมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าเรามีความสามารถด้านนี้นะ ><

2. เป้าหมายในการศึกษา หรือ คำนำ

ในส่วนนี้ พี่คิตตี้แนะนำว่าอาจจะเขียนเป็นเป้าหมายในการศึกษา ก็ได้นะคะน้องๆ “ทำไมเราถึงอยากเข้าคณะนี้” “คณะนี้มีความโดดเด่นอย่างไร” แสดงให้กรรมการเห็นว่าเราก็ทำการบ้านมาในการทำความรู้จักคณะ และเราก็มีเป้าหมายในการศึกษาต่อที่คณะนี้อย่างชัดเจน ซึ่งหัวข้อนี้ หลายมหาวิทยาลัยถึงกับกำหนดให้น้องๆ เขียนเป็นเรียงความประกอบ Portfolio เลยก็มีเหมือนกันค่ะ

สิ่งที่ควรมี

  • แรงบันดาลใจในการเข้าศึกษาต่อ
  • ความโดดเด่นของคณะที่ทำให้เราเลือกที่นี่

Tips : ควรเขียนให้กระชับและแสดงถึงทัศนคติเชิงบวก และเห็นถึงเป้าหมายของเราจริงๆ ในอนาคต ว่าอยากเรียนเพื่ออะไร จบไปอยากทำงานอะไร จะนำความรู้ไปใช้อย่างไร และไม่ควรพาดพิงผู้อื่นในทางลบ หรือเขียนให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ เพราะในส่วนนี้จะเป็นการเขียนเพื่อแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นของเรานั่นเองค่ะ

3. ประวัติส่วนตัว

เป็นการแนะนำตัวเองที่ละเอียดมากขึ้นจากหน้าปก เพื่อให้กรรมการรู้จักเราเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งระดับ โดยข้อมูลที่ใส่ควรเช็กความถูกต้องอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน

สิ่งที่ควรมี

  • ข้อมูลส่วนตัว เช่น รูป, ชื่อ นามสกุล, วัน เดือน ปีเกิด, ที่อยู่, ความสามารถพิเศษ, งานอดิเรก
  • ข้อมูลครอบครัว เช่น ชื่อ นามสกุล, อาชีพ, ข้อมูลติดต่อของผู้ปกครอง, พี่น้อง
  • ข้อมูลติดต่อ เช่น เบอร์โทรศัพท์, E-mail

Tips 1 : ควรใส่ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นความจริง และเป็นข้อมูลที่อัพเดทล่าสุด เช่น เบอร์โทรศัพท์ ทั้งของน้องๆ และผู้ปกครอง เผื่อมีการติดต่อกลับในกรณีฉุกเฉิน

 

Tips 2 : ความสามารถพิเศษ น้องๆ อาจจะเลือกใส่ความสามารถเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาที่ต้องการยื่นก็ได้นะคะ เพื่อให้กรรมการเห็นว่าเรามีความสามารถที่หลากหลาย (เน้นย้ำนะคะว่าควรเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริง)

4. ประวัติการศึกษา

ในส่วนนี้น้องๆ จะต้องใส่ผลการศึกษา และโรงเรียนที่น้องๆ เคยเรียน เพื่อแสดงการพัฒนาของตนเอง จะใส่ตั้งแต่ระดับประถมไล่มาจนถึงมัธยมเลยก็ได้นะคะ

สิ่งที่ควรมี

  • เกรดเฉลี่ยรวม (GPAX) ของแต่ละระดับชั้น เช่น ประถมศึกษา, มัธยมต้น, มัธยมปลาย (สำคัญ)
  • โรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ และ เคยศึกษา
  • รูป หรือ สำเนา ใบปพ.1 (แสดงเกรดเฉลี่ยแต่ละรายวิชาในระดับชั้นมัธยมปลาย)

Tips : น้องๆ อาจจะใส่เกรดเฉลี่ยรวมในรายวิชาที่คณะ/สาขาต้องการ แยกไว้เป็นกรอบเล็กๆ ด้วยก็ได้นะคะ เช่น คณะมีเกณฑ์พิจารณาวิชาภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ เราก็นำเกรดเฉลี่ยรวมแต่ละรายวิชา ของสามวิชานี้มาเขียนใส่เพิ่มให้กรรมการเห็นชัดเจนขึ้นก็ได้ค่ะ 

5. เกียรติบัตรที่โดดเด่น

มาถึงจุดที่สำคัญที่เรียกได้ว่าสำคัญมากอีกจุดนึงของการทำ Portfolio ในส่วนนี้นะคะพี่คิตตี้ขอแนะนำน้องๆ เลยว่า ให้เลือกเกียรติบัตรที่ตรงกับคณะ/สาขามากที่สุด คณะต้องการมากที่สุด รางวัลยิ่งใหญ่ที่สุด และปังที่สุด เช่น คณะ/สาขามีเกณฑ์ว่าต้องมีเกียรติบัตร หรือ กิจกรรม การแข่งขันระดับประเทศอย่างน้อย 1 กิจกรรม ให้น้องๆ นำเกียรติบัตรนั้นมาใส่ในส่วนนี้ และ อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมร่วมด้วยว่าเราได้ไปแข่งขันอะไร ที่ไหน เพื่อแสดงศักยภาพของเรา

สิ่งที่ควรมี

  • เกียรติบัตรที่ทางคณะ/สาขาต้องการ
  • อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับผลงานที่เราใส่ไป
  • เรียงจากรางวัลใหญ่ที่สุด

Tips : ควรเป็นกิจกรรมที่ตรงกับเกณฑ์การรับของคณะ/สาขานะคะในส่วนนี้ เพื่อแยกสัดส่วนลำดับความเกี่ยวข้องและรางวัลของผลงาน และอย่าลืมอธิบายเกี่ยวกับรางวัลนั้นสั้นๆ เพื่อให้กรรมการเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมนั้นว่ามีคุณค่าคู่ควรกับคณะหรือเปล่า

6. เกียรติบัตรที่เข้าร่วม/กิจกรรมที่เข้าร่วม  

ในส่วนนี้จะใส่เกียรติบัตรและกิจกรรมที่น้องๆ เคยเข้าร่วม อาจจะเรียงจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากที่สุดไปยังเกี่ยวข้องน้อยที่สุด หรือ เรียงตามวัน เดือน ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ได้เลยค่า สัดส่วนของเกียรติบัตร และ กิจกรรม ควรแบ่งหน้าให้ชัดเจนนะคะว่าหน้าไหนเป็นเกียรติบัตร หน้าไหนเป็นกิจกรรม (พี่คิตตี้แนะนำว่าไม่ควรเกินอย่างละ 2 หน้านะคะ)

สิ่งที่ควรมี

  • รูปภาพกิจกรรมที่เข้าร่วมพร้อมคำบรรยายใต้ภาพ
  • เกียรติบัตรการแข่งขัน กิจกรรมที่เข้าร่วมพร้อมคำบรรยาย

Tips : สามารถใส่ได้ทั้งเกียรติบัตร กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือ เกี่ยวกับทักษะทางด้านอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้นะคะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถ และมีทักษะที่หลากหลาย รวมไปถึงมีจิตสาธารณะในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม อย่างไรก็ตาม ถ้าระเบียบการ ระบุให้เลือกเฉพาะโครงการที่โดดเด่นที่สุด ภูมิใจที่สุด โดยกำหนดจำนวนชิ้นงานตามข้อ 5. หากน้องๆ ได้จำนวนชิ้นงานครบแล้ว กิจกรรมเพิ่มเติมส่วนนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ลงไปค่ะ 

7. ใบรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา (มีหรือไม่มีก็ได้)

เป็นส่วนที่เราสามารถให้อาจารย์ที่ปรึกษาเขียนเพื่อรับรองความประพฤติของเรา เช่น ด้านการเรียน การทำกิจกรรม การมีส่วนร่วมสาธารณประโยชน์

สิ่งที่ควรมี

  • ใบรับรอง และลายเซ็น ที่เขียนด้วยลายมือของอาจารย์ (น้องๆ ควรสแกนเป็นรูปภาพใส่ลงมาในรูปเล่ม)

Tips : ไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ปรึกษาประจำชั้นเรียนก็ได้นะคะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่พาเราไปแข่งหรือทำกิจกรรมก็ได้เช่นกันค่ะ 

8. ภาคผนวก หรือ ส่วนท้าย (มีหรือไม่มีก็ได้)

ส่วนสุดท้ายของ Portfolio ในส่วนนี้น้องๆ จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้นะคะ ถ้าใส่อาจจะเขียนเป็นการขอบคุณปิดท้ายที่เปิดดูเล่มของเรา หรือใส่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่น้องๆ ต้องการให้ทางคณะกรรมการดูนอกเหนือจากข้างในรูปเล่ม

 Tips : น้องๆ จะใส่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับทางคณะเล็กๆ น้อยๆ ลงไปก็ได้นะคะ ตอนที่พี่คิตตี้ทำในส่วนนี้พี่คิตตี้ใส่เป็นบทกลอนที่พี่คิตตี้เคยแต่งไปค่ะ ประมาณ 4-5 บท เพราะต้องการนำเสนอจนจบเล่มเลยสำหรับทักษะที่มี ><

 

เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ กับองค์ประกอบของการทำ Portfolio ที่พี่คิตตี้ได้พาไปดู พอจะนึกรูปแบบของตัวเองออกบ้างหรือยังเอ่ย? ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไรช่วงนี้เก็บผลงาน เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจไว้ก่อน บางคณะ/สาขาอาจจะมีเกณฑ์และกำหนดการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจำเป็นมากๆ ที่จะต้องอ่านให้ละเอียดว่าต้องใส่อะไรลงไปใน Portfolio บ้าง ใส่ให้ครบ ไม่ขาดไม่เกิน เพราะจะดูเหมือนไม่อ่านคำสั่งค่ะ สุดท้ายนี้หากน้องๆ สนใจในการยื่นรอบ Portfolio สามารถติดตามเกณฑ์การสมัครได้จากทางเว็บไซต์ของทางมหา’ลัยที่เปิดรับได้เลยค่า

พี่คิตตี้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น