ขยับเท่ากับออกกำลังกาย! แนะเทคนิคขยับ 3 ระดับ เพื่อการออกกำลังกายที่ได้ผล

          การมีกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอนั้น นอกจากจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังมีผลต่อการป้องกันสารพัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คุกคามสุขภาพของคนไทย จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของประชาชน
 
          ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก “กิจกรรมทางกาย” (Physical Activity)  หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายโดยกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscles) ที่ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานที่ส่งผลต่อสุขภาพ และมีการใช้พลังงานของร่างกายมากกว่าในขณะพัก หรือจะพูดกันแบบบ้านๆได้ว่า หมายถึง “กิจกรรมที่ร่างกายได้ออกแรง…จนรู้สึกเหนื่อย”
 
         ดังนี้แล้ว ทุกการขยับเคลื่อนไหว จึงนับได้ว่าเป็นกิจกรรมทางกายทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องแบ่งเป็น 3 ระดับตามการใช้แรงกาย ได้แก่ ระดับเบา ระดับปานกลาง และระดับหนัก
 
          ซึ่งแม้แต่จะเป็นระดับเบา (Active Lifestyle) คือแค่การทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ การแกว่งแขน หรือการเดินเล่นสบายๆ ก็ถือว่ามีผลดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยลดโรค และถ้าทำต่อเนื่องยังสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกายได้อีกด้วย
 

 
          แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถยกระดับกิจกรรมทางกายขึ้นมาให้ถึงระดับปานกลางหรือหนัก เพราะจะเป็นระดับที่พอเพียงและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยตรง โดย “ระดับปานกลาง” ส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกันก็คือ “การออกกำลังกาย” (Exercise) ซึ่งจะให้ผลดีต่อร่างกายแตกต่างกันไป เพราะถ้าเป็นการออกกำลังกายที่เน้นการยืดเหยียดเช่น โยคะ พิลาธีส ฯลฯ จะส่งผลในด้านการเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ
 

 
          ส่วนคนที่ชอบออกกำลังกายในแนวคาร์ดิโอ ทั้งการเต้น การวิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ จะได้ผลชัดเจนในเรื่องของความแข็งแรงของระบบหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ ในขณะที่คนซึ่งออกกำลังกายแบบหนักขึ้นมาอีก เช่น การยกน้ำหนัก บาร์เบล วิดพื้น ฯลฯ ที่นอกจากจะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากกว่าแล้ว ยังได้ผลดีในด้านความแข็งแรงของข้อต่อ กระดูก เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน และเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
 

 
          คราวนี้มาถึงพวกที่มีกิจกรรมทางกาย “ระดับหนัก” ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำซ้ำต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ตัวอย่างคือการเล่นกีฬา (Sport) เช่น ฟุตบอล แบตมินตัน เทนนิส วิ่งมาราธอน มวยปล้ำ ฯลฯ จัดเป็นกลุ่มที่ได้ผลดีตามประเภทของกีฬาที่เล่น รวมทั้งยังได้ในแง่ของความภาคภูมิใจในชัยชนะและผลรางวัลที่ได้รับอีกทางหนึ่งด้วย
 

 
         ซึ่งถ้าจะวัดผลกันจริงจัง ว่ากิจกรรมทางกายที่ตัวเองทำอยู่นั้นเป็นแบบไหน หลายคนอาจจะต้องพึ่งพาเครื่องมือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็ลองใช้วิธีแสนง่ายทำได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการทดสอบการพูด (Talk test) คือถ้ายังร้องเพลงได้ พูดประโยคยาวๆได้ ถือว่าเป็นกิจกรรมทางกายระดับเบา หรือถ้ายังพอพูดโต้ตอบได้ แต่เริ่มหายใจแรง มีเหงื่อซึมๆ ให้ถือว่าเป็นกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง ส่วนพวกระดับหนักนั้น จะสังเกตเห็นได้ง่ายจากการที่ไม่สามารถพูดโต้ตอบได้อย่างปกติ พูดจาเหนื่อยหอบไม่ครบประโยค
 
สุดท้ายคือไม่ว่าจะเลือกกิจกรรมทางกายแบบไหน ขอให้ขยับบ่อยๆเป็นดี แถมต้องมีดอกจันตัวโตๆด้วยว่า ควรทำอย่างต่อเนื่องครั้งละ 10 นาทีขึ้นไป และสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
รู้แล้วอย่ามัวเนือยนิ่ง ลุกมาขยับกันทันที จัดไป !!
 
ยังมีเคล็ดลับ ลดพุง ดีๆ อีกมากมายที่ http://www.thaihealthlifestyle.com
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด