ธรากร… นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่าง ‘พาณิชย์ศิลป์’ แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง



ธรากร นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่าง ‘พาณิชย์ศิลป์’ 
แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง
 


สวัสดีค่ะ น้องๆ เด็กดีไรท์เตอร์ทุกคน ^_^ พี่หวานกลับมาพบกับทุกคนในคอลัมน์ “พบปะพูดคุย” โดยวันนี้เป็นคิวพบปะกับนักเขียนขึ้นชื่ออีกคนของเว็บไซต์เด็กดีของเรา ที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์หลายเรื่อง รวมถึงได้ถูกจับจองไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ด้วยนะคะ น้องๆ คงอยากรู้กันแล้วว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครใช่มั้ยล่ะ แม้จะห่างหายจากเว็บไซต์ไปนานเเต่ยังมีผลงานให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง เเละวันนี้พี่หวานก็ได้มีโอกาสนำบทสัมภาษณ์ คุณกร เจ้าของนามปากกา ธรากร มาฝากกันค่ะ
 



สวัสดีค่ะ ทักทายคนอ่านและเพื่อนๆ นักเขียนหน่อย ห่างหายจากเว็บเด็กดีไปนานเลย อัพเดทกันนิดนึง ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้างคะ
ธรากร : สวัสดีครับ ผม กร คนเดิม ที่เพิ่มเติมคือเปลี่ยนมาใช้นามปากกาว่า ธรากร (นามปากกาเก่า คือ รตกร) ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยนนามปากกาใหม่ เพราะไปดูเลขชื่อมงคลมา แล้วก็ชอบนามปากกานี้ เพราะมีความหมายดี ธรา แปลว่า แผ่นดิน , โลก และ กร ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผมเอง แปลว่า ผู้สร้าง ธรากร จึงแปลว่า ผู้สร้างโลก เหมือนนักเขียนที่เป็นผู้สร้างโลกขึ้นมาอีกใบในจินตนาการของเรา และเชื้อเชิญให้ผู้อ่านเข้ามาอยู่ในโลกเดียวกัน 
 
ยังเขียนนิยายอยู่หรือเปล่า ถ้าเขียน เป็นนิยายแนวไหน อย่างไร เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
ธรากร : ยังเขียนครับ ด้วยความที่โตขึ้น ความสนใจในชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม ตอนเด็ก ๆ เขียนงานแนวแฟนตาซี สืบสวนสอบสวนเพราะใจรัก แต่ตอนนี้ เริ่มสนใจเรื่องของชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คน จึงหันมาเขียนนิยายรักโรแมนติกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังผสมความเป็นสืบสวน ไม่ก็แฟนตาซีลงไปในงานในบางเรื่อง หันมาทำงานด้วย ‘พาณิชย์ศิลป์’ มากขึ้น คือ เขียนงานที่ใจอยากจะเขียนด้วย และดูทิศทางตลาด ความต้องการของผู้อ่านด้วยว่าเขาอยากอ่านงานแนวไหน แต่เราต้องมีจุดยืน และไม่สูญเสียความเป็นตัวเองไป นอกจากนี้ ตอนนี้ยังมีโอกาสเข้าไปทำงานทางสายละครด้วยครับ เป็นทั้งคนคิดบทประพันธ์ และเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ครับ โดยในส่วนของบทประพันธ์ ก็มีที่เขียนเป็นนวนิยายก่อน และในส่วนที่คิดเพื่อนำไปขายเป็นละครเลย

 
ได้ยินว่า ธรากร เข้าไปทำงานด้านเขียนบทละคร เข้าไปได้อย่างไร เล่าให้ฟังเกี่ยวกับกระบวนการการทำงาน เขาทำอย่างไรกันบ้าง 
ธรากร : เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน มีค่ายละครรับสมัครคนเขียนบทครับ ผมจึงสมัครไป แล้วปรากฏว่าเข้ารอบ เลยได้เริ่มต้นงานในวงการเขียนบทละคร เป็นวงการที่ภายนอกดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ความจริงแล้ว ไม่ง่ายเลย ซึ่งตอนแรกครู ๆ พี่ ๆ หลายคนก็เคยบอกว่า วงการนี้ไม่ธรรมดาเราก็คิดว่าเขาแค่ขู่ พอได้เข้าไปทำงานจริง ๆ ก็แทบกระอักเลือดกันเลยทีเดียว จะอยู่ได้ต้อง “สตรอง” เท่านั้นครับ (หัวเราะทั้งน้ำตา ฮ่า ๆ)

