สวัสดีค่ะน้องๆ วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา พี่แนนนี่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว “Chula MOOC Flexi” กลุ่มรายวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนผ่านแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Solutions for all) ซึ่งก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายเรื่องมาฝากน้องๆ กัน รับรองว่าถูกใจสายเรียนล่วงหน้าแน่นอน!
ครั้งแรก! จุฬาฯ เปิดตัว “Chula MOOC Flexi” เรียนล่วงหน้าฟรี! สะสมหน่วยกิต เทียบโอนป.ตรี ได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดคอร์สเรียนออนไลน์ Chula MOOC Flexi ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทางด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัล Digital Literacy ตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ทักษะที่จำเป็น จนถึงการประยุกต์ใช้ในการทำงาน และเปิดโอกาสให้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกคุณวุฒิ ได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา (ทุกสถาบัน) วัยทำงานทั้งภาครัฐ-เอกชน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ ก็สามารถเข้าเรียนได้
สำหรับ Chula MOOC Flexi นี้ จะจัดการเรียนการสอนฟรี! ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Chula-Nueron โดยผู้เข้าเรียนสามารถจัดตารางเรียนเองได้ เป็นการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถทบทวนเนื้อหา บทเรียนได้ซ้ำๆ และเลือกรอบการสอบวัดผลได้ด้วยตัวเอง รวมถึงยังสามารถเข้าสอบได้หลายครั้งอีกด้วย
นอกจากนี้หากน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษา สนใจลงเรียนรายวิชาต่างๆ ของ Chula MOOC Flexi ก็สามารถเข้าเรียนล่วงหน้า ตั้งแต่ช่วงมัธยมฯ ได้เลย และเมื่อเรียนจนจบหลักสูตร สอบวัดผลผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถสะสมหน่วยกิต และเทียบโอนเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ 3 หน่วยกิต เมื่อเป็นนิสิตในอนาคตได้
สิ่งที่น่าสนใจของหลักสูตรนี้
- ได้ค้นหาตัวเอง/ทำความรู้จักรายวิชาต่างๆ ก่อนเป็นนิสิตนักศึกษา
- ได้รับใบรับรอง E-Certificate จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หากเรียนครบตามที่รายวิชากำหนด สามารถสะสมหน่วยกิต และเทียบโอนผลการเรียน เมื่อเป็นนิสิตจุฬาฯ ได้
- ประเมินผลเป็น S/U
- ระหว่างการเรียนมีกิจกรรม Workshop/สัมมนา ทั้งออนไลน์/ออนไซต์ เพื่อจะได้สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนไป รวมถึงพบปะเพื่อนร่วมคลาส และอาจารย์ผู้สอนด้วย
รายวิชาที่เปิดสอน
ในระยะเริ่มต้นนี้ ทางโครงการฯ เปิดการเรียนการสอน ทั้งหมด 28 คอร์สเรียน ดังต่อไปนี้
- รู้จักคอมพิวเตอร์และระบบดิจิทัล
- พื้นฐานเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
- รู้จักอินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง
- รู้จักปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
- รู้จักการวิเคราะห์ข้อมูลและวิทยาการข้อมูล
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับทุกคน
- เรียนรู้พื้นฐานการโค้ดผ่านการทำโปรแกรมแบบบล็อก
- การสร้างเว็บด้วย HTML & CSS
- การเขียนโปรแกรมภาษา JavaScript
- การจัดการข้อมูลด้วยภาษา SQL
- การวิเคราะห์ความต้องการเพื่อสร้างข้อกำหนดในทารพัฒนาซอฟต์แวร์
- การสร้างต้นแบบแอปฟลิเคชั่นด้วย Google Slides
- การบริหารโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์แวร์เทคนิคและแนวทางปฏิบัติที่ดี
- การพัฒนาโปรแกรมด้วยความสามารถของคอมพิวเตอร์วิชั่น
- การพัฒนา Full-Stack เว็บแอปพลิเคชัน
- หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลล่วนบุคคล
- การบริหารจัดการระบบสารสนเทศเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- การสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับต่อสู้ภัยคุกคามทางไซเบอร์
- ยุทธศาสตร์ข้อมูล
- การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยแนวคิดเชิงคำนวณ
- Learn Python : Language Basics and Fundamental Data Processing
- Crunching data with Pandas
- Machine Learning Series : Supervised Learning
- Machine Learning Series: Unsupervised Learning
- Machine Learning Series: Time Series Modeling
- การทำโครงงานไอโอทีด้วย Raspberry Pi: ภาคโปรแกรม
- การทำโครงงานไอโอทีด้วย Raspberry Pi: ภาคบูรณาการ
- กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ
ซึ่งถ้าใครต้องการเทียบโอนหน่วยกิต จะสามารถเทียบโอนได้ 8 รายวิชาศึกษาทั่วไป (วิชา GenEd) ของจุฬาฯ โดยน้องๆ จะต้องผ่านคอร์สเรียนที่แต่ละรายวิชาที่กำหนดไว้
- รายวิชาการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (DIG DATA AI)
- รายวิชาพื้นฐานการพัฒนาเว็บ (WEB DEV FUND)
- รายวิชาพัฒนาต้นแบบอินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่งด้วยตนเอง (DEV INT PROT)
- รายวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยภาษาไพทอน (DATA ANAL PYTHON)
- รายวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (ANA DATA MAC TECH)
- รายวิชาวิสัยทัศน์คอมพิวเตอร์และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (VIS COM APP IND)
- รายวิชาการบริหารโครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันยุคใหม่ (MAN PRO DEV MOD AP)
- รายวิชาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับผู้ให้บริการเทคโนโลยี (DATA PRO TECH SER)
รายชื่อคอร์สออนไลน์ที่ต้องเรียน เพื่อรวบรวมไปเทียบโอนในแต่ละรายวิชา
หลักการสอบวัดผลการเรียน
- เข้าเรียนคอร์สให้ครบตามที่แต่ละรายวิชากำหนดไว้ (ระยะเวลาการเรียนแต่ละคอร์สไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวิชา)
- แจ้งความประสงค์เข้าสอบวัดผลการเรียน
- เข้าสอบวัดผลการเรียน ตามวัน/เวลาที่กำหนด (หากสอบไม่ผ่าน ก็สามารถลงสอบใหม่ได้)
- หากสอบผ่านเรียนร้อย และมีสถานะเป็นนิสิต จุฬาฯ จึงจะลงทะเบียนผ่าน Reg Chula และเทียบโอนรายวิชาอีกครั้ง
นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้...จะมีการรองรับการเรียนและเทียบโอนรายวิชาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปแบบข้ามสถาบันด้วย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติม/ช่องทางการสมัครปัจจุบันจุฬาฯ เปิดโอกาสให้หลายๆ มหาวิทยาลัยที่สนใจ สามารถนำชุดรายวิชาเหล่านี้ ไปเทียบโอนเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ ซึ่งหากมีความสนใจสามารถติดต่อทางจุฬาฯ เพิ่มเติมได้เลย
0 ความคิดเห็น