ลิสเบธ ซาลันเดอร์ กับไตรภาค Millennium:
แก้แค้นพันปียังไม่สาย

โดย ภูมิ น้ำวล
 
"การรับรู้ว่าบุคคลผู้ชั่วช้าโดยสิ้นเชิงร่วงหล่นจากโชคลาภและตกลงสู่เคราะห์กรรม
 อาจนำมาซึ่งความพึงพอใจทางศีลธรรม"
 
Poetics, อริสโตเติล
 
*ชื่อเฉพาะภาษาสวีดิชทุกชื่อในบทวิจารณ์ชิ้นนี้ ผู้เขียนถอดเสียงตามหลักการออกเสียงภาษาสวีดิช
**เนื้อหามีการเปิดเผยรายละเอียดสำคัญของเรื่อง
 
ลิสเบธ ซาลันเดอร์ เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรุนแรงภายในครอบครัว เช่นเดียวกับคนอีกหลายล้านทั่วทุกมุมโลก จนกระทั่งเธออายุได้ 12 ขวบ พ่อเธอเมาอาละวาดหนักและทำร้ายแม่เธอจนถึงกับพิการ หนูน้อยซาลันเดอร์ผู้เหลืออดก็แก้แค้นให้แม่ด้วยการเอาน้ำมันราดพ่อก่อนจุดไฟเผา การแก้แค้นครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหักเหลี่ยมเฉือนคมทั้งหมดในไตรภาค Millennium
 
เซ็ตมิลเลนเนี่ยมไตรภาค ฉบับภาษาไทย
โดยสนพ. เอิร์นเนิสพับบลิชชิ่ง

 
Millennium คือชื่อชุดอาชญนิยายจำนวนสามเล่มอันเป็นผลงานเขียนของ สตีก ลาร์สัน (Stieg Larsson) นักหนังสือพิมพ์ชาวสวีดิชผู้ล่วงลับ เล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ปี 2005 หลังลาร์สันเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจไปแล้วร่วมหนึ่งปี ความนิยมกับยอดขายถล่มทลายไม่เพียงเปิดทางให้ภาคต่ออีกสองเล่มได้มีโอกาสออกมาประกาศศักดาบนแผงหนังสือ และจารึกชื่อของลาร์สันในทำเนียบนักเขียนวรรณกรรมยอดนิยมของสวีเดน แต่ยังนำไปสู่การสร้างฉบับดัดแปลงลงทั้งจอหนังและจอแก้วในปี 2009 และ 2010 ตามลำดับ ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเปิดตัวในฐานะภาพยนตร์ฮอลลีวูดเมื่อปี 2011 จนถึงขณะที่พิมพ์บทวิจารณ์นี้ ภาพยนตร์ฉบับอเมริกันมีเพียงเรื่องที่สร้างจากนิยายเล่มแรก อีกสองเรื่องยังไม่มีความคืบหน้าพอให้จับต้องได้เท่าไร ส่วนทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์สวีดิชสร้างครบทั้งสามภาค
 
เนื้อเรื่องสำคัญๆ ในไตรภาคชุดนี้ดำเนินผ่านตัวละครต่างเพศต่างวัยคู่หนึ่ง คนแรกคือมิเคล บลูมควิสต์ (Mikael Blomkvist) นักหนังสือพิมพ์หนุ่มใหญ่เจ้าของนิตยสารชื่อ Millennium อีกคนคือลิสเบธ ซาลันเดอร์ (Lisbeth Salunder) หญิงสาวนักสืบค้นข้อมูลผู้มีอีกตัวตนเป็นแฮกเกอร์อัจฉริยะ "วอสป์" (Wasp) ในภาคแรก Män som hatar kvinnor / The Girl with the Dragon Tattoo บลูมควิสต์กับซาลันเดอร์เข้าไปพัวพันกับการไขปริศนาการหายตัวอย่างลึกลับกว่าสามสิบปีของทายาทตระกูลมหาเศรษฐีชื่อดัง ซึ่งกลับกลายเป็นว่าเชื่อมโยงกับคดีสังหารโหดหญิงสาวที่ค้างคาอยู่ในแฟ้มคดีของตำรวจอีกหลายคดี ภาคต่อมา Flickan som lekte med elden / The Girl Who Played with Fire เนื้อเรื่องเน้นไปที่ซาลันเดอร์ซึ่งโดนใส่ความจนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม และต้องคอยหลบหนีทั้งตำรวจและนักฆ่าจากองค์กรใต้ดินซึ่งมีพ่อเธอชักใยอยู่เบื้องหลัง ในภาคนี้เอง ผู้อ่านผู้ชมจะได้รับรู้ถึงอดีตแสนเจ็บปวดของซาลันเดอร์ ตลอดจนความเกี่ยวข้องระหว่างครอบครัวเธอกับ "เซ็กชัน" (Section) องค์กรลับในสังกัดหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลสวีเดน ในภาคสุดท้าย Luftslottet som sprängdes / The Girl Who Kicked the Hornets' Nest ซาลันเดอร์ บลูมควิสต์ รวมถึงพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ต่างระดมทักษะการสืบค้นข้อมูล การรวบรวมหลักฐาน และการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ร่วมมือกันเปิดโปงพฤติกรรมฉาวโฉ่ของเซ็กชัน ปิดฉากการดิ้นรนต่อสู้ยาวนานของซาลันเดอร์ลงอย่างงดงาม
 
ประเด็นหนึ่งที่ไตรภาค Millennium ไม่ว่าจะนวนิยายต้นฉบับหรือภาพยนตร์ ดูจะนำเสนออย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย คือเรื่องความรุนแรงซึ่งผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ทั้งความรุนแรงเชิงกายภาพอย่างการใช้กำลังประทุษร้าย ข่มขืน และฆ่า ดังเช่นกรณีของสองพ่อลูกซีอีโอตระกูลใหญ่ กอตต์ฟรีด และ มาร์ติน วังเงอร์ ซึ่งจับผู้หญิงมาทรมานและสังหารอย่างโหดเหี้ยมวิปริตเป็นงานอดิเรกไม่พอ ยังบังคับขืนใจแฮร์เรียตให้เป็นทาสบำบัดกามารมณ์ของพ่อและพี่ชายแท้ๆ จนเธอทนไม่ไหวและตัดสินใจหนีออกจากบ้าน และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ดังเช่นที่ผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ใช้อำนาจ ฐานะ และทรัพย์สินในครอบครอง กดขี่ข่มเหงผู้หญิงที่มีสถานะต่ำกว่า ทำให้พวกเธอไม่มีโอกาสได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย อาทิ การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนหนึ่งของรัฐบาลอยู่เบื้องหลังการลักลอบนำผู้หญิงต่างด้าวมาค้าบริการทางเพศ และอาศัยตำแหน่งหน้าที่การงานขจัดความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายและศีลธรรมดังกล่าว ชื่อภาษาสวีดิชซึ่งลาร์สันตั้งไว้ให้กับนวนิยายเล่มแรก "Män som hatar kvinnor" เองก็ยิ่งเน้นย้ำความสำคัญของประเด็นความรุนแรงทางเพศ ด้วยความที่แปลตรงตัวได้ว่า "มวลบุรุษผู้รังเกียจสตรี" ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจสักนิดที่กว่าครึ่งของบทวิจารณ์และบทความเกี่ยวกับไตรภาค Millennium จะมีใจความทางสตรีนิยมและความเท่าเทียมทางเพศ
 
ปกต่างประเทศ สวยแปลกตา 
 
ประเด็นทางเพศอันมากมายเหล่านี้บดบังแง่มุมที่ว่า ไตรภาค Millennium ของสตีก ลาร์สัน ไม่ใช่เรื่องที่ตีแผ่ความน่าสงสารของผู้หญิงในระบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ทว่าเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการแก้แค้น เกี่ยวกับการที่พลเมืองผู้มีอำนาจน้อยโต้กลับการกดขี่ข่มเหงของชนชั้นนำในสังคมผู้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ และภาพยนตร์ฉบับสวีดิชที่ออกฉายปี 2009 ทั้งสามภาค ผลงานการกำกับของนีลส์ อาร์เดน โอเพลียฟ (Niels Arden Oplev) เป็นฉบับดัดแปลงซึ่งถ่ายทอดการแก้แค้นที่ว่าได้อย่างแจ่มชัดและ 'สะใจ' ที่สุด
 
ตามปากคำของลาร์สัน จุดเริ่มต้นของ Millennium สืบย้อนไปได้ถึงประสบการณ์สะเทือนใจเมื่อเขาอายุ 15 ปี เขาได้พบเห็นเหตุการณ์ขณะผู้หญิงคนหนึ่งที่เขารู้จักโดนผู้ชายสามคนรุมโทรม ด้วยความหวาดกลัวทำให้ลาร์สันไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ ครั้นเข้าไปขอโทษผู้หญิงคนนั้นในภายหลังก็ไม่ได้รับอภัย ความรู้สึกผิดดังกล่าวเกาะกุมจิตใจลาร์สันไปจนเขาล่วงเข้าสู่วัยทำงาน เมื่อนั้นเองที่ความคิดและความรู้สึกในใจตกผลึกเป็นรูปเป็นร่าง เกิดเป็นตัวละครหญิงสาวตัวหนึ่ง แม้จะมีวัยเด็กผุพังแหว่งวิ่น ทั้งยังเคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็คงความห้าวหาญพอจะยืนหยัดสู้ชีวิตและปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง เขาตั้งชื่อเธอว่า 'ลิสเบธ' ตามหญิงสาวผู้ถูกรุมโทรม
 
ในฐานะตัวละครเพศหญิงในอาชญนิยาย อันเป็นโลกวรรณกรรมที่มักเกี่ยวข้องกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ลิสเบธ ซาลันเดอร์ นับว่ามีรายละเอียดน่าสนใจไม่น้อย เธอมีมันสมองระดับอัจฉริยะ มีความทรงจำแบบภาพถ่าย (photographic memory) อีกทั้งช่ำชองด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีสมัยใหม่ คณิตศาสตร์ขั้นสูง และการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรู้กับทักษะซึ่งผู้คนมักโยงเข้ากับเพศชาย ทางด้านรูปร่างหน้าตาก็มีรายละเอียดโดดเด่นไม่แพ้กัน ซาลันเดอร์ตัวเล็ก ผอมแห้ง หน้าอกแบนราบ ดูเผินๆ คล้ายเด็กหนุ่มวัยรุ่นมากกว่าหญิงสาว (นูมิ ราเพซ นักแสดงผู้รับบทซาลันเดอร์ในภาพยนตร์ฉบับสวีดิช ดูจะตอบโจทย์เรื่องรูปลักษณ์ตัวละครในจุดดังกล่าวได้มากกว่ารูนีย์ มารา ผู้รับบทเดียวกันในภาพยนตร์ฉบับฮอลลีวูด) มิหนำซ้ำยังบดบังร่องรอยความเป็นหญิงที่หลงเหลือด้วยการเจาะห่วงตามใบหน้าและสักร่างกาย รอยสักรูปมังกรบนแผ่นหลัง ซึ่งเป็นรอยที่เด่นที่สุด (อย่างน้อยก็เด่นพอให้สำนักพิมพ์อเมริกันนำมาใช้เป็นชื่อหนังสือแทนชื่ออันตรงตัวราวขวานผ่าซากตามต้นฉบับภาษาสวีดิช) ก็เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเพศชายมาแต่โบราณกาล ซาลันเดอร์ไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์และไม่ใคร่ไว้ใจผู้อื่น แต่ก็ไม่คิดทำร้ายใครก่อน นวนิยายเล่มแรกกล่าวว่าเธอ "ไม่เคยลืมความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง" "ไม่ให้อภัยใครง่ายๆ" และหากโดนกระทำอย่างไม่เป็นธรรมก็จะ "เอาคืนอย่างสาสมทุกครั้ง" ทัศนคติสนับสนุนการ 'แก้แค้นอย่างสาสม' จัดว่าเข้ากันอย่างยิ่งกับรูปลักษณ์กึ่งหญิงกึ่งชายของซาลันเดอร์ เธอเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจ มีอุดมการณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนตัวแทนของ 'เนเมซิส' (Nemesis) บุคลาธิษฐานของการแก้แค้นและการลงทัณฑ์ในเทวตำนานกรีก ผู้คอยนำพาผลของกรรมชั่วกลับคืนสู่ผู้กระทำอย่างเท่าเทียมไม่ว่าชายหรือหญิง

ฉบับภาพยนตร์ นำแสดงโดยแดเนียล เคร็ก และรูนี่ย์ มาร่า 
 
ไม่น่าเกินเลยหากจะกล่าวว่าเนื้อเรื่องตลอดทั้งไตรภาค Millennium โดยหลักคือการแก้แค้นของซาลันเดอร์ต่อผู้ชายทุกคนที่ทำร้ายเธอและคนที่เธอห่วงใย เหตุการณ์ในชีวิตของซาลันเดอร์ตามที่ปรากฏในนิยายและภาพยนตร์ทั้งสามภาค ดำเนินตาม "พล็อตชำระแค้น" (vengeance plot) ในหนังสือ Six Guns and Soceity: A Structural Study of the Western (1975) วิล ไรท์ (Will Wright) ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวใช้ภาพยนตร์อเมริกันแนวคาวบอยเป็นกรณีศึกษา พล็อตชำระแค้นประกอบด้วยเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
 
1. ตัวเอกเคยอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข
2. ตัวร้ายทำให้ความสงบสุขในสังคมและในชีวิตของตัวเอกพังทลาย
3. ตัวเอกไม่อาจพึ่งพาสังคมให้ลงโทษตัวร้าย
4. ตัวเอกหาทางแก้แค้นตัวร้ายด้วยตัวเอง
5. ตัวเอกกลายเป็นคนนอกสังคม
6. ตัวเอกต่อสู้กับตัวร้าย
7. ตัวเอกเอาชนะตัวร้าย
8. ตัวเอกสละสถานะพิเศษนอกสังคม
9. ตัวเอกกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
 
แม้ชีวิตตลอดยี่สิบกว่าปีของซาลันเดอร์จะอยู่ในสังคมรัฐสวัสดิการสวีเดนในศตรวรรษที่ 20 มิใช่อเมริกายุคคาวบอย ทว่าเรื่องราวชีวิตของซาลันเดอร์ก็สามารถเข้าแทนที่ในสมการพล็อตชำระแค้นข้างต้นได้อย่างลงตัว เธอมีวัยเด็กเหมือนคนทั่วไป เติบโตมาในครอบครัวตามมาตรฐาน มีพ่อมีแม่ แต่เพราะทนไม่ได้ที่เห็นพ่อทำร้ายแม่ทุกวันๆ โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ เธอจึงแก้แค้นแทนแม่ด้วยการจุดไฟเผาพ่อ เคราะห์ร้ายที่พ่อเธอ อเล็กซานเดอร์ ซาลาเชงโก หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ซาลา" เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองรัสเซียผู้ย้ายข้างมาทำงานให้รัฐบาลสวีเดนสมัยสงครามเย็น และยังคงมีอิทธิพลเหนือหน่วยงานลับของรัฐ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรลับ "เซ็กชัน" ซึ่งคอยปกปิดตัวตนและร่องรอยอาชญากรรมต่างๆ นานาของซาลาเป็นความลับมาตลอด หาทาง 'ปิดปาก' ซาลันเดอร์ด้วยการตัดสินให้เธอเป็นบุคคลวิกลจริต ต้องถูกกักกันในโรงพยาบาลจิตเวช และเมื่อออกมาได้ก็ต้องมีผู้ปกครองตามกฎหมาย ซาลันเดอร์ได้เรียนรู้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยสาวว่าไม่อาจพึ่งพาหน่วยงานของรัฐให้ช่วยเหลืออะไรได้ อีกทั้ง 'คู่กรณี' หลายต่อหลายคนของเธอล้วนเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจและทรงคุณวุฒิในสังคม ทั้ง ดร. ปีเตอร์ เทเลบอเรียน ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชที่เป็นสมาชิกของเซ็กชันและสั่งกักกันเธอ ทนายนีลส์ บีเยอร์มัน ผู้มีฉากหน้าเป็นพลเมืองดีเด่นแต่แท้จริงเป็นพวกซาดิสต์ รวมถึงพ่อของเธอ ซาลันเดอร์รู้ดีว่าไม่สามารถใช้กระบวนการทางสังคมธรรมดาๆ เอาผิดบุคคลเหล่านี้ จึงต้องอาศัยวิธีการ 'ใต้ดิน' อย่างการลอบทำร้ายและการเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาหลักฐานมัดตัว ในตอนท้ายของ The Girl Who Kicked the Hornets' Nest ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรหลายฝ่าย ซาลันเดอร์จึงสามารถสู้คดีกับบรรดาสมาชิกของเซ็กชันและเป็นฝ่ายชนะ พ้นจากสถานะบุคคลวิกลจริต กลับมาเป็นพลเมืองปกติของสังคมสวีเดน ในขณะที่บรรดาตัวร้ายต่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหรือโดนพวกเดียวกันเองกำจัด
 
ความสามารถเหนือคนธรรมดาและชัยชนะในท้ายที่สุดของตัวละครลิสเบธ ซาลันเดอร์ ดูเหมือนภาพแฟนตาซีซึ่งสตีก ลาร์สัน แต่งแต้มขึ้นเพื่อปลอบใจตัวเองที่ไม่อาจช่วยลิสเบธตัวจริง 'แก้แค้น' ผู้ล่วงละเมิดเธอ แต่ Millennium ก็หาใช่เรื่องเล่าเกี่ยวกับการแก้แค้นของผู้หญิงตัวเล็กๆ ในสังคมอย่างซาลันเดอร์เท่านั้น ทว่าเป็นพื้นที่รองรับแฟนตาซีว่าด้วยการแก้แค้นของตัวลาร์สันเองด้วย
 
ปกนี้เท่มาก ชอบ 
 
ชีวิตของลาร์สันนับตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวาระสุดท้ายอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง งานในฐานะสื่อทำให้เขาค้นเจอเรื่องการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐและนักธุรกิจชั้นนำหลายครั้ง ลาร์สันยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อและมุ่งมั่นเปิดโปงความจริงโดยไม่นำพาต่อการใช้อำนาจอิทธิพลเถื่อนข่มขู่หรือการใช้อำนาจเงินติดสินบนปิดปาก จรรยาบรรณแรงกล้านี้สะท้อนผ่านมิเคล บลูมควิสต์ ตัวละครเอกอีกตัวซึ่งลาร์สันสร้างขึ้นให้ดำเนินเรื่องควบคู่ไปกับซาลันเดอร์ บลูมควิสต์เป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มใหญ่ผู้ทุ่มเทผลักดันให้นิตยสาร Millennium ในความดูแลเป็นสื่อมวลชนที่มุ่งจรรโลงความจริงโดยไม่ยอมสยบต่ออำนาจนอกกฎหมาย บลูมควิสต์มีหน้าที่การงาน อุดมการณ์ และรูปแบบการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับลาร์สัน แม้จะไม่ใช่ภาพแทนผู้เขียน 100% แต่บลูมควิสต์ก็ถือเป็นตัวแทนที่ลาร์สันสอดแทรกเข้าไปในงานเขียน การต่อสู้ของบลูมควิสต์และกองบรรณาธิการนิตยสาร Millennium กับอำนาจนอกกฎหมายมากหน้าหลายตา ตั้งแต่นักธุรกิจผู้เกี่ยวพันกับมาเฟียต่างชาติอย่างฮันส์ เวนเนอสเตริม ในภาคแรก บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐผู้อยู่เบื้องหลังการค้าประเวณีหญิงต่างด้าวในภาคสอง และอำนาจมืดซึ่งชักใยเบื้องหลังหน่วยงานความมั่นคงของรัฐในภาคสาม จึงเป็นภาพเสมือนของการปะทะกันระหว่างสื่อมวลชนน้ำดีอย่างลาร์สันกับอิทธิพลเถื่อนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ลาร์สันกับเพื่อนวงการสื่อหนังสือพิมพ์เคยเจอมา อย่างไรก็ดี การที่บลูมควิสต์และ Millennium สามารถเปิดโปงความผิดของอิทธิพลเถื่อนเหล่านี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเครือข่ายใต้ดินอย่างซาลันเดอร์และมิตรสหายแฮ็กเกอร์ เท่ากับลาร์สันบอกเป็นนัยว่าโอกาสโค่นล้มอำนาจมืดในสังคมนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะมิใช่เรื่องง่ายที่จะหาแฮ็กเกอร์ฝีมือดีมาช่วยล้วงข้อมูลอื้อฉาวเพื่อเปิดโปงผู้มีอิทธิพล ไตรภาค Millennium จึงเป็นแฟนตาซีว่าด้วยการแก้แค้นของนักหนังสือพิมพ์อย่างลาร์สันมากกว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม
 
ทั้งนี้ แม้จะถือเป็นเรื่องเล่าว่าด้วยการแก้แค้น แต่ไตรภาค Millennium ไม่ได้สนับสนุนการล้างแค้นอย่างไม่มีขอบเขต เอวา กาเบรียลสัน (Eva Gabrielsson) เพื่อนร่วมงานและคู่รักนอกสมรสของลาร์สัน (และเป็นต้นแบบของเอริกา แบร์เยอร์ เจ้าของร่วมของนิตยสาร Millennium และคู่รักนอกสมรสของบลูมควิสต์) ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ลาร์สันถือเอาการแก้แค้นให้กับญาติมิตรซึ่งโดนกระทำโดยมิชอบเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่การแก้แค้นนั้นต้องเป็นไปตามหลัก "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ตามแบบอย่างประมวลกฎหมายฮัมมูราบีของเมโสโปเตเมีย ซึ่งถือเป็นหลักยุติธรรมรูปแบบแรกสุดในอารยธรรมมนุษย์ ในมุมมองของลาร์สัน ทุกคนมีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะแก้แค้นให้ตัวเองและคนที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อแม้ว่าการแก้แค้นนั้นต้องเป็นไปในระดับที่เท่าเทียมหรือเหมาะสมกับความรุนแรงที่ได้รับในทีแรก
 
ลิสเบธ ซาลันเดอร์ ตัวแทนของแฟนตาซีการแก้แค้นในนิยายของลาร์สัน สะท้อนหลักการแก้แค้นตามแนวทางของลาร์สันออกมาได้อย่างชัดเจน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเธอ "เอาคืนอย่างสาสมทุกครั้ง" การแก้แค้นทุกครั้งของซาลันเดอร์มีรูปแบบเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับการกระทำที่เธอได้รับแต่แรกเริ่ม ใน The Girl with the Dragon Tattoo หลังจากโดนทนายบีเยอร์มันใช้ฐานะผู้ปกครองตามกฎหมายขู่แบล็กเมล และต่อมาก็โดนจับมัดและถูกทารุณกรรมทางเพศ เธอตอบโต้ด้วยการนำคลิปวิดีโอเหตุการณ์ขณะเขาข่มขืนเธอมาขู่แบล็กเมลกลับ พร้อมทั้งจับเขามัด ทรมานด้วยเซ็กส์ทอยของเขาเอง ก่อนใช้เครื่องสักขนาดพกพาสักข้อความประจานพฤติกรรมวิปริตบนหน้าท้องเขา ใน The Girl Who Played with Fire ผู้ชมผู้อ่านได้รับทราบว่าซาลันเดอร์จุดไฟเผาซาลาผู้เป็นพ่อจนร่างกายเสียโฉมเพื่อแก้แค้นแทนแม่ที่โดนพ่อทำร้ายจนพิการ และเมื่อพบว่าพ่อกับพี่ชายต่างแม่พยายามตามฆ่าเธอ เธอจึงออกตามล่าและพยายามสังหารทั้งคู่ด้วยอาวุธทุกอย่างเท่าที่พอหยิบจับได้ และใน The Girl Who Kicked the Hornets' Nest เธอก็ใช้กระบวนการไต่สวนในชั้นศาลเพื่อเอาผิดและทำลายชื่อเสียงของจิตแพทย์เทเลบอเรียนกับเหล่าสมาชิกองค์กรเซ็กชัน เพื่อให้สาสมกับที่ทำให้เธอโดนตราหน้าว่าเป็นคนบ้ามาตลอดสิบกว่าปี ซาลันเดอร์ไม่เคยแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือสงสารบุคคลที่เธอมุ่งแก้แค้นแม้สักนิด แต่กระนั้นเธอก็ไม่แก้แค้นเกินกว่าเหตุ ต่างกับตัวร้ายบางคนที่มุ่งล้างแค้นนอกเหนือกฎตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ซาลา ซึ่งไม่สำนึกว่าการที่ตัวเองโดนไฟคลอกจนเสียโฉมเป็นผลกรรมจากการที่ตนทำร้ายภรรยาจนพิการ และคิดเพียงหาทางฆ่าลิสเบธเพื่อชำระแค้น หรือบีเยอร์มัน ซึ่งแทนที่จะกลับใจและเลิกจองล้างจองผลาญลิสเบธ กลับจ้างวานซาลาให้ช่วยกำจัดเธอ ท้ายที่สุดทั้งคู่ก็พบจุดจบน่าอเนถอนาจโดยไม่อาจแม้กระทั่งหลงคิดว่าแก้แค้นได้สำเร็จ
 
ภาพยนตร์ดัดแปลงฉบับสวีดิชปี 2009 ถ่ายทอดประเด็นการแก้แค้นอย่างเท่าเทียมข้างต้นอย่างเหนือชั้น โดยอาศัยการถ่ายทำ ตัดต่อ และการวางมุมกล้องซึ่งสร้างความรู้สึก 'สะใจ' แก่ผู้ชมที่มีอารมณ์ร่วมไปกับการดิ้นรนฟันฝ่าอุปสรรคของซาลันเดอร์และบลูมควิสต์ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าภาพยนตร์จะเสนอภาพตัวละครเอกโดนทำร้ายหรือได้รับความทุกข์ทรมานในรูปแบบใดและระดับใดก็ตาม ในภายหลังผู้ชมจะมีโอกาสได้เห็นตัวร้ายซึ่งเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายก่อน เผชิญความทุกข์ทรมานในลักษณะเดียวกัน ราวกับต้องการสร้างภาพสมมาตรให้ผู้ชมเปรียบเทียบ
 
ปกนี้ก็เรียบๆ แต่สื่ออารมณ์ได้ดีมาก 
 
The Girl with the Dragon Tattoo เปิดฉากด้วยคดีความระหว่างเวนเนอสเตริมกับบลูมควิสต์ บลูมควิสต์ (รับบทโดยนักแสดงผู้มีชื่อคล้ายตัวละคร มิเคล นีควิสต์) แพ้คดีเพราะโดนคนของอีกฝ่ายหลอกให้นำข้อมูลปลอมไปใช้สู้คดี กล้องจะซูมใบหน้าเริงร่าของเวนเนอสเตริม (สเตฟาน เซาก์) ขณะให้สัมภาษณ์นักข่าว ตัดสลับกับใบหน้าหม่นหมองของบลูมควิสต์ในหนังสือพิมพ์ ในตอนท้ายของเรื่อง บลูมควิสต์กลับเป็นฝ่ายชนะด้วยข้อมูลลับซึ่งลิสเบธช่วยล้วงจากคอมพิวเตอร์ของเวนเนอสเตริม ผู้ชมจะได้เห็นใบหน้ายิ้มแย้มของบลูมควิสต์ในระยะใกล้ชิด ในขณะที่เวนเนอสเตริมปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในรูปใบหน้าอมทุกข์บนหน้าหนังสือพิมพ์ ตามด้วยรายงานข่าวแบบไม่มีภาพถึงการฆ่าตัวตายของเขาระหว่างหลบหนีมาเฟีย
 
ฉากทนายบีเยอร์มัน (ปีเตอร์ อันเดอร์สัน) ข่มขืนซาลันเดอร์ กับฉากซาลันเดอร์แก้แค้นบีเยอร์มัน เกิดขึ้นห่างกันไม่นาน ทำให้ผู้ชมเห็นรูปแบบการแก้แค้นสไตล์ตาต่อตา ฟันต่อฟันอย่างค่อนข้างชัดเจน เริ่มจากซาลันเดอร์และบีเยอร์มันถูกจับมัดในสภาพร่างกายเปลือยเปล่า กล้องถ่ายให้เห็นภาพเต็มตัวของทั้งคู่ ขณะดิ้นรนโดยไม่เผยให้เห็นอวัยวะเพศ เมื่อร่างกายของทั้งคู่ถูกอีกฝ่ายล่วงละเมิด (กรณีของบีเยอร์มันคือตอนเริ่มข่มขืนซาลันเดอร์ทางทวารหนัก ส่วนซาลันเดอร์คือตอนสอดใส่อวัยวะเพศเทียมทางทวารหนักของบีเยอร์มัน และตอนสักข้อความบนหน้าท้องเขา) กล้องจะจับที่ใบหน้าเจ็บปวดทุรนทุรายของฝ่ายผู้ถูกกระทำเป็นหลัก สลับกับเผยภาพเล็กน้อยพอให้คนดูเข้าใจว่าอีกฝ่ายทำสิ่งใดอยู่ ความทรมานซึ่งแสดงออกทางสีหน้าของบีเยอร์มันสอดรับสีหน้าเจ็บปวดของซาลันเดอร์อย่างเหมาะเจาะ
 
ฉากของตัวร้ายหลักประจำภาค มาร์ติน วังเงอร์ (ปีเตอร์ ฮาเบอร์) มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากนวนิยายต้นฉบับเล็กน้อย ในหนังสือ มาร์ตินซึ่งขับรถหนีมอเตอร์ไซค์ของซาลันเดอร์ขับไปชนรถบรรทุกตายคาที่ ทว่าในภาพยนตร์ รถมาร์ตินพลิกคว่ำและน้ำมันรั่ว มาร์ตินติดอยู่ในรถและร้องขอให้ซาลันเดอร์ช่วย แต่เธอเลือกที่จะยืนดูเขาระเบิดและไฟคลอกตาย การเพิ่มฉากความทรมานในวาระสุดท้ายของมาร์ตินนี้อาจมีผู้มองว่าเป็นการเพิ่มความรุนแรงในภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงมากอยู่แล้วโดยไม่จำเป็น แต่ถ้ามองโดยนำประเด็นเรื่องความสมดุลในการแก้แค้นมาเกี่ยวข้อง ฉากดังกล่าวถูกเพิ่มเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ใบหน้าทุกข์ทรมานของมาร์ตินที่ติดอยู่ใต้ซากรถไม่เพียงสอดคล้องกับใบหน้าบลูมควิสต์ขณะถูกมาร์ตินรัดคอ ทว่ายังเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หลังจากนั้น ภายหลังซาลันเดอร์กลับมาหาบลูมควิสต์ที่ห้องใต้ดินบ้านมาร์ติน ทั้งคู่พบรูปถ่ายใบหน้าของศพผู้หญิงจำนวนหลายสิบคนที่เคยเผชิญชะตากรรมเลวร้ายในห้องเดียวกันนี้ หากว่ามาร์ตินเสียชีวิตในทันทีจากอุบัติเหตุรถยนต์ ผู้ชมอาจไม่รู้สึกว่าความตายของเขาเป็นการแก้แค้นที่สาสมกับความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ที่เขาก่อไว้กับผู้หญิงเหล่านั้น
 
ภาคต่อมา The Girl Who Played with Fire อาจไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการนำเสนอความสะใจจากการแก้แค้นอย่างสาสมของตัวละครเอกเท่าไร เพราะเนื้อเรื่องในภาคนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะเรื่องที่จบในตัวเอง ทว่าเป็นทางผ่านสู่ภาคถัดไป แต่กระนั้นก็มีคู่เปรียบเทียบซึ่งน่านำมากล่าวถึง นั่นคือแม่และพ่อของซาลันเดอร์ ในตอนต้น ซาลันเดอร์ไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นผู้ป่วย แม่เธอขยับร่างกายและพูดจาได้ค่อนข้างลำบาก อันเป็นผลจากการโดนสามีทำร้ายจนถึงขั้นพิการ ภายหลัง ในฉากไคลแม็กซ์ประจำเรื่อง ซาลันเดอร์ได้พบหน้าพ่ออีกครั้ง ซาลา (เกออร์กี สเตย์คอฟ) เป็นชายสูงอายุที่ถูกไฟคลอกจนรูปร่างหน้าตาพิกลพิการ เดินเหินไม่ถนัด ผู้ชมที่ติดตามเรื่องมาแต่ต้นจะทราบว่าการที่ซาลาต้องอยู่ในสภาพน่าเวทนาเช่นนี้เป็นผลจากการแก้แค้นที่ลิสเบธในวัยเด็กกระทำแทนแม่ อย่างไรก็ดี ซาลาจะยังมีชีวิตอยู่จนจบภาค แม้จะโดนลิสเบธทำร้ายจนปางตาย ผู้จบชีวิตซาลาที่หลงคิดว่าตนอยู่ยงคงกระพันในภาคสุดท้ายคือสมาชิกองค์กรเซ็กชัน องค์กรเดียวกับที่คอยปิดบังร่องรอยอาชญากรรมให้เขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
 
The Girl Who Kicked the Hornets' Nest ปิดฉากมหากาพย์การแก้แค้นของลิสเบธ ซาลันเดอร์ ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากสองภาคก่อน เนื้อเรื่องไม่ค่อยมีการปะทะกันโดยตรง เน้นไปที่การตัดสินคดีความของซาลันเดอร์มากกว่า การแก้แค้นในภาคนี้จึงเกิดขึ้นภายหลังอันนิกา จานนินี (อันนิกา ฮัลลิน) น้องสาวบลูมควิสต์ซึ่งรับเป็นทนายว่าความให้ซาลันเดอร์ นำเสนอคลิปเหตุการณ์ขณะบีเยอร์มันข่มขืนซาลันเดอร์และหลักฐานการปลอมแปลงเอกสารของนายแพทย์เทเลบอเรียนในชั้นศาล ทำให้ความรู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่องค่อยๆ จางหายไปจากใบหน้าของเทเลบอเรียน (อันเดอร์ส อาห์ลโบม) กับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรเซ็กชัน ก่อนจะกลายเป็นซีดเผือดเมื่อถูกตำรวจเข้าควบคุมตัวทีละคนๆ
 
อีกหนึ่งปกที่สื่ออารมณ์เรื่องได้ดีมากๆ 
 
จุดที่น่าสนใจคือการนำเสนอภาพการแก้แค้นโรนัลด์ นีเดอร์มันน์ (มิคเก สไปรทซ์) พี่ชายต่างแม่ของซาลันเดอร์ผู้เคยเป็นมือสังหารให้ซาลา และระหว่างหลบหนีตำรวจภายหลังซาลากับซาลันเดอร์เข้าโรงพยาบาลก็ฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปหลายคน นีเดอร์มันน์เป็นชายร่างยักษ์ที่ร่างกายไม่รับรู้ความเจ็บปวดใดๆ การโดนทำร้ายร่างกายโดยตรงจึงไม่อาจสร้างความทุกข์ทรมานให้ตัวละครตัวนี้ ซาลันเดอร์รับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เมื่อเผชิญหน้ากับนีเดอร์มันน์ ซาลันเดอร์จึงไม่เลือกหาวิธีปลิดชีวิตพี่ชายร่างยักษ์โดยไว แต่ทำให้เขาเผชิญความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับความสิ้นหวังก่อนตายมากที่สุด เธอใช้ปืนยิงน็อตที่หาได้ในบริเวณใกล้เคียงตอกตรึงเท้านีเดอร์มันน์ไว้กับพื้นเหล็ก ก่อนโทรศัพท์เรียกแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นโจทก์เก่าของเขาให้มาตามฆ่าเขา ภาพสุดท้ายของตัวละครนี้ที่ผู้ชมได้เห็นคือ เขาพยายามกระเสือกระสนดึงเท้าซึ่งโดนตรึงแน่นออกจากพื้น ขณะที่สมาชิกแก๊งมอเตอร์ไซค์ตั้งท่าจะเดินเข้าไปสังหารเขา ภารกิจการแก้แค้นของซาลันเดอร์ยุติลงเมื่อมีข่าวว่านีเดอร์มันน์โดนฆ่าเป็นที่เรียบร้อย เปิดโอกาสให้เธอซึ่งในตอนนี้เป็นบุคคลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์พร้อมเริ่มชีวิตใหม่อันสดใส พร้อมกันนั้นจิตใจคนดูก็สดใสเมื่อได้สัมผัสความสะใจจากการที่ตัวร้ายตัวสุดท้ายได้รับผลกรรมอย่างสาสม
 
ประเด็นการแก้แค้นอย่างสาสมและการสร้างความสะใจเป็นสิ่งหนึ่งที่หายไปจากภาพยนตร์ดัดแปลงฉบับอเมริกัน (2011) ผลงานการกำกับของเดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) The Girl with the Dragon Tattoo ฉบับฮอลลีวูด ขับเน้นความเป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญ (thriller) ตามขนบสื่อบันเทิงร่วมสมัยด้วยการดำเนินเรื่องรวดเร็ว โฉบเฉี่ยว ชวนตื่นเต้น แต่นำเสนอภาพตัวละครขาดหรือเกินเล็กน้อย ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดคือทนายบีเยอร์มัน (โยริก ฟาน วาเกอนิงเงิน) ซึ่งทำทารุณกรรมทางเพศต่อซาลันเดอร์อย่างรุนแรงและพิถีพิถันเสียยิ่งกว่าในฉบับสวีดิช แต่ภาพยนตร์กลับเปิดโอกาสให้คนดูมองเห็นด้านอ่อนโยนของเขา เป็นต้นว่าแสดงให้เห็นรูปถ่ายครอบครัวบนโต๊ะทำงานของเขา ราวกับผู้กำกับพยายามกระซิบบอกผู้ชมว่าอย่าเพิ่งตัดสินตัวละครตัวนี้ว่าเลวไร้ที่ติ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วไม่มีใครเลวโดยสันดาน (อันเป็นประเด็นที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดในช่วงศตวรรษนิยมนำเสนอ โดยเฉพาะการนำตัวร้ายในภาพยนตร์และวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่) แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กน้อย แต่จุดนี้อาจส่งผลให้ผู้ชมบางส่วนนึกเห็นอกเห็นใจบีเยอร์มัน แทนที่จะมองว่าการกระทำของลิสเบธเป็นการแก้แค้นอันชอบธรรม อีกทั้งยังทำให้บีเยอร์มันดูน่าสงสารมากกว่าน่ารังเกียจเมื่อลิสเบธตามมาขู่เขาถึงบ้านไม่ให้ลบรอยสักบนหน้าท้อง (ฉากนี้จริงๆ เป็นส่วนหนึ่งของนวนิยายเล่มที่สอง ซึ่งภาพยนตร์ฉบับสวีดิชยึดถือตามหนังสือ) ในทางกลับกัน พอถึงคราวตัวร้ายประจำภาคอย่างมาร์ติน วังเงอร์ (สเตลลัน สการ์สกอร์ด) ภาพยนตร์กลับนำเสนอในฐานะคนชั่วร้ายไร้ทางเยียวยา มิใช้เหยื่อจากการบ่มเพาะวิปริตของผู้เป็นพ่อ (ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย ถ้าหากภาพยนตร์ต้องการนำเสนอตัวร้ายที่มีความซับซ้อน) มาร์ตินในฉบับนี้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตายคาที่ระหว่างหนีซาลันเดอร์ มิหนำซ้ำก่อนซาลันเดอร์ขับมอเตอร์ไซค์ไล่ตาม บลูมควิสต์ (แดเนียล เครก) ยังบอกให้ซาลันเดอร์ฆ่ามาร์ตินเสียอีก แทนที่จะเป็นเรื่องการแก้แค้นอย่างสาสม สารจากภาพยนตร์ฉบับอเมริกันเลยกลายเป็นว่า "เป็นเรื่องชอบธรรมแล้วที่จะกำจัดคนชั่วโดยไม่ลังเล" (ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาพยนตร์อเมริกันร่วมสมัยโดยรวม ก็เป็นสารซึ่งหาได้ไม่ยาก)
 
ถึงที่สุดแล้ว แม้นวนิยายไตรภาคของสตีก ลาร์สัน ตลอดจนภาพยนตร์ฉบับสวีดิชซึ่งดัดแปลงจากนิยายชุดดังกล่าว จะบอกว่าการแก้แค้นเอาคืนแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เป็นเรื่องชอบธรรม ถึงกระนั้นก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องดีหรือสมควรทำ ดังเห็นได้จากการแก้แค้นของซาลันเดอร์ แม้จะเป็นการกระทำซึ่งสาสมทั้งในรูปแบบและระดับความรุนแรง แต่ก็ทำให้เกิดวงจรการแก้แค้นต่อไปไม่จบสิ้น โดยเฉพาะผู้เป็นเป้าหมายการแก้แค้นมิได้สำนึกผิดและคิดว่าตนสมควรโดนกระทำเช่นนั้น (น่าเศร้าที่ตัวร้ายเกือบทั้งหมดในไตรภาค Millennium เป็นคนประเภทนี้) การลงมือแก้แค้นซาลาและนีเดอร์มันทำให้ซาลันเดอร์ยิ่งเข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งสองคนนี้มากขึ้น นอกจากนั้น แม้จะพึงพอใจกับการแก้แค้นที่กระทำลงไป แต่ลึกๆ ในใจ ซาลันเดอร์ก็อดรู้สึกผิดไม่ได้ เธอจึงมักฝันร้ายถึงเหตุการณ์ขณะราดน้ำมันและจุดไฟเผาซาลา ดังนั้นเมื่อได้รับความสะใจจากการชมซาลันเดอร์แก้แค้นผู้ทำร้ายตน ผู้อ่านผู้ชมก็ควรตระหนักถึงข้อความที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดและแผ่นฟิล์ม นั่นคือ "การแก้แค้นอย่างสาสมทุกครั้งมีความเสี่ยง ผู้ลงมือโปรดพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจแก้แค้น"
 
นอกจากนั้น หากมองจากมุมพุทธศาสนา ซึ่งมีคำสอนสำคัญข้อหนึ่งคือ "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" ไตรภาค Millennium อาจเป็นวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายผิดศีลธรรม ชักจูงคนให้หลงผิด แต่ขอให้พึงระลึกว่า Millennium ไม่ว่าจะนวนิยายหรือภาพยนตร์ก็คืองานศิลปะ และหลายต่อหลายครั้ง ผู้คนสรรค์สร้างงานศิลปะขึ้นเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายหรือสูญเสียไปในชีวิตจริง สำหรับลาร์สัน ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับคนทุกคนคือสิ่งที่ขาดหายไปในสังคม การลงมือแก้แค้นผู้กระทำผิดที่หลุดรอดระบบกฎหมายไปได้จึงสมควรเข้ามาแทนที่ แนวคิดของลาร์สันไม่ใช่ของใหม่ ผู้คนสร้าง "ความยุติธรรมเชิงกวีศิลป์" (poetic justice) ขึ้นเพื่อถ่ายทอดจินตนาการว่าด้วยความยุติธรรมที่แท้จริง เพื่อปลอบประโลมใจว่าถึงที่สุดแล้วคนดีต้องได้รับผลดี คนชั่วต้องได้รับกรรมชั่ว มันได้รับการถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าหลายร้อยหลายพันเรื่องตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ สมัยก่อนคือเรื่องของพระเจ้า เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะปรากฏมาลงโทษคนเลว ให้พรคนดี สมัยนี้คือเรื่องของยอดมนุษย์ผู้ผดุงคุณธรรมแทนระบบความยุติธรรมอันล่าช้า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อปลุกระดมให้ผู้คนเลิกศรัทธากฎหมายบ้านเมือง และหันมาทวงความเป็นธรรมให้ตัวเอง แต่เพื่อย้ำเตือนว่า ความยุติธรรมยังมีอยู่เสมอ ขอจงอดทนเข้าไว้
 
แม้อาจต้องรอคอยนานนับสหัสวรรษ (millennium) ก็ตาม
 
***บทวิจารณ์หนังสือมิลเลนเนี่ยม ได้รับการอนุญาตจาก "ภูมิ น้ำวล" เจ้าของบทวิจารณ์ ให้นำมาลงในหมวดวิจารณ์หนังสือของเว็บเด็กดี ผู้ใดที่สนใจ อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ค่ะ กดไลค์ให้เจ้าของบทความคนละไลค์นะคะ เขาจะได้ชื่นใจ ^ ^ 
 


พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น