เทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “3 ท. ทวน ท่อง ทำ”

สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ เชื่อว่า dek68 หลาย ๆ คนคงเริ่มอ่านหนังสือเตรียมสอบกันบ้างแล้ว เคยเป็นกันบ้างไหมคะ อ่านแล้วหลง ๆ ลืม ๆ จำเนื้อหาที่อ่านไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เพิ่งอ่านไปได้ไม่นาน ส่วนที่จำได้ก็ไม่ค่อยชัวร์ ได้ใหม่ลืมเก่า แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะวันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D ขอนำเสนอเทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “3 ท. ทวน ท่อง ทำ” เซฟไว้ ได้ใช้แน่!

เทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “3 ท. ทวน ท่อง ทำ”
เทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “3 ท. ทวน ท่อง ทำ” 

เทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “3 ท. ทวน ท่อง ทำ”

ท. 1 ทวน “ทวนเนื้อหา”

การทบทวนเนื้อหานั้นสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้จำเนื้อหาได้แม่นขึ้นแล้ว ยังช่วยเก็บตกเนื้อหาส่วนที่ยังไม่เข้าใจอีกด้วย  โดยอาจเริ่มต้นด้วยการทบทวนเนื้อหาทีละน้อย แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะความสม่ำเสมอจะทำให้เปลี่ยนจากความจำระยะสั้น (short-term memory) มาเป็นความจำระยะยาว  (long-term memory)  ทบทวนบ่อย ๆ จำเนื้อหาได้ขึ้นใจแน่นอน

ทบทวนเนื้อหาด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากได้ทบทวนกับเพื่อนจะเป็นเรื่องที่ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะเวลาที่เราติวให้เพื่อนก็เหมือนได้ทบทวนเนื้อหาไปด้วย ในขณะเดียวกันหากสงสัยอะไร ติดขัดตรงไหนก็ถามเพื่อนได้เลย  ได้แชร์ความรู้ให้กันและกัน มีเพื่อนช่วยติวให้กันย่อมดีกว่าทบทวนคนเดียวอยู่แล้ว

เคล็ดไม่ลับ การขีดเส้นใต้/ไฮไลต์เนื้อหาสำคัญระหว่างที่อ่านจะช่วยประหยัดเวลาเมื่อเรากลับมาทวนภายหลัง รวมถึงการจดสรุป (Short Note) เป็นภาษาของตนเองจะทำให้อ่านง่ายและจำแม่นขึ้น

ท. 2 ท่อง “ท่องศัพท์/สูตร”

การเตรียมตัวสอบนั้นมีหลายวิธี ดังนั้นเราจำเป็นต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละวิชา มีบางวิชาที่การทบทวนเนื้อหาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องขยันท่องด้วย  เช่น

วิชาภาษาต่าง ๆ :  ท่องศัพท์

“ยิ่งรู้ศัพท์ ยิ่งได้เปรียบ”  ถือว่าไม่เกินจริงเลยสำหรับวิชาเหล่านี้  เพราะคำศัพท์ล้วนปรากฏอยู่ในทุกพาร์ทของข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็น Conversations,  Text Completion, Reading  Comprehension  ฯลฯ เวลาท่องศัพท์นอกจากต้องจำความหมายแล้ว แนะนำให้จำวิธีการใช้ศัพท์ด้วย เช่น มาคู่กับคำไหน ใช้ในบริบทไหนบ้าง เป็นต้น

วิชาคำนวณต่าง ๆ : ท่องสูตร 

“สูตร คือ ทางลัดการทำข้อสอบ” ในวิชาคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือเคมี การรู้สูตรต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก พอเราใช้สูตรเป็นแล้ว จะสามารถหาคำตอบได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ในทางกลับกันหากไม่รู้สูตรเลย  ก็มีแต่ต้องเดาคำตอบซึ่งถือว่าเสี่ยงมาก ๆ

เคล็ดไม่ลับ หากท่องศัพท์/สูตรเฉย ๆ แล้วรู้สึกว่ายังไม่เวิร์ค สามารถใช้ตัวช่วยอย่าง flashcards  หรือแอปพลิเคชันช่วยจำต่าง ๆ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้

ท. 3 ทำ “ทำแบบฝึกหัด”

ยิ่งเราทำแบบฝึกหัดบ่อย ก็ยิ่งได้เจอโจทย์ที่หลากหลาย ทำให้เรารู้จักการนำเนื้อหามาประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เรารู้ว่าตนเองมีจุดไหนที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมอีกด้วย ช่วยให้เราสามารถกลับไปทบทวนเนื้อหาได้อย่างตรงจุด  นอกจากนี้การทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองอีกด้วย

การทำแบบฝึกหัดที่ดีควรทำควบคู่กับการจับเวลา  ควรศึกษาให้ดีว่า แต่ละวิชาใช้เวลาสอบเท่าไหร่ ควรแบ่งทำพาร์ทละกี่นาทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “ทำไม่ทัน” จนพลาดเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นการจัดสรรเวลาถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

เคล็ดไม่ลับ นอกจากแบบฝึกหัดทั่วไปแล้ว แนะนำให้ลองทำข้อสอบเก่าพร้อมกับจับเวลาขณะทำด้วย  การจำลองสถานการณ์เหมือนสอบจริง จะทำให้เราเกิดความคุ้นชิน และไม่เกิดอาการตื่นสนาม

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการอ่านหนังสือ คือ อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เมื่อไหร่ที่รู้สึกเครียดก็ลองให้รางวัลตนเองบ้าง  พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสมองให้เฟรชแล้วค่อยมาลุยกันใหม่  ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง เราก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอค่ะ

 

พี่ ๆ ชาว Dek-D  ขอเป็นกำลังใจให้ dek68 ทุกคนนะคะ

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น