Spoil

  • MBTI เป็นหนึ่งในแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุด ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี
  • ทฤษฎีที่เป็นฐานของ MBTI นั้น ค่อนข้างเก่าแก่ ไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
  • จริงๆ แล้ว  MBTI ที่ทำกันในเว็บออนไลน์ " ไม่ใช่ฉบับจริงของมัน"

น้องๆ เคยสงสัย เคยเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4-5 ตัว ที่มักจะอยู่ตามไบโอไอจีเพื่อนๆ จากโพสต์ตามเฟสบุ๊ค หรือเคยได้ยินประมาณว่า “เนี่ย เราเป็น INFJ นะ” อะไรแบบนี้รึเปล่า ถ้าใช่ละก็ วันนี้พี่แทนนี่จะพาชวนดูทุกด้านทุกมุมของ MBTI แบบทดสอบที่ขึ้นชื่อเรื่องความแมสไปทั่วโลก และข้อควรรู้ก่อนจะทำ จะได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของเทสตัวนี้ให้มากขึ้นกันครับ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก Cunningham (2013) Myers-Briggs Type Indicator หรือ MBTI นั้นเป็นหนึ่งในแบบทดสอบบุคลิกภาพที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก 

โดยถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการให้คำปรึกษา การรับสมัครเข้าทำงาน รวมไปถึงในบุคคลทั่วไปผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน วัยแห่งการก่อร่างขึ้นมาของ “บุคลิกภาพ” ผ่านการพบเจอสังคมมากมายรอบตัว ที่ต้องการรู้จักตนเอง เพื่อให้เข้าใจและนิยามความเป็นตัวตน (identity) ขึ้นมาให้คงที่นั่นเอง 

สามารถอ่านรายละเอียดของแบบทดสอบ MBTI เพิ่มได้ที่ https://www.dek-d.com/teentrends/57315/
สามารถอ่านรายละเอียดของแบบทดสอบ MBTI เพิ่มได้ที่ https://www.dek-d.com/teentrends/57315/

อย่างไรก็ตาม MBTI ก็เป็นหนึ่งในแบบทดสอบที่ถูกครหามากที่สุดเช่นกัน ว่าเป็นแบบทดสอบที่ทำไปแล้ว “ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา” ด้วยสาเหตุที่ส่วนใหญ่จะถูกยกมา ดังนี้.. 

ทฤษฎีที่เป็นหลักยึดของเทสนี้ค่อนข้างล้าสมัยพอสมควร 

โดยจะยึดจากผลงานการเขียนของ Carl Jung ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1921 ที่เขาเชื่อว่า สามารถแบ่งคนออกเป็นประเภทได้ตามทักษะการคิดและทัศนคติส่วนบุคคลที่เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรานี่เอง ประมาณว่าถ้าคุณเป็นแบบนี้ ก็จะเป็นคนจำพวกนี้ แบ่งไปตามบ้านฮอกวอตส์เหมือนในแฮร์รี่พอตเตอร์  อะไรทำนองนั้นเลย ซึ่งในสมัยนี้ เรื่อง...

บุคลิกภาพของมนุษย์อาจมีความหลากหลายมากกว่า 16 แบบ 

ถ้าให้พูดเรื่องของบุคลิกภาพเพียวๆ คงจะดูน่าเบื่อเกินไป อธิบายง่ายๆ ก็เอาเป็นว่า ทฤษฎีของเทสนี้เขาจะมองว่า ถ้าคุณไม่เป็นอย่างนึง คุณก็ต้องเป็นอีกอย่างไปเลย เราจะเรียกว่า dichotomous ไม่ขาวก็ดำ แต่ก็จะมีอีกความเชื่อสายนึงที่เชื่อว่า “มันก็ผสมๆ กันไปได้” สีเทาๆ นั่นเอง แต่จะเทาเข้มหรือเทาจางๆ ก็แล้วแต่คนไป ซึ่งข้อถกเถียงข้อหลังมันยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะคนเราก็ไม่ใช่ว่าจะไปสุดทางกันทุกคน ตัวอย่างที่อยากให้น้องๆ ลองคิดตามคือ เราสามารถเห็น Introvert มีเพื่อนและคุยเก่งได้ หรือเห็นคน Perceiving สามารถวางแผนงานและจัดการอะไรอย่างเป็นระบบระเบียบได้เช่นกัน ทั้งหมดเริ่มเกิดเป็นคำถามว่า หรือที่จริง “บุคลิกภาพของเรามันมีมากกว่า 16 แบบ” ที่ MBTI ตั้งไว้กันนะ

ในเว็บฟรี คำถามไม่ได้ครอบคลุมเท่าฉบับจริง 

ในฉบับจริงของ MBTI นั้นจะมีทั้งหมด 93 ข้อ ซึ่งผู้ที่จะเอามาใช้ รวมไปถึงการแปลผลว่าเราเป็นคนยังไงได้นั้น จะต้องมีใบรับรองก่อน เหมือนกับการใช้แบบทดสอบจิตวิทยาที่เป็นทางการทั่วไป ดังนั้นฉบับจริงของ MBTI จะไม่มีเปิดให้ทำในออนไลน์ ที่น้องๆ เห็นตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น เป็นเพียงฉบับที่ต่อยอดมาอีกทอดนึง ถ้าเทียบความตรงก็อาจจะไม่ได้เท่ากับของจริงอีกนั่นเอง

ทั้งหมดที่กล่าวไปในช่วงแรกเป็นเพียงข้อสังเกตของกลุ่มคนที่มองอีกฝั่งของข้อมูล เสมือนเป็นการโต้วาทีในฝ่ายค้าน แต่แน่นอนว่า MBTI เนี่ย การที่จะแมสถึงระดับนี้ได้ก็ต้องมีข้อดีอยู่แล้ว แถมเป็นข้อดีที่ถูกใจคนในสมัยนี้อีกด้วย แล้วข้อดีส่วนนี้จะมีอะไรบ้าง เดี๋ยวมาไล่ให้ดูกัน!

คนเราอยากทำความเข้าใจตนเอง 

พี่เองเป็นหนึ่งคนที่ทำ MBTI บ่อยเหมือนกัน เพราะอยากรู้จักตัวเองมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหนกันแน่ ผ่านผลลัพธ์ของเทสที่แปลออกมาจากเว็บออนไลน์ ที่อย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจและรู้จุดดีจุดแข็งของตนเองได้ ซึ่งเรื่องของ Self-knowledge นั้นเป็นสิ่งที่คนเรามักอยากเข้าถึงอยู่เป็นธรรมชาติ แต่ตามปกติให้มานึกก็คงจะนึกไม่ออก จึงต้องมี “เครื่องมือ” ในการที่จะช่วยดึงข้อมูลส่วนนั้นออกมา ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้นที่ในวงการจิตวิทยาเขาใช้กันก็คือ “แบบทดสอบ” นั่นเอง และ MBTI ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ง่าย เร็ว สะดวก 

แบบทดสอบตามเว็บออนไลน์ทั่วไป เชื่อมั้ยว่าทำเพียง 20-25 นาที ก็ได้ผลออกมาแล้วว่าเราเป็นไทป์อะไร แถมยังมีคำอธิบายที่เข้าใจง่าย (ในบางเว็บ) ทำให้สามารถเรียนรู้ไปได้พร้อมๆ กันเลยเกี่ยวกับตัวเอง

ความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน เมื่อได้เจอคนไทป์เดียวกัน

เวลาเราเจอคนที่มีอะไรเหมือนกับเรา เสมือนมีแรงดูดบางอย่างเสมอ ที่น้องๆ อาจเคยได้ยินมาว่า “คนที่มีอะไรเหมือนๆ กัน มักจะถูกดึงดูดหากัน” ในทางจิตวิทยาเราจะเรียกว่า “Similarity attraction” ซึ่งเกิดจากการที่เราพึงพอใจและชอบในคนที่มีทัศนคติเช่นเดียวกับเรา เวลาได้พูดคุยกันหรือทำความรู้จักกันมันจะลื่นไหลนั่นเอง เพราะจะคิดอะไรเหมือนๆ กัน ไม่ค่อยขัดกันเท่าไหร่

"ส่วนตัวพี่มองว่า MBTI เนี่ย เข้าถึงง่าย และทำให้เราเห็นตัวเองได้ชัดขึ้นจริงๆ เหมือนกันนะ"

ถึงตอนนี้ มาถึงส่วนสุดท้ายของบทความแล้วแหละ เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่า "งั้น เราจะรู้ MBTI ไปทำไมกันนะ" พี่แทนนี่จะมาสรุปสั้นๆ ว่า "ทำ MBTI จะได้อะไรกลับไปบ้าง"  ไปดูกันเลย!

สิ่งที่จะได้คือ รู้จักตัวเองมากขึ้น

หนึ่งสิ่งที่ MBTI สามารถให้เราได้ คือ เราสามารถเข้าใจตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านการอ่านคำถามและนึกย้อนกลับเข้าไปในตัวเอง ไปทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา (Self-Reflection) ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงความสนใจและทัศนคติของตนเองที่มีต่อคำถามในแบบทดสอบได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากต้องการจะรู้จักตัวเองมากขึ้น อีกทั้งสามารถปูทางไปสู่การเข้าใจในความแตกต่างของผู้อื่นด้วย  สร้างเสริมความสัมพันธ์ต่างๆ ให้แข็งแรงขึ้นได้เลยทีเดียว

คล้ายๆ ประมาณ "เรารู้ว่าเธอเป็น introvert เราก็จะรู้ว่า เราควรปฏิบัติตัวต่ออีกฝ่ายอย่างไร ไม่ให้เขารู้สึกไม่ดี" 

ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ ความสุข หรือความล้มเหลว

บางทีเราอาจจะเห็น MBTI ถูกใช้ทั้งในการสมัครงาน หรือการคัดเลือกคนเข้าโครงการต่างๆ ซึ่งตามจริงนั้นแบบทดสอบนี้เป็นไปเพียงเพื่อให้เราได้รู้จักตนเอง รู้ว่าเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรเท่านั้น เพราะคำถามส่วนใหญ่คือการถามเพื่อดูทัศนคติและรสนิยมเป็นหลัก 

การจะไปถึงขั้นว่าจะเอาไปวัดว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คนนี้เก่งมั้ย หรือจะมีความสุขหรือไม่ เทสนี้ไม่สามารถทำได้เลย 

ดังนั้น เวลาทำเทสนี้ก็พยายามให้นึกเสมอว่า “สิ่งที่จะได้หลังจากนี้เป็นเพียงบุคลิกภาพในช่วงเวลาที่ทำอยู่เท่านั้น ในอนาคตชีวิตเราจะเป็นอย่างไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับมัน 100% แน่นอน”

สุดท้ายแล้ว MBTI ก็เป็นหนึ่งในเทสจิตวิทยาที่ทำให้เราได้เข้าใจตัวเอง แบบที่อยู่ที่บ้านก็ทำได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเจอรอบตัวเช่นกัน ถึงวันนั้นก็พยายามไม่ไปยึดติดกับไทป์ที่ได้มากเกินไปก็พอฮะ

แล้วทุกคนล่ะ คิดเห็นกันอย่างไรบ้าง หรือใครที่ทำ MBTI มาแล้วได้ไทป์อะไรกัน  พิมพ์มาเล่าให้ฟังกันได้นะครับ :)

เข้าไปทำแบบทดสอบ MBTI ได้ฟรี ที่ https://sakinorva.net/functions และ  https://www.16personalities.com/free-personality-test

  อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.verywellmind.com/the-myers-briggs-type-indicator-2795583https://virtualpsychcentre.com/the-8-personality-types-according-to-carl-gustav-jung/https://www.vox.com/2014/7/15/5881947/myers-briggs-personality-test-meaninglesshttps://www.usatoday.com/story/news/nation/2019/05/06/myers-briggs-type-indicator-does-not-matter/3635592002/https://www.psypost.org/2017/03/us-tend-attracted-people-similar-48596King, S., P., & Mason, B., A. (2020). Myers‐Briggs Type Indicator. The Wiley Encyclopedia of Personality and Individual Differences, 315–319. https://doi.org/10.1002/9781119547167.ch123
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
mumu2812 Member 10 ส.ค. 65 19:53 น. 5

ตามมาจากสตอรี่ไอจี บทความที่พี่เขียนนี้ดีมากเลยค่ะ การจัดเรียงเนื้อหา รวมถึงมีรูปสรุป ทำให้อ่านเข้าใจง่าย ทั้งยังเปิดมุมมองและได้ความรู้เพิ่มเติมที่ไม่เคยรู้มาก่อนหลายอย่างเลยค่ะ ขอชื่นชมค่ะ ????????

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด