วัยรุ่นปวดหลัง อายุไม่เท่าไหร่แต่ทำไมบิดหลังดังกรอบแกรบ?

นั่งเรียนนาน ๆ มีอาการแบบนี้กันบ้างมั้ย?

            สวัสดีครับ น้อง ๆ ชาว Dek-D.com พี่เฟมอยากรู้จังเลยว่าน้อง  ๆ เคยมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดหัว หรือปวดบริเวณรอบดวงตากันบ้างไหมครับ โดยเฉพาะเวลานั่งเรียนหรือว่าช่วงก้มหน้าก้มตาอ่านหนังจะยิ่งเป็นบ่อย ยิ่งช่วงไหนที่เรียนออนไลน์นะ ยิ่งเกิดอาการเหล่านี้บ่อยมาก ๆ เลย ถ้าน้อง ๆ กำลังเจอกับอาการเหล่านี้อยู่ น้อง ๆ อาจจะมีอาการ Office Syndrome กันอยู่ก็ได้!

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

            ไม่ต้องสงสัยนะครับว่า เห้ยยย! เราจะเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ยังไง ก็ในเมื่อเรายังไม่ได้ไปนั่งทำงานในออฟฟิศสักหน่อย จริง ๆ แล้วอาการนี้ก็พบได้ในช่วงวัยรุ่นเหมือนกัน เพราะเวลาเราเรียน อ่านหนังสือ ทำการบ้าน ปั่นงานที่อาจารย์สั่งมาแบบไม่หยุดยั้ง หรือแม้แต่อนตอนที่เรานอนเล่นมือถือ มันก็เป็นสาเหตุของอาการ Office Syndrome ได้เหมือนกัน

เอาดี ๆ นั่งหลังขดเรียนหนังสือไป ท่าทางมันก็ไม่ต่างจากนั่งทำงานในออฟฟิศหรอกครับ

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวัยรุ่นก็มีอาการนี้ Office Syndrome ได้

อาการมันเป็นยังไงบ้างนะ?

            อาการของ Office Syndrome ที่พบบ่อยที่สุดเลยก็คือ อาการปวดคอ แต่ว่าแต่ละคนก็จะมีอาการที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของเราที่ทำในแต่ละวัน เช่น นั่งเรียนก็อาจจะปวดคอมากที่สุด นั่งจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ก็อาจจะปวดตาบ่อย ๆ ซึ่งนอกจากนี้ในบางคนยังมีอาการเวียนหัว มือเท้าชา และเป็นตระคิว

ออฟฟิศซินโดรมยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าและอ่อนเพลียอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการเรียนและกับการใช้ชีวิตของน้อง ๆ ด้วยนะครับ!

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

 

เพราะแบบนี้ไงถึงได้หลังเดาะ!

พี่เฟมจะพามาดูสาเหตุ 7 สาเหตุที่อาจจะทำให้น้อง ๆ มีอาการ Office Syndrome กันครับ

การนั่งไขว่ห้าง

  • หลาย ๆ คนติดการนั่งท่านี้มาก และการนั่งไขว่ห้างนาน ๆ ตอนที่เรานั่งเรียนหรือทำการบ้าน มันทำให้ขาอีกข้างของเรารับน้ำหนักจากขาอีกข้างไว้ ซึ่งส่งผลต่อกระดูกสันหลังของน้อง ๆ ได้เลยนะ

 

การนั่งหลังค่อมหรือเอนตัวไปข้างหน้า

  • การนั่งหลังค่อมหรือการเอนตัวไปข้างหน้าเป็นเวลานาน ๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดอาการ ปวดหลังและบริเวณบ่าไหล่ได้นะ นอกจากนี้ยังทำให้เราดูเสียบุคลิกอีกด้วย

นั่งไม่เต็มก้น

  • การนั่งบนเก้าอี้หรือที่นั่งแบบไม่ขยับให้ก้นเต็มกับเต็มกับพื้นที่ จะทำให้น้ำหนักกระจายตัวไม่เท่ากัน และอาจจะทำให้เราปวดเมื่อยได้ถ้านั่งแบบนี้นาน ๆ

