ใครยังไม่มี..ฝึกด่วน! 5 Skills เอาตัวรอด สำหรับ ม.6 ที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่ใช้ "ความรู้" อย่างเดียว ระหว่างทางยังมีหลายอย่างที่น้องๆ จะต้องเตรียมและฝึกตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ พี่มิ้นท์ขอเรียกมันว่า ทักษะการเอาตัวรอดค่ะ เพราะรุ่นพี่หลายคนสอบได้คะแนนดี แต่อาจหลุดบางรอบไปอย่างน่าเสียดาย เพราะพลาดจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่าจะพลาด

วันนี้พี่มิ้นท์จะมาอุดรอยรั่วให้กับน้องๆ มาดูกันว่าต้องเตรียมตัวยังไง เน้นทักษะอะไรเป็นพิเศษ ตรงไหนที่น้องๆ ยังไม่มีหรือขาดอยู่ รีบฝึกตั้งแต่วันนี้ ไปดูกันเลย!

5 Skills จำเป็น สำหรับ ม.6 เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
5 Skills จำเป็น สำหรับ ม.6 เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 Skills เอาตัวรอด! สำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย ม.6 ใครยังไม่มี ฝึกด่วน

1. ทักษะการบริหารจัดการเวลา

ไหนจะต้องเรียน ทำกิจกรรม เตรียมตัวสอบ และแบ่งเวลาไปสอบในแต่ละสนาม 10 เดือนต่อจากนี้ ทุกๆ วินาทีของน้องๆ จะมีความหมายมากๆ เวลาจะผ่านไปเร็วมาก รู้ตัวอีกทีเหลือเวลาไม่กี่เดือน แต่ยังมีภาระหนักอึ้งรออยู่เต็มไปหมด  

การบริหารจัดการเวลา จะช่วยให้น้องๆ ทำทุกอย่างได้อย่างราบรื่น เช่น ถ้ารู้ว่ายังไม่ได้อ่านหนังสือ 3 วิชา แต่เหลือเวลาแค่ 2 เดือนก่อนสอบ ก็จะต้องบริหารเวลาแล้วว่าจะใช้เวลาอ่านแต่ละเรื่องกี่วันหรือกี่ชั่วโมง และในหนึ่งสัปดาห์จะแบ่งเวลาเรียน ทำการบ้านยังไง เมื่อน้องๆ บริหารเวลาได้แล้ว ปัญหาว่าอ่านสอบไม่ทัน ไม่มีเวลาทำโปรเจคจบก็จะหายไปทันทีค่ะ

2. ทักษะการเรียงลำดับความสำคัญ

การเรียงลำดับ ก็คือ การจัด 1 2 3 4 จากมากไปหาน้อยนั่นเอง กิจกรรมแต่ละอย่างมีความสำคัญไม่เท่ากันอยู่แล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของกิจกรรมนั้น หรือ ระยะเวลา รีบ/ไม่รีบ ตามหลักแล้ว อะไรที่ด่วนต้องส่งก่อน สำคัญกว่า ก็ต้องทำก่อน ให้เสร็จไปทีละงาน จะช่วยความเครียดจากงานที่เหลือได้ด้วยนะ อย่างพี่มิ้นท์เวลาจะเริ่มทำอะไร ก็จะเอางานมาวางกองก่อน แล้วดูว่างานอะไรสำคัญที่สุด และเรียงความสำคัญจากมากไปหาน้อย จากนั้นก็ไล่ทำทีละงานไปจนเสร็จค่ะ

หากน้องๆ มีทักษะการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ควบคู่ไปกับทักษะการจัดการเวลา รับรองว่าทุกกิจกรรมน้องๆ ผ่านฉลุย ไร้ความเครียดแน่นอนค่ะ

3. ทักษะการสื่อสาร

สื่อสารอะไร สื่อสารกับใคร? มีแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ในรอบ Portfolio และ Quota การสัมภาษณ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้อาจารย์เห็นทักษะการพูดคุย การแสดงออก ทัศนคติต่างๆ ไม่ต้องพูดเก่งถึงขนาดพูดสุนทรพจน์ ขอแค่พูดให้ชัดเจน ถ่ายทอดสิ่งที่คิดออกมาได้อย่างรู้เรื่อง น่าฟัง แค่นี้ก็ถือเป็นทักษะที่ช่วยให้น้องๆ มีบุคลิกที่ดี ได้เปรียบคู่แข่งแล้ว

4. ทักษะการเขียน

ทักษะการเขียนในที่นี้ไม่ใช่การคัดลายมือลงบนใบสมัคร แต่เป็นการเขียนถ่ายทอดเรื่องราว การเรียบเรียงความคิดให้คนอ่านซึ่งเป็นกรรมการอ่าน "รู้เรื่อง" และเข้าใจว่าจะสื่อถึงอะไร ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งพาร์ทของการสื่อสาร  

ในการสัมภาษณ์น้องต้องพูดเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการ แต่สำหรับรอบ Portfolio, Quota หรือ Direct Admission ที่มีการใช้ Portfolio มักจะเจอเงื่อนไขให้เขียนเรียงความประกอบ Portfolio ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เขียน 1 หน้ากระดาษ A4 ค่ะ สำหรับบางคน 1 หน้า A4 คือเรื่องใหญ่มาก นั่งคิดนอนเขียน 3 วันกว่าจะครบ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเขียนได้เกิน 10 บรรทัด คงต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วันนี้ 

5. ทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และดิจิทัล

เพราะการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยตอนนี้ แทบจะเป็นระบบออนไลน์ 100% แล้ว แต่จะมาใช้แค่พิมพ์ข้อมูลในระบบอย่างเดียวคงไม่พอ การสมัครยังครอบคลุมถึง การอัปโหลดไฟล์ การย่อไฟล์ การสแกน การใช้งานอีเมล การตรวจสอบผลผ่านระบบ การพิมพ์ใบสมัคร และอีกสารพัดสิ่งที่ต้องทำเมื่อสมัครออนไลน์ค่ะ

ตัวอย่างการกำหนดเอกสารหรือการอัปโหลดออนไลน์
ตัวอย่างการกำหนดเอกสารหรือการอัปโหลดออนไลน์

ตัวอย่างคำถามที่พี่ๆ เด็กดีมักจะได้คำถามจากน้องๆ เช่น 

  • อัปโหลดรูปไม่ได้ เพราะมีขนาดเกิน
  • เปิดไฟล์ PDF ไม่ได้ ทำยังไง,
  • กดสมัครตรงไหน
  • print ใบจ่ายเงินยังไง
  • สอบสัมภาษณ์ออนไลน์ ดาวน์โหลดโปรแกรมที่สัมภาษณ์ยังไง

ยังมีคำถามอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต บางทีดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับการสอบเข้าบางคณะแล้ว จุดเล็กน้อยเหล่านี้อาจจะเป็นการวัดถึงความละเอียดรอบคอบ ซึ่งทำให้ถูกตัดคะแนนได้ค่ะ

 

บทสรุป Topic วันนี้ พี่มิ้นท์แค่อยากจะย้ำกับน้องๆ ว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้ แต่ยังรวมถึงความละเอียดถี่ถ้วน การสื่อสาร ซึ่งเป็น Soft Skills ที่สำคัญต่อการเรียนและการทำงานในอนาคต ดังนั้นใครยังไม่มีทักษะเหล่านี้ รีบไปฝึกด่วนเลยจ้า!

 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น