ยิ่งรู้ตัวไว ยิ่งแก้ไขได้ทัน! ทำไมลูกโตขึ้นแล้วไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่?

Spoil

  • สภาพสังคมในปัจจุบันที่เป็นผลมาจากโควิด ทำให้ทั้งพ่อแม่และลูกเกิดความเครียดได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • Generation Gap (ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความตึงเครียดภายในครอบครัว
  • การเลี้ยงดูมีผลอย่างมาก ถ้าอยากให้ลูกเปิดใจพูดคุย พ่อแม่/ผู้ปกครองต้องพยายามเป็นเพื่อนกับลูกให้ได้มากที่สุด

จากบทความ คุณหมอช่วยด้วย…อยากไปพบจิตแพทย์แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ! พี่ออมพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์ในมุมมองของวัยรุ่นไปแล้ว วันนี้มาถึงคิวของฝั่งพ่อแม่ผู้ปกครองกันบ้างนะคะ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่มีบทบาทกับชีวิตของเราอย่างมาก แต่ทำไมเมื่อเราเริ่มโตขึ้น เราถึงคุยกับพ่อแม่น้อยลง มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ลูกกับพ่อแม่ไม่เข้าใจกัน? จนลุกลามเกิดเป็นความขัดแย้งกันในครอบครัว  บทความนี้จะสะท้อนแนวคิดในมุมของเด็กวัยรุ่นให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านและทำความเข้าใจกันมากขึ้น ด้านน้องๆ ชาว Dek-D.com อ่านแล้วมาช่วยแชร์หน่อยนะว่าตรงกับที่เราคิดกันหรือเปล่า?

วันนี้มาพูดคุยกับคุณหมอวอป นพ.ณัฎฐชัย รำเพย ท่านเดิม บอกเลยว่าคุณหมอมีประเด็นมาให้ชวนคิด รับรองว่าตรงใจทั้งวัยรุ่นและวัยพ่อแม่กันมากๆ เลยค่ะ! 

หมอวอป  นพ.ณัฎฐชัย รำเพย เจ้าของคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic
หมอวอป  นพ.ณัฎฐชัย รำเพย เจ้าของคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic

จริงไหมคะ? ที่สภาพแวดล้อมในปัจจุบันส่งผลให้คนมีความเครียดกันเยอะขึ้น

คุณหมอวอปกล่าวว่า “ในฐานะจิตแพทย์นะครับ ปัจจัยหลักๆ ของโรคทางจิตเวชก็คือความเครียด ถ้าเราย้อนไปสมัยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 เราจะพบว่าช่วงปี 41-42 มีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมากจากการเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ”

“เช่นกัน…ตอนนี้เรากำลังเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ จะเห็นได้ว่ามันเป็นตัวกระตุ้นที่ชัดเจนคล้ายๆ ตอนวิกฤตการณ์ปี 40 เลย คำถามคือแล้วเกี่ยวกับวัยรุ่นอย่างไรล่ะ? ” 

“แน่นอนว่ามันเกี่ยวโยงกันหมดเลย ลองคิดตามดูนะครับ เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ลงพ่อแม่ก็เครียด ส่งผลต่ออารมณ์พ่อแม่ที่มีต่อลูก  กระทบไปถึงการเลี้ยงดูลูก  ยิ่งไปกว่านั้นตัวโรคโควิดนี่เองก็ทำให้เด็กไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำนั่นคือการไปเจอเพื่อน, ไปเจอสังคม จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางสังคมเด็กเสียไปหมดเลย ไม่ได้ไปเรียนรู้สังคม ไม่ได้ไปเจอเพื่อน ไม่ได้ไปพัฒนาการตามวัย  สิ่งเหล่านี้มีผลต่อภาวะทางจิตใจของเด็กวัยรุ่นแน่นอน”  

 กับอีกเรื่องที่หมอว่ามีผลแรงมากๆ และอยากจะให้ทุกคนตระหนัก โควิดเราก็ทำได้แค่รับรู้และหาทางที่จะอยู่กับมันให้ได้ใช่ไหมครับ แต่เรื่องนี้คือคุณรู้แล้วคุณแก้ได้เลยคือ ‘Generation Gap’ (ช่องว่างระหว่างวัย) เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความกดดัน, ความเครียดทั้งพ่อ-แม่และลูกได้เยอะเลยครับเพราะว่าช่วงวัยต่างกันความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกก็ห่างกันมาก ลูกไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งที่เขาทำหรือเป็นอยู่นั้นคืออะไร พ่อแม่พอไม่เข้าใจก็กดดันลงมาด้วยความหวังดี เกิดเป็นแรงกดดัน-ความตึงเครียดภายในครอบครัวขึ้นมาได้”  

แบบนี้พ่อแม่และลูกก็ต้องพยายามปรับเข้าหากัน เพื่อลดช่องว่าง (Gap) ตรงนี้ใช่ไหมคะ?

“ใช่ครับ อย่างน้อยคือให้เข้าใจกัน ยอมรับในกันและกัน ยังไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนมาหากันก็ได้แต่ยอมรับในบางจุดก่อน เช่น  ‘อ๋อเขาเป็นอย่างนั้น พ่อแม่เป็นอย่างงี้นะ’ พ่อแม่เองก็ depress มากเหมือนกันครับ  เคสที่หมอเคยเจอคือบ้านที่พ่อแม่ไม่มีปัญหาเรื่องเงินหรือเรื่องเศรษฐกิจเลยเห็นได้ว่าปัจจัยกระตุ้นตรงนี้เป็นศูนย์ แต่เมื่อถึงวันที่ลูกเรียนจบพ่อแม่ต้องส่งต่อธุรกิจของครอบครัวมาให้ลูก จุดเปลี่ยนอยู่ตรงนี้เลยครับและจากเดิมที่สภาพแวดล้อมในบ้านสงบๆ มีฐานะดี พอต้องส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ที่มีแนวคิดต่างกันสิ้นเชิง ก็ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจ โต้เถียงกัน นำมาสู่ความตึงเครียดในครอบครัว”   

“หมอว่า Generation Gap เป็นปัญหาใหญ่เลยครับ นี่ยังไม่นับกรณีที่บ้านมีปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้วอีกนะ บางครั้งเราเจอการสื่อสารที่มันผิดวัย ง่ายๆ เลยเช่นปัญหาเรื่องเปิดประตูเข้ามาไม่เคาะห้อง ลูกไม่พอใจ พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องไม่พอใจเราอยู่บ้านเดียวกันนะ...นี่ก็เป็นอีกปัญหาของ Generation Gap เราต้องมาเรียนรู้กันว่าการเคารพกันระหว่างวัยควรจะต้องทำยังไง เห็นไหมว่ามีตั้งแต่เรื่องเคาะประตูห้องยันเรื่องใหญ่คือการส่งต่อธุรกิจเลย”

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

พ่อแม่จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูกได้อย่างไร?

“จุดสังเกตใหญ่ที่สุดเลยครับอะไรก็ตามที่ทำให้ sense ของเราไม่เหมือนเดิม อะไรที่มันบ่งบอกได้ว่ามีอะไรบางอย่าง...อันนี้คือจุดเริ่มแรก แล้วเราค่อยไปตามดูว่าไม่เหมือนเดิมที่ว่ามันคืออะไร ก่อนอื่นหมออยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของช่วงวัยรุ่นด้วยเรื่องนี้จำเป็นนะครับและมีสื่อความรู้ในอินเตอร์เน็ตเยอะมาก เลย”  

“หลังจากนั้นเราก็มาเทียบว่าความไม่เหมือนเดิมที่เราสัมผัสได้นั้นเป็นไปตามวัยหรือเปล่า ถ้าสมมติสมัยก่อนชอบกอดแม่แต่เดี๋ยวนี้กอดแม่น้อยลงไปเล่นกับคนอื่นแทน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปกติตามวัย แต่ถ้าไม่เหมือนเดิม เช่น อยู่ๆ ลูกกินข้าวน้อยลง, สีหน้าคร่ำเครียด, ไม่ค่อยพูดจา, สิ่งที่เคยชอบเขาไม่เอนจอยเหมือนเดิมสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ปกติละ...แต่ไม่ได้แปลว่าลูกจะเป็นโรคทางจิตเวชเลยนะครับ เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องค่อยๆ หาสาเหตุ ซึ่งจริงๆ แล้วลูกอาจจะแค่อึดอัดใจกับเราไม่กล้าคุยหรือปรึกษาเรื่องบางเรื่อง แต่ในบางทีลูกอาจจะป่วยก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะป่วยหรืออึดอัดใจกับพ่อแม่สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นก็เป็น sign (สัญญาณ) ว่ามีปัญหาบางอย่างที่เราต้องไปแก้ ถ้าคิดอะไรไม่ออกพามาหมอได้หมด แต่ถ้าดูแล้วไม่ฉุกเฉินก็ค่อยๆ ดูว่าเกิดจากอะไร”  

กรณีที่สังเกตว่าลูกเรามีอาการผิดปกติไปแต่เขาไม่ยอมบอกพ่อแม่ จะมีวิธีการคุยอย่างไรดีคะ?

“อันนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยากเหมือนกันครับ เพราะว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่เห็นลูกมีความผิดปกติแล้วไม่บอกก็จะรีบโฟกัสตรงนั้นเลยว่า ทำไมลูกไม่บอก! หรือพยายามไปถามไปเค้นเอาคำตอบจากลูก”   

“หมออยากชวนคุณพ่อคุณแม่คิดแบบนี้ครับ...ย้อนเวลากลับไปสมัยที่ลูกเรายังเด็ก แค่เขาหกล้มเขาก็วิ่งมาฟ้องเรา, ทำของหายเขาก็วิ่งมาฟ้องเรา โดยธรรมชาติเด็กๆ มีอะไรเขาจะบอกเราอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเขามีอะไรแล้วไม่บอกเรา อยากให้รู้ไว้ว่าเรามีปัญหาในการเลี้ยงดูบางอย่างแฝงมา เราต้องตามไปดูเลยครับว่าปัญหามันเริ่มจากตรงไหนและกว่ามันจะถึงจุดที่เขามีอะไรแล้วไม่บอกเรา ต้นเหตุของปัญหาก็คงเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว”   

ในกรณีที่ลูกไม่ยอมเล่าเรื่องไม่สบายใจให้พ่อแม่ฟัง ปัญหาส่วนมาก ที่หมอเจอคือ : 

  • พ่อแม่ที่จู้จี้จุกจิกเกินไป ลูกคิดว่าบอกอะไรเดี๋ยวก็จะได้รับคำบ่นกลับมาอีก เด็กวัยนี้ไม่ชอบฟังเสียงบ่น หรอกครับ
  • พ่อแม่สายไม่ฟัง พอลูกบอกอะไรไปพ่อแม่จะรีบให้ความเห็นตัวเองกลับมาทันที ลูกจะมีความรู้สึกที่ว่า ‘แล้วความเห็นของหนูล่ะ? ’ พอเป็นแบบนี้กับเรื่องหลายๆ เรื่องทั่วไปลูกก็จะเริ่มคิดว่า  ‘งั้นเราไม่ต้องบอกดีกว่า เรื่องของเรามันควรจะไปอยู่กับคนที่ควรฟัง’ เช่น เพื่อนของเขา
  • พ่อแม่สายที่ไม่เข้าข้าง ลูกจะขอให้เป็นที่พึ่งให้ ก็ไม่ เผลอๆ ซ้ำเติมอีก แต่บางทีพ่อแม่ไม่จงใจซ้ำเติมหรอกครับแต่เป็นวิธีการช่วยเหลือในแบบของเขา เช่นดุ ติหนิ ขึ้นเสียงใส่ อาจจะเป็นเพราะต้องการสอน แต่มันไม่ใช่วิธีที่ดี มีหลายแบบมากแต่หมอจะสรุปให้เลยถ้าอยากให้ลูกเล่าให้ฟังคือ คุณต้องเป็นเพื่อนกับลูกให้ได้ 

อยากให้ลูกเล่าให้ฟัง คือ  ต้องพยายามเป็นเพื่อนกับลูกให้ได้ 

แล้วคุณหมอก็ชวนคิดไปพร้อมกันว่าเพื่อนคืออะไรค่ะ เพื่อนคือคนที่รับฟังเรื่องที่เราอยากจะเล่า แนะนำในสิ่งที่เราต้องการ และพูดคุยเล่นกับเราในเรื่องทั่วไป เช่น เราจะคุยเล่นกับเพื่อนในเรื่องไปเที่ยว ดูหนังฟังเพลง ดารา สัพเพเหระ  ไม่ใช่จะคุยกันแต่เรื่องเรียนหรือถามแค่ว่าช่วงนี้มีเรื่องเครียดอะไรอยู่เท่านั้น อีกอย่างคือเพื่อนจะไม่มาซ่ำแซะในเรื่องบางเรื่องมากเกินไป ถูกไหมครับ? พอเราเป็นแบบนี้คุยกับลูกเหมือนเพื่อน มีพื้นที่ส่วนตัวให้เขา คอยอยู่เป็น Safe zone ให้แล้วถ้าลูกเริ่มมีปัญหาอะไรเขาจะบอกเราเอง แค่พอเริ่มสะกิดนิดหน่อยลูกจะบอกเรา ลองหาจังหวะครับ หาจังหวะแนะนำเนียนๆ ฟังเขาก่อนพอฟังเสร็จก็ ‘เอ้อ แนวคิดนี้ลูกก็ดีนะ แต่ถ้าสมัยแม่เด็กๆ แม่จะทำแบบนี้...’  ฟีลเหมือนเพื่อนคุยกัน  ‘เออแกชั้นทำแบบนี้นะ, ลองแบบนี้มั้ย...แต่จะเลือกทำแบบไหนก็เรื่องของแกนะ ลองเลือกดู’    

 

“แต่ประเด็นคือการทำแบบนี้ตอนลูกมีเรื่องไม่สบายใจมันจะไม่ค่อยทันครับ...มันจะเริ่มช้าไป ผมมักจะบอกว่าให้ทำอย่างงี้กับลูกตั้งแต่ก่อน 10 ขวบเลยแล้วลากยาวจนถึงวัยรุ่น แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทันเพราะพ่อแม่จะมาอีกแบบลูกก็จะจำภาพพ่อแม่แบบนั้นไปเเล้ว ดังนั้นเรียกว่าสายไหม...เรียกว่าช้าแต่ยังไม่สายเกินไปครับ รู้ตัวแล้วก็พยายามมาเป็นเพื่อนกับลูก ไม่ใช่ว่าเราจะสอนอะไรเขาไม่ได้นะ เรายังสอนได้อยู่ เหมือนกับเป็นเพื่อนที่อาวุโสกว่าเท่านั้นเอง”  

อีกหนึ่งค่านิยมของสังคมไทยคือ ‘อย่าชมลูกมาก...เดี๋ยวเหลิง’ ได้ยินกันบ่อยมากๆ คุณหมอมีความเห็นอย่างไรคะ? 

“อย่าชมเดี๋ยวเหลิง อันนี้เป็นคำพูดที่ขัดกับหลักจิตเวชมากเลย   เด็กทำดีมาแล้วแต่เราไม่ชมเลย อย่าลืมว่าสมองของเด็กเขายังแยกไม่ออกหรอกว่าสิ่งไหนดี/ไม่ดี เขาก็รู้แค่ว่าทำสิ่งนี้มานะแต่ไม่ได้รับคำชมแล้วสิ่งนี้มันดีหรือเปล่า? เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองว่าเราทำดีหรือเปล่า เคยเห็นไหมครับ? คนที่โตมาทำดีแค่ไหนก็จะคิดว่า เอ๊ะ...มันดีจริงหรอ แต่พอทำผิดนิดเดียวนะเครียด เศร้า นั่งร้องไห้ เห็นไหมครับผลจากปัจจัยจากการเลี้ยงดู แล้วถามว่าสองคนที่ยกตัวอย่างมานี้ใครจะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าล่ะ...แน่นอนว่าคนหลังครับ”

คุณหมอวอปทิ้งทาย “การเลี้ยงดูมีผลมากๆ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เด็กที่โตมากับพ่อแม่ที่ชื่นชมบ่อยๆ ทำผิดก็ตำหนิไปตามเหตุผลพอเด็กโตขึ้นมาเขาจะมีความกล้าที่จะทำโน่นทำนี่มากกว่า  ‘ทำพลาดไม่เป็นไร ฉันเอาใหม่’  เพราะเขามี self-esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง) ที่ดีพ่อแม่เติมพลังมาให้เยอะ”

“ตรงกันข้ามครับถ้าเด็กที่โตมาแบบพ่อแม่ชอบตำหนิ ด่า ก็เหมือนกับสำนวนที่กลายมาเป็นค่านิยมไทยเนอะ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี, อย่าชมเดี๋ยวเหลิง อยากจะบอกว่าเรารักลูก เราตำหนิติเตียนอย่างมีเหตุผลได้อยู่แล้ว แต่ว่าอย่าตีมากให้เหมาะสมครับ”

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 
พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น