ต้องออกตัวก่อนว่า ในส่วนของงานเขียนบทก็ยังถือว่าเป็นตัวเล็ก ๆ ในวงการครับ คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ยังมีครูบาอาจารย์และพี่ ๆ ที่เขาเก่งกว่าผมอีกเยอะ ส่วนใหญ่ในตอนนี้ จะมีความถนัดด้านการคิดบทประพันธ์มากกว่า ผมยังสนุกกับการฝึกเขียนตรงนั้นตรงนี้ ได้เครดิตบ้าง ไม่ได้เครดิตบ้าง ซึ่งนั่นไม่สำคัญเท่ากับการได้วิชาความรู้ ยังไงผมก็เชื่อว่า ไม่มีความสำเร็จไหนจะยากเกินไปกว่าความพยายามครับ

 
เห็นว่ากำลังมีบทประพันธ์เป็นละคร คือเรื่อง “แรงชัง” และ “เกมมายา” รบกวนเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ
ธรากร : “แรงชัง” เป็นบทประพันธ์ที่คิดให้ทางค่ายละครโดยเฉพาะเลยครับ ไม่ได้ทำเป็นนวนิยายก่อน เนื่องด้วยเราเคยเข้าไปเป็นนักเขียนบทละครฝึกหัดที่ค่าย ๆ หนึ่ง แล้วมีโอกาสได้คิดเค้าโครงเรื่องละครให้เขา และตัวผมเองก็เป็นลูกศิษย์ของครูอ้น ฐา-นวดี สถิตยุทธการ นักเขียนบทโทรทัศน์ชื่อดัง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากครูมาตั้งแต่ยังไม่มีความรู้เรื่องละคร พอครูเห็นว่าผมพอที่จะคิดเค้าโครงเรื่อง (Plot) ได้ ครูจึงหยิบยื่นโอกาสให้คิดเรื่องนำเสนอค่ายละครต่าง ๆ 
 


เเรงชังจากบทประพันธ์นามปากกา ธรากร ^^
 
ส่วนละครเรื่อง เกมมายา ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง “เกมดาริกา” ของผม ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อรุณ เมื่อปี 2556 ครับ ทางค่ายละครซื้อลิขสิทธิ์ไป แต่ขอปรับเปลี่ยนชื่อเรื่องเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนดูมากขึ้น และปรับเนื้อเรื่องบางส่วนตามความเหมาะสมในการสร้างเป็นละครครับ


กระบวนการที่นิยายเป็นละครเป็นอย่างไรบ้าง 
ธรากร : ตรงนี้ต้องแยกบทบาทกัน ระหว่างการเป็นนักเขียนนวนิยาย กับ คนทำละคร พี่ปุ้ย กิ่งฉัตรเคยสอนผมว่า ถ้าเราทำหน้าที่ในฐานะนักเขียนนวนิยาย เราควรเขียนนวนิยายเพื่อ ‘คนอ่าน’ ครับ ไม่ใช่เพื่อจะขายเป็นละคร นิยายที่จะเป็นละครได้ส่วนใหญ่จะเป็นนิยายที่มีจุดขาย มี ‘หน้าหนัง’ ที่โดดเด่น และมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ อย่างชัดเจน จนสามารถนำไปสร้างเป็นละครได้ 

ส่วนขั้นตอนของการขายนวนิยายเป็นละครนั้น นักเขียนบางคนที่มีนวนิยายตีพิมพ์ อาจส่งนวนิยายไปยังสถานี หรือค่ายละครเพื่อให้เขาพิจารณานำไปสร้างเป็นละคร หรือบางคนอาจจะได้รับการติดต่อมาเอง เนื่องจากทางผู้จัดหรือทีมงาน อาจไปอ่านเจอหนังสือนวนิยายจึงสนใจที่จะติดต่อขอซื้อไปสร้างเป็นละคร อย่างกรณีของ “เกมมายา” คุณเจี๊ยบ โสภิตนภา ผู้จัดละครเรื่องนี้ อ่านนวนิยาย “เกมดาริกา” เองครับ คุณเจี๊ยบสนใจจึงติดต่อมาเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นละคร 
 

ภาพคุณธรากร และ บรรดานักแสดงจากเรื่องเกมมายา

จุดเด่นของบทประพันธ์ “แรงชัง” และ “เกมมายา” คืออะไร?
ธรากร : เรื่อง “แรงชัง” เป็นละครพีเรียดครับ เป็นเรื่องของ ชงชาง ลูกพ่อค้าชาวจีนที่เข้าไปอาศัยบนแผ่นดินสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และตกหลุมรัก เนื้อนาง ลูกสาวขุนนางชาวไทย ทั้งคู่รักกันมากและกำลังจะลงเอยด้วยการแต่งงานกัน แต่มีเหตุการณ์บางอย่างทำให้ทั้งสองตระกูลประกาศตัดขาดกัน เรื่องนี้จะต่างจากละครเรื่องอื่น ๆ ตรงที่ พระ-นางรักกันตั้งแต่ต้นเรื่องครับ แต่มีเหตุเข้าใจผิดจนก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อไป เกลียดกันทั้งที่ลึก ๆ ยังรักกันอยู่ 

ส่วน “เกมดาริกา” เป็นเรื่องราวของซูเปอร์สตาร์สาวขาวีน ที่สร้างศัตรูไปทั่ววงการจนโดนลอบยิงครับ เพื่อความปลอดภัย ผู้จัดการส่วนตัวของเธอจึงติดต่อบอดี้การ์ดหนุ่มหล่อให้มาเป็นองครักษ์พิทักษ์ซูเปอร์สตาร์ ซึ่งบอดี้การ์ดคนนั้นดันเกลียดดาราเข้าไส้ เพราะเคยถูกแฟนเก่าที่ทิ้งตัวเองไปเพื่อก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงครับ

 
ความเหมือนและแตกต่างของการเขียนบทละครกับนิยาย เป็นอย่างไร คิดว่าเราไปลองเขียนบทละครแล้วได้ประโยชน์เอามาเขียนนิยายไหม? ประสบการณ์ที่ได้จากการเขียนบทละครให้สิ่งดีๆ อะไรกับเราบ้าง
ธรากร : การทำงานบทละครแตกต่างจากนวนิยายตรงที่ นักเขียนนวนิยายเขียนทุกอย่างตามใจฉันตั้งแต่ต้นจนจบ เรามีความเป็นตัวตนสูง งานมีความเป็นเราสูง จะผ่านหรือไม่ผ่าน สำนักพิมพ์ก็ให้คำตอบมาเลย ไม่ผ่านสำนักพิมพ์นี้ ก็ไปส่งต้นฉบับกับสำนักพิมพ์อื่น ในขณะที่งานบทละคร เป็นการที่ทำเพื่อเสริม (Support) ทีมงานฝ่ายอื่น ๆ อีกที การทำละครใช้ต้นทุนสูง ตัวบทที่เราเขียนจะถูกตรวจทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อให้ออกมาตรงใจคนคุมบท ผู้จัด ผู้กำกับ ทางสถานี และใครต่อใครอีกหลายฝ่าย บางคนถูกแก้งานเป็น 10 ร่าง ๆ ก็มี แม้จะเขียนงานกันมาเป็น 10-20 ปีแล้ว ก็ยังต้องแก้งานอยู่ 

เขียนบทเป็นงานที่มีความกดดันมากกว่างานเขียนนวนิยายหลายร้อยเท่าเลยก็ว่าได้ครับ แต่สิ่งที่ผมได้รับจากการได้ทำงานทั้งสองฝั่ง มันเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” เทคนิคบางอย่างที่เราเรียนรู้มาก็นำไปปรับใช้ได้ เช่น การเขียนบทละคร จะมีการสร้างเหตุการณ์เปิดเรื่องเพื่อดึงดูดคนดู ตอนจบของแต่ละตอนมีการทิ้งบางอย่างทำให้คนอ่านอยากติดตามดูในตอนต่อไป เราสามารถนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในนวนิยายได้ครับ
 
 
ภาพคุณธรากรกับพระเอกจากผลงานประพันธ์ทั้งสองเรื่อง


หัวใจของการทำงานของ ธรากร คืออะไร
ธรากร : ผมเป็นนักเขียนที่ยึดถือในจรรยาบรรณครับ ทุกครั้งที่คิดเรื่องและเขียนงาน จะต้องคิดว่า งานชิ้นนี้จะให้อะไรกับผู้อ่านมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่เพียงข้อคิด แนวคิด แต่งานเขียนที่ดีต้องทำให้ผู้อ่านฉุกคิด ได้มุมมองใหม่ ๆ และอาจไปถึงขั้นเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติบางอย่างของเขาไปในทางที่ดีขึ้น ผมจะไม่เขียนงานที่ทำร้ายสังคม และไม่ปลูกฝังความคิดที่ไม่ดีลงไปในตัวผู้อ่านครับ
 

อยากบอกอะไรกับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ของเว็บเด็กดีบ้าง ที่เขาอยากเขียนนิยายแบบเรา อยากออกผลงาน ควรทำอย่างไรบ้าง
ธรากร : ขอให้ทำงานอย่างมีจรรยาบรรณ เป็น ‘คนดี’ และให้ความสำคัญที่ ‘ตัวงาน’ มากกว่าการยุ่งวุ่นวายกับเรื่องนักเขียนคนอื่น ๆ ครับ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “งานที่ดีจะเป็นเกราะคุ้มครองตัวเรา” เพราะต่อให้คุณมีพรรคพวกมากแค่ไหน แต่ถ้างานคุณไม่ดี มันก็คืองานที่ไม่ดีครับ ขอให้มีวินัยในการทำงานครับ เขียนงานอย่างสม่ำเสมอ มีความมุ่งมั่นพยายาม แล้ววันหนึ่ง เราจะพบว่าเมื่อเราเดินทางมาถึงความสำเร็จ มันจะทำให้เรามีความสุขและลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมาเป็นปลิดทิ้ง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น อย่าลืม...มีความสุขระหว่างทาง หาความสนุกระหว่างการทำงานให้เจอ

 
อนาคตของ ธรากร จะเดินบนเส้นทางสายไหนอย่างไร
ธรากร : ไม่มีใครตอบคำถามเรื่องอนาคตได้ดีไปกว่าการลงมือทำสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันครับ ซึ่งนอกจากงานนวนิยายและงานละครแล้ว ผมเองก็เรียนรู้ศาสตร์การเล่าเรื่องด้านอื่น ๆ ทั้งงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ งานประกวด เรื่องสั้น งานกวีนิพนธ์ ซึ่งข้อดีของการเรียนรู้ศาสตร์หลาย ๆ แขนง คือ ทำให้เราสามารถนำจุดเด่นของงานต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้งานของเรามีความแตกต่าง

ผมเองก็วางแผนไว้ว่า อนาคตเราจะเป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมาหลากหลาย เป็นที่รู้จัก และงานเขียนของเรา จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับคนอ่าน ในการที่จะเปลี่ยนความคิด มุมมองบางอย่าง ตามสิ่งที่เราสอดแทรกลงไปในงานของเรา งานเขียนที่จะเป็นที่จดจำคืองานเขียนที่มีคุณค่าและให้อะไรกับสังคมครับ และงานเขียนที่ดีย่อมส่งให้นักเขียนได้รับการยอมรับตาม ซึ่งผมเองก็อยากจะยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้ ในฐานะนักเขียนที่ผลิตผลงานดี ๆ ให้กับสังคมครับ

 
ฝากอะไรถึงแฟนคลับ คนอ่านของ ธรากร...?
ธรากร : ขอฝากผลงานละครที่สร้างจากบทประพันธ์ของ ธรากร ทั้งเรื่อง “แรงชัง” และ “เกมมายา” ด้วยนะครับ โดยในส่วนของเกมมายานี่ อยากฝากให้ติดตามอ่านหนังสือนวนิยายเกมดาริกา ซึ่งเป็นตัวต้นฉบับด้วย ผลงานทุกชิ้น ผมตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยยังคงสไตล์การเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ พาผู้อ่านไปสู่ปมปริศนาต่าง ๆ ของเรื่องราว ค่อย ๆ เฉลยความจริงออกมา และยังคงมีการหักมุมในตอนท้ายไม่ว่าจะเป็นแนวไหนซึ่งกลายเป็นลายเซ็นในงานของผมไปแล้วครับ
 

ผลงานการประพันธ์ทั้งสองเรื่องของคุณธรากรที่กำลังน่าติดตามเลยค่ะ > <

 
หมดเวลาสนุกแล้วสิ ต้องลากันไปแล้ว บอกลากันหน่อยค่ะ
ธรากร : ก่อนจะจากลาก็ต้องขอขอบคุณทางเว็บไซต์เด็กดีนะครับ เพราะก้าวแรกของการเป็นนักเขียนของผม คือ การเขียนนวนิยายลงเว็บไซต์แห่งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เว็บไซต์แห่งนี้ทำให้ผมได้พบกับนักอ่าน เพื่อนนักเขียนที่มีความฝันร่วมกัน ทำให้ บ.ก. ได้เข้ามาเจองานของผม จนมีงานตีพิมพ์เป็นเรื่องแรก และเรื่องต่อ ๆ มา ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่หยิบยื่นโอกาสดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิต ขอบคุณคุณพ่อ คุณแม่ น้องชายและครูอาจารย์ ที่ทำให้ผมกลายเป็น ธรากร ในวันนี้ และขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้จนจบด้วยครับ

 
ว้าววว... เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทสัมภาษณ์จากนักเขียนมือทองคนเก่งอีกคนของเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมของเรา ตอนนี้ผลงานประพันธ์ของคุณธรากร ก็มีให้ติดตามผ่านจอโทรทัศน์ไปแล้วหนึ่งเรื่องกับละครเเรงชังทางช่อง Workpoint วันจันทร์ – อังคาร เวลา 20.50 น. ส่วนละครเกมมายา ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องเกมดาริกาก็กำลังจ่อคิวลงจอที่ช่อง One31 ค่ะ ^^  ใครชื่นชอบแนวไหนก็อย่าลืมติดตามกันนะคะ สำหรับพี่หวานหลังจากทำบทสัมภาษณ์คุณธรากรเสร็จเเล้วนี่อยากไปหาหนังสือที่เป็นตัวบทจริงๆ มาอ่านรอเลยล่ะค่ะ 

หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ดีๆ จากคุณธรากรเเล้ว พี่หวานเชื่อว่าเหล่านัก(อยาก)เขียนหลายคนคงจะได้ทั้งกำลังใจเเละเเรงใจในการฮึด! กลับมาสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นได้เเน่นอน ยังไงซะพี่หวานก็เชื่อเหมือนกันค่ะว่า ไม่มีความสำเร็จไหนจะยากเกินกว่าความพยายาม ไม่เเน่ว่าละครเรื่องต่อไปอาจจะมาจากผลงานการประพันธ์ฝีมือน้องๆ ก็ได้นะคะ ใครจะรู้เนอะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความต่อไปนะคะทุกคน สวัสดีค่าา ^___^


 
พี่หวาน
 
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มิลินท์/ข้าวแดกงา Member 7 ต.ค. 59 20:17 น. 1

สุดยอดมากค่ะ ได้แรงบันดาลใจเยอะทีเดียว ภายนอกดูเหมือนง่ายๆ แต่วงการนี้ไม่ง่ายจริงๆ  แข่งกับคนอื่นว่ายากแล้ว แข่งกับตัวเองอย่างไรให้มีอารมณ์เขียน ให้พัฒนาฝีมือ ให้มีแรงใจสู้ต่อนี่สิของยาก บางครั้งก็นั่งร้องไห้ที่ผลงานไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายก็ฮึดขึ้นมาสู้ใหม่ด้วยใจรักอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกและจินตนาการให้นักอ่าน 

ชอบนั่งคิด นั่งเขียนอยู่คนเดียวที่บ้าน ข้างบ้านเขาหาว่าบ้า นั่งแต่ในถ้ำไม่ออกไปไหน 5555 ก็ไม่รู้ว่านักเขียนคนอื่นเป็นแบบนี้ไหม (บ่นไป ไม่มีสาระ)

ขอบคุณแรงบันดาลใจดีๆ ค่ะ มีแรงฮึดมากเลย สู้สู้

1
กำลังโหลด
Linglingss 10 ต.ค. 59 20:25 น. 2
ติดตามผลงานค่ะ ขอให้มีออกมาเยอะ ๆ นะคะ งานเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถมีผลงานได้หลายหลายและออกมาเรื่อย ๆ เก่งมาก ๆ ยังไงก็จะรอชมละครเรื่องเกมมายานะคะ น่าจะแซ่บมากกกก เยี่ยม
0
กำลังโหลด
ปรัชญาธร Member 11 ต.ค. 59 00:19 น. 3

การทำงานแบบพาณิชย์ศิลป์ แต่ต้องไม่หลงลืมความเป็นตัวตน อันนี้เด็ดมากค่ะ *0*

เป็นกำลังใจให้ ธรากร ต่อไปนะคะ ติดตามผลงานเรื่อย ๆ ค่ะ ^0^

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

มิลินท์/ข้าวแดกงา Member 7 ต.ค. 59 20:17 น. 1

สุดยอดมากค่ะ ได้แรงบันดาลใจเยอะทีเดียว ภายนอกดูเหมือนง่ายๆ แต่วงการนี้ไม่ง่ายจริงๆ  แข่งกับคนอื่นว่ายากแล้ว แข่งกับตัวเองอย่างไรให้มีอารมณ์เขียน ให้พัฒนาฝีมือ ให้มีแรงใจสู้ต่อนี่สิของยาก บางครั้งก็นั่งร้องไห้ที่ผลงานไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายก็ฮึดขึ้นมาสู้ใหม่ด้วยใจรักอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกและจินตนาการให้นักอ่าน 

ชอบนั่งคิด นั่งเขียนอยู่คนเดียวที่บ้าน ข้างบ้านเขาหาว่าบ้า นั่งแต่ในถ้ำไม่ออกไปไหน 5555 ก็ไม่รู้ว่านักเขียนคนอื่นเป็นแบบนี้ไหม (บ่นไป ไม่มีสาระ)

ขอบคุณแรงบันดาลใจดีๆ ค่ะ มีแรงฮึดมากเลย สู้สู้

1
กำลังโหลด
Linglingss 10 ต.ค. 59 20:25 น. 2
ติดตามผลงานค่ะ ขอให้มีออกมาเยอะ ๆ นะคะ งานเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถมีผลงานได้หลายหลายและออกมาเรื่อย ๆ เก่งมาก ๆ ยังไงก็จะรอชมละครเรื่องเกมมายานะคะ น่าจะแซ่บมากกกก เยี่ยม
0
กำลังโหลด
ปรัชญาธร Member 11 ต.ค. 59 00:19 น. 3

การทำงานแบบพาณิชย์ศิลป์ แต่ต้องไม่หลงลืมความเป็นตัวตน อันนี้เด็ดมากค่ะ *0*

เป็นกำลังใจให้ ธรากร ต่อไปนะคะ ติดตามผลงานเรื่อย ๆ ค่ะ ^0^

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด