สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D ในบทความที่แล้วพี่แป้งพาทุกคนไปทำความรู้จักกับระบอบการเมืองการปกครองในรูปแบบต่างๆ กันไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยของเราถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่กว่าจะมีการปกครองในรูปแบบนี้ก็มีการเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า “การปฏิวัติ 2475” ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาน้องๆ ทุกคนไปทำความรู้จักพร้อมกันค่ะ
จุดเริ่มต้นการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 92 ปีที่แล้ว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองการปกครองของประเทศสยาม นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
การปฏิวัติการปกครองในครั้งนั้นได้กระทำโดยกลุ่มบุคคล ที่น้องๆ อาจจะคุ้นหูกันกับชื่อเรียกที่ว่า “คณะราษฎร” ซึ่งมีสมาชิก 7 คน ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐมนูณธรรม), ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี, ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ, ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี (หลวงสิริราชไมตรี) และนายแนบ พหลโยธิน
จุดเริ่มต้นของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มจากนักเรียนไทยในกรุงปารีสสองคน (นายปรีดี พนมยงค์ และร้อยโทประยูร ภมรมนตรี) ได้พบกันและตกลงร่วมมือกันว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จึงวางแผนชวนเพื่อนๆ ที่ไว้ใจมาร่วมด้วย ซึ่งก็คือ คณะราษฎรอีก 5 คนที่เหลือนั่นเอง
โดยทั้ง 7 คนได้ประชุมร่วมกันครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2469 ณ หอพัก Rue du summerard กรุงปารีส และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบกษัตริย์เหนือการปกครองมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฎหมาย โดยใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” เหตุผลที่เลือกวิธีนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามประเทศเข้ามาแทรกแซงยกกำลังทหารมายึดครองดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้นค่ะ
ต่อมาภายหลังเมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาราชอาณาจักรสยามก็ได้หาสมาชิกเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าร่วมการก่อการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ได้แก่ พ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร โดยมีบุคคลสำคัญระดับหัวหน้า ทั้ง 4 ฝ่าย ในการหาสมาชิกเพิ่ม ได้แก่
- ฝ่ายพลเรือน - หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)
- ฝ่ายทหารเรือ - นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
- ฝ่ายทหารบกชั้นยศน้อย - พันตรี หลวงพิบูลสงคราม
- ฝ่ายทหารชั้นยศสูง - พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอก พระยาทรงสุรเดช, พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และพันโท พระยาประศาสตร์พิทยายุทธ ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สี่ทหารเสือ”
สาเหตุการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475
จากจุดเริ่มต้นที่พี่แป้งเล่าไปเบื้องต้น น้องๆ คงสงสัยกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะราษฎรเห็นพ้องต้องกันว่าควรที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ความเสื่อมศรัทธาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ และอีกทั้งเป็นระบอบที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ราชวงศ์และขุนนางระดับสูง ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และเสื่อมศรัทธาในระบอบการปกครองนี้
2. ในยุคนั้นประชาชนชาวไทยบางส่วนได้รับการศึกษาแบบตะวันตก นักเรียนไทยที่ไปศึกษาในแถบยุโรปรู้สึกชื่นชอบ เพราะได้เห็นความเจริญและได้รับแนวคิดแบบประชาธิปไตย จึงหวังอยากให้ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
3. อิทธิพลของสื่อก่อนปฏิวัติในตอนนั้นรัฐบาลให้เสรีภาพแก่สำนักพิมพ์อย่างเต็มที่ ไม่มีการปิดกั้น หนังสือพิมพ์ลงข่าววิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่บกพร่องของรัฐบาลเป็นประจำ ทั้งยกย่องระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนเริ่มคิดคล้อยตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
4. เนื่องจากเกิดสงครามโลกในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ส่งผลกระทบมาถึงไทย ทำให้สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และส่งผลรุนแรงมาถึงรัชกาลที่ 7 (ช่วง พ.ศ.2472 - 2474) ราษฎรเดือดร้อนไปทั่ว ถึงแม้รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สำเร็จ กลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรมของคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติล้มล้างการปกครองระบอบเก่านั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (จุลศักราช 1294) คณะราษฎรซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร ได้นำกำลังทหาร และพลเรือนมาชุมนุมร่วมกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้อ่านประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร และยึดอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์
การปฏิวัติยึดอำนาจในครั้งนั้นใช้ระยะเวลาปฏิบัติการประมาณ 3 ชั่วโมง คณะราษฎรก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ เพราะว่าคณะราษฎรปฏิการอย่างรวดเร็ว โดยยึดสถานีโทรศัพท์กลางและกรมไปรษณีย์เพื่อตัดการสื่อสาร และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และตั้งคณะนายทหารเป็นผู้รักษาพระนครเพื่อยึดกุมกำลังกองทัพ
ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวน หัวหิน ทรงได้รับหนังสือจากคณะราษฎร ทรงตัดสินพระทัยยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และไม่ให้เกิดการต่อสู้ที่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อขึ้น
โดยการปฏิวัติในครั้งนี้คณะราษฎรได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองหกประการ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ได้แก่
1. หลักเอกราช : รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. หลักความปลอดภัย : รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
3. หลักเศรษฐกิจ : บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. หลักเสมอภาค : ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5. หลักเสรีภาพ : ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. หลักการศึกษา : ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการปฏิวัติสยามในครั้งนั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ก่อกำเนิดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และระบบราชการสมัยใหม่
ความเปลี่ยนแปลง และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการปฏิวัติ
หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง และเหตุการณ์สำคัญของประเทศอะไรเกิดขึ้นบ้าง และบทบาทของคณะราษฎรได้สิ้นสุดลงเมื่อไหร่ พี่แป้งสรุปภาพรวมมาให้น้องๆ แล้วค่ะ
ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองหลังการปฏิวัติ
- คณะราษฎรได้ร่างข้อกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ประชุมสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ประชุมเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานสภาราษฎรคนแรก และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการ พร้อมมีการจัดตั้งองค์กรการปกครอง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร/ออกกฎหมาย), ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และฝ่ายตุลาการ (ศาล)
- โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เสนอให้ “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” (นายก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย
- ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ลงทะเบียนจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ขึ้นอย่างเป็นทางการ ถูกประชาชนพูดถึงมากขึ้นเป็นวงกว้างจนได้รับการยอมรับในฐานะกลุ่มผู้นำประเทศ และถูกยกให้เป็นพรรคการเมืองแรกของประเทศไทย
- ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย และมีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475”
ความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองหลังการปฏิวัติ
- หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรเกิดความแตกแยกกันเองเป็นการภายใน และเกิดความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปรักษาพระอาการประชวร ณ ประเทศอังกฤษ แต่คณะราษฎรไม่ยินยอม พระองค์จึงต้องทรงลี้ภัยไปด้วยพระองค์เอง
- 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประกาศยุบสภา และออก พ.ร.บ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศไทยไปที่ฝรั่งเศส
- จนกระทั่ง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกรัฐประหาร โดยผู้ก่อการ คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พร้อมขึ้นดำรงตำแหนางนายกรัฐมนตรี
- ต่อมา 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิด “กบฏบวรเดช” ผู้นำคือ พระองค์เจ้าบวรเดช เนื่องจากไม่พอพระทัยที่คณะราษฎรไม่ถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นว่า คณะราษฎรขาดความจริงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่สุดท้ายการก่อการครั้งนี้ไม่สําเร็จ เพราะถูกปราบปรามโดยพันตรีหลวงพิบูลสงคราม
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับยังประเทศอังกฤษได้ประมาณกึ่งปีจึงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัฐสภาจึงมีมติกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8 ) ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป
คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ
รัฐประหาร คืออะไร?
ตามพจนานุกรมไทย (2542) การรัฐประหาร หมายถึง “การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยฉับพลัน การใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาล” หลังการปฏิวัติ 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง ได้แก่
- รัฐประหาร 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อกำจัดคณะราษฎร
- รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- รัฐประหาร 6 เมษายน 2491 คณะรัฐประหาร 2490 บังคับให้ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบตำแหน่งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงครามยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
- รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจรัฐบาลถนอม กิตติขจร เพื่อสร้างเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์
- รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
- รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร
- รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
- รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
- รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
Note : จากการรัฐประหารในประเทศไทยที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้หลายคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย” ซึ่งหมายถึง วงจรแห่งการรัฐประหาร คือการยึดอำนาจของรัฐอย่างฉับพลันด้วยการก่อรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ - ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ - รอคณะรัฐประหารคณะต่อไปมาฉีกทิ้ง
รัฐประหาร vs ปฏิวัติ ต่างกันอย่างไร?
รัฐประหาร เป็นการยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก
ส่วนปฏิวัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งหมด โดยมีการยกเลิกระบอบเดิม และใช้ระบอบใหม่ หรือรื้อโครงสร้างเดิม
มาทดสอบความรู้กัน
ทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองกันไปแล้ว ถึงเวลามาทดสอบความรู้กันแล้วค่ะ สำหรับข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำโจทย์ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจกันในวันนี้มี 2 ข้อด้วยกัน เป็นข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบพฤศจิกายน 2566 และตัวอย่างข้อสอบวิชาสังคมศึกษา ถ้าพร้อมแล้วเริ่มทำได้เลย!
1.นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของประเทศไทยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยเหตุใดจึงมีคนได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย” (โครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบพฤศจิกายน 2566)
1) มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง
2) มีวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง
3) มีการเลือกตั้งทั่วไปบ่อยเกินไป
4) นักการเมืองไม่มีคุณธรรม
5) มีการบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างจํานวนพรรคมากไป
2. หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วยอะไรบ้าง (ตัวอย่างข้อสอบวิชาสังคมศึกษา)
1) ประชาธิปไตย เสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ นิติธรรม เสียงข้างมาก
2) เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา
3) เอกราช ประชาธิปไตย เสมอภาค จริยธรรม ความหลากหลาย การศึกษา
4) รัฐสวัสดิการ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา
5) ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กองทัพ ประชาชน รัฐธรรมนูญ
น้อง ๆ คิดว่าทั้ง 2 ข้อ ตอบข้อไหนบ้าง รู้แล้วมาคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ!
ข้อมูลจากhttps://www.the101.world/5-questions-about-khanaratsadon/ https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/laws30555nt_ch6.pdf https://parliamentmuseum.go.th/ar63-People_team.html https://library.stou.ac.th/2024/01/prajadhipok-khana-ratsadon-background/สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น