อ่านจบใน 1 นาที ไขทุกคำถามเรื่องเชื้อดื้อยา

เชื้อดื้อยาสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเพศไหน วัยใด หรือเชื้อชาติอะไร
การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อทั้งในคนและสัตว์เป็นตัวเร่งกลไกการเกิดเชื้อดื้อยาให้เร็วขึ้น
 
เชื้อดื้อยาคืออะไร เชื้อดื้อยาคือเชื้อโรคที่ทนต่อยาปฏิชีวนะเมื่อเจอยา เชื้อจะไม่ตาย ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาไม่ได้ผลดีดังเดิมอาจต้องใช้เวลานานขึ้นเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมีผลข้างเคียงของโรคมากขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
 
อันตรายขนาดไหน คนไทยป่วยติดเชื้อดื้อยาปีละ 90,000 รายเสียชีวิตปีละ 19,000 รายบางรายงานกล่าวว่ามีคนไทยตายเพราะเชื้อดื้อยาชั่วโมงละ 4 ราย ขณะที่รายงานจากต่างประเทศประเมินว่าอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงกว่ามะเร็งภายในปี 2050 หรือจะมีคนทั่วโลกเสียชีวิต 10 ล้านคนต่อปี
 
สาเหตุคืออะไร สาเหตุสำคัญของการเกิดเชื้อดื้อยามาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อทั้งในคนและในสัตว์นอกจากนี้เมื่อคนและสัตว์ขับถ่ายเชื้อดื้อยาจะเข้าสู่ระบบบำบัดของเสียก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่อไป
 

 
แบบไหนเรียกว่า กินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
– กินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เป็นหวัดเจ็บคอหรือท้องเสีย
– มักร้องขอให้แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่ฟังเหตุผล
– กินยาปฏิชีวนะไม่ครบตามคำสั่งแพทย์
– กินยาปฏิชีวนะที่เหลือจากคราวก่อน
– กินยาปฏิชีวนะร่วมกับคนอื่น
– มักซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
– กินยาชุด
 
ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบเหมือนกันหรือเปล่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่ายาทั้งสองเหมือนกันทำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเป็นประจำซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยา ดังนั้นมารู้จักยาทั้งสองให้ดี
– ยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ในการฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเช่นเพนิซิลลิน
– ยาแก้อักเสบคือยาที่มีความสามารถในการลดอาการอักเสบแก้ปวดไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียยาประเภทนี้ได้แก่แอสไพรินไดโคลฟิแนคไอบรูโพนเฟนและพอนสแตน
 

 
ทำไมเป็นหวัดเจ็บคอไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเพราะ 80% ของการเป็นหวัดเจ็บคอเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งยาปฏิชีวนะมีไว้เพื่อจัดการเชื้อแบคทีเรียดังนั้นการกินยาจึงไม่มีผลต่อการรักษาใดๆแต่กลับทำให้เสี่ยงต่อการทำให้เชื้อปกติที่มีในร่างกายเรากลายเป็นเชื้อดื้อยา
 
แล้วให้ทำอย่างไรเมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ วิธีการรักษาเมื่อเป็นหวัดเจ็บคอร่างกายจะสามารถเอาชนะเชื้อไวรัสได้เพียงพักผ่อนดื่มน้ำให้เพียงพอนอกจากเป็นไข้หวัดใหญ่แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีที่จำเป็น แต่ถ้าได้ยาปฏิชีวนะมาแล้ว และทราบว่าไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ให้หยุดยาปฏิชีวนะทันที ไม่ต้องกลัวเชื้อหวัดจะดื้อยาเพราะมันไม่เกี่ยวกัน ตรงกันข้ามถ้ากินต่อจะมีผลเสียมากกว่าคือเสี่ยงต่อการสร้างเชื้อดื้อยาหรือการมีผลข้างเคียงอื่นทั้งที่เราหลีกเลี่ยงได้
 
ยังข้องใจเรื่องเชื้อดื้อยาทำอย่างไร เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
http://atb-aware.thaidrugwatch.org/
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น