คลินิกนักเขียน : Exclusive 10 บันไดสู่ถนนนักเขียน ความฝันที่คว้าได้ไม่ง่าย (แต่ก็ไม่ยากถ้าตั้งใจ!)

 
คลินิกนักเขียน : Exclusive 10 บันไดสู่ถนนนักเขียน
ความฝันที่คว้าได้ไม่ง่าย (แต่ก็ไม่ยากถ้าตั้งใจ!)
 
สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีไรท์เตอร์ทุกคนค้าบ เชื่อว่าทุกคนที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ จะต้องมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ “อยากเป็นนักเขียน” ใช่แล้ว กลเม็ดเคล็ดลับ Exclusive ตอนที่ 10 นี้ พี่ตินอยากให้พิเศษสุดๆ ก็เลยทำบทความเรื่องการเดินทางของนักเขียนขึ้นมา โดยเลือกสัมภาษณ์นักเขียนรุ่นพี่ที่กำลังมาแรงมากๆ ของเว็บตอนนี้อย่าง นิบบา เจ้าของผลงาน สุภาพบุรุษกับศศิรา นั่นเอง ก็... หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ทุกคน ไม่มากก็น้อยนะ
 
ตัวพี่ตินเอง ถือว่ามีอดีตที่ยาวนานกับเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนก็เพราะลงนิยายในเว็บนี้ มีสำนักพิมพ์ให้ความสนใจและรับพิจารณาเรื่อง ก็เพราะเว็บเด็กดีนี่แหละ ดังนั้น พี่ตินก็เลยรู้และเข้าใจน้องๆ เป็นอย่างดีว่าอารมณ์อยากแจ้งเกิดเป็นนักเขียน อยากก้าวไปสู่อาชีพนี้ มันเป็นแบบไหนอย่างไร
 
และนี่คือเหตุผลที่พี่ตินคิดทำบทความนี้ขึ้น เพราะอยากให้น้องๆ ได้รู้จักและเข้าใจเส้นทางสายนักเขียนได้มากขึ้น หลายคนสงสัย อยากรู้ว่านักเขียนเนี่ย เป็นกันได้ง่ายๆ เลยไหม ก็ขอบอกเลยว่าไม่ง่ายแน่ๆ งานนี้ ต้องทุ่มเท ต้องตั้งใจ และต้องอดทน แต่ก็ไม่อยากให้น้องๆ รีบท้อแต่แรก เพราะว่ามีคนมากมายที่กำลังเคว้งคว้าง อยากเป็นนักเขียน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน การเป็นนักเขียน จะว่าไปก็เหมือนงานศิลปะ ยิ่งฝึกบ่อยๆ ก็ยิ่งเก่ง เหมือนการวาดรูป ยิ่งวาดบ่อย ลายเส้นก็ยิ่งคมชัด การเล่นดนตรี ซ้อมบ่อยๆ ก็จะจดจำจังหวะได้ การเขียนก็เหมือนกัน ยิ่งเขียนมาก ก็จะยิ่งลื่นไหลและรู้ว่าต้องปรับตรงไหนอย่างไร
 
เอาเป็นว่าพี่ตินขอสรุปเคล็ดลับการก้าวมาเป็นนักเขียนให้สั้นๆ ก็แล้วกัน น้องๆ ก็ลองอ่านกันดูนะว่าตรงไหมอย่างไร
 
cr : cathyday.com  
 
นักเขียนต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง
ถ้าไปลองถามนักเขียนอาชีพ ส่วนใหญ่ก็หลายคนมักจะตอบแบบนี้แหละ จริงอยู่ว่าพรสวรรค์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเขียนทุกคน แต่ว่า... พรแสวงก็สำคัญมากเช่นกัน แทบไม่มีนักเขียนคนไหน (หรือถ้ามีก็น้อยมาก) พูดเลยว่า ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ทุกคนต้องผ่านการต่อสู้และต้องทำงานหนักทั้งนั้น ขอยกตัวอย่างคำคมของ สตีเฟ่น คิง นักเขียนสยองขวัญชื่อดังขึ้นมาก็แล้วกัน เขาบอกว่า
 
“พรสวรรค์ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จคือการทำงานหนักและไม่ยอมแพ้”
 
ก็โอเค เข้าใจตรงกันเนอะ การทำงานหนักย่อมหมายถึงคุณภาพของงานด้วย ยิ่งเขียนบ่อย งานก็จะยิ่งคมมากขึ้น นอกจากต้องฝึกฝนและทำงานหนักแล้ว อีกสองอย่างที่นักเขียนควรจะมีก็คือ
 
  • ชอบและรักการเขียน ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อ คุณรักในการอ่าน เป็นคนช่างจินตนาการ ช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น ชอบฟังเรื่องราวของคนอื่น และต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจเรื่องของคนอื่นพอสมควร เมื่อรับฟัง ก็สามารถมองจากมุมมอของเขาได้ นี่แหละ คุณสมบัติที่ดีของนักเขียนแหละ 
  • เป็นคนชอบเล่าเรื่อง นักเขียนก็คือนักเล่านั่นเอง พวกเขาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ แง่มุมบางอย่าง อาจดูน่าเบื่อในสายตาของบางคน แต่เมื่อผ่านการเล่าเรื่องของนักเขียนมือดี มันอาจกลายเป็นเรื่องสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อ คุณสมบัติสำคัญของนักเขียนอีกอย่างจึงต้องเป็นคนมีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่อง เลือกเนื้อหาที่เหมาะจะนำเสนอ และตัดส่วนเกินที่ไม่น่าสนใจออกไป
     
นักเขียนต้องเชื่อในตัวเอง
อยากให้เข้าใจไว้ก่อนเลยว่าอาชีพนักเขียน ไม่ได้มาเพราะ “โชคช่วย” นะ นักเขียนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกว่าจะส่งผลงานผ่านสำนักพิมพ์ได้ ในอดีต ยิ่งยากกว่าตอนนี้ เพราะเรามีช่องทางการตีพิมพ์เพียงช่องทางเดียว นั่นคือ ต้องส่งสำนักพิมพ์เท่านั้น ปัจจุบัน ก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว เพราะเรามีอินเทอร์เน็ต ช่วยให้การเผยแพร่ผลงานของเราง่ายขึ้น และได้รับความเห็นตอบรับจากผู้อ่านโดยตรงอย่างรวดเร็วด้วย 
 
เราพูดถึงเรื่อง ความเชื่อในตัวเอง น้องๆ หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร พี่ตินหมายถึงอะไร หมายถึงว่าแม้เราจะไม่ใช่คนเก่งกาจหรือพรสวรรค์ดีเยี่ยม แต่อย่างน้อย อยากให้เราระลึกไว้เสมอว่า... เรื่องที่เราจะเขียนนี้ เป็นเรื่องที่มีคุณค่า และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจาก “ตัวเรา” อย่างแท้จริง ในฐานะนักเขียน คุณสามารถเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอง จากสายตาของคุณ “ไม่มีใคร” บนโลกที่มีประสบการณ์เดียวกับคุณ หรือเคยเจออะไรเหมือนๆ กับคุณอีกแล้ว มีแต่คุณเพียงคนเดียวเท่านั้น ถ้าหากคุณทำให้ผู้อ่านมองโลกผ่านสายตาคุณได้ เมื่อนั้น ถือว่าคุณประสบความสำเร็จแล้ว
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติต้องเขียนฉาก “พายุโหมกระหน่ำ” แน่ละ เคยมีนักเขียนคนก่อนหน้าเขียนฉากนี้มาแล้วเป็นร้อยเป็นพัน แต่ว่าฉากพายุของเรา จะต้องเกิดจากมุมมองของเราเพียงคนเดียว บรรยายความรู้สึกของตัวเอง และแสดงอารมณ์ให้คนอ่านเข้าใจให้ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าหากว่าทำสำเร็จ ฉากนี้ ก็จะกลายเป็นฉากของเรา และไม่มีทางที่นักเขียนคนไหน จะมาเขียนซ้ำกับเราได้ (ยกเว้นเขาก็อปงานเราอะนะ) จำไว้แม่นๆ เลยนะ คนอ่านชอบอ่านอะไรแปลกใหม่ เรื่องน่าสนใจ ความคิด แนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ไอ้ซ้ำๆ ธรรมดาๆ มุกเก่าๆ น่ะ เขาเบื่อแล้ว จงเป็นตัวเอง เขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และนำความคิดของคนอ่านให้ได้


นักเขียนต้องกล้าหาญ
นักเขียนต้องกล้าที่จะนำเสนอความคิดของตัวเองออกมาตรงๆ ผ่านผลงาน โดยพยายามไม่เจ็บปวดมากนักกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักอ่าน ผู้ซึ่งปัจจุบัน สามารถเข้าถึงเราได้อย่างรวดเร็วผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจะมีอินเทอร์เน็ต งานเขียนผ่านการตีพิมพ์เป็นเล่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบัน ทุกอย่างออนไลน์ ทุกอย่างเร็วและไว ผลตอบรับก็เลยมาไวมากกว่าในอดีต แถมช่วงนี้ เศรษฐกิจยังถือว่าตกต่ำ นักเขียนหลายคนต้องคิดหนักว่าจะเขียนเรื่องแบบที่ตัวเองอยากเขียนจริงๆ หรือว่าจะต้องแคร์เรื่องการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ดี นักเขียนต้องคิดถึงผู้อ่านมากขึ้น พยายามเลือกเนื้อหาที่ถูกใจผู้อ่าน เพื่อจะได้ขายได้มากๆ ทำกำไรได้มากๆ หรือสมมติว่า... คุณคือนักเขียนชายที่ประสบความสำเร็จด้านนิยายสืบสวนมาตลอด การจะเปลี่ยนสายไปเขียนนิยายรัก อาจทำให้แฟนคลับไม่สนใจ ไม่ซื้อหนังสือคุณ เพราะงั้น คุณก็ไม่กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ เขียนแบบเดิมๆ น่าจะปลอดภัยกว่า หรือคุณเขียนนิยายรัก แต่ว่าเกิดมีพล็อตแฟนตาซีขึ้นมา คุณก็ไม่อยากเขียน เพราะกลัวว่าคนอ่านแนวรักของคุณจะไม่พอใจ ยอดขายจะตก หรือไม่ได้รับการยอมรับเหมือนเล่มก่อนหน้า
 
ที่พูดมาด้านบน บอกเลย “ลืมไปให้หมด หยุดคิด”  
 
อาชีพนักเขียนคือ... การเขียนในสิ่งที่อยากเขียน เขียนในสิ่งที่รู้สึกจากใจจริงๆ อย่าทำพังด้วยการคิดนู่นคิดนี่ไปก่อนล่วงหน้า เขียนอย่างที่อยากเขียนจริงๆ อย่าไปเขียนในสิ่งที่คนคาดหวังจะให้คุณเขียน ความกล้าหาญของเรา หมายถึงสิ่งนี้แหละ นักเขียนที่ดีจะประสบความสำเร็จและภูมิใจในตัวเองได้ ต้องมีความกล้า
 
ขอปิดท้ายหัวข้อนี้ด้วยคำคมยอดฮิตจากดร. ซุส
 
“จงเป็นตัวของตัวเอง พูดในสิ่งที่คิด เพราะคนที่แคร์คุณจะไม่คิดมาก
ส่วนคนที่คิดมาก พวกนั้นไม่ได้แคร์คุณอยู่แล้ว”

 
นักเขียนเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ  
มีคำกล่าวที่ว่า “เขียนในสิ่งที่รู้จักดี” จะช่วยให้งานเขียนมีเสน่ห์และน่าสนใจมากกว่าเขียนในสิ่งที่ไม่รู้ เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว นักเขียนควรรู้ไว้ว่า... พรสวรรค์ในการเขียนอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องรู้จักสิ่งที่คุณเขียนเป็นอย่างดีด้วย นั่นแหละ งานถึงจะประสบความสำเร็จ
 
เราขอสรุปสาเหตุที่ทำให้งานเขียนถูกปฏิเสธก่อนเลยนะ รวบรวมเอาไว้แล้ว คร่าวๆ มีดังนี้
  • ตัวละครอ่อน ไม่สมจริง
  • พล็อตมีช่องโหว่
  • การกระทำไม่มีเหตุผลรองรับ
  • บทสนทนาไม่เป็นธรรมชาติ
  • ความคิดไม่คงเส้นคงวา
  • ภาษาแย่ อ่านแล้วไม่เข้าใจ น่าเบื่อ
     
อ่านแล้วเราจะรู้ได้เลยว่าปัญหาของนักเขียนที่โดนปฏิเสธงานก็คือ ความรู้ไม่แน่นพอ ทำให้งานเขียนไม่ประสบความสำเร็จ อ่านแล้วคนอ่านไม่เชื่อถือ อาชีพอื่นๆ เช่น ช่างไม้ ทนาย หรือว่าหมอ จะเป็นได้ก็ต้องมีพื้นฐานที่แน่น นักเขียนก็เหมือนกัน อยากทำอาชีพนี้ คุณต้องมีความรู้ มีความสามารถ และมีข้อมูลที่แน่นพอ ข่าวดีก็คือ อาชีพนี้ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ทุกวัน และถ้าคุณขยัน คุณก็จะทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ  


 
นักเขียนคือศิลปิน
นิยายเป็นผลงานที่เกิดจากจินตนาการของนักเขียน ยิ่งบรรยายจินตนาการได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากเท่านั้น
 
ไหนมาสำรวจดูหน่อยว่าคุณเป็นคนจินตนาการดีหรือไม่ ตอบมาซิว่าคุณน่ะ...
  • แอบฝันกลางวันประจำ
  • ตอนเด็กๆ มีเพื่อนในจินตนาการด้วย
  • ชอบคิดฉากต่างๆ ในสมอง และเห็นเป็นภาพชัดๆ
  • เวลาเจอเรื่องอะไร คุณจะคิดไปเองล่วงหน้าว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้คือเรื่องนี้ๆ ประมาณว่าช่างมโนนั่นเอง
     
ถ้ามีคุณสมบัติพวกนี้อยู่บ้าง เราคิดว่าคุณเข้าข่ายเป็นนักเขียนที่ดีแล้วหละ แต่ว่านอกจากจิ้นเก่งแล้ว คุณยังต้องเป็นพวกอยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องของคนอื่นๆ อยู่เสมอ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกวัน สามารถนำมาสร้างเรื่องราวได้หมด คุณควรฝึกตัวเองให้ช่างสังเกต สนใจเรื่องของคนอื่น อยากรู้ ช่างตั้งคำถาม พูดง่ายๆ ทำตัวเหมือนเด็ก พร้อมเปิดใจและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ ใครที่ต่างจากคุณ คุณควรเข้าไปหา และพูดคุย ทำความเข้าใจสนใจในสิ่งที่เขาเป็น ถ้าหากทำได้ ฝีมือการเขียนก็จะพัฒนา และเรื่องราวที่เขียนก็จะกว้างขึ้นด้วย
 
เราขอปิดท้ายว่านักเขียนที่เก่งไม่ใช่นักเขียนอย่างเดียว แต่เป็นศิลปินด้วย และนิยายที่ดี ก็ควร
  • เปิดพื้นที่ให้คนอ่านได้คิดต่อ ไม่ใช่สรุปเหมาเอาเองเสร็จสรรพ 
  • อยู่เหนือกาลเวลา งานคลาสสิกควรต้องอ่านได้ทุกช่วงเวลา และอ่านได้ทุกเพศทุกวัย 
     
นิบบาเปิดใจ “กว่าจะเป็นนักเขียนในวันนี้ ไม่ง่าย”
เอ่ยชื่อ ‘นิบบา’ คิดว่านักอ่านชาวเด็กดีคงจำกันได้ เจ้าของผลงาน “สุภาพบุรุษกับศศิรา” ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์พิมพ์คำ และเร็วๆ นี้ นิบบาจะมีผลงานเรื่องมนต์รักโอลิมปิก ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อรุณด้วย ลองไปฟังกันว่า กว่าจะก้าวมาเป็นนักเขียน เธอต้องผ่านอะไรมาบ้าง

“ไม่เคยถามคำถามนี้กับตัวเองเลยนะคะเนี่ย 555 อืม...สำหรับนิบบา สิ่งที่ต้องผ่านมาก่อนจะได้เป็นนักเขียนก็น่าจะเป็น การลงมือทำ ค่ะ  นิบบาเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากกกกกก ตั้งแต่เด็ก พอเริ่มโตมา เรียนชั้นมัธยมก็มีเพื่อนๆหลายคนบอกว่าชื่นชอบสิ่งที่นิบบาเขียน แต่ไม่ใช่อะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอกนะคะ นิบบาก็ขีดๆ เขียนๆ ไปเรื่อยเปื่อย บางทีเป็นบทความสั้นๆ บางทีเป็นวลี เป็นประโยคหรือการเล่นคำเล่นมุกที่คิดเอาเองว่าดี พอหลายคนบอกว่า เฮ้ย แกเหมาะจะเป็นนักเขียนนะ นิบบาก็คิดไว้ในใจว่า อืม...ฉันก็อยากเป็นนักเขียนนะ แต่ก็แค่นั้น ไม่ได้ทำอะไรต่อ
ที่ไม่เคยลงมือเขียนจริง ๆจังๆ ก็เพราะนิบบาเคยอ่านเจอจากที่ไหนสักแห่งว่า หากยังเห็นโลกมาไม่มากพอก็อย่าริเขียนหนังสือมันก็เลยฝังใจว่า เฮ้ย เราเป็นแค่ใคร แค่ผู้หญิงธรรมดาๆ อายุยี่สิบต้นๆ จะเอาประสบการณ์ชีวิตโชกโชนหรือความเข้าใจโลกอย่างลึกซึ้งที่ไหนมาถ่ายทอดให้ใครอ่าน
 
ก็แปลกดีเหมือนกันที่อยู่ดีๆ วันหนึ่งนิบบาก็เกิดรู้สึกอยากจะเขียนขึ้นมาเสียอย่างนั้น ตอนนั้นไม่ได้คิดหรอกค่ะว่างานจะต้องได้ตีพิมพ์ ตัวเองจะต้องได้เป็นนักเขียน รู้สึกแค่ เออ...ก็สนุกกับการเขียนแล้วมีคนชอบอ่าน มีคนติดตาม รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันก็สร้างความสุขให้คนอื่นได้ ก็เลยทำต่อมาเรื่อยๆ พอนึกย้อนกี่ทีนิบบาก็ยังเชื่อว่าการเขียนหนังสือของนิบบา ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของจังหวะชีวิตจริงๆ นะ เพราะว่าลืมฝันที่อยากเป็นนักเขียนมาก็พักใหญ่แล้ว
 
แต่ก็ใช่ว่าผลงานชิ้นแรกได้ตีพิมพ์แล้ว ตัวเองกลายเป็นนักเขียนแล้ว เส้นทางต่อจากนี้จะแสนดีและสวยงามนะคะ อีกสิ่งหนึ่งที่นิบบาต้องผ่านให้ได้เพื่อจะเป็นนักเขียนต่อไปและเป็นนักเขียนที่ดีขึ้น ก็คือวิธีจัดการกับคำวิจารณ์และผลตอบรับที่มีต่องานค่ะ นิบบาก็ทำใจไว้แต่แรกแล้วนะว่าเมื่อมีคนชื่นชอบงานของเราก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบเป็นธรรมดา นิบบาบอกตัวเองว่าให้รับเอาคำติชม คำวิจารณ์ต่างๆ มาเป็นแรงผลักดันเพื่อพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น แต่ทีนี้ ก็จะมีบ้างที่เจอคำวิจารณ์ในรูปแบบของการต่อว่าแรงๆ ชนิดที่อ่านแล้วเล่นเอาคนสร้างสรรค์ผลงานอย่างเราหมดกำลังใจ ไม่อยากจะเขียนหนังสือต่อเลย นิบบาก็เคยร้องไห้ เคยท้อไปแล้วเหมือนกันนะคะ จนมาคิดได้ว่างานเขียนน่ะ จริงๆ แล้วก็เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งคนเราใช้รสนิยมเป็นตัวตัดสิน เราจะคาดหวังให้ทุกคนชื่นชอบงานของเรามันเป็นไปไม่ได้ นิบบาค่อยๆรู้จักแยกแยะว่าคำวิจารณ์ไหนเป็นประโยชน์ คำวิจารณ์ไหนที่ไม่ควรจะเก็บเอามาใส่ใจ นิบบาว่ามันสำคัญนะคะสำหรับการเป็นนักเขียนหรืออาชีพใดๆ ก็ตามที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานขึ้นจากจินตนาการ เราควรจะรับฟังคำวิจารณ์ แต่ก็ไม่ควรให้น้ำหนักกับมันจนสูญเสียความเคารพตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองไป
 
ถ้าวันนั้นไม่ลองทำก็คงไม่ได้มีวันนี้ ถ้าวันนั้นท้อแล้วเลิกไปก็คงไม่ได้ยืนตรงนี้ นิบบาขอเป็นกำลังใจให้คนที่มีฝันมีไฟทุกคน ขอให้ลงมือทำและวางใจในจังหวะชีวิต ถ้ายังไม่มั่นใจในตัวเองก็ขอให้มั่นใจในฝัน มั่นใจในเป้าหมาย ขอให้ก้าวไปถึงจุดนั้นได้ด้วยกันทุกคนค่ะ”
 

 
ปิดท้ายก็ต้องขอขอบคุณ “นิบบา” ที่มาร่วมให้สัมภาษณ์กับเรา ถือว่าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และชัดเจนมากๆ น้องๆ ทุกคนที่อ่านอยู่ ก็ขอให้นำสิ่งดีๆ จากบทความนี้ไปลองประยุกต์ใช้ดูนะ อันไหนถ้าไม่เหมาะกับเราก็ข้ามๆ ไป แต่อันไหนที่คิดว่าพอจะใช้ประโยชน์ได้ ก็ลองเอาไปใช้ดู
 
ครั้งหน้า กลับมาพบกับเคล็ดลับการเขียนนิยายพีเรียดภาคสอง
พร้อมบทสรุปที่น่าสนใจกันนะ

 
อตินเอง
     
  
   
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มีนยอ Member 29 พ.ค. 58 16:21 น. 1

มีประโยชน์มากค่ะพี่

หนูเองก็รู้สึกว่าเส้้นทางนี้ไม่ง่ายเลย

จริงอยู่ที่ใครก้ทำได้ แค่จับปากกาและเขียน 

จับคอมแล้วพิม แต่นั่นคือเริ่มแรกเราคิดว่าง่าย

ซึ่งหลายคนก็จบมันด้วย ออกทะเลและไม่สนุกกับมัน

ตรงนี้หนูคิดว่าเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดแล้วล่ะค่ะ

แต่สำหรับหนุ หนูคิดว่าหนูมีไอดอล อยากเป็นเหมือนพี่เขาจัง

พี่เขาเท่ห์อะ  มันจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ หวังว่าสักวัน

สักวันจะได้เจอพี่เขาและคุยเรื่องนิยายด้วยกัน

(ชอบพี่เมย์ค่ะ อยากเขียนนิยายเซ็ตเดียวกับพี่เมย์ ฮาาาา)

#ละเมอ #ฝันอยู่ ^^

0
กำลังโหลด
ชินิกามิ ดัมพ์ Member 29 พ.ค. 58 18:40 น. 3

สงสัยเราจะเป็นโรคอะไรซักอย่างที่เวลาเขียนนิยายแล้วมันรู้สึกแบบ อะไรวะ นี่เราเขียนตั้งนานได้แค่นี่เหรอ อยากเป็นนักเขียนแต่ฝีมือดันมีแค่นี้อ่ะเหรอ??  มันทำให้เราโคตรเฟลอ่ะฮรือส์ เสียใจ

2
lb'skLyrmN Member 29 พ.ค. 58 19:41 น. 3-1
เอ... แต่เวลาผมเขียนนิยายแต่ละทีแล้วมักจะติดลมอยู่ยาวนะครับ อย่างเริ่มเขียนตอนบ่ายโมงแล้วพอมารู้สึกตัวอีกที "เช็ด! นี่ห้าโมงแล้วเรอะ" กับนิยายที่เขียนเสร็จไปแล้ว 20 กว่าหน้า จนตอนนี้ผมชักจะสงสัยแล้วว่าตัวเองเป็นออทิสติกหรือเปล่าหวาา
0
กำลังโหลด

11 ความคิดเห็น

มีนยอ Member 29 พ.ค. 58 16:21 น. 1

มีประโยชน์มากค่ะพี่

หนูเองก็รู้สึกว่าเส้้นทางนี้ไม่ง่ายเลย

จริงอยู่ที่ใครก้ทำได้ แค่จับปากกาและเขียน 

จับคอมแล้วพิม แต่นั่นคือเริ่มแรกเราคิดว่าง่าย

ซึ่งหลายคนก็จบมันด้วย ออกทะเลและไม่สนุกกับมัน

ตรงนี้หนูคิดว่าเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดแล้วล่ะค่ะ

แต่สำหรับหนุ หนูคิดว่าหนูมีไอดอล อยากเป็นเหมือนพี่เขาจัง

พี่เขาเท่ห์อะ  มันจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ หวังว่าสักวัน

สักวันจะได้เจอพี่เขาและคุยเรื่องนิยายด้วยกัน

(ชอบพี่เมย์ค่ะ อยากเขียนนิยายเซ็ตเดียวกับพี่เมย์ ฮาาาา)

#ละเมอ #ฝันอยู่ ^^

0
กำลังโหลด
Sky Frost Member 29 พ.ค. 58 18:03 น. 2

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

โอ้โห!! ทุกๆข้อที่กล่าวมาเกี่ยวกับอุปนิสัยของนักเขียนเนี่ย ช่างตรงกับเราจริงๆ ก็อย่างที่บอก นักเขียนต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในฝีมือของเรา อย่าดูถูก อย่าโทษตัวเองและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับงานเขียน พร้อมๆกับพัฒนาพรแสวงของเราไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงจุดสูงสุด ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ

ดีใจจริงๆที่มีข้อมูลดีๆแบบนี้ใน Dek-d ^W^

0
กำลังโหลด
ชินิกามิ ดัมพ์ Member 29 พ.ค. 58 18:40 น. 3

สงสัยเราจะเป็นโรคอะไรซักอย่างที่เวลาเขียนนิยายแล้วมันรู้สึกแบบ อะไรวะ นี่เราเขียนตั้งนานได้แค่นี่เหรอ อยากเป็นนักเขียนแต่ฝีมือดันมีแค่นี้อ่ะเหรอ??  มันทำให้เราโคตรเฟลอ่ะฮรือส์ เสียใจ

2
lb'skLyrmN Member 29 พ.ค. 58 19:41 น. 3-1
เอ... แต่เวลาผมเขียนนิยายแต่ละทีแล้วมักจะติดลมอยู่ยาวนะครับ อย่างเริ่มเขียนตอนบ่ายโมงแล้วพอมารู้สึกตัวอีกที "เช็ด! นี่ห้าโมงแล้วเรอะ" กับนิยายที่เขียนเสร็จไปแล้ว 20 กว่าหน้า จนตอนนี้ผมชักจะสงสัยแล้วว่าตัวเองเป็นออทิสติกหรือเปล่าหวาา
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
อรนามฤณ Member 30 พ.ค. 58 16:00 น. 5

ล้มเหลวแล้ว... ไม่แต่งนิยายต่อ

แม้จะมีฝันและจินตนาการผุดขึ้นมาอยู่เนืองๆ

ทิ้งไปเป็นปีแล้ว

จู่ๆ เผอิญได้เน็ตฟรี 200 MB เลยว่าจะเข้ามาลบทิ้ง

ก่อนลบก็อ่านเรื่องของตัวเองที่เคยแต่งเป็นเรื่องเก่าเมื่อหลายปีก่อน

ปรากฏว่าจำตัวเองไม่ได้ (นิยายเรื่องนี้เราเคยเขียน?)

มันชวนอ่าน น่าติดตาม... แล้วตอนต่อไปเราเคยคิดไว้อย่างไร?

เริ่มปะติดปะต่อได้อีกหน

เลยเอานิยายที่แต่งจบแล้วหลายเรื่อง

ทยอยอัพลงเว็บ (ตกลงก็มิได้ลบ)

สาเหตุที่ล้มเหลว เพราะแต่งจบไปหลายเรื่อง(เรื่องยาวทั้งนั้น)

ส่ง สนพ. ไปตั้งหลายเรื่อง ไม่ผ่านการพิจารณาทุกเรื่อง

เสียใจ... นี่เวลาล่วงเลยผ่านจะเข้าปีที่ 6 นับจากเริ่มเขียนนิยาย

นี่เป็นเหตุผลสมควร ท้อ...

เรา 'ไม่ใช่' นักเขียน

1
1245 30 พ.ค. 58 18:20 น. 5-1
ก็มควรอยู่นะคะที่รู้สึกท้อแต่...ก็ไม่เห็นเกียวกันนิที่จะบอกว่าเราไม่ใช่นักเขียน แค่เขียนในสิ่งที่อยากเขียนแล้วสนุกไปกับมันก็พอแล้ว^^
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
BambiTimozz Member 31 พ.ค. 58 00:31 น. 7

ขอบคุณนะคะ บทความนี้มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ขอบคุณกระทู้นี้นะคะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หึดดด อยากจะเขียนงานเขียนอีกรอบ สู้ๆๆๆๆ จะฝึกฝนต่อไป จะเป็นนักเขียนที่ดีให้ได้ค่ะ^^

เยี่ยมสู้สู้สู้สู้สู้สู้สู้สู้สู้สู้ปิ้งปิ้งปิ้งปิ้งปิ้งปิ้งปิ้งปิ้ง

0
กำลังโหลด
ราชินีโพแดง[ต้นฉบับผ่านแล้ว อิๆ] Member 31 พ.ค. 58 01:24 น. 8

มายืนยันว่าความพยายามไม่ทำให้เราเสียเปล่าจริงๆ ค่ะ แม้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนให้หลายๆ อย่างลงตัว เช่นสำนวนภาษา ทักษะการบรรยาย การวางโครงเรื่องที่สมจริงและมีเหตุผลรองรับ แต่หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนมาได้ สิ่งที่เราจะได้รับตอบแทนกลับมามันยิ่งใหญ่จริงๆ 5 ปีที่ผ่านมาของเราไม่เสียเปล่าเลยค่ะ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
nunny33236 Member 3 มิ.ย. 58 07:49 น. 11

ขอบคุณคำแนะนำดีๆด้วยนะคะ

เห็นด้วยกับบทความทุกอย่างเลยค่ะ

แต่ของเราแอบมีประเด็นเล็กๆคือ เสียงวิจารน่ะยอมรับได้แต่ว่า....มันไม่มีใครมาคอมเมนต์เลยน่ะสิ! ฮือออ เราก็เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนออกไป คนอ่านชอบไหมสนุกไหมเอ่อ..มืดมน

ใครก็ได้มาช่วยดูให้เราที่ค่า เสียใจ

[MCO]

ขอฝากนิยายหน่อยนะ 

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด