การจัดเตรียม จัดหา
ลิ้นชักความทรงจำของนักเขียน 

 

โดย ประดับเกียรติ ตุมประธาน (บก. โป่ง)
 
จริงอยู่ที่ว่าการอ่านหนังสือหรือนวนิยายในแนวที่คุณสนใจจะเขียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าลิ้นชักความทรงจำมีแค่เรื่องเฉพาะเจาะจงเหล่านั้น มันคงยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการเขียนเรื่องให้ดีเยี่ยมแน่ๆ เหมือนกับคนเราเมื่อลืมตาดูโลกและเรียนรู้โลก เราอาจมีเรื่องที่เราสนใจเป็นพิเศษ มุ่งมั่นที่จะค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้นจนแตกฉาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องอื่นๆ ในชีวิตนอกเหนือจากสิ่งที่เราสนใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้งานของเรานั้นประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม
 
ดังนั้นเมื่อเราเลือกจะเป็นนักเขียน เราอาจจะต้องหาตัวช่วยเพื่อเพิ่ม 'ของ' ในลิ้นชักความทรงจำให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจต้องหยุดการเขียนไปเสียดื้อ ๆ เพราะไม่มีองค์ความรู้หรือแรงอื่น ๆ คอยผลักดัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นนักเขียนที่โดนเรียกว่า 'ร้อยเรื่องทำนองเดียว / เรื่องเดียวกันทุกเล่ม แค่เปลี่ยนชื่อเรื่องและชื่อตัวละคร' ถึงเราจะออกตัวว่าหมุนพลอตแล้วก็ตาม (หากทางเด็กดีจัดพื้นที่การเขียนให้เพิ่มเติม - ผมจะอธิบายว่าการหมุนพล็อตเขาทำกันอย่างไร เพื่อให้ผลงานนักเขียนในแต่ละคนมีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ)

การทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับทำให้ผมเจอเป็นประจำครับ การใช้ของซ้ำซากของนักเขียนคนเดียวกัน เพราะนักเขียนหลายคนละเลยหรือมองข้าม บางครั้งเมื่อเตือนไปก็เถียงกลับเป็นคุ้งเป็นแคว ผมเลยต้องใช้วิธีการให้เขากลับไปอ่านนวนิยายของเขาเอง โดยอ่านหลายเรื่องติดกันในช่วงเวลาต่อเนื่อง (หลังจากข่มความฝากลูกมือเข้าร่างสักสามนัดกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใส่ผม) ซึ่งพอเขากลับไปอ่าน เขาจะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าได้ทำอะไรลงไป

แต่ก็ยังมีบางคนที่ให้อภัยตัวเองง่ายๆ โดยกลับมาพูดกับผมว่านักอ่านคงไม่สังเกตหรอก ซึ่งผมก็ค้านกลับไปว่า เราจะดูถูกนักอ่านไม่ได้เด็ดขาด นักอ่านฉลาดมาก ยิ่งถ้าเขาอ่านนวนิยายของเราเล่มใดเล่มหนึ่งแล้วติดใจ วิ่งไปหาซื้อเล่มอื่น ๆ มาอ่านรวดเดียวและเจอเข้ากับข้อผิดพลาดนั้น หายนะจะมาเยือนเราทันที แถมเป็นหายนะที่เราไม่มีโอกาสแก้ตัวหรืออธิบายให้เขาฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วย


(คำเตือน เขียนติดฝาผนังบ้านไว้เตือนใจเลยนะครับ)

 
นักอ่านส่วนใหญ่พิจารณาผลงานนวนิยายของเราจากเล่มล่าสุดที่เขาอ่านจบ ต่อให้เราทำดีไว้มากมายแค่ไหน การจะซื้อเล่มใหม่ในครั้งต่อไปของเขาอาจจะพิจารณานานขึ้น หรือจากลาเราเด็ดขาดเลยก็ย่อมได้ ในเมื่อวันนี้มีนักเขียนและนวนิยายเกิดขึ้นมากมายรอให้เขาเลือกซื้อเลือกหาได้ตามใจ

 

 

ขอแนะนำสิ่งที่ควรอ่านเพิ่มนอกจากแนวที่โปรด

1. ตำราสอนเขียนนิยายและความรู้ในด้านการเขียน

แม้ผมจะให้ความสำคัญกับการอ่านแนวที่นักเขียนต้องการเขียนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่การอ่านสิ่งอื่น ๆ ก็ยังมีความสำคัญอยู่ดี โดยเฉพาะตำราการเขียนนวนิยาย ซึ่งในเมืองไทยมีการจัดพิมพ์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
 
เล่มที่โดดเด่นและมีคนพูดถึงในวงกว้าง ได้แก่… เขียนนิยาย (รตชา เขียน) โรงเรียนนักเขียน (เพลินตา รวบรวมและเรียบเรียง) เขียนนิยายให้ขายดี (สตีเฟ่น คิง เขียน) 100 คำถามสร้างนักเขียนนวนิยาย (ฟิลิปดา เขียน) เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งผมเคยเห็นผ่านตาบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาสศึกษาอย่างจริงจัง
 
หนังสือเขียนนวนิยายเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำเสนอออกมาค่อนข้างเป็นวิชาการที่อ่านง่าย เนื้อหาครอบคลุมการเขียนทั้งหมด เรียกว่าเล่นกันเป็นลำดับขั้นเลย และบางเล่มก็มีการหยิบยกวิธีการทำงาน หรือมุมมองของนักเขียนในต่างประเทศแทรกไว้ให้อ่านด้วย
 
การอ่านหนังสือพวกนี้มันดีตรงที่เราจะมีแนวทางการเขียน รู้ว่าองค์ประกอบหรือสิ่งสำคัญของนวนิยายคืออะไร ทำให้เราสามารถเขียนนิยายได้อย่างมีแบบแผนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันหลายคนอ่านแล้วอาจทำให้รู้สึกเกร็ง เขียนไม่ออก นั่นเป็นเพราะกลัวว่าจะเขียนผิดไปจากที่หนังสือบอกไว้นั่นเอง
 
ข้อแนะนำสำหรับการอ่าน คือ อ่านแล้วให้ทำเป็นลืมไปเสีย แล้วเขียนไปแบบสบายๆ ความรู้ที่เราอ่านมันจะถูกนำมาใช้โดยไม่รู้ตัวเอง รับรองว่าไม่สูญเปล่าแน่นอน
 

2. หนังสืออ่านเสริมที่ใกล้เคียงกับแนวงานที่เขียน
หรือสารานุกรมต่างๆ

สารานุกรมหรือหนังสือพวกนี้จะมีการรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้เป็นหัวข้อ หมวดหมู่ อย่างเช่นผู้ที่สนใจงานเขียนแฟนตาซี อาจนำหนังสือพวกนี้มาเก็บเอาไว้เป็นเสบียงติดตัว หิวขึ้นมาแล้วไม่รู้จะหาอะไรกินดี ก็สามารถหยิบมากินได้ทันที (กินในที่นี้ก็คืออ่านนะครับ เดี๋ยวจะคิดว่าผมแนะนำให้กินหนังสือ) 
 
ยกตัวอย่างหนังสือสารานุกรมหรือความรู้ที่ใกล้เคียงงานเขียนแฟนตาซี เช่น มังกรศาสตร์ (อมรินทร์จัดพิมพ์-แปล) คัมภีร์พ่อมด (อมรินทร์จัดพิมพ์-แปล) หิมพานต์ (ส.พลอยน้อย เขียน) ตำนานกรีกโรมัน (มาลัย - จุฑารัตน์ เขียน / ผมเป็นบรรณาธิการ) ตำนานไวกิ้ง ตำนานอียิปต์โบราณ เป็นต้น
 
หรือถ้าให้ดีขอแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกรายปีของนิตยสารต่วยตูน เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคด้วยจะดีมาก เพราะจะมีการนำเรื่องราวต่างๆ มานำเสนอให้เราได้ทราบอย่างคาดไม่ถึง
 

3. หมวดหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ

จากประสบการณ์ ผมพบว่ากลุ่มหนังสือเหล่านี้ นักเขียนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม ทั้งที่นวนิยายคือละครของสิ่งมีชีวิต ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเขียนงานได้ดีมากและหาทางออกหรือการตัดสินใจให้ตัวละครได้ดี  หนังสือกลุ่มนี้จะเป็นหนังสือหมวดจิตวิทยา ธรรมะ หรือสารคดีเสียเป็นส่วนใหญ่ 

แต่เล่มที่ผมชอบมากสุดมีชื่อว่า จริต 6 ศาสตร์ในการอ่านใจคน (ซึ่งน่าจะยังหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป)


4. หมวดหนังสือที่ช่วยให้เข้าใจการใช้คำ ใช้ความหมายของคำและประโยค

อย่างเช่น พจนานุกรมศัพท์ฉบับต่างๆ พจนานุกรมช่าง หรือพจนานุกรมเครื่องแต่งกายที่มีการรวบรวมการออกแบบเครื่องแต่งกายต่างๆ ทั่วโลก พร้อมบอกคุณลักษณะเพื่อช่วยในการบรรยายตัวละคร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เอาไว้)

คู่มือการตั้งชื่อทั้งไทย ฝรั่ง จีน มุสลิม ญี่ปุ่น หนังสือพวกนี้ช่วยให้เราคิดชื่อได้ดีและมีความหมาย บางเล่มมีการอธิบายการออกเสียงที่ถูกต้องให้ด้วย มีวางขายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

แต่ที่ผมอยากแนะนำมากเป็นพิเศษก็คือ หนังสือที่มีชื่อว่า 'คลังคำ' (ทางอมรินทร์ จัดพิมพ์ ) ซึ่งเป็นประโยชน์มากกับคนที่มีคลังคำหรือคำที่มีความหมายดีๆ น้อย หรือยังคิดว่าตัวเองยังเลือกคำมาใช้ได้ไม่ดี

ทางบริษัทผู้จัดพิมพ์ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างหนังสือคลังคำและพจนานุกรมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
 
"พจนานุกรมจัดเรียงคำตามลำดับตัวอักษร แต่คลังคำจัดแบ่งคำเป็นหมวดหมู่ตามความหมาย คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือใกล้เคียงกันจะจัดให้อยู่หมวดหมู่เดียวกัน หมวดคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือเกี่ยวข้องกันจะอยู่ใกล้กัน

ประโยชน์ของคลังคำ คือ ใช้ค้นความหมายของคำ การสะกดการันต์และอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับพจนานุกรม รวมทั้งรวมคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นถ้านึกถึงคำหนึ่งได้แล้ว แต่ยังไม่เหมาะจะใช้ แค่เปิดหาคำนั้นในคลังคำ ก็จะพบคำอื่น ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันและอาจจะเหมาะสมกว่า”


5. แผ่นพับ ใบปลิว เรื่องราวจากหนังสือหรือนิตยสารต่างๆ ที่เราทำการจัดเก็บไว้ และอื่นๆ อันเป็นประโยชน์

แนะนำให้เก็บให้หมดและควรทำการจัดเก็บเป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เหมือนที่ห้องสมุดมีการแบ่งหมวดหมู่หนังสือ

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
 
สมมุติว่าเราต้องเขียนบรรยายฉากบ้านและสวน แต่เราขาดความรู้ทางสถาปนิกหรือมัณฑนากร  นิตยสสารจำพวกจำพวกตกแต่งบ้านและสวนจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะในเล่มเขาจะมีการบรรยายถึงการออกแบบ การเลือกวัสดุ และการให้อารมณ์ด้วย ซึ่งเมื่อเราอ่านแล้วนำมาเขียนเรียบเรียงใหม่ให้เป็นภาษาเราเอง ก็ทำให้งานเราออกมาดีได้ แต่ว่าห้ามไปลอกหรือเอาเขามาทั้งดิ้นแบบตัดแปะเลยนะครับ มิฉะนั้นจะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี หรือการบรรยายเครื่องแต่งกายของตัวละครของตัวละครก็เช่นเดียวกัน เราสามารถดูได้จากนิตยสารแฟชั่นที่มีรายละเอียดสั้นๆ ไว้เอา ก็จะช่วยได้มาก  

 


6.การสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต

นับวันอินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนบนโลกมากขึ้น นักเขียนนวนิยายก็เช่นกัน คนเกือบทั่วโลกรู้จักเว็บไซต์สำหรับสืบค้น เช่น www.google.com หรืออื่นเป็นอย่างดี ผมจึงคิดว่าคงไม่ต้องจาระไนให้เสียพื้นที่ตรงนี้แล้ว ขอข้ามไปที่การแนะนำเทคนิคการเตรียมตัวสำหรับเขียนนวนิยายที่ตัวเองเคยใช้มาเล่าให้ฟังดีกว่า
 
อันดับแรก เรื่องของตำราสอนเขียนนิยาย
เล่ามาแล้วว่าในเมืองไทยมีน้อย และงานจากต่างประเทศก็แทบไม่มีให้หาซื้อ แต่ถ้าคุณสันทัดในการอ่านตำราภาษาอังกฤษ คลิกเข้าไปใน www.amazon.com คุณจะพบว่ามันมีให้เลือกอ่านเลือกซื้อมากมาย

อันดับสอง ความรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับแนวที่คุณเขียน
สมมุติว่าคุณสนใจจะเขียนนวนิยายแฟนตาซี แต่ข้อมูลเฉพาะด้านที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือมีน้อย หรืออาจหาไม่พบ คุณก็สามารถค้นหาจากเว็บไซต์ต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่นเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ในโลกแฟนตาซี ผมเคยพบใน www.dek-d.com ซึ่งมีผู้สนใจนำเสนอเป็นบทความเอาไว้พอสมควร รวมถึงวิกิพีเดียด้วย

อันดับสาม การหาข้อมูลจากการอ่าน การทำงานของชาวบ้าน
ผมชอบส่องเป็นประจำเลยครับ เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขาคิด เขาเขียนอะไร ทั้งในเว็บไซต์ของคนไทยและเว็บไซต์ของต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องมองข้ามไม่ได้เลยนะ เพราะมันจะทำให้เราได้ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ และรู้หลบหลีกด้วย

อยากแนะนำตรงนี้ว่าถึงคุณจะไม่เก่งภาษาอังกฤษ แค่พอแปลได้งูๆ ปลาๆ แต่การที่คุณเข้าไปในเว็บขายหนังสืออย่าง www.amazon.com และเห็นชื่อเรื่องกับภาพปก คุณก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ แล้ว ยิ่งถ้าคุณอ่านคำแนะนำเรื่องได้ คุณจะได้อะไรมากขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเลย

ผมเคยคุยกับนักเขียนชาวอเมริกันผู้หนึ่ง เขาเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนนี้เขาจะต้องไปร้านหนังสือใหญ่ๆ ทุกสัปดาห์เพื่อไปเดินดูปกหนังสือที่ออกใหม่ ว่ามีเรื่องอะไรออกมาบ้าง และก่อนที่เขาจะพลิกเข้าไปอ่านคำแนะนำด้านหลัง เขาจะเริ่มคาดเดาชื่อเรื่องและภาพปกก่อนว่าน่าจะเป็นเรื่องราวแบบไหน ซึ่งทำให้เขาได้ฝึกการคิดเรื่องให้หลากหลาย ส่วนการอ่านคำแนะนำด้านหลังจะตามมาเป็นลำดับสุดท้าย แต่หลายปีมานี้เขาไปร้านหนังสือน้อยลง แล้วเลือกใช้บริการของเว็บไซต์อย่าง amazon cindle ร้านอีบุ๊คต่างๆ รวมทั้งช่องทางการขายในอินเทอร์เน็ตช่องทางอื่นแทน ทำให้ประหยัดเวลาและรู้จักหนังสือได้มากกว่าจำนวนปกที่ร้านค้ารองรับ เมื่อผมได้ลองนำมาใช้บ้างก็พบว่ามันดีมากเหลือเกิน...(ลองดูนะครับ)

ส่วนการหลบหลีกนั้น...การค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็ช่วยได้มากอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องที่นักเขียนจะต้องหลบหลีกนั้นมีหลายเรื่องเลยทีเดียว เช่น การตั้งชื่อเรื่อง-ชื่อนามปากกาไม่ให้ไปซ้ำกับใคร  การเขียนแนวงานที่ซ้ำและเกร่อ สุดท้ายก็ล้นตลาด เป็นต้น

จริงอยู่ที่การเริ่มต้นสิ่งใหม่แทบจะทุกสิ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่หากประสบความสำเร็จแล้วล่ะก็...มันโคตรจะคุ้มเลย

ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ในชีวิตการทำงานของตัวเองนะครับ
 
เมื่อผมนำเสนอแผนงานที่จะนำนักเขียนหลายคนมาทำซีรีย์บ้านไร่ปลายฝัน (หรือในรูปแบบละคร - สี่หัวใจแห่งขุนเขา) ในขณะนั้นไม่มีนวนิยายซีรีย์ใดเลยที่จะนำนักเขียนหลายคนมารวมตัวกันเพื่อทำงานในชุดเดียว เมื่อผมเสนอกับทาง สนพ. ไปในคราวแรก สนพ. ก็แสดงสีหน้าเป็นกังวลออกมาให้เห็นชัดเจนมาก และเสนอถึงสามปีกว่าจะได้ทำ และเปลี่ยนตัวนักเขียนหลายชุดมาก เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงทางการตลาด จากเล่มเดียวจะกลายเป็นสี่เล่ม

แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็คงไม่สนุกกับการทำงาน เลยยืนยันว่าผมอยากทำมากจริง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ถึงจะมีนวนิยายที่ร้อยหลายเรื่องเป็นชุดเดียวกัน อย่างชุดปริศนา ของ ว. ณ. ประมวญมารค (ปริศนา/เจ้าสาวของอานนท์/รัตนาวดี) งานของคุณกิ่งฉัตร หรือกระทั่งนวนิยายจีนอย่างมังกรหยก แต่ทั้งหมดก็ล้วนมาจากนักเขียนคนเดียวกันทั้งสิ้น

พอลงมือทำ ลึกๆ ผมเองก็กังวล แต่สุดท้ายซีรีย์บ้านไร่ปลายฝันก็ประสบความสำเร็จมากทั้งในด้านหนังสือและด้านละคร ทำให้กระแสการทำซีรีย์โดยใช้นักเขียนหลายคนเป็นที่สนใจของ สนพ. ต่างๆ และนักเขียนในเวลาต่อมา นับจากนั้นผมก็ได้รับการอนุมัติให้ทำ ซีรีย์ซิกส์เซนส์ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ (มาเฟีย) เลือดมังกร แวมไพรส์บราเธอร์ ลูกไม้ของพ่อ ตามมาอีกหลายชุด ซึ่งก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมก็เลือกที่จะพักงานซีรีย์ เพราะสนพ. ต่างๆ ผลิตออกมาเยอะมาก จนในที่สุดการทำซีรีย์โดยใช้นักเขียนหลายคนในชุดเดียวก็ได้รับความสนใจจากนักอ่านน้อยลง ซึ่งผมสรุปว่ามันขาดความแปลกใหม่แล้วนั่นเอง
 
แต่ทว่านักเขียนจำนวนมากชอบเกาะกระแสตลาด (สนพ.หลายแห่งด้วย) สังเกตง่าย ๆ เช่น หมวดนวนิยายแฟนตาซี พอแนวโรงเรียนมีนักเขียนดังขึ้นมา หลายคนก็จะเริ่มเขียนบ้าง แนวออนไลน์มีนักเขียนดังขึ้นมา หลายคนก็เริ่มเขียนบ้าง แนวเกิดใหม่ต่างโลกมีนักเขียนดัง หลายคนก็เริ่มเขียนบ้าง นวนิยายรักก็ด้วย แนวทะเลทรายมีคนเขียนดังขึ้นมา หลายคนก็จะเริ่มเขียนตาม ไม่ต่างไปจากยุคนี้ที่แนวจีนย้อนยุคกำลังเป็นที่นิยม

ซึ่งพอเขียนตามมาก ๆ มันก็ 'เกร่อ' ความน่าสนใจของนักอ่านก็จะถดถอย จนบางครั้งแทบไม่มีใครหยิบขึ้นมาอ่านอีกเลย (แต่ก็ว่าไม่ได้นะ มันคือกระแสความนิยม แฟชั่น อะไรที่คนสนใจมันก็ต้องมีมากขึ้นเป็นธรรมดา)

อยากจะเตือน อยากจะแนะนำในฐานะที่ผมเป็นบรรณาธิการคัดสรรว่า... ลองหาวิถีการเขียนในแบบที่ตนเองถนัดและสนใจโดยไม่ซ้ำใครก็ดีนะ... เช็คจากอินเทอร์เน็ตนี่แหละง่ายสุด ว่าใครทำ ใครเขียนอะไรไปแล้วบ้าง เพราะการเลือกของบรรณาธิการคัดสรรนั้น เรามีเรื่องของการตลาดมาเกี่ยวข้องมากมาย และบางครั้งส่งผลให้เราต้องเลือกแต่เฉพาะหัวกะทิของแนวนั้นๆ เหมือนกัน

หลายคนน่าจะได้คำตอบบ้างนะครับว่าจะวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ซึ่งทั้งสองอย่างล้วนมีความเสี่ยงและความได้เปรียบเสียเปรียบในแบบของมันทั้งนั้น
               
โปรดติดตามตอนต่อไป  
ผมจะเสนอสิ่งที่ต้องเตรียมตัวนอกเหนือจากการอ่าน
นั่นคือการฟัง การพูด การเขียน รวมถึงการสัมผัส
และไปถึงการกำหนดเป้าหมายต่างๆ

 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Valentin Member 21 พ.ค. 59 23:01 น. 2

อ่านไปอ่านมาตายเลยเจอคำว่าแนวจีนย้อนยุคเป็นที่นิยม... ตายหละกำลังเขียนนิยายจีนย้อนยุคอยู่เสียด้วย...

ก็เลยอยากจะแก้ตัวสักหน่อย แต่จะบอกว่าเจ้านิรันดร์จอมราชย์ นี่มันมาจากเรื่องที่เราเคยเขียนทิ้งเอาไว้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และสมัยเรียนมัคคุเทศก์ (เพราะมันยาวมากจริงๆเรื่องนี้ยาวจนไม่จะบอกว่าเกือบะเป็นเพชรพระอุมาได้) ชื่อชีพอมตะ... แล้วทำไมเอามาเขียนเอาตอนนี้ ก็เพราะไปนั่งดูเรื่องบูเช็กเทียน ก็เลยเอามาเขียนเพราะเนื้อเรื่องมันต่อกับบู๊เช็กเทียนพอดีเลย... ไม่ได้คิดว่าเพราะช่วงนี้นิยายจีนกำลังมาแรง... เพราะเราก็เห็นมันมาเรื่อยๆนะ... พอดีเราเป็นคนชอบอ่านเรื่องจีนๆ ย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ผสมกำลังภายในอยู่แล้ว...

แต่จริงๆแล้วนิรันดร์จอมราชย์เป็นแค่หนึ่งในเรื่องชีพอมตะ... ยังมีเรื่องย้อนยุคอื่นตามมา แล้วเราจะค่อยๆเขียนให้อ่าน ซึ่งเนื้อเรื่องจะห่างจากเรื่องนี้ราวๆพันปีได้ แต่จะไม่เกิดในแผ่นดินจีน... ไม่ได้เกิดในเอเชียด้วยซ้ำไป... ทำไมชื่อเก่าถึงได้ชื่อว่าชีพอมตะ... ก็จะได้รู้กันตอนเรื่องถัดไปนี่หละครับ

อาจมีคนอ่านแล้วฉีหลินคำนี้เหมือนจะเหมือนได้อิทธิพลจากซีรี่จีนเรื่องหนึ่ง แต่เราจะบอกว่าไม่เคยได้ดูเลยครับเรื่องนี้... -ข้อมูลที่เขียนๆนี่ก็ได้จากการค้นคว้าจากห้องสมุดสมัยเรียน แล้วก็จากหอสมุดแห่งชาติที่ต้องไปบ่อยๆตอนเรียนมัคคุเทศก์ แต่ก็มาอัพเดทข้อมูลใหม่ๆจากเวปต่างๆที่เขาถกกันเรื่องประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ ในเรื่องนี่ก็พยายามทำให้Softลงแล้วนะครับ เพราะจริงชีพอมตะมันเป็นเหมือนตำราประวัติศาสตร์มากกว่านิยาย 5555 มาเป็นนิรันดร์จอมราชย์ ก็เลยใส่บทกำลังภายในเข้าเยอะหน่อย ต่อด้วยความกล้าที่จะบรรยายเรื่อง LGBTอย่างชัดเจนมากขึ้น... ก็เลยมีบทเข้าพระเข้านายกันดุเดือดไปนิด...

หืม.... สิ่งเสียลากยาว... นี่เราบ่นอะไรไปมากไปไหมเนี่ย... เอาเป็นว่าเขียนมาเยอะไม่อยากลบ ก็ต้องขอขอบคุณบก.ที่ให้ความรู้ด้วยครับ... จะได้ทราบว่า-ที่ทำๆอยู่มันก็ถูกอยู่เหมือนกัน ที่ขาดตรงไหนก็จะได้เพิ่มเติม... ขอบคุณครับ...

กระแสนิยายจีน... อ้อ... มิน่าเล่าคนเข้ามาอ่านผิดปกติ ทั้งที่เรามันก็นักเขียนโนเนม... เอาเป็นว่าได้ประโยชน์จากตรงส่วนนี้ไปแล้วกัน... 5555

0
กำลังโหลด
Pepper Member 22 พ.ค. 59 15:27 น. 3
ได้คำแนะนำดีๆเยอะมากเลยค่ะ ส่วนตัวเป็นัก(อยาก)เขียนที่ไม่ค่อยหลากหลายเรื่องข้อมลูหรือแนวเรื่อง แต่ไม่รู้ตัวค่ะ5555 พอมาเจอบทความนี้มีสะอึกกันเลยทีเดียว5555 ส่วนในฐานะนักอ่านแล้ว เราคิดว่านิยายในกระแสดูน่าเบื่อนะ คือสำหรับเรา พอมันมีคนเขียนเยอะๆๆๆ มันก็จะรู้สึกเอียน อย่างแนวเกิดใหม่ พอชื่อเรื่องมาแนวแบบ เกิดใหม่ในต่างโลก พระเจ้าส่งมาต่างโลก นายเอกับต่างโลก พอเห็นชื่อเรื่องก็ไม่อ่านเรื่องย่อแล้วค่ะ เราว่าหลายคนก็อาจจะเป็น(หรือเป็นแค่เรา5555)
0
กำลังโหลด
masked v Member 22 พ.ค. 59 16:30 น. 4

สำหรับผมเองก็คิดว่านักเขียนที่ดีจะเลือกอ่านเฉพาะของที่ชอบไม่ได้ บางทีต้องเก็บเล็กผสมน้อย เจออะไรน่าสนใจก็จดหรือตัดเก็บไว้ โดยเฉพาะพวกที่เขียนนิยายแฟนตาซีนี่ยิ่งต้องคำนึง ว่าการสร้างโลกสักใบต้องสร้างขึ้นจากหลายแง่มุม

ยกตัวอย่าง the lord of the ring นอกจากโทลคีนจะเป็นนักภาษาศาสตร์, นักตำนาน, นักประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นนักเดินทาง และนักทำอาหารอีก ตัวงานจึงมีความหลากหลายมุมมองในเรื่องเดียว

0
กำลังโหลด
วุ้นนม || WoonNom Member 28 มิ.ย. 59 23:55 น. 5
อ่านแล้วรู้สึกว่า...เราขอกลับไปเขียนให้จบก่อนดีกว่า เป็นเรื่องปกติที่สนพ.ต้องคิดเยอะในการรับพิจารณา เราอ่านแล้วเครียด เราจะไม่ยึดติดกะการอยากตีพิมพ์ละ จะตั้งใจเขียนสิ่งที่ตัวเองอยาก้ขียนก่อน (เราบ่นอะไรเนี่ย?)
0
กำลังโหลด
Ks Ton 11 ส.ค. 59 04:02 น. 6
ขอบคุณครับ ได้ความรู้มาก ในฐานะนักเขียนมือใหม่(มาก) ตอนนี้คิดแต่เพียงเขียนให้จบได้สักเรื่องก็จะดีใจมากครับ อยากเขียนเรื่องที่ตนเองอยากอ่านครับ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด