วิจารณ์หนังสือ : มิโคชิบะ กาคุโตะ กับความน่าจะเป็นของเจตนาฆาตกรรม


วิจารณ์หนังสือ : มิโคชิบะ กาคุโตะ
กับความน่าจะเป็นของเจตนาฆาตกรรม


 
สวัสดีค่ะชาวไรเตอร์ทุกคน! มาพบกับพี่น้ำผึ้งอีกแล้วนะคะ ในวันนี้พี่ก็มาพร้อมกับหนังสือดีๆ ที่น่าอ่านค่ะ โดยไอ้เจ้าหนังสือที่พี่เลือกมาเนี่ยเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆ เลยนะคะ และพี่ก็เชื่อว่าใครที่กำลังเกลียดคณิตศาสตร์อยู่ อาจจะหันมาเปลี่ยนใจชอบมันก็ได้น้า อ๊ะๆ รู้นะว่าน้องๆ อยากรู้ล่ะสิว่าจะเป็นเรื่องอะไร ถ้าอย่างนั้น ตามมาเลยค่า ^^

 

(เครดิตภาพ : https://goo.gl/s3F1ss)

 

มิโคชิบะ กาคุโตะ
กับความน่าจะเป็นของเจตนาฆาตกรรม

คามินากะ มานาบุ เขียน สำนักพิมพ์ Enter Books
 
พอเห็นชื่อเรื่อง น้องๆ ก็อาจจะแบบ... ชื่อดูมีความเป็นคณิตศาสตร์จัง งั้นไม่อ่านละ วางดีกว่า แต่ช้าก่อนค่ะน้อง อย่าเพิ่งวางทิ้ง วางกอง วางโง่ๆ อยู่บนหิ้งสิ เดี๋ยวหนังสือเสียใจน้า ลองหยิบมาเปิดอ่านก่อน แล้วจะรู้ว่าคณิตศาสตร์ไม่ได้ไร้ประโยชน์อย่างที่คิดนะคะ
 
สำหรับนิยายเรื่องมิโคชิบะ กาคุโตะเนี่ยเป็นผลงานจากปลายปากกาของอาจารย์คามินากะ มานาบุ นักเขียนนวนิยายสืบสวนแนววิญญาณชื่อดังอย่าง “ยาคุโมะ” ที่พี่น้ำผึ้งเคยทำบทความวิจารณ์หนังสือไว้แล้ว ใครสนใจ จิ้ม เลยค่ะ
 
นอกจากจะเป็นนิยายแล้ว ยังมีแบบการ์ตูนด้วยนะคะ สำหรับหนังสือเวอร์ชั่นภาษาไทยก็จะถูกตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ NED ค่ะ ซึ่งมีทั้งหมดสามเล่ม ชื่อว่า "สืบคณิตพิชิตคดี"

 
หน้าปกการ์ตูนเรื่องมิโคชิบะค่ะ

 

คำโปรยหลังปก

โทโมกิไปมีเรื่องกับตำรวจรุ่นพี่ เธอจึงถูกสั่งพักราชการและโดนย้ายไป "ฝ่ายสืบสวนพิเศษ" ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ทว่าแค่วันแรกของการทำงาน ตำรวจสาวก็พบเรื่องไม่คาดฝัน เพราะนอกจากเธอจะได้เจอชายเจ้าของฉายา "กนโนะผู้เปิดปากคนร้าย" ที่ว่ากันว่าเป็นมือหนึ่งเรื่องการสอบปากคำแล้ว เพื่อนร่วมงานของเธออีกคนยังเป็นถึง... นักคณิตศาสตร์?
 
เอ๊ะ แล้วนักคณิตศาสตร์มาเกี่ยวอะไรกับการทำงานของตำรวจ การอนุมานแบบเบย์ สมมติฐานรูปวงกลม อะไรพวกนั้นน่ะหรือจะช่วยพิสูจน์ความจริงได้!

 

โทโมกิและมิโคชิบะ
 

ตัวละคร


มิโคชิบะ กาคุโตะ
รองศาสตราจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมเซย์ นักคณิตศาสตร์ที่โทโมโกะนิยามว่าแปลกเหลือเกิน ชอบกินลูกอมจูปาจุ๊บและรักแมวเป็นชีวิตจิตใจ อ้อ... แล้วก็ยังเป็นอาจารย์ของยาคุโมะคุงด้วยค่ะ
 
นีสึมะ โทโมกิ
นางเอกของเรื่องค่ะ เธอเป็นตำรวจสืบสวนที่รักความยุติธรรมสุดๆ เธอไม่เห็นด้วยกับการที่ตำรวจยศสูงบังคับให้ผู้ต้องหาลงชื่อรับสารภาพทั้งๆ ที่ไม่เปิดปากพูดอะไรเลย เลยทำให้เธอปะทะกับนายตำรวจผู้นั้น ก่อนจะถูกย้ายมาทำงานใน “ฝ่ายสืบสวนพิเศษ” และเจอเข้ากับมิโคชิบะคุงนั่นเองค่ะ แล้วก็มิโคชิบะคุงนี่แหละที่ตั้งฉายาให้เธอว่าเป็น "สาวเจ้าจอมอคติ"

 

ความรู้สึกก่อนอ่าน

ด้วยความที่พี่เป็นนักศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ มันก็เลยทำให้พี่ค่อนข้างสนใจนิยายเรื่องนี้ค่ะ คิดว่าเออ... ดีนะๆ มีการนำคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ด้วย อีกทั้งผู้เขียนยังเป็นคนเดียวกับที่เขียนเรื่องยาคุโมะด้วยค่ะ เลยทำให้พี่ตกลงปลงใจสอยหนังสือเล่มนี้มาเลย
 


มิโคชิบะคุงกำลังเล่นหมากรุกกับยาคุจังพอดี
 

ความรู้สึกหลังอ่าน

อ่านแล้วชอบมิโคชิบะเลยค่ะ คนอะไร น่ารักน่าเอ็นดูเหลือเกิน ผู้เขียนถ่ายทอดความเป็นนักคณิตศาสตร์ได้ดีเหลือเกิน แต่แหม... นักคณิตศาสตร์ก็ไม่ได้แปลกขนาดนั้นนะคะคุณ ฮ่าๆ
 
งั้นเรามาเริ่มต้นด้วยเรื่องของตัวละครในการดำเนินเรื่องก่อนดีกว่าค่ะ แม้ว่าชื่อเรื่องจะเป็นชื่อพระเอกอย่าง “มิโคชิบะ” ทว่าตัวละครที่แท้จริงในการเดินเรื่องกลับเป็นตำรวจสาวผู้เป็นนางเอกของเรื่องอย่าง “โทโมกิ” ซะอย่างนั้น แน่นอนว่ามันคือสไตล์การเขียนของ “คามานิกะ มานาบุ” ที่มักให้ตัวละครผู้หญิงรับบทดำเนินเรื่อง
 
สำหรับในเรื่องนี้จะค่อนข้างคนละแนวจากยาคุโมะ อาจเป็นเพราะ
 
  • ยาคุโมะนั้นมีเรื่องราวของวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนมิโคชิบะนั้นจะเน้นหลักทางวิทยาศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งที่สามารถพิสูจน์และจับต้องได้ค่ะ
  • ยาคุโมะจะเน้นประเด็นเกี่ยวกับการสืบหาคนร้าย ส่วนมิโคชิบะจะเน้นประเด็นการสอบสวนผู้ต้องสงสัย
     
และด้วยความที่เน้นประเด็นการสอบสวนแล้วนั้น ก็เลยทำให้มีการบรรยายความคิดของตัวน้อยไปหน่อย เพราะจะเน้นไปที่บทสนทนาและการโต้เถียงเสียมากกว่า ดังนั้นเวลาอ่านอาจจำเป็นต้องใช้สมาธินิดนึง เพราะไม่งั้นก็อาจจะงงได้ว่าใครกันที่กำลังพูดประโยคนี้อยู่
 
ต่อมาเราจะพูดถึงกันในส่วนของประเด็นต่างๆ ในนิยายนะคะ
 

บทลงโทษของสังคม

แท้จริงแล้วสาเหตุที่มิโคชิบะเป็นนักคณิตศาสตร์เพราะมีพ่อเป็นไอดอล น่าเสียดายที่พ่อเขาฆ่าตัวตายเพราะถูกจับเป็น “ผู้ต้องหา” แม้ไม่มีความผิด แต่สังคมรอบข้างก็ตัดสินโทษไปแล้ว ทำให้พ่อของเขา “ฆ่าตัวตาย” นั่นเลยทำให้เขามุ่งมั่นที่จะหาวิธีพิสูจน์ว่าพ่อของตนบริสุทธิ์จริงๆ ก็เลยยอมมาช่วยเหลืองานราชการนั่นเอง
 
อย่าว่าแต่ในสังคมญี่ปุ่นเลยค่ะ สังคมไทยเองก็เป็น มีหลายครั้งนะคะที่เราอาจทำผิดหรือไม่ได้ทำผิดแต่ถูกใส่ร้าย แต่เมื่อถูกตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้ว สังคมหรือคนรอบข้างก็จะมองว่าเรายังคงเป็นผู้กระทำผิดอยู่ แม้ในความเป็นจริงเขาจะกลับตัวกลับใจ หรือไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ตาม
 

หน้าปกนิยายเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นค่ะ

 

ตัดสินทุกอย่างด้วยสัญชาตญาณ

ในหนังสือเรื่องนี้เล่าไว้ว่า แนวทางการสืบสวนของตำรวจมักเกิดจากสัญชาตญาณ หรือประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงของคดีนี้ ดังนั้นถ้าหากมีการนำการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการสืบสวนเช่น ความน่าจะเป็นหรือทฤษฎีเกม เปอร์เซ็นต์ที่จับคนร้ายผิดตัวก็จะลดน้อยลงค่ะ
 
ซึ่งพี่ค่อนข้างเห็นด้วยนะคะ เพราะว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยเหตุและผล ทำให้เรามองทุกอย่างได้เป็นระเบียบ ไม่เชื่อในสัญชาตญาณของเรา หรือไม่เชื่อในคำพูดเพียงไม่กี่คำโดยปราศจากน้ำหนัก เราจำเป็นต้องพิสูจน์ (Proof) ว่าเป็นจริงก่อนเท่านั้นถึงจะเชื่อได้ค่ะ พี่คิดว่าถ้าเอาคณิตมาช่วยในการสืบสวนจริง คงดีไม่น้อยเลยค่ะ ^^
 

คณิตศาสตร์กับการนำมาใช้

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าสนใจเรื่องนี้เพราะมันมีเลขมาข้องเกี่ยว ในตอนแรกพี่ก็เลยตั้งความหวังไว้เลยว่าความเป็นคณิตมันต้องหรูหราเวอร์วังอลังการแน่ๆ แต่พอได้มาอ่านเองจริงๆ ก็รู้สึกว่าบางทีการอ่านหนังสือโดยไม่คาดหวังอะไรน่าจะเป็นการดีที่สุดค่ะ ฮะๆ ไม่ค่อยประทับใจในส่วนของคณิตศาสตร์สักเท่าไร เพราะรู้สึกว่ามันยังดูน้อยไป ฮ่าๆ

แต่อย่างไรก็ตาม คณิตศาสตร์ที่กล่าวถึงในนิยายเรื่องนี้นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเราค่ะ โดยหัวข้อหลักๆ ที่พูดถึงก็จะเป็นเรื่องของทฤษฎีความน่าจะเป็นแบบเบย์ และทฤษฎีเกมค่ะ หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไรกันนะ วันนี้พี่เลยแอบนำมาขยายความเบาๆ ค่ะ
 

Bayes' Theorem ทฤษฎีของเบย์

ถ้าพูดถึงเรื่องของความน่าจะเป็นแล้วจะไม่พูดกฎของเบย์ก็ไม่ได้เลยนะคะ เพราะไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีความน่าจะเป็น สถิติ การอนุมาน ปัญญาประดิษฐ์หรือแม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ ก็มักจะมีไอ้เจ้าเบย์โผล่มาตลอดเลย ซึ่งทฤษฎีของเบย์เนี่ยมาจากนักคณิตศาสตร์ชื่อ “โทมัส เบย์” ที่เสนอทฤษฎีนี้เป็นคนแรก แต่มาโด่งดังเพราะลาปลาซได้นำมาใช้ทำนายมวลของดาวเสาร์ค่ะ น่าเสียดายที่ถ้าเขามีชีวิตอยู่ไปอีก 150 ปีก็คงจะรู้ว่าเขานั้นทำนายได้ถูกต้อง

พูดให้ง่ายก็คือทฤษฎีของเบย์นั้นแปลความหมายของ “ความน่าจะเป็น” เป็น “ความเชื่อมั่นส่วนบุคคลในเหตุการณ์หนึ่งๆ” ส่วนในโลกของคณิตศาสตร์ เราหาค่าความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเกิดหรือไม่โดยพิจารณาน้ำหนักของเหตุการณ์นั้นๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าโยนเหรียญก็มีโอกาสที่จะเกิดหัวหรือก้อยเท่านั้น โดยน้ำหนักของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีค่าเป็น 0 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่จะมีค่าเป็น 1

และน้ำหนักของเหตุการณ์ใดๆ จะมีค่าเป็นตัวเลขเต็มบวกในระบบจำนวนจริงที่อยู่ระหว่าง 0 กับ 1 นั่นแสดงถึงค่าของน้ำหนัก หรืออีกนัยนึงก็คือโอกาสที่เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เราเรียกว่า “ค่าของความน่าจะเป็น”
 



มิโคชิบะกำลังอธิบายกฏของเบย์อยู่พอดีเลย
 

ซึ่งสำหรับในนิยายเรื่องนี้ก็นับว่าทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพราะชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าเออ... มันเอามาใช้ได้จริงๆ ในการสอบสวนนะ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง ลองแอบไปตามอ่านได้เลยนะคะ
 

Game Theory ทฤษฎีเกม

หนึ่งในศาสตร์ด้านคณิตที่มีประโยชน์มาก ไม่เพียงแต่ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกของเศรษฐศาสตร์ แต่ยังนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ ในโลกของคณิตศาสตร์นั้น ทฤษฎีเกมเป็นการจำลองสถานการณ์การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ความสำเร็จในการตัดสินใจของแต่ละคนขึ้นขึ้นอยู่กับทางเลือกของคู่ตรงข้าม (หรือคนอื่นๆ) โดยแต่ละฝ่ายต่างก็พยายามเลือกทางเลือกอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนมากที่สุด โดยธีมหลักของนิยายเรื่องนี้เลยคือการที่พระเอกของเรานำทฤษฎีเกมมาใช้ (กดดัน) กับผู้ต้องหานั่นเองค่ะ 
 

ตัวอย่างของการนำทฤษฎีเกมมาใช้ในการสืบสวนค่ะ
 

นับว่าเป็นนิยายอีกเรื่องนึงนะคะที่มีการนำเสนอคณิตศาสตร์ในรูปแบบที่น่าสนใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดความยุ่งยากหรือปวดหัวตอนอ่าน เพราะผู้เขียนได้หยิบยกประเด็นคณิตศาสตร์มาเพียงแค่บางส่วน เชื่อว่าผู้อ่านอาจต้องทึ่งแล้วเผลออุทานออกมาว่า “นี่คณิตศาสตร์มีประโยชน์ถึงขนาดนี้เชียวเหรอ” ก็ได้นะคะ ถ้ายังไงใครแวะไปงานหนังสือครั้งนี้แล้วล่ะก็ ลองสอยมิโคชิบะคุงกลับไปอ่านก็ได้นะคะ แล้วคุณจะรัก (นัก) คณิตศาสตร์มากขึ้นค่ะ ส่วนครั้งหน้าจะแนะนำหนังสือเล่มไหนนั้น อย่าลืมติดตามค่ะ ^^

พี่น้ำผึ้ง :)


 

ขอบคุณรูปภาพจาก 
https://www.tumblr.com/search/kakuritsu-sousakan-mikoshiba-gakuto

Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
So_Creepy Member 11 เม.ย. 59 20:15 น. 2

ผมชอบเรื่องนี้มากเลยครับ มิโคชิบะถึงจะแปลกไปหน่อย แต่หล่อมากตอนที่ช่อวยปลอบใจโทโมกิตอนนึถึงพ่อของนาง  อันที่จริงเขาก็มีคาเรคเตอร์อะไรคล้าย ๆ กับบุคคลอัจฉริยะทั่ว ๆ ไปนั่นแหละครับ นั่นก็คือ "หลุดโลก" = = .... 

และก็ขอบคุณที่ช่วยรีวิวนะครับ กระตุ้นให้รู้สึกอยากอ่านอีกแล้ว 555 --- 

เขิลจุง

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด