“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

. . . . . . . . .

หลายคนบอกว่าหนังสือกำลังจะตายแล้ว แต่สำหรับเราคิดว่ามันยังไม่ตายหรอก หรือต่อให้เราเชื่อว่ามันจะตายแล้วจริง ๆ เราเลยอยากเขียน เพราะถ้ามันตายจริง ๆ วันนึงเราจะไม่ได้เขียนแล้ว ฉะนั้นก็รีบเขียนก่อนตอนที่มันยังไม่ตาย

ในปัจจุบันที่โลกเชื่อกันว่าหนังสือกำลังจะตายจากความนิยมที่ลดลง และเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สามารถเขียนคอนเทนต์ลงโซเชียลได้หมด จนมีคอนเทนต์ล้นหน้าจอไปหมด จนยากที่จะทำให้คอนเทนต์โดดเด่นได้ ในวันนี้ พี่เอิร์ธ SparkD จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ พี่วอร์ม สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ  นักเขียนสำนักพิมพ์ Avocado Books และ Content Creator The Matter ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทุกคนจะได้ตามติดเส้นทางการเป็นนักเขียน และค้นพบวิธีการเขียนให้โดดเด่นในสังคมยุคปัจจุบัน ไปดูกันเลย!

. . . . . . . . .

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : นิยาม “งานเขียน” ในมุมมองของพี่วอร์มคืออะไร

พี่วอร์ม : การเขียนเป็นสิ่งที่สำคัญกับมนุษย์ทุกคน โลกหมุนมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะงานเขียน เพราะมนุษย์เราพัฒนาจากองค์ความรู้ที่เคยมีอยู่ก่อน สมัยก่อนเราไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ เพราะเราไม่สามารถบันทึกองค์ความรู้นั้นไว้ได้ แต่ว่าพอเราเริ่มบันทึกได้ตอนมีการเขียนขึ้นมา จากนั้นจึงมีค่อย ๆ มีการต่อยอดความรู้ผ่านการเขียนเดิมมาสู่การเขียนชิ้นใหม่ ซึ่งนำมาสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นการเขียนจึงสำคัญกับมนุษย์มาก ๆ

แต่สำหรับเราแล้ว แม้เราจะทำอาชีพด้านการเขียน เราก็ไม่ได้มองว่าการเขียนสำคัญไปมากกว่าอย่างอื่น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “การสื่อสาร” เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งที่เชื่อมชีวิตทุกชีวิตเข้าหากัน ซึ่งการสื่อสารเองก็ไม่ได้จำกัดว่าอยู่ในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะการเขียน การพูด หรือแม้กระทั่งการทำหนัง

พี่เอิร์ธ : ค้นพบได้อย่างไรว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร

พี่วอร์ม : ที่บ้านเราให้ดูหนังตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะพ่อเราเป็นคนชอบดูหนัง เพราะว่าปู่เราก็เปิดหนังให้พ่อดูมาก่อนอีกที และเมื่อก่อนที่บ้านมีโรงหนังของตัวเองที่จังหวัดพังงา เป็นโรงหนังแบบ Stand Alone พ่อเราก็เลยชอบและอยากเรียนด้านนี้มาก ๆ แต่เหมือนว่าที่บ้านก็ไม่ค่อยอยากให้พ่อเรียนด้านนี้เท่าไหร่ แต่พ่อก็เก็บความชอบนี้ไว้ แล้วก็เอามาเผยแพร่กับเราต่อ พ่อเปิดหนังให้เราดูตั้งแต่เด็ก เราเข้าโรงหนังครั้งแรกตอนอายุแค่ 2 ขวบครึ่ง ตอนนั้นยังเด็กมาก ไปดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคแรกยังร้องไห้ในโรง จนทั้งบ้านต้องออกจากโรง มันก็เลยทำให้เราชอบหนังตั้งแต่เด็ก พอโตมาเรื่อย ๆ ก็เข้ารั้วโรงเรียน และค้นพบว่าจริง ๆ สิ่งที่เราชอบคือ การเล่าเรื่อง เพราะว่าเราค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบแค่การดูหนัง แต่ถ้าให้เขียนเล่าเรื่องเราก็ชอบ ถ้าให้เล่าเรื่องหรือให้พูดก็ชอบเหมือนกัน

มันเริ่มชัดเจนก็คือ ตอนช่วง ม.ปลาย ในห้องเรามีเพื่อนคนหนึ่งที่เขามีไอเดียต่าง ๆ ที่ดีมาก ๆ แต่เขาค่อนข้างเก็บตัวและ Introvert พอสมควร วิธีการสื่อสารของเขาทำให้เพื่อน ๆ คนอื่นไม่ค่อยอยากฟัง เขาเป็นคนแรก ๆ เลยที่โดนตัดผมเพราะไว้ผมยาว และเขาโกรธมาก จนเริ่มเสิร์ชหาว่าอาจารย์ทำแบบนี้กับเด็กได้มั้ย มันผิดกฎระเบียบยังไง เขาเป็นคนมีไอเดียดีมาก แต่ปัญหาคือเขาพูดอะไรไปเพื่อน ๆ ก็ไม่เคยฟังเลย แต่พอดีเขามาพูดให้เราฟังโดยบังเอิญ เราฟังแล้วรู้สึกว่าเข้าท่า เลยเอาไปบอกเพื่อน ๆ คนอื่นต่อ พอบอกปุ๊บ เพื่อน ๆ ก็เชื่อเรา หลังจากนั้นเพื่อนคนนี้มีอะไรก็บอกเราตลอดเลย เพราะเขารู้สึกว่าถ้าเขาบอกอะไรเรา เราจะเอาไปกระจายต่อแล้วคนอื่นจะฟัง ตอนนั้นแหละที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า และก็ทำให้เรารู้สึกเลยว่า ต่อให้ใครสักคนจะฉลาดหรือมีความรู้มากแค่ไหน แต่ถ้าเขาพูดมันออกมาไม่ได้ ความรู้นั้นจะไร้ค่าทันที แต่ถ้าเราไม่มีความรู้อะไรเลย แต่นำสารของเพื่อนคนนี้ไปบอกต่อ มันก็กลายเป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้องค์ความรู้ด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าการเป็นตัวกลางสำคัญ และเราก็เริ่มชอบสิ่งนี้ตั้งแต่ตอนนั้น มันก็คงเป็นคณะนิเทศศาสตร์แหละมั้งที่เราชอบ

“ความโชคดีเราคือ เราเป็นคนชอบฟัง เราขอบคุณตัวเองที่เป็นแบบนั้น บางทีก็ชอบฟังไปเรื่อย บางทีฟังแล้วเราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนใจ เราเป็นคนชอบเกร็ดความรู้ ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านี้คนก็ไม่ได้สนใจ สำหรับเราเรามีคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งคือเราชอบสนใจ พอเพื่อนพูด เราคิดต่อว่าเราทำอะไรกับสิ่งนี้ได้”

 มันหลายครั้งมากที่เพื่อนคนนี้พูด สุดท้ายแล้วเราก็คิดว่าคนอื่นก็คงฟังแบบเราแหละ แต่เขาแค่ปล่อยไป ส่วนเราไม่ปล่อย และนำมาเล่าด้วยวิธีอื่น ทำให้เห็นว่าการเป็นคนกลางสำคัญแล้ว แต่วิธีในการโน้มน้าวคนอื่นก็สำคัญเหมือนกัน

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : มีใครหรืออะไรเป็นแรงบันดาลใจมั้ย

พี่วอร์ม : สำหรับเรา เราไม่ได้มีแรงบันดาลใจชัดเจนขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่าในด้านเฉพาะทางอยากเป็นใครก็พอจะตอบได้ เช่น ถ้าอยากเป็นพิธีกร เราก็อยากเป็นส่วนผสมระหว่างสัญญา คุณากร, วู้ดดี้ วุฒิธร, กันต์ กันตถาวร ซึ่งพอเวลาผ่านไปแรงบันดาลใจก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ 

การมีแรงบันดาลใจไม่ได้ทำให้เราอยากเป็นแบบที่เขาเป็น แต่ทำให้เราอยากเป็นแรงบันดาลใจแบบที่เขาได้เป็นให้คนอื่น เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น มันเป็นความรู้สึกที่ดี ถ้ามีคนมาบอกว่าเขาทำตามเรา ต่อให้จะไม่เหมือนกับที่เราทำเลย แต่ถ้ามันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมายและมีคุณค่า 

มันเคยมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นมาก่อนหลายครั้ง เช่น ตอนไปแลกเปลี่ยน เราก็ทำคลิป YouTube ตอนนั้นอยากรู้ว่าตัวเองชอบการสื่อสารแคไ่หนเลยลองทำคลิปดู แต่ยอดวิวดันออกมาน้อย เรารู้สึกว่ามันไม่คุ้มแรงที่จะทำ จนกระทั่งเรากลับมาแล้วต้องไปส่งรุ่นน้องที่จะแลกเปลี่ยนรุ่นถัดไปที่สนามบิน และได้มีคุณแม่ของน้องคนหนึ่งเดินมาคุยกับเราว่าคุณแม่กับน้องดูคลิปของเราบ่อยมาก ทำให้น้องอยากไปแลกเปลี่ยนเพราะคลิปนั้น คุณแม่ของน้องบอกกับเราว่า ขอกอดทีนึงได้มั้ย ตอนนั้นเรารู้สึกมีความสุขมาก รู้สึกว่าคลิปทั้งหมดที่ทำได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว อาจจะมีคนดูคนไม่เยอะ แต่อย่างน้อยคนดูไม่เยอะตรงนั้นก็ได้ไปแลกเปลี่ยน เราว่ามันสำเร็จแล้วโมเม้นท์แบบนี้ นี่คือโมเม้นท์ที่ทำให้เรามีความสุขมาก ๆ

พี่เอิร์ธ : การที่พี่วอร์มมีชีวิตเป็นเด็กภูเก็ตที่อาจไม่ได้มีสถานที่รอบตัวมาก หรือมีสื่อที่หลากหลายเหมือนกับในกรุงเทพฯ ส่งผลอย่างไรต่อการอยากเรียนนิเทศในตอนนั้นบ้าง

พี่วอร์ม : การที่เราเป็นคนต่างจังหวัดมีทั้งเรื่องที่ทำให้โชคดีและโชคร้าย เรื่องโชคดีคือ พ่อเราทำงานการบินไทย ทำให้เราเดินทางได้ง่าย ทำให้เราได้ตั๋วถูก หลาย ๆ ครั้งยังได้แวะมาดูหนังรอบสื่อมวลชนตั้งแต่ตอนมัธยม อันนี้คือเรื่องที่โชคดี แต่ที่ได้ดูหนังรอบสื่อก็เพราะได้ไปรู้จักคนหนึ่งผ่าน Facebook ผ่าน Instagram ต้องบอกว่าโชคดีหลายอย่าง โชคดีที่ได้รู้จักเขา โชคดีที่พ่อมีตั๋วถูกให้เลยได้มา มันเป็นโอกาสหลายชั้น สำหรับเราเลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ค่อนข้างโชคดี 

แต่มันก็มีความโชคร้ายหลายอย่าง เช่น มันมีโอกาสไม่เท่ากับจังหวัดอื่น ๆ อย่างกรุงเทพฯ เช่น เราเคยดูรายการที่ชื่อว่า The Arena Thailand ทางช่อง ThaiPBS เป็นรายการแข่งดวลวาทะ พอเราได้ดูรายการนี้ก็อยากโต้วาที โต้วาทีเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เราชอบและอยากทำ แต่ที่ภูเก็ตไม่มีเวทีนี้ให้เราเลย เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะได้เริ่มทำสิ่งนี้ จนสุดท้ายจบ ม.6 ก็ไม่ได้ทำด้วย จริง ๆ ไม่ใช่แค่ภูเก็ตหรอก อีกหลายจังหวัดก็ยังขาดโอกาส แต่ว่าความโชคร้ายตรงนี้ ก็อาจนำเราไปสู่แรงผลักดันบางอย่าง จนได้เข้ามาเรียนที่นิเทศฯ จุฬาฯ มันมีสิ่งนี้ เราก็เลยตัดสินใจลงมือทำทันทีเลย เพราะเรารอมา 3 ปีแล้ว เราไม่รู้ว่าเราพร้อมหรือเปล่า เพียงแต่ตอนนี้เราเลือกที่จะทำมันได้แล้ว ในขณะที่เมื่อก่อนเราเลือกที่จะทำมันไม่ได้

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ :  รู้ได้ยังไงว่าเส้นทางการเป็นนักเขียนจะต้องทำอะไรบ้างถึงจะเป็นได้สำเร็จ

พี่วอร์ม : เราไม่รู้เลยว่า เส้นทางการจะเป็นนักเขียนได้ต้องทำยังไงบ้าง จริง ๆ เรามี Dream List ที่แบบคิดอะไรออกก็จดไว้ ซึ่งการเป็นนักเขียนเนี่ย เราเคยคิดไว้ตอนม.6 ว่าอยากเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง แต่ว่าตอน ม.6 เรายังอยู่ภูเก็ตด้วยไม่รู้ว่าทำยังไง ไม่รู้วิธี ไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้เรื่องที่จะเขียนด้วย แค่มีความรู้สึกอยากเขียน แต่ว่าก็ดีที่เราไม่ได้หมกมุ่นมาก นี่คือความฝันนึงที่เก็บไว้ก่อน ตอนนั้นคิดไว้ว่าอายุสัก 60 ค่อยเขียน รอเกษียณ รอว่างก่อนค่อยเครียด คิดว่าตอนนั้นทำงานคงยังไม่ว่างหรอก ตอนนั้นคิดไว้แค่นั้น

ทีนี้มันประจวบเหมาะกับปีที่แล้ว ปี 2022 เราได้มีโอกาสไป Work and Travel พอดี ซึ่งพอไปแล้ว เราเจอเรื่องแย่เยอะมาก วินาทีนั้นก็มีเรื่องที่อยากเล่าในหนังสือแล้ว ก่อนไปเราไม่ได้คิดเรื่องเขียนหนังสือเลย เพิ่งคิดได้ตอนมาเจอเรื่องแย่ ๆ พอมีเรื่องให้เล่าแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะเล่ายังไง ตอนนั้นยังไม่รู้วิธีเขียนหนังสือ จริง ๆ ตอนนั้นอ่านหนังสือก็ไม่เยอะ รู้จักสำนักพิมพ์ก็ไม่เยอะ แต่อย่างน้อย ๆ เรารู้นักเขียนอยู่คนหนึ่ง เขาคือ พี่บีเบ๊นซ์ เขาออกหนังสือกับ Salmon Books เป็นรุ่นพี่ที่รู้จักกัน ก็เลยทักไปถามเขาว่าถ้าเราอยากเขียนหนังสือต้องทำยังไง พี่บีเบ๊นซ์เล่าว่า Salmon Books มีคนส่งต้นฉบับไปเยอะมาก ลองส่งได้ หรือลองส่งสำนักพิมพ์ Avocado Books มั้ย เป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่น่าจะมีโอกาสเยอะ บังเอิญมาก เพราะช่วงที่พี่บีเบนซ์เล่าเรื่องนี้ ช่วงนั้นเราดูเทพลีลาพอดี ซึ่งครูทอม คำไทยชอบไปโปรโมทสำนักพิมพ์ตัวเองในเทพลีลา เราก็เลยรู้สึกว่าสำนักพิมพ์นี้น่าสนใจ เลยทักครูทอมไปเลย โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งการทักไปก็ค่อนข้างแปลก เราส่งแนะนำตัว เล่าความตั้งใจ ส่งผลงานที่ผ่านมาของเราไป ส่งเป็นพารากราฟไปเลย หลังจากจุดนั้นมันก็มาเป็นทุกวันนี้

เรามองว่า แต่ละคนมีวิธีการขั้นตอนในการตีพิมพ์หนังสือที่ต่างกันไป บางคนอาจจะมี Passion มาก ๆ อาจจะเขียนไปก่อนเลย และค่อยหาทางว่าจะตีพิมพ์ยังไงทีหลัง ถ้าเขียนเสร็จค่อยหาสำนักพิมพ์ หรือถ้าหาไม่ได้ก็ตีพิมพ์เองเลย แต่เราไม่ได้มีพลังใจขนาดนั้น ถ้าเขียนเสร็จแล้วไม่มีใครตีพิมพ์ให้เรา เราคงเศร้ามาก ก็เลยอย่างน้อยอยากคุยให้มั่นใจประมาณนึงว่าเขาจะตีพิมพ์ให้ คือถ้ามีคนรับปากเราประมาณนึง เราลงแรงให้เต็มที่ได้อยู่แล้ว แค่อยากให้มีคนบอกเราสิ่งนั้นก่อน เราเลยเลือกที่จะติดต่อสำนักพิมพ์ก่อนโดยที่ยังไม่เริ่มเขียนอะไรเลยด้วยซ้ำ 

ตอนนั้นสำนักพิมพ์บอกเราว่า ไอเดียของเรากลุ่มเป้าหมายมันแคบเกินไป หนังสือของเรา มันเล่าเรื่อง Dark Side ของคน Work and Travel เพราะคนที่เคยไปก็มักจะเล่ากันแค่ว่า ไป 3 เดือนเก็บได้ครึ่งล้านอะไรประมาณนี้ แต่ที่เราเจอไม่ใช่แบบนั้น ก็เลยอยากเล่าด้านลบ ๆ บ้าง แต่สำนักพิมพ์บอกว่าคนที่อ่านเนี่ยจะมีแค่คนที่สนใจเรื่อง Work and Travel ถ้าคนไม่สนใจเขาจะอ่านไปทำไม เขาเลยให้เราไปตบไอเดียใหม่ เราก็เลยไปคิดมาใหม่ ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่จะเขียนมันก็ยังเรื่อง Work and Travel เหมือนเดิม แต่มีความ Coming of Age มากขึ้น เพิ่มเติมเรื่องราวการไปบอกลาชีวิตวัยรุ่นครั้งสุดท้าย และเขาก็ดูโอเคกับไอเดียนี้ และไอเดียนี้เป็นไอเดียที่เราชอบที่จะเขียนมากกว่าด้วย ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าใครจะอยากรู้เรื่องเราขนาดนั้น 

พอเขาโอเคกับไอเดียนี้เขาก็ให้เราลองลิสต์ Bullet Point ให้เขาว่าจะเล่าอะไรบ้าง และให้เราลองเขียน 1 บทไปให้เขาดู และเราก็ทำแบบนั้น พอเขาอ่านแว๊บแรกเขาก็โอเคกับมัน บอกว่าดูมีพลังดี และให้เรารีบส่งมาเพิ่ม จากนั้นก็เขียนบทนึงและส่งให้เขาเรื่อย ๆ

สิ่งหนึ่งที่ช่วยมาก ๆ คือระหว่างการตบไอเดียกันไปมา เขาฟังจากไอเดียเราและนึกถึงหนังสือเล่มนึงที่มีความคล้ายกับหนังสือเรา มีชื่อว่า อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า เราจึงสั่งมาอ่านเลย หนังสือเล่มนั้นหายากแล้วด้วย เราเลยสั่งมือสองมา พออ่านแล้วก็เกิดความรู้สึกว่านี่คือแบบที่เราอยากเขียนเลย มันเหมือนเป็นคู่มือให้เราว่า น้ำเสียงเรา ความกวนและความจริงจัง ในหนังสือของเราจะมีลักษณะประมาณหนังสือเล่มนี้

ความโชคดีของเราคือ ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์ Avocado Books เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกเล่มก่อนจะถึงเล่มเรา เขาจะตีพิมพ์แค่หนังสือของคนที่เขารู้จัก เป็นเพราะว่าเขายังไม่มั่นใจในตัวเองขนาดนั้น เพราะถ้าตีพิมพ์หนังสือของคนไม่รู้จักอาจคุยได้ยากหรือเคลียร์ได้ยาก แต่ถ้าตีพิมพ์ให้เพื่อนมันคุยง่ายกว่า แต่เราเป็นเล่มแรก ๆ เลยที่เขาตีพิมพ์ให้คนไม่รู้จัก มันเหมือนเป็นสเตปสองของสำนักพิมพ์ว่า สำนักพิมพ์เริ่มคงที่แล้ว จึงเปิดโอกาสช่วงนั้นพอดี โชคดีที่สองคือ ครูทอมเคยไป Work and Travel เมื่อตอน 10 ปีก่อน เขาเองก็เคยอยากเขียนเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เขียน พอมีคนส่งเรื่องนี้มาเขาก็เลยรู้สึกว่าดี เหมือนได้มีคนมาเขียนแทนเขา มันโชคดีหลายจุด โชคดีที่เขาไปพูดในเทพลีลาด้วย มันประจวบเหมาะไปหมด

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ :  ในระหว่างเส้นทางนี้ พี่วอร์มได้เจออุปสรรคระหว่างทางด้วยมั้ย

พี่วอร์ม : สำหรับเราเส้นทางนี้ก็ยากเหมือนกัน มีสิ่งที่ยากหลายอย่าง แต่มันก็อาจมีคนที่ยากกว่าเราก็ได้ มันอาจจะมีคนที่เขียนแล้วส่งไปที่ไหนแล้วไม่มีคนรับเลยก็คงมีเหมือนกัน เราก็เลยไม่กล้าบอกว่าของเรามันยากหรือง่ายกันแน่ แต่ในมุมที่เราเจอ เราก็เจอความยากหลายอย่าง เช่น การจะเขียนให้จบยากมากเลย ถือเป็นการเขียนครั้งที่ทรมานที่สุดในชีวิตเลย มันทำให้เราพลาดหลายโอกาสในชีวิต ทำให้เราต้องปฎิเสธนัดหลายนัด เป็นช่วงที่ใช้ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข หรือบางทีขนาดกินข้าวกับเพื่อนก็จะรู้สึกว่ายังเขียนหนังสือไม่เสร็จเลย มันเครียดมาก ๆ 

มันจะมีช่วงนึงที่น้อง ๆ นักโต้วาทีชมรมเราโต้วาทีกันเรื่อง การหา Passion เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นจุดที่ทำให้เราคิดกับตัวเองว่า Passion แปลว่าอะไร ซึ่งมีนิยามนึงที่แปล Passion ว่า สิ่งที่เรายินดีที่จะทรมานเพื่อมัน รากศัพท์ของคำนี้เป็นภาษาโรมัน หมายถึง สิ่งที่เรายินดีเต็มใจจะทรมานเพื่อมัน และทุกครั้งที่เขียนหนังสือเล่มนี้คือนิยามนี้เลย จริง ๆ ก็ไม่ได้ยินดีมากหรอก แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะหยุดทำทั้งที่มันสามารถหยุดได้ มันเป็นความรู้สึกที่เขียนมาครึ่งเล่มแล้ว ถ้าเราหยุดตอนนี้มันเสียหน้าเราและเสียแรงเปล่า เสียหน้าไม่เท่าไหร่แต่ว่าการลงทุนนั้นจะขาดทุนมากกว่า ถ้าพูดง่าย ๆ จำได้ว่าตอนที่เขียนเสร็จ เรารู้สึกว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรเขียนยากอีกต่อไป ไม่ใช่ไม่ยากเพราะเราเขียนดีนะ แต่ไม่ยากเพราะเราคงไม่มีทางเหนื่อยเท่าที่ทำไปแล้ว 

แรก ๆ เราใช้วิธีเขียนไปเรื่อย ๆ หลัง ๆ เป็นแบบกำหนดว่าอาทิตย์นึงต้องได้กี่บท แล้วก็ดูว่าสมมุติอาทิตย์นี้ต้องเขียนสามบท เราก็จะวางแพลนเลยว่า พรุ่งนี้ตอนเช้าต้องเขียนให้ได้เท่านี้ ต้องมีวินัยมาก ซึ่งจริง ๆ อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสำหรับการเป็นนักเขียน อันนี้มันดูกดดันตัวเองมาก ๆ ตอนนั้นเราบีบตัวเองด้วยว่าจะเริ่มทำงานประจำแล้ว เราอยากรีบเขียนให้เสร็จก่อนเริ่มทำงานประจำ เราก็เลยรีบทำทุกวิถีทางให้มันเสร็จก่อน บางวันตื่นมา 8 โมงเช้าและเริ่มทำ ขยันเท่า ๆ กับตอนช่วงใกล้สอบ Tcas แบบนั้นเลย

สาเหตุที่เปลี่ยนวิธีการทำงานจากเรื่อย ๆ มาเป็นแบบเร่งรีบและมีกำหนดเวลา เป็นเพราะว่าเรื่องงานประจำ แรก ๆ ก็รู้สึกว่าเราเขียนทันแหละ แต่สักพักคิดว่าไม่ทัน เลยเอาเวลาทั้งหมดมาดูว่าเหลือเวลานานแค่ไหน และในเวลานั้นต้องทำยังไงถึงจะทัน เราใช้เวลาเขียนประมาณ 6 - 7 เดือน ช่วง 3 เดือนแรกเขียนตามฟีล ช่วงหลัง ๆ เขียนตามเดดไลน์ สมมุติหนังสือทั้งเล่มมันควรจะแบบสามเดือนแรกครึ่งเล่มอีกสามเดือนอีกครึ่งเล่ม แต่ที่เราทำมันเป็นแบบสามเดือนแรกได้ 20% ของเล่ม ส่วนสามเดือนหลังคือ 80%

พี่เอิร์ธ : ผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ยังไง

“วิธีที่เราใช้รับมือกับไฟที่ไม่คงที่ของตัวเองในตอนนั้นคือ การวางแผนที่ดีและทำให้ได้ตามแผนนั้น”

พี่วอร์ม : จริง ๆ มันคือการใช้ชีวิตของเรา พอตระหนักแล้วว่าไม่ทันก็เลยปรับชีวิตประจำวันใหม่ เขียนให้ได้เยอะขึ้น วางแผนอย่างละเอียดเลยว่าต้องเขียนให้ได้แค่ไหน เรารู้สึกว่าวิธีการรับมือของเราก็คือการวางแผนให้ละเอียดและบังคับใช้ให้ได้จริง ๆ ซึ่งการจะทำได้นั้นต้องอาศัยหลายคุณสมบัติ มันต้องใช้วินัยเยอะมาก

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : ในมุมมองของพี่วอร์ม “คุณสมบัติที่ดีและทักษะ” ที่ต้องมีของการเป็นนักเขียนคืออะไร จะมีสิ่งเหล่านี้ได้ต้องทำยังไงบ้าง

“การเป็นนักเขียนต้องมีวินัยและการวางแผนเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน แต่สิ่งสำคัญในการเป็นนักเขียนคือ การมีสิ่งที่อยากจะเล่า”

พี่วอร์ม : แน่นอนว่าเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ก็ต้องมีเรื่องที่อยากจะเล่าชัดเจนอยู่แล้ว แต่มันก็จะมีหนังสือบางแบบ อย่างหนังสือประวัติศาสตร์ ที่เขาอาจจะไม่ได้เขียนจากประสบการณ์ แต่เขียนจากแหล่งอ้างอิง เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเขาก็จะมีสิ่งที่เขาอยากเล่าอยู่ดี เพราะว่าเขาอยากเล่าเรื่องนี้จึงค้นคว้าเรื่องนี้มา หรือเขาอาจจะอ่านเจอเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามันน่าเล่าต่อ จึงเอาไปเขียน ซึ่งสิ่งนั้นถูกแล้ว เพราะก่อนจะเขียนอะไรเราต้องมีสิ่งที่อยากเล่าก่อน หรือต่อให้ตอนนั้นไม่อยากก็ต้องไปหามาก่อนให้ได้ ทั้งหนังสือและบทความออนไลน์ เช่น มีประเด็นเรื่องนี้ในสังคม เราอยากเล่าเรื่องนี้เราถึงเล่า

นอกจากเรื่องที่อยากเล่าแล้ว นักเขียนต้องมีทักษะในการเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจได้ด้วย คนอ่านต้องรู้ว่าคนเขียนอยากจะเล่าเรื่องอะไร หรืออย่างน้อยที่สุดงานเขียนที่อ่านยากย่อมดีกว่างานเขียนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ และหลังจากนั้นยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น เล่าแล้วสนุกมั้ย เล่าแล้วทำให้คนอ่านรู้สึกตามได้มั้ย ก็เป็นสิ่งที่อยู่ถัดไปอีก

พี่เอิร์ธ : ในมุมมองของพี่วอร์มงานเขียนที่ดีควรเป็นอย่างไร

พี่วอร์ม : งานเขียนที่ดีมีหลายแบบ มันเป็นเรื่องของศิลปะ รสนิยม เพราะฉะนั้นตอบค่อนข้างยากว่างานเขียนไหนคือดีหรือไม่ดี แต่เรารู้สึกว่าเราสามารถเขียนดีในแบบที่เราถนัดได้ อย่างเรารู้สึกว่าตัวเองถนัดแบบนี้ก็พยายามใช้มันเป็นจุดขายของเรา ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ถนัดแบบไหนก็จะพยายามไม่เขียนแบบนั้นและก็จะพยายามฝึกแบบนั้นให้มันดีขึ้นจนเป็นระดับมาตราฐาน เช่น เมื่อก่อนเราเขียนเรื่องสั้น เรารู้สึกว่าเราใช้คำได้ไม่ค่อยสวยงาม แต่ว่าเราเป็นสายเน้นเนื้อเรื่อง เราชอบดูหนัง เราชอบอะไรที่มันหักมุม เราก็เลยเลือกให้เรื่องสั้นที่เราเขียนต้องมีความหักมุมเท่านั้น เพราะเราทำสิ่งนั้นได้ดี เป็นเซฟโซนของเรา แต่ในขณะที่เราทำสิ่งนั้น เราก็ต้องพยายามเรียนรู้เรื่องของการใช้คำให้สวยด้วยเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างของเราให้ดียิ่งขึ้น

เพราะอย่างนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องหาสิ่งที่ตัวเองถนัดก่อนว่าในงานเขียนเราถนัดเวย์ไหน ซึ่งการหาเวย์ตัวเองก็อาจจะต้องให้คนอื่นลองอ่านและวิจารณ์เยอะ ๆ หาจุดให้เจอว่าเราถนัดแบบไหน และพอรู้ว่าถนัดแบบไหนแล้ว เราก็จะมีจุดขายแล้วให้ชูมันไปเลย แต่ว่าพร้อมกันนั้นเราก็ต้องพยายามกลบจุดอ่อนเราด้วย ก็ต้องสะสมประสบการณ์และลองเขียนแบบใหม่ไปเรื่อย ๆ ให้คนคอมเมนต์ราเรื่อย ๆ ฉะนั้นการหาคอมเมนต์ที่ดีเจอก็เป็นสิ่งที่สำคัญ 

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : กระบวนการการผลิตหนังสือ 1 เล่ม ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องทำยังไงบ้าง 

พี่วอร์ม : การจะมาเป็นหนังสือเล่มนึงได้มันมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่เขาตีพิมพ์เอง มีทั้งแบบสำนักพิมพ์ไปติดต่อนักเขียนมาเขียน หรือแบบที่นักเขียนอยากเขียนเอง ถ้าพูดแบบคร่าว ๆ อาจจะต้องเริ่มที่ไอเดียก่อน อาจจะเริ่มที่ตัวนักเขียนเอง หรืออาจจะเริ่มที่ บก. มาเสนอไอเดีย มันต้องมีไอเดียก่อน สองคือต้องเริ่มเขียน สามคือมันต้องส่งต้นฉบับ สี่คือช่วงที่ บก. ตรวจและเป็นช่วงที่พิสูจน์อักษร ถัดมาก็อาจจะมีช่วงของภาพประกอบหรือออกแบบภาพปก เข้าโรงพิมพ์ จากนั้นจึงเริ่มขาย 

การขายก็ขายได้หลายแบบ ถ้าพิมพ์เองเขาก็อาจไปวางขายเองตามงานหนังสือต่าง ๆ หรือไปขายตามร้านค้าทั่วไป หรือถ้าเป็นสำนักพิมพ์จะมีสิ่งที่เรียกว่า สายส่ง ปกติพอสำนักพิมพ์ตีพิมพ์เสร็จก็จะให้นักเขียนขายเองตามงานหนังสือ แต่สำนักพิมพ์ไม่ได้เอาไปวางขายตามร้านให้ นักเขียนสามารถทำเองได้แต่มันจะค่อนข้างยุ่งยาก เขาก็เลยจะมีสิ่งที่เรียกว่าสายส่ง สายส่งก็มีหน้าที่ในการเป็นคนกลางนำหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปวางตามร้านต่าง ๆ สายส่งก็มีหลายเจ้า ซึ่งมันก็จะนำไปสู่เงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เช่น การหักเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริง ๆ สายส่งส่วนมากก็หัก 45% ของราคาปก บางทีเราก็คิดเหมือนกันว่านักเขียนจะได้กำไรได้ยังไง สมมุติขายส่งเล่มละ 100 บาท ก็ต้องขายส่งจัดซื้อไปในราคา 55 บาท แต่ก็แลกมากับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศและไม่ต้องวุ่นวายกับร้านหนังสือด้วยตัวเอง

พี่เอิร์ธ : รายได้ของนักเขียนเป็นยังไงบ้าง มีหลักการคิดรายได้ยังไง

พี่วอร์ม : คำถามที่ทุกคนอยากรู้คงเป็นเรื่องรายได้ของนักเขียน เราไม่รู้ว่านักเขียนได้เงินเหมือนกันทุกเจ้ามั้ย แต่เราเข้าใจว่าการทำงานของนักเขียนกับสำนักพิมพ์ส่วนมาก นักเขียนมักจะได้ 10%ของราคาปกคูณด้วยจำนวนเล่มที่ตีพิมพ์ มีการโดนหักจากสำนักพิมพ์นิดหน่อย เปอร์เซนต์ที่เราได้อาจจะดูน้อย แต่เราไม่ต้องมาลุ้นว่าจะขายได้หรือเปล่า ต่อให้เราขายออกไม่ได้สักเล่ม เราก็จะได้เงินเท่าเดิม เพราะเราคูณจากจำนวนเล่มที่พิมพ์ไม่ใช่ที่ขาย 

พี่เอิร์ธ : จะเป็นนักเขียนต้องลงทุนมากแค่ไหน

พี่วอร์ม : จริง ๆ ในการทำหนังสือแทบไม่ต้องใช้เงินอะไรเลย แต่เน้นลงทุนกับเวลาแรงใจเยอะสุด มันใช้เวลาเยอะ 6 - 7 เดือนที่ไม่ค่อยมีความสุข และมันใช้ใจเยอะมาก บางทีในฝันยังคิดเรื่องหนังสืออยู่เลย และอาจจะลงทุนอย่างอื่น เช่น ค่าเสียโอกาส พอเราต้องเขียนหนังสือก็อาจจะรับงานบางงานไม่ได้ หรือบางทีเราอาจจะต้องเสียเงินซื้อโกโก้กินในร้านคาเฟ่ด้วย ในหนังสือของเราจะมีเขียนขอบคุณร้านกาแฟระแวกนี้ที่เรามานั่งเขียนหนังสือด้วย ฉะนั้นน้อง ๆ ที่สนใจอยากจะลองทำหนังสือเป็นของตัวเองไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องงบในการลงทุนเลย 

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : นอกจากงานเขียนแล้ว เห็นว่าพี่วอร์มก็ทำงานด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เดี่ยวไมค์โครโฟน พิธีกร นักโต้วาที งานเหล่านี้ส่งผลอะไรต่อพี่วอร์มในอาชีพมั้ย

พี่วอร์ม : เรารู้สึกว่าทุกอาชีพและทุกอย่างที่เราเคยทำมีส่วนช่วยในการเขียนหนังสือทั้งหมด มันมีผลกระทบต่อกัน อย่างที่บอกว่าเมื่อก่อนเราก็อ่านหนังสือน้อย แต่ว่าเราดูหนังเยอะ สุดท้ายเราก็เอาหนังที่ดูมาเขียน เช่น เรารู้สึกว่าที่เราเคยทำอาชีพเดี่ยวไมโครโฟนก็ต้องไปเล่าเรื่อง เรื่องที่เล่าก็เป็นประสบการณ์ที่เจอมา ฉะนั้นจริง ๆ มันไม่ต่างอะไรไปจากการอ่านหนังสือให้เขาฟัง แค่เป็นหนังสือที่เราท่องได้แล้ว และทำให้มันตลกกว่าหนังสือนิดนึง หรือจริง ๆ จะพูดว่าหนังสือก็คือการเอาที่เราพูดมาเขียนให้เป็นภาษาเขียนก็ได้ เรารู้สึกว่าทุกอย่างที่เป็นเรื่องของการสื่อสาร จริง ๆ มันมีผลต่อกันทั้งหมดเลย เราเอาทักษะของสิ่งนี้มาปรับใช้กับสิ่งนี้ได้เยอะ หรืออย่างถ้าพูดถึงการเป็นพิธีกร การที่เราทำเดี่ยวไมโครโฟนช่วยทำให้เราเป็นพิธีกรได้เยอะมาก เพราะความกลัวเราลดลง เพราะไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการเล่าเรื่องตลกแล้ว ทุกครั้งที่ขึ้นเป็นพิธีกรจะรู้สึกว่ามันง่ายกว่าเดี่ยวไมโครโฟน เพราะไม่ต้องลุ้นว่าคนจะหัวเราะหรือเปล่า จากทั้งหมดที่เราทำมันคือการรวบรวมประสบการณ์มาเขียนลงหนังสือมันจึงช่วยในการเขียนได้

พี่เอิร์ธ : ในฐานะที่วอร์ม ทำทั้งหนังสือและคอนเทนต์ออนไลน์ คิดว่า “อาชีพนักเขียน” กับ “อาชีพ Content Creator” เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

พี่วอร์ม : ความต่างของนักเขียนหนังสือกับ Content Creator ต่างกันตรงที่ เขียนกันคนละอย่างกัน และต่างกันในแง่ของสเกลและความตั้งใจทั้งในแง่ของคนที่ส่งสารและรับสาร เช่น บทความออนไลน์เราอาจจะตั้งใจเขียนมาก ๆ เลย แต่ว่าเราไม่ได้มีเวลาเยอะขนาดนั้น เพราะมันต้องลงทุก ๆ สัปดาห์ ในขณะเดียวกันคนอ่านก็อาจไม่ได้ตั้งใจอ่านขนาดนั้น เพราะอ่านบนหน้าจอก็อาจจะอ่านบนรถอะไรพวกนี้ เราว่ามันเหมือนขนมขบเคี้ยวที่ระหว่างเสพสิ่งนี้อาจทำอย่างอื่นไปด้วย อาจอ่านไปตอนอยู่บนรถไฟฟ้าไป เหมือนขนมขบเคี้ยว ในขณะที่หนังสืออาจจะเหมือนข้าวมื้อหลัก อย่างตอนกินอาจจะต้องตั้งใจกินนิดนึง เพราะว่ามันคงยากที่จะอ่านหนังสือเล่มนึงแล้วทำอย่างอื่นไปด้วย ก็อาจทำได้แต่มันคงยากกว่า ในขณะเดียวกันคนเขียนก็จะให้ใจกับการเขียนหนังสือเยอะกว่า เพราะว่า เรามีเวลาในการกลั่นกรองนานกว่ามาก ๆ 

จริง ๆ ช่วงแรกที่เราทำอาชีพนี้เราก็อยากตั้งใจเขียนงานบทความออนไลน์ให้เท่างานเขียนหนังสือ เราก็ตั้งใจเท่าแหละ แต่อยากมีเวลาเท่าด้วย อยากใช้เวลากับมันให้เยอะเพื่อจะได้ออกมาดีจริง ๆ แต่ในทางปฎิบัติมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่างานมันต้องส่งแล้ว 

มีครั้งนึงเราเคยถาม บก. เหมือนกันว่า เราต้องทำยังไงให้บทความออนไลน์ออกมาดีทุกชิ้น เพราะมันต้องเขียนเยอะมาก ๆ สิ่งที่เขาตอบมาก็คือ มันไม่มีทางดีได้ทุกชิ้น เพราะเวลาเรามีอยู่จำกัด บก.ของเราพูดเสริมอีกว่า เราไม่จำเป็นต้องเขียนได้ Top Form เท่าชิ้นกันทุกชิ้นก็ได้ แต่อย่าเป็นแบบนั้นทุกชิ้น มันมีมาตรฐานของมันอยู่ แค่รักษาไว้อย่าให้ตกลงมา แต่ไม่ต้องคิดมากถ้ามันจะไม่ Top Form ทุกชิ้น ขอให้ทุกชิ้นคงมาตรฐานเราก็พอแล้ว แต่ในทางกลับกันสำหรับเรา หนังสือควรจะ Top Form ให้ได้ทุกเล่ม เพราะว่าเราไม่ได้เขียนบ่อย ๆ เราควรกินข้าวอร่อยทุกมื้อ แต่ขนมคบเคี้ยวไม่ต้องอร่อยทุกมื้อก็ได้ Content Creator คือหน้าที่ แต่หนังสือคือ Passion หรืองานอดิเรก

สำหรับเราบทบาทหลักของ Content Creator มันคือหน้าที่มากกว่า Passion เพราะ ตอนเราทำเราก็มี Passion กับมันนะ แต่เราไม่ทำไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นงานที่เราทำเพื่ออยู่รอด มันคืองานที่ทำให้เรามีเงิน มันเป็นภาวะของการบังคับบางอย่าง ในขณะที่หนังสือเราไม่เขียนก็ได้ แต่พอเป็น Content Creator มันต้องเขียนเพราะมันเป็นอาชีพ

ส่วนความเหมือนกันคือ ทั้งสองอย่างล้วนเป็นงานเขียนเหมือนกัน ต้องใช้การอ่านเหมือนกัน ฉะนั้นความเหมือนของการอ่านคือ ผู้รับสารสามารถควบคุมและจินตนาการได้เองค่อนข้างเยอะ ถ้าสมมุติเราไปดูหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ เราก็ไม่ต้องจินตนาการต่อแล้วว่าหน้าตาเป็นยังไงเพราะเราเห็นอยู่แล้ว แต่ตอนอ่านเป็นหนังสือมันคือ พื้นที่ที่เราจะได้เขียนต่อจากสิ่งที่นักเขียนได้เขียนมา มันคือสเน่ห์ของการเขียนที่ไม่ว่าจะอยู่บนหนังสือหรือออนไลน์ก็ยังมีเสน่ห์นี้อยู่ และผู้อ่านก็ได้เป็นผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ ที่หมายความว่าเราจะอ่านช้าหรือเร็วแค่ไหน มันไม่เหมือนกับการดูคลิปที่จะเล่นของมันไป อันนี้เราสามารถอ่านเร็ว ๆ ทั้งหมดก่อนหรืออ่านข้าม ๆ ก็ได้

พี่เอิร์ธ : ชอบทำงานเขียนหนังสือหรือคอนเทนต์ออนไลน์มากกว่ากัน

พี่วอร์ม : จริง ๆ เราก็ชอบทำเหมือนกันนั่นแหละ แต่ที่ทุ่มเทกับการเขียนหนังสือมากกว่า เพราะว่ามันออกมาเป็นผลงานที่สามารถจับต้องได้ ออกมาเป็นรูปเล่ม หยิบชูให้ใครเห็นก็ได้ ในขณะเดียวกันคอนเทนต์ออนไลน์ มันก็อยู่บนออนไลน์ สมมุติว่า Worst Case มีการปิดเว็บไซต์เกิดขึ้น งานเขียนก็จะหายไป

หนังสือไม่ได้เขียนกันได้บ่อย ๆ เราคงไม่ได้เขียนหนังสือเป็นร้อยเล่ม แต่ว่าบทความ ตอนนี้ทำ The Matter มาประมาณ 9 เดือน ทำไปประมาณ 110 ชิ้นได้ มันเยอะ เหมือนเราทำจนกลายเป็นความเคยชิน บางทีเราก็มีความรู้สึกกับมันน้อยลง มันเหมือนกับถ้าเราไปเที่ยวสักที่ครั้งแรกคงตื่นเต้นมาก ๆ แต่ถ้าเราไปซ้ำ ๆ ความตื่นเต้นมันก็คงลดลง เพราะมันเคยชินไปแล้ว แต่อย่างหนังสือ ตอนนี้เพิ่งเขียนไปหนึ่งเล่มถ้วน ต่อให้เป็นครั้งที่สองก็จริง แต่มันอาจจะยังตื่นเต้นอยู่ เพราะมันแค่ครั้งที่สองเอง แต่บทความที่เขียนมันตั้งร้อยชิ้น มันก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว อาจจะตื่นเต้นบ้างเป็นบางชิ้น แต่ไม่ใช่ทุกชิ้นแน่ ๆ ส่วนหนังสือมันเป็นรูปเล่มจริง ๆ เป็นผลงานที่มีชื่อเรา รวมถึงใช้เวลาทำนานกว่าด้วย

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

พี่เอิร์ธ : รู้สึกอย่างไรที่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ เป็นอาชีพนักเขียน

พี่วอร์ม : เวลาเราเห็นหลาย ๆ คนที่เขาต้องทำงานที่เขาไม่อยากทำ เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยแม้เราจะเจอเรื่องเครียดหลายอย่าง แม้เราจะทรมานในหลายครั้ง อย่างน้อยสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เราพอจะชอบมันอยู่นะ หรือจริง ๆ ง่ายที่สุดถ้าเราลองมองย้อนกลับไปตอนมัธยมที่เราต้องเรียนเคมีที่เราไม่ชอบสุด ๆ อย่างน้อยวันนี้ก็ยังเลวร้ายน้อยกว่าวันนั้น เราอาจจะไม่ได้ชอบมันที่สุด แต่อย่างน้อยเราไม่ได้เกลียดมัน จริง ๆ เรารู้สึกว่าแค่ทุกคนได้ทำงานที่ไม่ได้เกลียด มันก็ดีประมาณนึงแล้ว

พี่เอิร์ธ : ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากมาทำงานด้านนี้ อยากเรียนนิเทศ หรืออยากทำสื่อ

พี่วอร์ม : ก่อนหน้านี้เราเคยดูรายการนึงและมีคำถามในรายการว่า ชอบอะไรในตัวเองที่สุด เราไม่เคยถามสิ่งนี้กับตัวเองมาก่อนเลย เราเลยลองถามตามที่เขาถามกับตัวเอง สิ่งที่เราได้คำตอบมาคือ เราชอบที่ตัวเองเป็นคนที่ทำ สมมุติเราสนใจสิ่งไหนเราจะไปหา เราจะลอง ถ้าอยากทักคนนั้นไปเราจะทัก เราไม่ปล่อยสิ่งที่เราอยากเป็นแค่ความอยาก 

“สิ่งที่อยากบอกน้อง ๆ คือ ถ้าอยากทำอะไรก็ลองทำดู อย่างน้อยถ้าไม่ชอบก็จะได้รู้ว่าเราไม่ชอบ อย่าปล่อยให้ความอยากเป็นแค่ความอยาก ถ้าน้อง ๆ ชอบงานสายนี้ก็มาช่วยกันทำ พี่ยังอยู่ในสายงานนี้อีกสักพัก ยังอยากร่วมงานกับคนอีกมากมาย”

“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?
“พี่วอร์ม สิรวิชญ์” กับเส้นทางนักเขียนในโลกที่เชื่อกันว่าหนังสือหนังสือกำลังจะตาย?

. . . . . . . . .

สุดท้ายนี้ น้อง ๆ สามารถติดตามข่าวสาร แรงบันดาลใจ และผลงานของพี่วอร์มได้ที่ The Matter  และสามารถติดตามพี่วอร์มได้ที่ Instagram  warmzky โดยสามารถทักไปพูดคุยกับพี่วอร์มได้ตลอดเลย

นอกจากนี้ ยังขอฝากหนังสือดี ๆ อย่าง “​​American Pain โปรดเจ็บไว้เป็นหลักฐาน” ให้น้อง ๆ ได้ลองอ่านด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่พี่วอร์มเขียนเอง ถ้าเป็นผู้ใหญ่อ่านก็เหมือนได้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตวัยรุ่นอีกครั้งนึง ขณะเดียวกันสำหรับเด็กมัธยม ถ้าได้อ่านแล้วก็คงรับมือกับการเป็นผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น ไม่ต้องไป Work and Travel ก็สามารถอ่านและได้รับแรงบันดาลใจจากมันได้เหมือนกัน เพราะใจความจริง ๆ ของหนังสือคือ เรื่องราวของการเป็นวัยรุ่นครั้งสุดท้าย

เรียกได้ว่าพี่วอร์มได้ให้แนวทางดี ๆ ในการเป็นนักเขียนไว้ไม่น้อยเลย หวังว่าน้อง ๆ จะชอบและได้แรงบันดาลใจดี ๆ จากพี่วอร์มกันทุกคนเลย สำหรับวันนี้พี่เอิร์ธ พี่นีนี่ SparkD ต้องขอตัวไปก่อน แล้วเจอกันบทความหน้าใน SparkD น้าาา!

. . . . . . . . .

 พี่เอิร์ธ SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่นีนี่ SparkD ถ่ายภาพ
พี่มัดหมี่ SparkD กราฟิกดีไซน์
พี่ฟิวส์ พี่แอล SparkD บรรณาธิการ
ขอขอบคุณสถานที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น