นั่งไถโซเชียลบนเตียงนอน

  • แน่นอนว่าการนั่งทำกิจกรรมต่าง ๆ บนพื้นที่ที่ไม่ได้มีการรองรับหลังของเรา มันก็ทำให้บ่อยครั้งที่เรานั่งหลังค่อมโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว และเกิดอาการปวดเมื่อยตามมา

ทิ้งน้ำหนักขาอยู่ที่ข้างเดียว

  • เวลาที่น้อง ๆ กำลังยืนเข้าแถวหรือต่อคิวอันยาวเหยียดเพื่อซื้อข้าวที่โรงอาหาร ก็พยายามอย่ายืนโดยทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างเดียว ให้แบ่งน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้างบ้างเพื่อป้องกันการปวดและตะคริว

สะพายกระเป๋าข้างเดียว

  • เข้าใจว่าบางทีมันก็ดูเท่จริง ๆ เวลาสะพายข้างเดียว แต่มันไม่คุ้มเลยกับการต้องแลกกับการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ที่จะทำให้เราเสียสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

นั่งบนตำแหน่งที่ไม่พอดีกับเรา

  • การนั่งบนตำแหน่งที่ไม่พอดีกับตัวของเรา ทั้งความสูงของโต๊ะและเก้าอี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านั่งและการจัดระเบียบร่างกายไม่สมดุลกัน อาจทำให้หลังค่อม หลังงอ นั่งไปนาน ๆ ก็หลังเดาะได้เด้อ

5 เทคนิคป้องกัน Office Syndrome

       พี่เฟมจะขอพาน้อง ๆ ชาว Dek-D.com มาดู 5 เทคนิคที่พอจะช่วยให้น้อง ๆ ได้ป้องกันอาการ Office Syndrome กันครับ

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนให้เพียงพอควรนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน นอกจากนี้การดื่มน้ำให้เพียงพอและการกินอาหารที่มีประโยชน์ก็มีส่วนช่วยป้องกันเหมือนกัน

2.ปรับท่านั่งเป็นประจำ

เวลาที่นั่งเรียน นั่งทำการบ้าน หรือนั่งทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งของเราทุก ๆ 20 – 30 นาทีป้องกันการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ

3.ลุกขึ้นยืนบ้าง

ลุกขึ้นยืนบ้างในระหว่างวัน อาจจะลุกไปดื่มน้ำ ขยับแขนขยับขา และยืดเหยียดร่างกายสักหน่อย ป้องกันอาการปวดเมื่อย และก็ยังช่วยลดอาการเหนื่อยล้าเมื่อต้องนั่งโฟกัสกับอะไรนาน ๆ ด้วยนะ 

4.ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะท่าออกกำลังกายที่มีการยืดกล้ามเนื้ออย่างเช่น โยคะ พิลาทิส

5. นั่งตัวตรง

ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญเลยครับ คือเราต้องพยายามนั่งให้ตัวตรงเพื่อไม่ให้หลังงอ จะได้ไม่ปวดหลังไม่ปวดคอ อีกอย่างการนั่งตัวตรง ยังช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมบุคลิกภาพให้เราอีกด้วยนะ

ถ้าน้อง ๆ ชาว Dek-D.com รู้ตัวว่าตัวเองเริ่มมีอาการ Office Syndrome และอยากป้องกันก็สามารถนำเทคนิค 5 ข้อนี้ไปใช้ได้นะ แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีอาการที่ชัดเจนและมันส่งผลต่อการใช้ชีวิตของน้อง ๆ พี่เฟมก็อยากแนะนำให้น้อง ๆ ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดดีกว่านะครับ และถ้าใครมีเทคนิคดี ๆ ที่ช่วยแก้หรือป้องกันอาการ Office Syndrome ได้ก็คอมเมนต์มาบอกกันด้วยนะครับ 

ข้อมูลจากhttps://www.samitivejhospitals.com/article/detail/understanding-office-syndromehttps://www.chiangmaicitylife.com/clg/living/health-wellness/seeking-office-syndrome-solution-at-absolute-health/https://www.bangkokhospital.com/en/content/work-from-home-and-office-syndrome
เฟม
เฟม - Columnist นักเขียนฝึกหัด ที่ไม่ค่อยได้เขียน ชอบเที่ยวคาเฟ่และการนอนเฉยๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น