“ภูมิ จินกสิกิจ” กับเรื่องราวของวิศวกรโยธาที่ไม่ได้มีแค่สร้างบ้าน แต่ยังต้องวางโครงสร้างรากฐานของสังคมทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์

. . . . . . . . .

“ผมมักจะโดนคำถามว่า ‘พี่คะ? โยธาเป็นยังไง’ ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าทำไมสังคมเราไม่มีสิ่งที่มาอธิบายเด็กว่าโยธาเป็นอะไรมากกว่าแค่การก่อสร้าง เมื่อเด็กไม่มีคนที่จะอธิบาย ผมก็จะทำเอง”

เมื่อเส้นทางการเป็นวิศวกรโยธาในประเทศไทยนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนที่คนอื่นคิด พี่ภูมิ จินกสิกิจ - อดีต Site Engineer หรือที่รู้จักกันในชื่อวิศวกรสนาม ที่ตอนนี้ผันตัวมาทำสายงาน Quantity Surveyor ผู้ตรวจสอบปริมาณงานก่อสร้าง และยังควบหน้าที่พิธีกรรายการ “ช่างประจำบ้าน” ในช่องอมรินทร์ทีวี พี่ภูมิจะพาทุกคนมาชมโลกของวิศวกรโยธาในประเทศไทย ผ่านเรื่องราวที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังการทำงาน ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งปัญหาของสังคมวิศวะก็ตาม

วันนี้ พี่เพียงฟ้า SparkD จะพาทุกคนไปเข้าใจเรื่องราวของวิศวกรโยธาให้มากกว่าที่เคย ผ่านบทสัมภาษณ์ พี่ภูมิ จินกสิกิจ เริ่มกันเลย!

. . . . . . . . .

พี่เพียงฟ้า: ถ้าวิศวกรโยธาไม่ได้มีแค่สร้างบ้าน แล้วทำอะไรบ้าง

พี่ภูมิ: ​​โยธาเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการพัฒนาของประเทศ ถ้าประเทศพัฒนา ก็จะมีการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ จะเกิดการแข่งขัน ขยายกิจการ เรียกได้ว่าโยธาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เป็นสายงานที่รับทุกความถนัด มีทั้งบริหารจัดการ คำนวณ กฎหมาย และสามารถแยกออกได้อีกหลายสายงาน เช่น สำรวจ สายดิน สายน้ำ สายโครงสร้าง สายจราจร  หลายแขนงให้เราเลือก

พี่เพียงฟ้า: แล้วสายงานไหนในโยธาที่พี่ภูมิคิดว่าคนไม่ค่อยรู้จัก แต่มีความสำคัญไม่แพ้กับสายงานอื่น

“เรื่องวิศวกรรมจราจร ประเทศไทยคนเก่งเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนจราจร แต่ด้วยความที่ระบบโครงสร้างของประเทศเรา อาจไม่เอื้ออำนวยให้คนเก่งเข้ามาจัดการปัญหา ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้”

พี่ภูมิ: เวลาเกิดอุบัติเหตุเราจะโทษวินัยทางจราจร แต่จริง ๆ แล้วมันมีเรื่องวิศวกรรมจราจรและการออกแบบด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของวิศวกรโยธาเช่นเดียวกัน ต้องออกแบบการจราจร ยกตัวอย่างเช่น ป้ายจราจรที่ต้องติดตั้งบอกความเร็วก่อนเข้าโค้ง มันก็มีระยะออกแบบว่าต้องตั้งระยะที่เท่าไหร่เพื่อให้สอดคล้องกับความเร็วขณะเข้าโค้ง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ  หรือถ้าหากพูดถึงการเข้าโค้ง ถ้าสังเกตดูจะพบว่าถนนในช่วงที่เข้าโค้ง จะมีลักษณะเอียง ไม่แนบราบแบบทางตรงปกติ  นี่ก็เป็นการออกแบบของวิศวกรโยธา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด

แล้วนอกจากการออกแบบถนน ผมเชื่อว่าหน่วยงานส่วนใหญ่ก็ออกแบบตามมาตรฐาน แต่ด้วยการจัดการของประเทศเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น รถบรรทุกน้ำหนักเกิน คุณจะออกแบบถนนได้ดีแค่ไหน คิดเผื่อ factor 10-20 เท่า ถ้าวินัยของเรายังใช้รถน้ำหนักเกินเรื่อย ๆ ยังไงถนนก็พัง เราออกแบบมาให้ดีแทบตาย ถ้าคนใช้ไม่มีวินัยเรื่องการจราจรสุดท้ายมันก็พัง

พี่เพียงฟ้า: 3 อันดับความยากที่สายงานที่ต้องเจอ คิดว่าจะเป็นอะไรบ้างคะ

พี่ภูมิ: อันดับแรกเลย รายได้ค่อนข้างน้อย สวนทางกับค่าครองชีพ วิศวกรโยธาเป็นอาชีพที่ก้าวขาออกจากกรุงเทพแทบจะไม่ได้เลย การที่วิศวกรจบใหม่ตามต่างจังหวัดจะหางานที่เริ่มต้น 25,000 บาท เป็นไปได้น้อยมาก และนวัตกรรมเทคโนโลยีในการก่อสร้าง และความเจริญต่าง ๆ มันกระจุกอยู่เพียงแค่กรุงเทพฯ ทุกคนอาจจะเข้าใจว่าที่ต่างจังหวัดยังมีการก่อสร้างตึกสูงอยู่ แต่บริษัทที่สร้างจริง ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทจากกรุงเทพฯ โรงแรมที่พัทยาหัวหิน ก็เป็นบริษัทที่มาจากกรุงเทพฯ คนที่ทำงานโดยเฉพาะวิศวกร ก็มาจากกรุงเทพฯ แทบจะไม่มีตำแหน่งหรือพื้นที่ให้บริษัทจากต่างจังหวัดเลย

อันดับสอง คือสิ่งที่คุณเรียนมา กับสิ่งที่ที่ทำงานต้องการบางครั้งอาจจะไม่ได้สอดคล้องกัน ตามหลักการต้องใช้เหล็กขนาดเท่านี้ แต่บริษัทต้องการ save cost มันก็จะมีเรื่องที่เราไม่สามารถจัดการได้ แม้บางทีเราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แต่สุดท้ายมันก็จะเหนือการจัดการของเราอยู่่ดี เพราะงั้นอันดับที่สองคือ การที่เราต้องเจอกับสังคมของโลกโยธาที่อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด

อันดับสาม ‘เวลา’เป็น สิ่งที่มีได้ยากสำหรับอาชีพโยธา 70-80% ของเด็กที่จบมาจะเข้าไปทำ วิศวกรหน้างาน หรือ site engineer พอเข้าไปทำงานในตำแหน่งนี้ ก็มักจะไม่มีเวลา ผมเคยทำงานมากสุดเดือนนึง 30 วันแบบไม่หยุดเลย 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ได้เงินมากก็จริงแต่สุดท้ายก็หันหลับมามองตัวเอง แล้วพบเราไม่มีเวลาให้ตัวเองเลย 

“เราต้องเจอกับคนหลาย generation ความคิด mindset ก็จะแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราจะยึดมั่นเหตุผลของเราขนาดไหน จะสู้เพื่อเหตุผล ความถูกต้องหรือเปล่า  แต่ก็ต้องมองโลกหลายมุมไม่ใช่แค่มุมเราคนเดียว”


พี่เพียงฟ้า: ในเมื่องานกระจุกที่กรุงเทพ แต่เรียนโยธามีทุกที่เลย แล้วมันมี Hierarchy (ลำดับขั้น) ในการทำงานไหมคะ

พี่ภูมิ: มันก็จะมีคำพูดที่ว่า “เป็นหางเสือดีกว่าเป็นหัวหมา” โดยเฉพาะเรื่องของมหาลัยมันก็มีแหละสังคมไทย คนไทยก็คือคนไทย แต่อันนี้ผมไม่ได้เห็นด้วยนะ ผมอยากให้วัดจากการสัมภาษณ์ จากการคุยมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จบจากต่างประเทศ จบมหาลัยดี ๆ จะได้ทำงานทุกคน บางคนสมัครไปเขาไม่เอาก็มี มันอยู่ที่จังหวะว่าบริษัทนั้นเขาต้องการคน ณ เวลานั้น ๆ มั้ย ถึงดันทุรงส่งไป ถ้าเขาไม่มี require ก็ไม่ได้ เพราะกำลังคนมันส่งผลต่อการคำนวณ fixed cost (ต้นทุนคงที่) ของบริษัท

พี่เพียงฟ้า: แล้วในฐานะคนที่ทำงานสายงานนี้มาหลายปี ลองทำอะไรมาแล้วหลายอย่าง อยากให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนยังไงบ้าง

พี่ภูมิ: อย่างที่ได้เกริ่นไปว่าโยธาก็เป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างต่ำ แต่ความรับผิดชอบมันคือชีวิต ชีวิตคนอื่น ทั้งคนที่อยู่รอบ ๆ หรือบ้านข้างเคียง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับโครงสร้างรายได้วิศวกรที่จะทำให้บริษัทสามารถปรับฐานเงินเดือนของวิศวกรให้เพิ่มขึ้นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ส่วนงานวิศวกรรมโยธาเราจะเหลือวิศวกรที่ลดน้อยลง ต่างจากสายเทคโนโลยีที่มีผู้คนจากสายอาชีพอื่น ๆ ย้ายเข้ามาทำงานเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากสายวิศวโยธา ทุกคนอาจจะมองเป็นเรื่องตลกที่สายโยธาย้ายไปทำสายงานอาชีพอื่น แต่ถ้ามองอีกมุม มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะโยธาไม่ได้เรียนง่าย กลายเป็นเรียนจบแล้วเขาออกไปหาสิ่งที่ดีกว่ากัน คำถามคือแล้วทำไมเราไม่ทำสายงานเราให้มันดีกว่าบ้างล่ะ? กลายเป็นทั้งสภาวิศวกรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้สนับสนุนอาชีพนี้เท่าที่ควรจะเป็น มันน่าเศร้านะ

พี่เพียงฟ้า: นอกเหนือจากเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานแล้ว พี่ภูมิอยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะตัดสินใจเรียนต่อบ้าง

พี่ภูมิ:  การเลือกเรียนมหาวิทยาลัย มันไม่ได้แค่มาเรียนให้จบ 4 ปี  แต่มันคือทั้งชีวิต ดังนั้นในมุมมองของผม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะซิ่ว ยอมเสียเวลาไม่กี่ปี เพื่อแลกกับชีวิตการทำงานที่เราอาจไม่มีความสุขไปอีก 30 ปีข้างหน้า ก็เลยอยากให้บทสัมภาษณ์นี้ช่วยคนที่ยังไม่รู้ว่าต้องเลือกชอยส์ไหนเลือกได้สักที  หรือให้คนที่มาอ่านได้รู้สึกว่าโยธาอาจจะไม่ใช่ทางของเรา หรือใช่.. ก็คือทางของเรา

พี่เพียงฟ้า: สุดท้ายนี้ถ้าอยากให้คนอื่นเข้าใจความเป็นโยธา ความเป็นสายอาชีพนี้ อยากให้เขาเข้าใจอะไรมากที่สุด

พี่ภูมิ: โยธาไม่ได้มีแค่บ้าน โยธาไม่จำเป็นต้องบึกบึน โยธามีสายงานที่ใช้ไอเดีย ใช้การบริหารจัดการ โยธายังมีสายงานที่ย่อยลงไปอีกมากมาย และไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็สามารถทำงานสายนี้ได้  ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

. . . . . . . . .

สุดท้ายนี้ ทุกคนสามารถติดตามผลงานของพี่ภูมิที่ YOUTUBE: Poom's Story กันได้เลย และน้อง ๆ คนไหนที่สนใจสายงานวิศวโยธาก็สามารถนำข้อมูลและแรงบันดาลใจดี ๆ จากพี่ภูมิไปต่อยอดเป็นแนวทางของตัวเองกันได้เลย สำหรับวันนี้พี่เพียงฟ้า พี่ภูมิ ต้องขอตัวไปก่อน อย่าลืมติดตาม EP. หน้าจาก SparkD กันน้าา บั๊ยบายยย

. . . . . . . . .

พี่เพียงฟ้า SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่นีนี่ SparkD ถ่ายภาพ
พี่หมิง SparkD  กราฟิกดีไซน์
พี่ฟิวส์ พี่แอล SparkD บรรณาธิการ
ขอขอบคุณสถานที่ เซ็นทรัล พระราม 9

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
วิศวกร 1 คน 27 ม.ค. 67 16:29 น. 5

ผมอีกหนึ่งคนครับ ที่จบมาทำ SE สายอสังหา ทำได้ 3 ปี ได้ประสบการณ์หน้างานระดับหนึ่งก็ปลีกตัวย้ายสายออกมาเนื่องจากรายได้ตํ่าเมื่อเทียบกับสายอื่น คุยๆกับเพื่อนวิศวกรหลายๆคนความคิดก็คล้ายๆกัน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด