วิจารณ์หนังสือ : ประเทศเหนือจริง  
หนังสือที่พูดถึงสังคมไทยในตอนนี้ได้ดีที่สุด
 
ประเทศเหนือจริง ปองวุฒิ
แพรวสำนักพิมพ์ ราคา 225 บาท
“อำนาจไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพียงแค่ผลัดผิวเปลือกนอกบางเบา”  
 
เห็นคำโปรยสั้นๆ บนปก ก็ชวนให้เราคิดต่อได้อีกยาว ยาว และยาวมาก ว่าหนังสือเล่มนี้ มันเกี่ยวข้องกับอะไรกันแน่
 
สำหรับพี่ติน อย่างแรกที่แว่บเข้ามาในหัวคือ “การเมือง” การเมืองแน่ๆ คงเพราะบนปก มีรูปที่เห็นแล้วชวนให้นึกถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย ความรู้สึกก็เลยไปทางนั้น อืม หนังสือการเมือง... ปกติไม่ค่อยเห็นในตลาดเลยนะ น่าจะอ่านยาก... หรือเปล่า
 
ก่อนจะบอกเล่าว่ารู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้ ขอย้อนกลับมาเริ่มใหม่ เหตุผลที่พี่ตินเลือกหยิบ “ประเทศเหนือจริง” ขึ้นมาอ่าน ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลซีไรต์กับเขาด้วย (ตื่นเต้นเนอะ) ซึ่งพอพูดถึงหนังสือรางวัลซีไรต์ ก็ขอออกตัวอีกครั้งว่า พี่ตินไม่ชอบอ่านหนังสือรางวัลเลย! ไม่ชอบเลย เพราะมีความเชื่อเสมอว่ามันอ่านยาก เข้าใจยาก และเป็นงานที่คนเขียนต้องแสดงภูมิมากมาย จนบางทีก็ทำให้คนอ่านปวดหัวจี๊ด
 
แต่... หลังจากได้อ่าน กาหลมหรทึก ของ ปราปต์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนายอินทร์อะวอร์ดประจำปี พ.ศ. 2557 ความรู้สึกของพี่ตินก็เปลี่ยนแปลงไป (กลหลมหรทึก เข้ารอบชิงรางวัลปีนี้ซีไรต์ด้วยนะ) เออ มันก็มีหนังสือซีไรต์ที่ถูกโฉลกกับเราอยู่บ้าง เพราะงั้นเรามาลอง “ประเทศเหนือจริง” อีกสักเล่มดีกว่า บางที อาจจะชอบก็ได้
 
และผลคือ... ชอบค่ะ! ชอบเลย คือใช้เวลาอ่านแค่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็จบเล่ม (หนังสือไม่หนามาก แค่ 239 หน้า) และเป็นการอ่านที่เรียกได้ว่า “อ่านไม่หยุด อ่านไม่พัก” คืออ่านแบบตะลุยไปเรื่อยๆ เพราะอยากรู้ตอนจบว่าจะเป็นอย่างไร ถามว่าชอบตรงไหน ชอบตรงที่ คนเขียนเขียนเรื่องได้เรียบมาก แต่ละประโยค ใช้ถ้อยคำง่ายๆ มาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน แต่ว่า... ในถ้อยคำง่ายๆ นั้น มีพลังบางอย่างแฝงอยู่
 
ความประทับใจแรกที่ได้รับจากเรื่องคือ บรรยากาศของเรื่องนี้ มันช่างเป็นเรื่องใกล้ตัว ตัวละครอย่าง ตฤณ ซึ่ง (น่าจะ) เป็นพระเอกของเรื่อง คือตัวแทนของคนยุคใหม่ พฤติกรรมของเขา ไม่ว่าจะเรื่องการไปนั่งร้านกาแฟเปิดตลอด 24 ชม. หรือว่าการนั่งวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ลงในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก หรือตามเว็บบอร์ดดังๆ เพื่อรอให้คนมากดไลค์หรือแสดงความเห็นในทางชื่นชม... นี่มันใกล้ตัวมาก อ่านแล้วเก็ททันทีว่า... เอ่อ คนยุคนี้ ทำแบบนี้จริงๆ นะ เรียกได้ว่าคนเขียนจับประเด็นที่กำลังเป็นกระแสในสังคม มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ มันมีประโยคหนึ่งที่อ่านแล้วจับใจมาก จนต้องยกมาให้ทุกคนอ่านด้วยกัน
 
“ผมเบื่อ เมื่อผมเดินไปตามถนน นั่งอยู่ในร้านอาหาร เดินไปตามห้างสรรพสินค้า ผมได้เห็นว่าสังคมเต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่สนใจกันและกัน ไม่ใส่ใจรายละเอียดส่วนลึกอีกแล้ว ผมเลยนึกเบื่อ และอยากบอกให้โลกรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายรายล้อมรอบตัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันพวกเขาที่ถูกละเลย ไม่มีใครสังเกตเห็น กระทั่งเราเอง ยังแทบไม่รู้จักตัวตนของตัวเองเลย”
 
อ่านแล้วนี่เหมือนโดนอะไรกระแทกใจนะ บอกแล้ว ใช้คำง่ายๆ แต่ว่าโดนใจมาก ทำให้เราต้องมาทบทวนตัวเองว่า... เอ่อ เราเป็นแบบนั้นหรือเปล่าเนี่ย สังคมสมัยนี้ มันทำให้ผู้คนห่างเหินกันได้มากขนาดนี้เลยเหรอ แต่... ในเรื่องก็ไม่ได้สรุปลงไปชัดเจนเลยนะว่า... สังคมมันห่างเหินจริงหรือไม่ มันยังมีไอเดียที่ใส่มาเพื่อให้เราตั้งคำถามว่า... เฮ้ย มันห่างเหินจริงเหรอ ในเมื่อเวลาเราเข้าเว็บบอร์ด หรือเล่นเฟซบุ๊ก เรากลับเชื่อคนที่เราไม่รู้จัก (หรืออาจจะรู้จัก แต่ไม่สนิทสนม) ได้อย่างเต็มใจ ยกตัวอย่าง เวลาเราอ่านข้อความในเว็บบอร์ดต่างๆ เราก็เชื่อ... ทั้งๆ ไม่รู้จักคนเขียนเลยสักนิดเดียว เรามั่นใจได้อย่างไรว่าข้อความพวกนั้นเป็นความจริง คนเขียนอาจโกหกเราก็ได้ จริงมั้ย...?
 
ในสังคมที่อ้างว้างห่างเหิน ผู้คนส่วนใหญ่เขารู้สึกอย่างไรกันหรือ เขาเหงา เขาเศร้า เขาโดดเดี่ยวเหมือนที่เรารู้สึกบ้างมั้ย...?
 
อืม อ่านแล้วเหงาจับใจเลยนะ
 
โฉมหน้าของปองวุฒิ นักเขียนคนเก่ง
 
ประเด็นที่สองที่ประทับใจต่อมาคือ การจับประเด็น “การเมือง” มาเขียนในลักษณะที่ไม่ใช่ทฤษฎีจ๋า (งงไหม) นั่นคือ การบอกเล่า “การเมือง” ผ่านความคิดของตัวละคร โดยที่นักเขียนเอง ไม่ได้ตัดสินแนวคิดของตัวละครเลย อันนี้ชอบมาก คือเวลาอ่านหนังสือบางเล่ม บางครั้งเราจะรู้สึกว่า... นักเขียนเข้าข้างการกระทำของตัวละครเกินไป เหมือนพยายามหาเหตุผลมารองรับว่า เพราะอะไรตัวละครถึงเป็นแบบนั้น เพราะอะไรตัวละครถึงเป็นแบบนี้ และโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่อว่า การกระทำของตัวละครน่ะ ถูกต้องนะ! แต่เรื่องนี้ ไม่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น ระหว่างที่อ่าน มันเหมือนเราได้ทำความรู้จักตัวละครไปเรื่อยๆ ตัวละครที่เด่นที่สุดยกให้ ตฤณ พระเอกของเรื่อง ยิ่งได้สัมผัสเขา ผ่านรายละเอียดต่างๆ ที่ผู้เขียนใส่มาให้ เรายิ่งเข้าใจเขา เหมือนเขาเป็นเพื่อนเราคนหนึ่ง และแนวคิดของเขานั้น เราอาจไม่ได้เห็นด้วย แต่เราพอจะเข้าใจว่าเพราะอะไร เขาถึงคิดแบบนี้ อย่างที่บอกไปในตอนแรก นักเขียนมีความเป็นกลางอยู่มาก ก็เลยทำให้เราได้แนวคิดหลายๆ อย่าง เหมือนว่า... เขาไม่ได้เขียนเพื่อบูชาแนวคิดการเมืองแบบไหน แต่เขาแค่มาตีแผ่ความจริงที่ปรากฎในสังคมให้เรารับรู้ เป็นคนที่เขียนเรื่องการเมืองยุคปัจจุบันได้อย่างเป็นกลางมากที่สุดคนหนึ่งเลยนะ พี่ตินต้องยอมรับในแง่นี้ คือต้องขอพูดจากใจว่า.... นับถือใจมาก ที่กล้าหยิบยกประเด็นเรื่องการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันมาเขียน เพราะจะว่าไปแล้ว การเขียนหนังสือที่พาดพิงการเมืองในช่วงนี้ เสี่ยงมาก และยากมากที่จะเป็นกลาง แต่ว่านักเขียนทำได้ และทำได้ดีมากด้วย
 
ถามว่าเรื่องนี้มีนางเอกไหม มีเรื่องความรักมั้ย ตอบว่ามีนะคะ 555 เดี๋ยวน้องๆ จะเบื่อ แล้วบอกว่าไม่อยากอ่านเลย เครียดขนาดนี้ บอกเลยว่าไม่ได้เครียดขนาดนั้นค่ะ มีนางเอก มีความรัก และมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอกได้อย่างน่าสนใจมากๆ เป็นความรักของคนสองคนที่แนวคิดทางการเมืองแตกต่าง มีการแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างพอดี ไม่มากหรือว่าน้อยเกินไป ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ดีเลยหละ
 
อ่านจบ สิ่งที่เหลือทิ้งไว้อยู่ในใจก็คือ... “ประเทศไทยนี่ช่าง... เป็นประเทศที่เหนือจริงมาก” จริงๆ นะ (หัวเราะแรง)
 
อตินเอง
 
ปล. ใครสนใจแวะอ่านนิยายเรื่องใหม่ของ ปองวุฒิเรื่อง "ตามรอยรัก" ได้นะ 
จะตีพิมพ์กับสนพ. ที่รัก ในเดือนตุลาคมนี้ 

 

 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

วารัณ 27 ก.ย. 58 22:03 น. 1
เห็นผ่านๆ ในร้านหนังสือ นึกว่าหนังสือวิเคราะห์การเมืองซะอีกค่ะ 555 ตอนนี้แอบลิสต์ไว้ในรายชื่อหนังสือที่ต้องซื้อในงานเรียบร้อย
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
เตเต้ 6 ต.ค. 58 20:42 น. 3
มีคนนีวิวอ่านง่ายๆแบบนี้ จะทำให้คนสนใจหนังสือมากขึ้น แต่จะดีหน่อยที่คนเขียนจะวิจารณ์เพิ่ม+ใส่ความเข้าใจการเมืองนิดนึง ดีครับเยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด