คุยกับ “พี่ลาเต้ Dek-D” เหยี่ยวเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงในระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยตลอด 16 ปี

. . . . . . . .

“ไม่มีเด็กมหาลัยคนไหน.. ไม่รู้จักพี่ลาเต้”

ประโยคนี้ไม่เกินจริง! เพราะใครที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย แน่นอนว่าต้องเคยอ่านสรุปการสอบเข้าจากพี่ลาเต้ ปรึกษาพี่ลาเต้ หรือเคยเห็นพี่ลาเต้ผ่านหน้าไทม์ไลน์กันอย่างแน่นอน

พี่ลาเต้เป็นฮีโร่ของเด็กไทยมานานมากว่า 1 ทศวรรษ กับอาชีพ นักข่าวการศึกษา ที่เป็นมากกว่านักข่าว แต่เป็นเหมือน “พี่” ที่อยู่เคียงข้างน้อง ๆ จนไปถึงฝั่งฝัน วันนี้เราจะมาพูดคุยกับพี่ผู้เป็นความหวังของเด็กไทยและเหยี่ยวที่เฝ้ามองระบบการคัดเลือกที่เปลี่ยนไปตลอด 16 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย ตามไปดูกันเลย..

. . . . . . . .

พี่ลาเต้ Dek-D
พี่ลาเต้ Dek-D

พี่กล้วยหอม: น้อง ๆ คงรู้จักพี่ลาเต้ Dek-D กันอยู่แล้ว แต่อยากให้พี่ลาเต้ทักทายน้อง ๆ อีกสักรอบ และเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่าพี่ลาเต้ มีบทบาทอะไร หรือทำงานตำแหน่งอะไรใน Dek-D คะ

พี่ลาเต้: สวัสดีครับ พี่ลาเต้ มนัส อ่อนสังข์ นะครับ ปัจจุบันพี่เป็น Product manager ที่เว็บไซต์ Dek-D.com ที่ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ของเว็บไซต์ Dek-D.com ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาครับ

พี่กล้วยหอม: อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ลาเต้ได้มาทำงานนี้

พี่ลาเต้: ตอนสมัยมหาวิทยาลัย พี่ก็เรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมา ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าคนที่เรียนสายนี้ส่วนใหญ่จะไปเป็น “นักข่าว” ซึ่งเป็นอาชีพที่เราก็ชอบอยู่แล้ว ก่อนเรียนจบพี่มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ไอทีวีในตำแหน่งผู้สื่อข่าวสายภูมิภาค โดยได้ทำข่าวทุกประเภทเลย ทั้งอาชญากรรม ข่าวสาธารณสุข ข่าวผู้ว่าฯ ไปเปิดงานต่าง ๆ พอหลังจากฝึกงานจบก็โชคดีมาก เพราะได้รับโอกาสทำงานต่อที่ไอทีวีทันที พี่ก็ทำงานที่นี่ไปช่วงหนึ่งประมาณ 6 เดือน จากนั้นไอทีวีก็ปิดตัวลง

ตอนนั้นพี่ที่เป็นหัวหน้าพี่บอกว่า “เต้ ถ้าสมมุติว่าแกมีโอกาสที่ไหน แกก็ไปเลยนะ” ด้วยความที่พี่ยังเด็กพึ่งเรียนจบ เราก็เลยมองหาลู่ทางว่ามีทางไหนที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตได้อีกบ้าง ซึ่งก็นึกถึง Dek-D เพราะเราชอบเข้าไปดูมากในช่วงมัธยม เลยกดเข้าไปดู ปรากฏว่าขึ้นว่าเปิดรับสมัคร “นักข่าวการศึกษา” 

ยอมรับตรง ๆ ว่าพี่ก็ไม่รู้นะว่าเขาจะให้เราทําอะไร แต่รู้แค่ว่าเป็น “นักข่าว” ซึ่งตอนนั้นเราเป็นนักข่าวอยู่ด้วยประจวบกับเราค่อนข้างสนใจประเด็นของการศึกษาเลย ทำให้พี่ตัดสินใจสมัครตำแหน่งนี้กับ Dek-D และทำงานมาตลอด 16 ปี จนเป็น พี่ลาเต้ Dek-D อย่างที่ทุกคนรู้จักกันครับ

พี่กล้วยหอม: พี่ลาเต้ให้คำนิยามระบบการศึกษาไทยในรอบ 10 ปีนี้ว่ายังไงคะ

พี่ลาเต้: สิ่งที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรอบ 10 ปีนี้ก็คอนเฟิร์มไว้ว่าเป็นเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมีการเปลี่ยนทุกปี เปลี่ยนใหญ่บ้าง เปลี่ยนเล็กบ้าง แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบหมด 

ในปี 66 ที่ผ่านมา พี่มองว่าเป็นการเปลี่ยนที่ใจร้ายมาก ในปีนั้นเขาเปลี่ยนการใช้วิชาจาก GAT/PAT มาเป็น TGAT การเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนกะทันหันมาก เหมือนเราจะเตรียมตัวสอบเข้ามาหาวิทยาลัยแล้วเราก็ซ้อมกับวิชา GAT มา และอยู่ดี ๆ มาเปลี่ยนไปเป็น TGAT ซึ่งพาร์ทเชื่อมโยงถูกเปลี่ยนเป็นสมรรถนะการทํางาน ทำให้เด็กหลายคนไม่รู้ว่าจะไปหาแนวที่ไหน แปลว่าน้อง ๆ จะไม่สามารถเตรียมตัวเพื่อที่จะทําคะแนนอะไรได้ เป็นพี่ช็อกเลยนะ เพราะการสอบเข้ามหาลัยจะติดหรือไม่ติดมันอยู่ที่คะแนน

พี่กล้วยหอม: แล้วพี่ลาเต้มองว่า “การเปลี่ยนแปลง” ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังคงสำคัญอยู่มั้ย ?

พี่ลาเต้: ยังสำคัญอยู่ครับ ถ้า 10 ปีระบบไม่เปลี่ยนเลย มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ณ วันนี้มันอาจจะไม่ดีในวันนี้ก็ได้ คือทุกอย่างมันเปลี่ยน แต่พอเปลี่ยนเสร็จปุ๊บ เพื่อแก้ปัญหาที่ 1 2 3 มันแก้ปัญหาได้นะ แต่มันเกิดปัญหาที่ 4 5 6 ตามมา แล้วพอแก้ที่ 4 5 6 ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาที่ 7 8 9 เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ 

พี่เคยสัมภาษณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นะ ทุกการเปลี่ยนแปลงของเขามีเหตุผล ไม่ใช่ว่าเขาอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่เขาพยายามเปลี่ยนให้มันดีขึ้น แต่ด้วยความที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละปีมันมีเด็กที่จะต้องเข้ามหาลัยประมาณ 300,000 คน การที่ระบบหนึ่งระบบจะซัพพอร์ตเด็กทั้ง 300,000 คนให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหน้าที่ของ ทปอ. คือจะทําอย่างไรให้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยครอบคลุม ดูแลและสนับสนุนน้องให้เข้ามหาลัยได้อย่างปลอดภัยตลอดรอดฝั่งให้ได้มากที่สุด 

พี่ลาเต้ Dek-D
พี่ลาเต้ Dek-D

พี่กล้วยหอม: เปลี่ยนมาจนถึงระบบ TCAS พี่ลาเต้มองว่าระบบนี้มีจุดเด่นยังไงคะ ?

พี่ลาเต้: TCAS มีหลายเฟส หลายรุ่น พี่ว่ารุ่นนี้ก็เป็นรุ่นที่เริ่มจะนิ่งแล้ว และน้อง ๆ เริ่มจะเข้าใจคอนเซปต์แล้ว พี่ว่าจุดเด่นของระบบ TCAS คือเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้กับเด็กและมหาวิทยาลัยมากกว่าระบบก่อน ๆ 

เนื่องจากในอดีตมหาวิทยาลัยจะรู้ว่าเด็กสละสิทธิ์ก็ต่อเมื่อวันรายงานตัว เช่น มหาวิทยาลัย A ประกาศรับไป 50 คน แต่มีเด็กมารายงานตัว 30 คน อีก 20 ที่นั่งก็จะกลายเป็นที่นั่งว่างไปเลย ซึ่งระบบ TCAS  เนี่ยเป็นระบบที่มหาวิทยาลัยจะรู้ว่ายังมีอีก 20 ที่นั่ง ทำให้เปิดรอบต่อไปเพื่อเอา 20 ที่นั่งไปรับเด็กได้

ในขณะที่เด็กก็จะมีโอกาสได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น เช่น ในอดีตบางคนไม่ได้แล้วไม่ได้เลย แต่พอมันมี TCAS กลายเป็นเขายังเปิดรับจากที่นั่งว่างอีก ทำให้เด็กมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น เป็นการลดปัญหาการกั๊กที่นั่นเอง ระบบนี้เลยทำให้มหาวิทยาลัยมีเด็กไปเรียน ส่วนเด็กก็จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยหรือคณะที่ตัวเองอยากเรียนซึ่งมีประโยชน์กับมหาลัยแล้วก็มีประโยชน์กับเด็กไปพร้อมกัน

ถ้าถามว่าระบบนี้ดีที่สุดหรือยัง พี่ก็ตอบไม่ได้นะว่ามันดีที่สุดแล้ว…แต่ถามว่ามันเป็นระเบียบมั้ย พี่ว่ามันเป็นระเบียบกว่าเอนทรานซ์และแอดมิชชั่นในระดับนึงเลย

พี่กล้วยหอม: พี่ลาเต้มองว่าการที่ระบบมี “หลายรอบ” มีจุดด้อยอย่างไรบ้าง ?

พี่ลาเต้: ต้องเกริ่นก่อนว่าสอบหลายรอบกับระบบมีหลายรอบไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการที่มีสอบหลายรอบ สิ่งนี้สามารถมองได้ว่าเป็นภาระและไม่เท่าเทียมได้ เนื่องจากการสอบทุกครั้งต้องเสียเงิน ถ้าเรามีเงินก้อนหนึ่งแล้วเราสามารถลงสอบได้แค่ครั้งเดียว ก็จะกลายเป็นว่าเรามีโอกาสไม่เท่าเทียมกับเพื่อน หรือรอบเดียวที่เราลงสอบ ข้อสอบยากมากขนาดในรอบต่อไปข้อสอบง่ายขึ้นมากก็เกิดความไม่เท่าเทียมกัน 

ในส่วนของการที่ระบบมีหลายรอบ พี่มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของน้อง ๆ หลุด 1 เรายังมีโอกาสที่ 2 หลุด 2 ยังมีโอกาสที่ 3 หลุด 3 ยังมีโอกาสที่ 4 นี่คือโอกาสของเรา สุดท้ายแล้ว ทั้งการสอบและระบบแต่ละรอบที่มีโอกาส ก็ย่อมมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นถ้ามีหน่วยงานหรือรัฐมาสนับสนุนและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ความเหลื่อมล้ำมันลดน้อยลง พี่มองว่าโอกาสมากมายเหล่านี้ จะสามารถไปถึงน้อง ๆ ได้มากขึ้น  อย่างล่าสุดที่มีข่าวดีว่าไม่เก็บค่าสอบ TCAS รอบ 3 พี่ว่าตรงนี้แหละเป็นการเพิ่มโอกาสให้น้อง ๆ ทุกคนได้ไปต่อในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้นจริง ๆ 

พี่กล้วยหอม: เคยเกิดประเด็นถกเถียงว่า TCAS รอบ Portfolio จริง ๆ แล้วไม่สามารถคัดเด็กได้เลย มีแต่เด็กล่าค่าย ล่าเกียรติบัตรมาสมัคร หรือเป็นดาราอยู่แล้วมายื่นก็ได้ พี่ลาเต้มีความเห็นตรงนี้ว่าอย่างไรบ้าง ?

พี่ลาเต้: Portfolio เป็นรอบที่ดูเกณฑ์คะแนนยากถ้าเปรียบเทียบกับรอบแอดมิชชั่นที่วัดกันที่คะแนนสอบ เราจะรู้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าคนที่ติดคือคนที่ได้คะแนนมากสุด  ในขณะที่รอบ Portfolio มันพิจารณาจากแฟ้มผลงาน ซึ่งพี่ว่ามันเหมือนอาจารย์พิจารณาว่าพอร์ตเล่มไหนเหมาะก็จะให้คะแนนเล่มนั้น การที่เห็นแฟ้มผลงานหนึ่งเล่มแล้วตีมาเป็นคะแนน แต่ละคนตีไม่เหมือนกันอยู่แล้ว สิ่งนี้จึงอาจจะกลายปัญหากับบางมหาวิทยาลัยได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามแต่ละมหาวิทยาลัยเขาก็อยากได้เด็กที่มีผลงานและเด็กที่เก่งที่สุด ดังนั้นพี่ก็เลยมองว่าด้วยความที่ตัวระบบของรอบ Portfolio มันเปิดให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถพิจารณาแล้วก็ตีเป็นคะแนนแยกกันเองได้ สิ่งเหล่านี้เลยตามมาว่าอาจจะมีข้อถกเถียง ว่าเป็นรอบของเด็กล่าเกียรติบัตรเกินไป ซึ่งก็อยู่ที่ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะให้ความสําคัญกับอะไรมากกว่ากัน ปริมาณของเกียรติบัตรไหม ? หรือประเภทของผลงาน ?

แต่ช่วงหลัง บางมหาวิทยาลัยออกประกาศมาเลยว่าไม่เอาเกียรติบัตรที่เป็นหน่วยงานเอกชน ต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น และมหาวิทยาลัยเขาก็ทราบปัญหาครับ เพราะเขาพยายามปรับรอบ Portfolio ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัยมากขึ้น

ยกตัวอย่างรอบ Portfolio ของ มศว นะครับ เรียกได้ว่าเป็นรอบที่ยอดนิยม แล้วเด็กหลายคนที่อยากเรียน มศว ส่วนใหญ่เขาก็จะพูดกับตัวเองว่าต้องเอารอบพอร์ตให้ได้  ทําผลงานเยอะ ๆ รอบนี้เลยเป็นรอบที่แข่งกันที่ผลงาน และด้วยความที่ มศว เด่นเรื่องนวัตกรรมสื่อสาร น้อง ๆ ศิลปินดาราให้ความสนใจเยอะ เลยกลายเป็นดราม่าว่าดาราที่ติดไป เพราะเป็นดาราหรือติดเพราะผลงาน จนกระทั่งน้องที่เป็นดาราที่เขาติดเข้าไปต้องออกมาบอกว่าผลงานเขาก็เยอะนะ น้องที่ติด มศว มาแชร์ประสบการณ์ว่าควรจะต้องเตรียมพอร์ตยังไง สามารถเห็นได้เลยว่าคนที่ติด มศว คือไม่ธรรมดาเลย รอบนี้ไม่ใช่ว่าจะโกงกันได้ ผลงานของน้อง ๆ ที่ติดก็สมราคาของเขาที่เขาติดเข้าไปครับ

พี่ลาเต้ Dek-D
พี่ลาเต้ Dek-D

พี่กล้วยหอม: พี่ลาเต้เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังไงให้น้อง ๆ ได้ประโยชน์สูงสุด ?

พี่ลาเต้: น้อง ๆ เคยได้ยินไหม เวลาที่รุ่นของน้องที่จะสอบเข้ามหา’ลัยโดนเปลี่ยนระบบกะทันหัน เขาจะชอบพูดว่า “รุ่นกู รุ่นหนูทดลอง” พี่เลยมองว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงควรจะต้องมีเวลาให้เด็กเตรียมตัว โดยให้เวลาสัก 2-3 ปี เช่น ถ้าตั้งใจจะเปลี่ยนในปี 70 บอกไว้ตั้งแต่ปีนี้เลยว่าอีก 3 ปี เดี๋ยวระบบจะเปลี่ยน เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวและฝึกฝนตัวเองอย่างเต็มที่

วิธีต่อมาคือ อาจจะจำลองเป็นโมเดล สมมุติว่าไปทดลองกับโรงเรียนที่มีเด็กประมาณ 2,000 คน เราให้ 2,000 คนนี้มาเลือกคณะตามระเบียบใหม่ เพื่อดูว่าจะเจอปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

พี่กล้วยหอม: จากประเด็นที่ข้อสอบ TPAT 1 ซึ่งเป็นข้อสอบ “ฉบับที่ 1” ในพาร์ท “เชาว์ปัญญา” โดยมีข้อสอบ 11 ข้อ จากทั้งหมด 45 ข้อ ที่มีเนื้อหาตรงกับข้อสอบเก่าของ BMAT พี่ลาเต้มีความคิดเห็นกับการแก้ไขสถานการณ์ในครั้งนี้อย่างไร

พี่ลาเต้: การตัดพาร์ตนี้ออกค่อนข้างเซอร์ไพรส์พี่เหมือนกัน เนื่องจากสาเหตุของปัญหามันเกิดจากการดําเนินการผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ดังนั้นพอจะแก้ปัญหาไม่ว่าจะทางไหน ก็จะมีผลกระทบหมด สามารถโดนด่าได้ทุกทางจริง ๆ ดังนั้น ถ้าเป็นส่วนตัวพี่ เมื่อมันผิดมาแล้วมันเลี่ยงไม่ได้จะโดนตำหนิ แต่หน้าที่ของเราคือการให้ความสําคัญกับการจัดสอบอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม กฎกติกาต้องเป๊ะ ดังนั้นอะไรที่คิดว่าเป็นทางออกที่เท่าเทียบและยุติธรรมกับผู้เข้าสอบ เลยมองว่าน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด

อีกอย่างที่พี่แอบคิดคือ หากสอบใหม่ในช่วงเวลาที่เหลือสมมุติว่าสอบ A-Level เสร็จ สอบวิชา TPAT 1 ฉบับที่มีปัญหาต่อไปเลยดีมั้ย เพราะคนสอบ A-Level ก็คือคนเดียวกับที่สอบ TPAT 1 ใช้สนามสอบเดียวกัน ในวันเดียวกันไปเลย แต่พี่ก็เคารพการตัดสินใจของ กสพท. ในแง่ว่ามันจะสอบใหม่ไม่ได้แล้ว เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไป แต่ละมหาวิทยาลัยต้องเอาคะแนนไปใช้แล้วความเสี่ยงนี้อาจจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้

สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้เลยนะว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดนเด็กเต็ม ๆ ในขณะที่ ทปอ. กับ กสพท. สามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร แต่เด็กไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย

พี่กล้วยหอม: จากดราม่าที่ผ่านมา เช่น วลี “อุ๊ย 900 บาทไม่แพงเลย ถูกมากกกกกก” และการตอบคำถามของแอดมินที่อาจจะเผลอตอบไปกระทบใจหรือออกแนวประชดประชัน พี่ลาเต้คิดว่าปัญหาเหล่านี้ควรแก้ไขอย่างไร

พี่ลาเต้: พี่มองว่าเราต้องแก้ไขโดยการสื่อสารให้มี Empathy และอธิบายให้เข้าใจซึ่งกันและกัน อย่าง 900 บาทไม่แพงเลย อาจจะต้องคำนึงว่าแพงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าอาจารย์เขาอธิบายมากกว่านี้  เช่น มีต้นทุนในการออกแบบให้รองรับคน 300,000 คน ที่เข้ามาในเวลาเดียวกัน มีค่าเซิร์ฟเวอร์ที่จะต้องดูแลซึ่งจะต้องจ่ายเป็นรายปี ต้องจ่ายค่าบุคคลากร ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องรองรับเองทั้งหมดเพราะรัฐไม่ได้สนับสนุนนะ เพราะเราก็จะพยายามที่จะช่วยเซฟน้องมากที่สุด การอธิบายแบบนี้จะทำให้น้อง ๆ เข้าใจว่า “ไม่แพง” ของ ทปอ. คืออะไรได้มากขึ้น

ในส่วนของการตอบคำถามของแอดมินที่มีดราม่ามาเรื่อย ๆ บางทีเด็กถามมา 10 คน แล้วถามเหมือนกันเลย 10 คน เราก็รู้สึกแบบคําถามนี้เด็กไม่เข้าใจสักที เรื่องง่าย ๆ แบบนี้ทําไมไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความหงุดหงิดแล้วก็กดดันกับตัวผู้ทำงานได้ แต่คนที่ทำงานแอดมินต้องเข้าใจว่า 10 คนนี้เขาไม่ใช่เรา ที่จะมีเวลาทําความเข้าใจระบบ แต่เขาเพิ่งขึ้น ม.6 มาเป็นปีแรก อ่านระเบียบแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจ เขาก็ตัดสินใจที่จะมาขอความช่วยเหลือจากเรา 

การทำงานแอดมินการมี Mindset ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องเริ่มจากการมี Mindset ว่าเราเป็นผู้ให้บริการเด็ก ไม่ใช่คนที่เด็กต้องอยู่ใต้คําสั่งของเขา รวมทั้งต้องตระหนักไว้เสมอว่าข้อความที่เราส่งตอบกลับเด็กไปทั้งหมดคือภาพลักษณ์ขององค์กร

พี่ลาเต้ Dek-D
พี่ลาเต้ Dek-D

พี่กล้วยหอม: ทำไมองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาต้องสนใจเสียงของเด็ก

พี่ลาเต้: จริง ๆ ไม่ใช่แค่การจัดสอบ แต่ทุก ๆ อย่างที่เป็นงานหรือกิจกรรมที่มันมีคนหมู่มากมาเกี่ยวข้อง พี่ว่าการรับฟังเป็นแก่นสําคัญในการทำงานมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นงานที่เราจะต้องดูแลน้อง ๆ ทั้ง 300,000 คนต่อรุ่น ดังนั้นเราควรจะต้องเข้าใจและก็รู้จักน้อง ๆ ว่าเขานิสัยใจคอเป็นอย่างไร แล้วมีน้อง ๆ ประเภทไหนที่เด่นเรื่องไหนด้อยเรื่องไหน หรือยังขาดแคลนตรงไหนบ้าง 

เราในฐานะคนออกแบบระบบ ก็ต้องเป็นระบบที่ซัพพอร์ตเด็กให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเรื่องของการพูดคุยก็เป็นอีกหนึ่งทางออก ถ้าไม่มีการพูดคุย ถ้าไม่มีการถาม เราก็จะไม่รู้ว่าเด็กอยากได้อะไร การออกแบบระบบจะกลายเป็นการออกแบบโดยที่เราจินตนาการไปเองว่าอันนี้มันดี แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะดีแค่ในมุมเรา

ยกตัวอย่างในเวลาพี่ทําบทความหรือทําข่าว พี่ก็จะคอยดูฟีดแบกเสมอว่าเวลาเราทําแบบนี้น้องเข้าใจไหม เราก็คอยฟังฟีดแบคกันและกันเพื่อปรับปรุงให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด 

พี่กล้วยหอม: อะไรที่ทำให้พี่ลาเต้ ยังเลือกที่จะเป็น “พี่ลาเต้ที่ให้คำแนะนำการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของน้อง ๆ” มาตลอดระยะเวลา 16 ปี

พี่ลาเต้: “ขอบคุณพี่ ๆ มากเลยค่ะ หนูเกือบพลาดไปแล้วถ้าหนูไม่ได้คุยกับพี่” 

“ขอบคุณที่ลาเต้มากเลยค่ะ ขอบคุณที่ทําเพจดี ๆ ขึ้นมา”

คำพูดขอบคุณ Appreciate เราแบบนี้ พอเราได้ยินเยอะ ๆ ได้ยินบ่อย ๆ มันช่วยให้เรามีความสุข ถามว่าเหนื่อยไหม คือวันไหนที่ประกาศผลแอดมิชชั่น วันไหนที่ประกาศผลคะแนนสอบ เป็นวันที่เหนื่อยนะ บางทีเรานั่งหน้าจอคอมตั้งแต่ 9 โมงถึง 4 โมงเย็น แต่เรานั่งโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าผ่านไป 6 ชั่วโมงแล้ว โดยที่เรายังไม่ได้กินข้าวเลย

การช่วยทำให้น้อง ๆ จากที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดให้เป็นเข้าใจถูก มันทําให้เรารู้สึกเรามีประโยชน์ เรามีความสุข และพอทําสิ่งเหล่านี้ทุกเดือนทุกปี มันหมุนไปเร็วมาก เขาว่ากันว่าอะไรที่มันผ่านไปเร็วนั่นก็หมายความว่าเรามีความสุขกับมัน จนแป๊บ ๆ ตอนนี้ผ่านมา 16 ปีแล้ว

พี่กล้วยหอม: สุดท้ายนี้ พี่ลาเต้มีความฝันอะไรกับระบบการศึกษาไทยมั้ย

พี่ลาเต้: พี่เคยเจอน้อง ๆ ที่ปลอมผลการสอบเข้า สิ่งที่พี่อยากรู้คือเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนั้น ที่เขาตัดสินใจปลอม สุดท้ายในปลายทางคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรู้อยู่ดีว่าเราไม่ได้สอบติดจริง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เหตุการณ์นี้เกิดมาหลายปีติดแล้ว พี่ก็เลยรู้สึกว่าไส้ในของการศึกษามันยังลึกลับซับซ้อนและมันยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ยังต้องแก้ไขอยู่เรื่อย ๆ โครงสร้างใหญ่ก็เป็นเรื่องของการศึกษา แต่มันก็ยังมีโครงสร้างย่อยลงมาในเรื่องของการเรียน เรื่องของหลักสูตร รวมถึงเรื่องของปัจเจกบุคคลที่เป็นครอบครัวด้วยครับ

พี่อยากจะถามถึงหลักสูตรของไทยว่า คุณสอนอะไรเด็ก เด็กจบมัธยม แล้วยังต้องมานั่งคิดว่าจะไปเรียนคณะไหนดี ? เราเรียนหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานมานานถึง 12 ปี แต่หลักสูตรที่เราอยู่กับมันมาขนาดนี้ยังไม่สามารถทำให้เรารู้เลยว่าเราอยากที่จะทำอะไร 

ความฝันสูงสุดของพี่เลยคือ พี่อยากให้น้อง ๆ ทุกคนได้อยู่ในระบบที่ส่งเสริมให้น้อง ๆ รู้จักตัวเองว่าเราอยากทำอะไร เราเหมาะกับอะไร เพื่อให้น้อง ๆ เติบโตไปอย่างมีความสุขที่สุดครับ :)

พี่ลาเต้ Dek-D
พี่ลาเต้ Dek-D

. . . . . . . .

ถ้าน้อง ๆ คนไหนอยากขอคำแนะนำจากพี่ลาเต้ อย่าลืมกดฟอล X ของพี่ลาเต้ @lataedekd กันไว้นะ พี่ลาเต้คอยอัพเดตข้อมูลสำคัญ ๆ บนหน้าไทม์ไลน์ตลอด เพื่อให้น้อง ๆ เข้ามหาวิทยาลัยในฝันกันได้อย่างราบรื่น

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ระบบการศึกษาจะยังไม่เอื้อให้น้อง ๆ เจอสิ่งที่ชอบหรือคณะที่ใช่ แต่พี่ลาเต้ พี่กล้วยหอม รวมถึงพี่ ๆ SparkD ขออวยพรให้น้อง ๆ หาตัวเองให้เจอและโตขึ้นในแบบที่ชอบกันนะ สำหรับวันนี้พี่กล้วยหอม SparkD และพี่ลาเต้ขอตัวก่อน เลยเจอกันใหม่ EP. หน้า สำหรับ EP. นี้  ไว้พบกันใหม่นะน้อง ๆ 

. . . . . . . .

พี่กล้วยหอม SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่อิ๋ว SparkD กราฟิกดีไซน์
พี่พิซซ่า SparkD  ถ่ายภาพ
พี่ฟิวส์ พี่แอล SparkD บรรณาธิการ

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น