ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลั่งน้ำตา รู้จัก Student Syndrome พร้อมวิธีแก้ง่ายๆ!

ใครที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งมาทางนี้!

‘เอาไว้ก่อนแล้วกัน’ ‘ไม่รู้จะเริ่มยังไง’ ‘ไว้ทำก่อนส่งก็ยังไม่สาย’ เชื่อสิว่าประโยคเหล่านี้เป็นประโยคยอดฮิตของใครหลายคน โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องแบกรับภาระงาน การบ้าน และโปรเจ็กต์มากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็พยายามหาข้ออ้างต่างๆ นานา มาเพื่อผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำสักที ใครที่ติดทำนิสัยแบบนี้อยู่อาจเข้าข่าย 'Student Syndrome' อยู่ก็ได้ค่ะ

ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลั่งน้ำตา รู้จัก Student Syndrome พร้อมวิธีแก้ง่ายๆ!
ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลั่งน้ำตา รู้จัก Student Syndrome พร้อมวิธีแก้ง่ายๆ!

Student Syndrome พฤติกรรมยอดฮิตของเหล่าวัยเรียน

มีงานวิจัยพบว่า Student Syndrome ถูกพบในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กว่า 80-95% และถูกจัดอยู่ในรูปแบบการผัดวันประกันพรุ่งอย่างหนึ่ง เป็นพฤติกรรมของคนที่ถ้าไม่เห็นเดดไลน์ก็ไม่มีทางที่จะขุดตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำงานเด็ดขาด และพยายามเลื่อนออกไปเรื่อยๆ จนกว่าไฟจะลนก้น หรือแม้แต่ทำในวันสุดท้ายก่อนส่งก็มีค่ะ เพราะบางคนอาจถือคติว่า ทำหลายวันเราจะเหนื่อยหลายวัน แต่ถ้าทำวันเดียวเราก็จะเหนื่อยแค่วันเดียว จริงๆ แล้วจะคิดแบบนี้ก็ไม่ผิดแต่อาจส่งผลเสียกับตัวเองในอนาคตได้!  

สาเหตุที่ทำให้เกิด  Student Syndrome

มาดูกันว่า…ทำไมเหล่า Student Syndrome ถึงมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเดดไลน์ สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวจะมีอะไรบ้าง  

  1. ทักษะการจัดการเวลาที่ไม่ดี : สามารถนำไปสู่กลุ่มอาการ Student Syndrome ได้ คนที่ประสบปัญหาในการจัดการเวลาอาจพบว่า เป็นเรื่องยากที่จะจัดลำดับความสำคัญของงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ตามมาอาจทำให้พลาดส่งงานไม่ทันเวลาได้
     
  2. เสพติดความสมบูรณ์แบบ : คนประเภทนี้มักจะตั้งเป้าหมายไว้สูงเสมอ แต่จัดการเวลาได้ไม่ดี เพราะชอบวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างจริงจังเกินไป และจบลงด้วยการเลื่อนกำหนดงานออกไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ทำสักที
     
  3. กลัวความล้มเหลว : คนที่กลัวความล้มเหลวอาจเลื่อนงานออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำงานผิดพลาด หรือทำงานออกมาได้ไม่ดี ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลได้เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งงาน
     
  4. งานล้นมือ : ภาระงานที่มีอยู่อาจมากเกินกว่าที่จะสามารถบริหารจัดการได้ บางงานอาจจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ จนเราหลงลืมไป รู้ตัวอีกทีก็ใกล้ถึงเดดไลน์แล้วเลยต้องรีบทำให้เสร็จ ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ผลกระทบของ Student Syndrome

แม้ว่า Student Syndrome จะถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็อาจมีผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน  จะมีอะไรบ้างมาดูกัน!

ส่งงานไม่ทันเวลา

เมื่อเลื่อนไปเรื่อยๆ จนถึงวันเดดไลน์ แน่นอนว่าระยะเวลาในการทำงานก็ต้องลดลงไป ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แถมเวลาที่เหลือน้อยอาจทำให้ทำงานเสร็จไม่ทันตามกำหนดอีกต่างหาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การโดนหักคะแนนและอาจมีผลต่อเกรดได้ 

ประสิทธิภาพงานแย่ลง  

แม้ว่าจะสามารถทำงานให้เสร็จตรงเวลาได้ แต่คุณภาพงานที่ทำออกมาอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เนื่องจากน้องๆ ต้องเร่งรีบทำงานให้เสร็จภายใต้เวลาที่เหลือน้อยนิด ส่งผลให้ทำงานผิดๆ ถูกๆ และไม่ได้ตรวจทานให้รอบคอบ จนทำให้คุณภาพผลงานออกมาไม่ดีพอ หรือแย่กว่าที่คาดไว้  

ความเครียด-ความวิตกกกังวลเพิ่มขึ้น

จากการที่ผัดวันประกันพรุ่งออกไปเรื่อยๆ พอถึงคราวที่ต้องลงมือทำด้วยระยะเวลาที่เหลือน้อยมาก อาจทำให้น้องๆ รู้สึกหนักใจมากขึ้น ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลตามมา ซึ่งถ้าหากสะสมความเครียดและยังมีพฤติกรรมแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของน้องๆ ได้อีกด้วย

ทักษะการจัดการเวลาแย่

Student Syndrome อาจเป็นสัญญาณของการจัดการเวลาและทักษะการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่ดี น้องๆ ที่ชอบทำงานตอนไฟลนก้นอาจรู้สึกว่า มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่อยากจะลองเอาชนะดู แต่ความจริงแล้วผลเสียด้านอื่นๆ ที่ตามมาก็มีไม่น้อย เช่น ทำงานโต้รุ่งจนไม่มีเวลาพักผ่อนบ่อยๆ เข้าก็เสียสุขภาพไปอีก เพราะฉะนั้นการแบ่งเวลาจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นทักษะที่จำเป็นมากๆ  

มีปัญหากับเพื่อนๆ  

น้องๆ คงไม่ได้มีงานหรือการบ้านที่ต้องทำแค่คนเดียวแน่นอน งานกลุ่มที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนๆ ก็เป็นงานที่มักจะได้รับมอบหมายจากครูเป็นประจำ ซึ่งถ้าหากมีใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มทำงานล่าช้ารอจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อภาพรวมของงาน และอาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างเพื่อนในกลุ่มได้  

วิธีกำจัดพฤติกรรม Student Syndrome  

Student Syndrome สามารถพัฒนากลายเป็นนิสัยเชิงลบได้ เช่น ขี้เกียจ ขาดระเบียบวินัย กลายเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ถ้าหากไม่รีบแก้ไขก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอนาคตได้ เพราะฉะนั้นเรามาเปลี่ยนนิสัย ลด ละ เลิก การเป็น Student Syndrome กันดีกว่า

  1. ทำ To do list จัดลำดับความสำคัญ : เขียนออกมาเลยว่า มีงานอะไรที่ต้องทำบ้าง แล้วใส่วงเล็บเอาไว้ว่าต้องส่งวันไหน เช่น รายงานชีวะ (ส่ง 01 ก.ค. 66) หลังจากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญของงานว่า ควรทำงานไหนก่อนหลัง แต่ละงานจะใช้เวลาทำกี่วัน เพื่อให้เราสามารถทำงานอื่นๆ ได้ทันเวลา  
     
  2. ทำตามแพลนที่วางเอาไว้ : หลังจากที่กำหนดวันเวลาของงานแต่ละชิ้นไว้แล้วก็ต้องลงทำทันที! พยายามบังคับตัวเองให้ทำตามแพลนที่เราตั้งเอาไว้ให้ได้ เพื่อไม่ให้ไปกระทบงานส่วนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ที่สำคัญถ้าเหนื่อยก็อย่าฝืน พักสักนิด หายเหนื่อยแล้วค่อยกลับมาทำต่อ (แต่อย่าพักเพลินนะ!)
     
  3. หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน : ไม่ว่าจะเป็น สื่อโซเซียล ไอแพด มือถือ สิ่งเหล่านี้เก็บไปให้พ้นสายตาก็ดีค่ะ เพราะเดี๋ยวจะไม่ได้เริ่มทำงานสักที แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ทำงานจริงๆ ก็ปิดแจ้งเตือนทุกแอปฯ และหักห้ามใจไม่ให้เผลอเล่นเด็ดขาด ไม่งั้นงานเสร็จไม่ทันเวลาแน่นอน  
     
  4. เพิ่มแรงจูงใจ ให้รางวัลตัวเอง : หากรู้สึกว่าการทำงานน่าเบื่อ แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่งานนั้น ลองนึกถึงเป้าหมายที่เราต้องการทำให้สำเร็จ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้อยากทำงานดูค่ะ เช่น ต้องการให้เกรดออกมาดี อยากได้รับคำชมเชย สุดท้ายเมื่องานสำเร็จแล้วก็อย่าลืมให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทนตัวเองที่เราสามารถทำงานให้เสร็จด้วยนะคะ  
     
  5. ใช้เทคนิค Pomodoro : เป็นเทคนิคบริหารเวลายอดฮิตที่สามารถใช้ได้กับการทำงาน หรือการอ่านหนังสือ โดยเริ่มทำงาน 25 นาที แล้วพัก 5 นาที สลับไปเรื่อย ๆ จนครบ 4 รอบ หลังจากนั้นก็พักยาวๆ อีก 30 นาที พอเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้งก็ทำตามสเต็ปเดิมได้เลย เทคนิคนี้จะช่วยให้เราสามารถจดจ่ออยู่กับงานได้ดีขึ้น และทำให้ผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพอีกด้วยค่ะ

 

สำหรับน้องๆ คนไหนที่คิดว่าอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองก็สามารถทำตามวิธีที่พี่แนะนำไปได้นะคะ แรกๆ อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ถ้าเราตั้งใจแล้วจริงๆ ว่าจะเปลี่ยนเพื่อให้ตัวเองดีขึ้นยังไงก็ทำได้แน่นอน! สุดท้ายนี้ ชาว Dek-D มีวิธีการจัดการงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์ยังไงบ้าง? มาแนะนำวิธีที่คอมเมนต์ได้เลย!

 

ที่มา :  https://solvingprocrastination.com/student-syndrome/ https://www.formpl.us/blog/student-syndrome-what-academic-researchers-educators-should-know รูปภาพจาก :  https://www.freepik.com/free-photo/sad-bored-young-asian-girl-student-studying-looking-upset-laptop-screen-attend-boring-online_21511599.htm#&position=0&from_view=search&track=ais https://www.freepik.com/free-photo/educational-conept-tired-student-library_5473629.htm#&position=0&from_view=search&track=aishttps://www.freepik.com/free-photo/group-asia-young-creative-people-casual-wear-discussing-business-brainstorm-meeting-ideas-mobile-application-software-design-project-plan-laid-out-floor-office-coworker-teamwork-concept_10075821.htm#&position=0&from_view=search&track=ais   

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น